เครียดเรื้อรังไม่รู้ตัว…อันตราย ทำร้ายวัยทำงาน

งานเยอะ กลัวผิดพลาด กังวลว่างานออกมาไม่ดี เกรงว่าไปไม่ถึงเป้าหมาย ภาระค่าใช้จ่าย ภาระทางครอบครัว ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นความกังวลของคนวัยทำงานทั้งสิ้น และเป็นสาเหตุสำคัญของ ‘ความเครียดเรื้อรัง’ แบบไม่รู้ตัว จากผลการวิจัยของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2549 หนุ่มสาววัยทำงานมีสถิติเรื่องความเครียดสูงสุด และความเครียดเรื้อรังนี้เองที่เป็นสาเหตุทำลายสุขภาพและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) ของคนวัยทำงานได้ ซึ่งจากรายงานสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2552 พบว่าประชากรในกลุ่มวัยทำงานในภาพรวมเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในสัดส่วนที่สูงสุด   

นายแพทย์ฮันส์ เซลเยอ ชาวออสเตรีย ผู้ศึกษาเรื่องฮอร์โมนได้กล่าวไว้ว่า เมื่อคนเราเกิดความเครียด ฮอร์โมนกว่า 30 ชนิดในร่างกายเราจะปั่นป่วน ฮอร์โมนบางชนิดอาจจะหายไปหรือหยุดทำงาน และฮอร์โมนบางชนิดอาจจะทำงานหนักมากเกินไป ความปั่นป่วนของฮอร์โมนนี้เองที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางกาย เริ่มตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนถึงป่วยหนักเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ได้

เภสัชกรหญิงวิชชุลดา ผรณเกียรติ์  ได้อธิบายเกี่ยวกับความเครียดว่า “ความเครียดเป็นกลไกธรรมชาติของมนุษย์ในการตอบสนองต่อสิ่งที่คุกคามหรือกดดัน ซึ่งส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ จริงๆ แล้วหากเป็นความเครียดในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายกระตือรือร้นและขวนขวายหาความสำเร็จ แต่ถ้าความเครียดมากเกินไปและสะสมจะส่งผลเสียมากมาย ซึ่งพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความเครียดเรื้อรังแบบไม่รู้ตัว ได้แก่ การเป็นคนที่ชอบชิงดีชิงเด่นเอาชนะ เป็นคนที่เข้มงวดไม่มีการผ่อนปรน เป็นคนที่พยายามทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เป็นคนที่ใจร้อนไม่ชอบรอนาน เป็นต้น”

2

“ความเครียดที่มากเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายๆ ด้าน ตั้งแต่อาการเล็กๆ น้อย อย่างปวดศรีษะบ่อย ปวดไมเกรน เพราะความเครียดส่งผลให้สารซีโรโทนินในสมองพร่องไป การขาดซีโรโทนินจะทำให้หลอดเลือดเกิดพองขยายและหดตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ หรือมีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังและนอนไม่หลับ เพราะความเครียดเรื้อรังส่งผลให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดการตึงตัว และทำให้มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว รวมไปถึงกระตุ้นวงจรการนอนหลับให้ผิดปกติได้ ในบางราย บางรายอาจมีอาการเจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ อย่างภูมิแพ้ ซึ่งถือเป็นโรคยอดฮิตของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หรือภูมิแพ้ทางผิวหนัง เพราะความเครียดจะไปกดระบบภูมิคุ้มกันโดยผ่านฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่องไป จึงทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หรืออาจมีอาการกระเพาะอาหารปั่นป่วน หรือเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร เพราะปัจจัยทางจิตใจมีผลทำให้สารคัดหลั่งในกระเพาะอาหารออกมามาก นอกจากนี้ วิถีชีวิตที่เครียดจะทำให้เกิดความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอต่อการได้รับเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ แต่ในบางรายที่มีความเครียดสูงๆ และเรื้อรังนานมากๆ อาจเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ เช่น โรคความดันโลหิตและโรคหัวใจ จากการศึกษาพบว่าผู้ที่มีความวิตกกังวลมากอยู่เป็นประจำมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะความเครียดมากๆ จะทำให้ความดันโลหิตสูงและหัวใจช่องซ้ายโต ที่สำคัญ ความเครียดฉับพลันมีผลอย่างมากต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ก่อนแล้วมีโอกาสหัวใจวายสูงขึ้น หรืออาจจะมีอาการผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ เพราะความเครียดส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง มีอาการปวดประจำเดือนประจำ หรือมีโอกาสเป็นหมัน และยังพบว่าผู้ที่มีความเครียดเป็นประจำจะมีโอกาสการแท้งขณะตั้งครรภ์ได้บ่อย ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังยังเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง มากกว่าคนปกติด้วย มีการศึกษาในหนูที่มีสารก่อมะเร็งพบว่า หนูที่ถูกกดดันให้เครียดจะมีอัตราการลุกลามของมะเร็งเร็วกว่าหนูที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้เครียด จึงกล่าวได้ว่าความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญในการลุกลามของโรค นอกจากนี้ นักวิจัยชาวอเมริกาจากศูนย์มะเร็งพิตเบิร์กยังพบอีกว่า ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รู้สึกว่าไม่ได้รับกำลังใจจากครอบครัว เซลล์มะเร็งจะมีปัญหามากขึ้น” เภสัชกรหญิงวิชชุลดา อธิบายเพิ่มเติม

