จากแคชเมียร์ สู่ทัชมาอาล (ตอนที่2)

กุลมาร์คแสนงาม

โปรแกรมในวันต่อมาไปกุลมาร์ค (Gulmarg) ช่วงที่เดินทางมาคือพฤษภาคม อยู่ในช่วงปลายฤดูหนาว ไกด์ให้เตรียมเสื้อกันหนาวมาด้วย

รถวิ่งออกจากเมืองศรีนครไปทางใต้ระยะทาง 56 กิโลเมตร ดิฉันก็มโนอีกแล้วว่า คงไม่เกินครึ่งชั่วโมงถึง แต่จริง ๆ แล้วการจราจรและสภาพของถนนหนทางทำให้ใช้เวลาเดินทางร่วม 2 ชั่วโมงทีเดียว

เส้นทางไปกุลมาร์คเป็นเส้นทางสู่ชายแดนปากีสถาน แต่เดิมเรียกว่าเการิมาร์ค เคยเป็นเมืองตากอากาศของสุลต่านยูซุฟ ชาห์ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 กุลมาร์คยังเรียกอีกชื่อว่า ทุ่งแห่งดอกไม้ (Meadow of Flowers) ด้วยเป็นทุ่งขนาดใหญ่มีดอกไม้ป่านานาพรรณบนระดับความสูง 2,730 เมตร

7

สมัยที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กุลมาร์คเคยเป็นเมืองตากอากาศยอดนิยมสำหรับฤดูร้อนและเล่นสกีในฤดูหนาว มีบรรยากาศฉากหลังเป็นเทือกเขาอาฟฟาร์วัต (Affarwat) มีหิมะปกคลุมตลอดปี

ไกด์ถามว่าเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาหิมาลัยโอบล้อมแคชเมียร์แล้วรู้สึกอย่างไร ดิฉันตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่า เป็นทัศนียภาพสวยงามสุดยอดแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้ น่าเสียดายที่ระหว่างทางเห็นต้นเมเปิ้ลกับต้นแอ๊ปเปิ้ล แต่ไม่ใช่ฤดูกาลออกผล จึงไม่เห็นลูกแอ๊ปเปิ้ลที่ส่งไปขายในอินเดีย

จากข้อมูลที่รู้มา ถ้ามาเที่ยวกุลมาร์คในช่วงฤดูร้อน คือเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม จะได้ชมบรรยากาศของทุ่งหญ้าเขียวขจี ทุ่งดอกไม้ป่าตัดกับทิวเทือกเขาหิมะขาวโพลน สามารถเดินเล่นหรือขี่ม้าท่ามกลางธรรมชาติสวยงามได้เพลินตาเพลินใจ ฤดูใบไม้ร่วงอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ก็เป็นอีกบรรยากาศของทุ่งหญ้าเชิงเขาทุ่งหญ้าดอกไม้ตามฤดูกาล และป่าเปลี่ยนสี

รถวิ่งมาถึงจุดพักกลางทาง มีร้านเล็ก ๆ สองสามร้านให้เช่าชุดกันหนาวที่เพียบพร้อมด้วยเสื้อโค้ต รองเท้าบู๊ต ถุงมือ หมวกครบเซตดิฉันเช่ารองเท้าบู๊ต เพราะชาวบ้านบอกพื้นภูเขายังมีหิมะปกคลุมอยู่มาก

ขึ้นมาถึงกุลมาร์ค รถต้องจอดตรงลานจอดรถ ไม่อนุญาตให้เข้าไปถึงทางขึ้นกระเช้าไฟฟ้า (Cable Car) ไกด์พาเดินไประยะทางไกลทีเดียวถ้าเราจะไม่เดินแล้วใช้บริการขี่ม้าไปก็ได้ แต่เสียงส่วนใหญ่อยากเดินก็ตามมติ ระหว่างเดินไปก็คิดไปว่าที่ทางการไม่ให้นำรถเข้าไปคงอยากให้คนท้องถิ่นมีรายได้จากการให้เช่าขี่ม้าและรถแท็กซี่กระมัง

9

เดินจนหอบเหนื่อยทีเดียวกว่าจะถึงจุดขึ้นกระเช้าไฟฟ้ากอนโดลา (Gondola) รอไกด์เข้าคิวซื้อตั๋วกระเช้าไฟฟ้าขึ้นสู่ยอดเขา เป็นกระเช้าไฟฟ้าที่มีความสูงและยาวที่สุดในโลก ราคาตั๋ว 600 รูปีสำหรับสถานีที่ 1สถานีกงโดรี ใช้เวลา 10 นาที ระยะทาง 4 กิโลเมตร

ลงจากกระเช้าไฟฟ้า ดิฉันถึงกับตะลึงพร้อมอุทาน “ว้าว…” เมื่อคิดภาพไว้ว่า เป็นทุ่งหญ้ากว้างที่เห็นทิวเขากว้างไกล มียอดเขาปกคลุมด้วยภูเขาน้ำแข็ง แต่กลับเป็นทุ่งหญ้าปกคลุมด้วยหิมะไม่หนามาก แต่เด็ก ๆ ก็นั่งเล่นปั้นตุ๊กตาหิมะกันได้ มีร้านให้เช่าอุปกรณ์เล่นสกีและเลื่อนซึ่งมีนักท่องเที่ยวใช้บริการกันมาก

สถานีนี้ถึงจะเห็นหิมะขาวโพลน แต่ไม่หนาวมากนัก เสื้อแจ็กเก็ตที่สวมตัวเดียวให้ความอบอุ่นได้ แต่พอตัดสินใจอยากลองขึ้นกระเช้าไฟฟ้าไปสถานีที่ 2 ไกด์ต้องนั่งกระเช้าไฟฟ้าลงไปซื้อตั๋วสถานีที่ 2 มาให้ใหม่ จึงต้องแกร่วรอเป็นชั่วโมง เพราะมีนักท่องเที่ยวมากทีเดียว พอไกด์มาพร้อมกับตั๋วสถานีที่ 2 ราคา 800 รูปี รวม 2 สถานีแล้วเป็นเงิน 1,400รูปี ถ้าซื้อ 2 สถานีพร้อมกันน่าจะราคาถูกกว่านี้

10

ขึ้นกระเช้าไฟฟ้ามาถึงสถานียอดเขาอาฟฟาร์วัต ระยะทาง 5 กิโลเมตรใช้เวลา 10 นาที พอออกจากกระเช้าไฟฟ้าเจอลมหนาวกรูมาปะทะหน้าจนตัวเย็นเฉียบ รู้สึกเลยว่าอากาศเบาบางจนหายใจไม่ออก ไกด์คงเห็นดิฉันหน้าซีดหน้าเซียวจนถึงหน้าเขียว จึงรีบส่งเข้ากระเช้าไฟฟ้ากลับลงไปสถานีแรก เป็นอันดับฝันที่จะอยู่บนสถานีที่สูงที่สุดที่จะได้เห็นภาพแบบพานอรามาบริเวณช่องเขาคาราโครัม (Karakorum Pass) อีกทั้งหากอากาศดีจะได้เห็นยอดเขานังกาปาร์บัต (Nanga Parbat) อีกด้วย

พอกลับลงมาสถานีที่ 1 อาการค่อยดีขึ้นนั่งหลับตาสักพักก็หายเป็นปกติ แล้วนั่งกระเช้าไฟฟ้ากลับลงมาพื้นล่าง จากนั้นเดินกลับไปที่รถ เหนื่อยกว่าขาไปกระเช้าไฟฟ้า เพราะเป็นทางลาดขึ้นเขากว่าจะเดินถึงรถก็เพลียมาก แต่ยอมรับว่ากุลมาร์คสวยงามตรึงตาตรึงใจมิรู้ลืม

ทัชมาฮาล

รุ่งขึ้นเราขึ้นเครื่องบินออกจากศรีนคร มาถึงสนามบินเดลีราวบ่ายสองโมง ไกด์พาเข้าโรงแรมเพื่อเก็บสัมภาระแล้วพาไปเที่ยวที่ประตูเมืองอินเดีย ไกด์อธิบายว่า เป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะคล้ายประตูชัยฝรั่งเศส (Arc de Triomphe de L’Ètoile) ที่กรุงปารีส และยังมีจุดประสงค์ในการสร้างคล้ายกันคือ เป็นอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงทหารที่พลีชีวิตในสงครามครั้งสำคัญ ๆ ของอินเดีย