1

“จะเห็นได้ว่าความเครียดนั้นส่งผลต่อสุขภาพมากมายหลายด้าน ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีบรรเทาความเครียด ปรับทัศนคติและวิถีชีวิตให้เหมาะสม อันดับแรก การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างครบถ้วนและมีวิตามินบีสูงเพียงพอ สามารถช่วยคลายเครียดได้ เช่น ไข่แดง ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว แป้งไม่ขัดสี ธัญพืชและถั่ว เป็นต้น เพราะวิตามินบี เป็นโคเอนไซม์ที่สำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานจากสารอาหารให้สมอง ซึ่งในขณะที่ร่างกายต้องเผชิญความเครียด สมองและระบบประสาทต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก และวิตามินบีในร่างกายจะถูกดึงไปใช้หมดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สมองและระบบประสาทขาดพลังงานนำไปสู่ความเครียดที่รุนแรงยิ่งขึ้น ในผู้ที่ขาดวิตามินบี ถึงแม้จะได้รับสารอาหารต่างๆ มากมายเท่าไรก็ตาม สารอาหารเหล่านั้นก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานให้สมองได้ ดังนั้น ผู้อยู่ในภาวะเครียดจึงควรได้รับวิตามินบีปริมาณสูงเพียงพอเพื่อใช้เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงานแก่สมองและระบบประสาทได้ทันที ผู้ที่ได้รับวิตามินบีในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง อารมณ์ดีขึ้น รู้สึกประปรี้กระเปร่าขึ้น และมีปฏิกิริยาการตอบสนองที่เร็วขึ้นอีกด้วย ควบคู่กับการพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายจนได้เหงื่อ จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ช่วยให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และที่สำคัญ การพูดคุยปรึกษาปัญหากับคนใกล้ชิด สามารถช่วยลดความเครียดได้ เพราะเมื่อเราได้พูดสิ่งที่อัดอั้นในใจออกไปและได้คำปลอบประโลมกลับมาจะทำให้รู้สึกดีขึ้น สบายใจขึ้น หรือการรู้จักปรับเปลี่ยนความคิด อย่ามัววิตกกังวลให้มากเกินไป ลองปรับทัศนคติมองโลกในแง่ดีบ้าง หรือแม้แต่การเจริญสติ และการฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก จะช่วยชะลอความโกรธ คลายความกังวล ลดความกลัว และความตื่นเต้นลงได้ สามารถช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี แนะนำให้ทำสมาธิทุกวันก่อนเข้านอนเป็นเวลา 20 นาที เพียงแค่นี้คุณก็จะสามารถบรรเทาความเครียดจากการทำงาน และมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง” เภสัชกรหญิงวิชชุลดา กล่าวสรุป

ภาพ : เมก้า วีแคร์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up