ดิฉันมองตามไกด์ไปที่ส่วนบนยอดของประตูเมืองอินเดีย ฟังไกด์อธิบายว่า วัสดุในการก่อสร้างเป็นหินทรายแดง เป็นแท่งทึบ มีความสูงจากระดับพื้นถนน 42.30 เมตร ส่วนโค้งของซุ้มประตูกว้าง 9.10 เมตร สูง 22.80 เมตร ตรงกลางระหว่างประตูมีกระถางหินทรายแดงขนาดใหญ่จุดไฟลุกโชน และมีอักษรจารึกเป็นภาษาฮินดีว่า “อมร ชะวาน ชโยติ” (อมร – ไม่ตาย ชะวาน – ทหาร และชโยติ – ความรุ่งเรืองหรือความสว่าง)

7

วันต่อมา มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองอัคระที่ตั้งอนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่และสวยที่สุดในโลก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบันด้วย

เราใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ราว 3 – 4 ชั่วโมงไกด์ให้คนขับรถจอดที่ลานจอดรถ แล้วนั่งรถรางเข้าไปทัชมาฮาล (Taj Mahal) แต่ก่อนจะเข้าไปข้างในไกด์เล่าถึงประวัติของทัชมาฮาลว่า จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโมกุล (Mughal Empire) พระนามว่าพระเจ้าชาห์ชะฮัน ชาฮาบุดดีน มุฮัมมัด คุรรัมชาห์ชะฮัน ที่ 1 โปรดให้สร้างเป็นอนุสรณ์แด่พระมเหสีที่พระองค์ทรงรักยิ่ง พระนามว่าพระนางมุมตัส มาฮาล ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2174หลังจากมีพระประสูติการทายาทองค์ที่ 14

ก่อนพระนางจะสิ้นพระชนม์ได้รับสั่งขอสัญญากับพระเจ้าชาห์ชะฮัน 4 ข้อด้วยกันคือ ขอให้สร้างสุสานที่สวยงาม ขอให้พระองค์ไม่มีพระมเหสีใหม่ขอให้ทรงพระกรุณาพระโอรสธิดา และเสด็จมาเยี่ยมพระนางที่สุสานทุกปี แต่หลังจากพระเจ้าชาห์ชะฮันสร้างทัชมาฮาลเสร็จ พระองค์จำต้องผิดคำสัญญาเรื่องที่ขอให้พระองค์เสด็จมาเยี่ยมทุกปี ด้วยทรงถูกพระราชโอรสองค์ที่ 3 ยึดราชบัลลังก์และจับพระองค์คุมขังที่ป้อมอัคระเป็นเวลา 8 ปี

ในวันที่ชาห์ชะฮันสวรรคตในปี 2209 พระองค์ได้เห็นทัชมาฮาลในสายพระเนตรเป็นครั้งสุดท้ายจากเศษกระจกในพระหัตถ์ที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล

ฟังไกด์เล่าจบ รู้สึกเศร้ารันทดใจกับอนุสรณ์แห่งความรักนี้เหลือเกิน ไกด์พาไปซื้อตั๋วเข้าชมทัชมาฮาล มีช่องจ่ายเงินให้สิทธิพิเศษกับคนไทย โดยเสียค่าบัตรผ่านประตูถูกกว่าชาวต่างชาติ เพราะประเทศไทยเป็นสมาชิกในกลุ่ม BIMSTEC คือ สมาชิกกลุ่มความร่วมมือของประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ ที่มีประเทศสมาชิก ได้แก่ บังกลาเทศ เนปาลภูฏาน ศรีลังกา อินเดีย เมียนมาร์ และไทย โดยเสียเงินคนละ 510 รูปีส่วนชาวต่างชาติอื่นเสีย 750 รูปี

11

หลังจ่ายเงินค่าตั๋ว ทุกคนได้รับถุงสำหรับหุ้มรองเท้าเดินในทัชมาฮาลส่วนชาวอินเดียไม่ต้องจ่ายค่าตั๋วราคาแพงอย่างชาวต่างชาติ จะมีช่องชั้นให้วางรองเท้า แล้วเดินเท้าเปล่าเข้าไป

ระหว่างทางเดินไปสุสานหินอ่อนสีขาว บนเนื้อที่ประมาณ 42เอเคอร์ ไกด์บอกว่า เป็นฝีมือการออกแบบสถาปัตยกรรมเปอร์เซียของนายช่างอุสตาด ไอซา (Ustad lsa) มีผู้ร่วมออกแบบช่างเขียนลวดลายช่างอิฐ ช่างปูน ช่างประดับลวดลายด้วยกระเบื้อง ช่างแกะสลัก จำนวน 20,000 คน ใช้เวลาก่อสร้างราว 22 ปี

มองจากประตูทางเข้าหินทรายสีแดง ขอบประตูทั้งด้านนอกและด้านในมีตัวอักษรจากคัมภีร์อัลกุรอ่านจารึกไว้ ซึ่งเป็นบทสวดมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ ผู้จารึกได้คำนวณขนาดของตัวอักษรที่ขอบประตูให้มีความสูงต่างกัน เพื่อทำให้ผู้อ่านไม่ว่าจะยืนอยู่มุมใดก็มองเห็นตัวอักษรได้ชัดเจน ด้านหน้าตรงกลางอาคารเป็นหลังคาโค้งขนาดใหญ่ขนาบด้วยหลังคาโค้งขนาดเล็กทั้งสองด้าน

วัสดุในการก่อสร้างขนมาจากทุกทิศทุกทางที่เป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีอย่างหินอ่อนมาจากเมืองชัยปุระ ศิลาแลงที่สร้างอาคารด้านข้างมาจากฟาเตปูห์สิครี เพชรจากปันนา หยกและคริสตัลจากจีน เทอร์คอยส์จากทิเบต ลาปิสลาซูลีและแซปไฟร์จากศรีลังกา และการก่อสร้างยังมีสัดส่วนสมมาตรกันคือ กว้างและยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร

ด้านบนของทัชมาฮาลเรียกว่าโอเนียนโดม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง58 ฟุต ยอดโดมสูง 213 ฟุต ด้านข้างมีโดมขนาดเล็ก 4 ด้าน มีหอคอย (หออะซาน) 4 ด้านประจำทิศเรียก มินาเร่ต์ เป็นที่ป่าวร้องให้ประชาชนสวดมนต์

ดิฉันเดินดูอาคารที่แกะสลักลวดลายประดับลายดอกไม้นานาชนิดผนังห้องและพื้นห้องตกแต่งโดยใช้หินสีชนิดต่าง ๆ เป็นรูปกลีบดอกไม้ก้านดอก ใบไม้ ฝังลงในเนื้อหินอ่อน ไล่โทนสีของหินจากสีอ่อนไปสีแก่ลวดลายที่ประดับดูอ่อนช้อยราวกับจิตรกรวาดเป็นลายเส้นด้วยมือ

ภายในอาคารหินอ่อนสีขาว ตรงกลางของอาคารมีหีบพระศพจำลองของพระนางมุมตัสกับหีบพระศพของพระเจ้าชาห์ชะฮันวางคู่กันโดยหีบพระศพจริงอยู่ในห้องลึกลงไปด้านล่างประมาณ 10 เมตร รอบ ๆมีฉากกั้นเป็นหินอ่อนฉลุโปร่งตาเป็นลวดลายเครือไม้และไม้ดอกที่งามวิจิตรทั้งสี่ด้าน

วันสุดท้ายของการท่องเที่ยว ดิฉันคิดว่าสมบูรณ์พร้อมด้วยธรรมชาติของศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของผู้คนต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ครบถ้วนมากทีเดียว

หวังใจว่า จะได้เดินทางประสาคนชีพจรลงเท้าต่อไปอีก ตามคติพจน์ที่ว่า “ชีวิตยังไม่สิ้นก็จงเที่ยวต่อไป”

TIPS

การเดินทางไปแคชเมียร์ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดจะอยู่ในเดือนเมษายนถึงกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน จะได้เห็นสวนดอกไม้มีดอกไม้สีสันสวยงามบานสะพรั่งมากกว่าช่วงฤดูกาลอื่นที่กุลมาร์คยังมีหิมะให้เล่นสกีได้แต่ถ้าต้องการสัมผัสอากาศหนาวเย็นมากๆ แบบมีหิมะปกคลุมหนา ต้องเป็นช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์สำหรับเมืองเดลีช่วงที่ไปอากาศร้อนจัดมากในเวลากลางวันช่วงเย็นอากาศร้อนเบาบางลงบ้าง หากเดินในสวนสาธารณะมีลมเย็นพอคลายร้อนได้

ข้อควรระวังที่แคชเมียร์ พ่อค้าเร่ขายของเก่งเหลือเกิน เรียกได้ว่าเสนอขายอะไรมา จะพยายามขายจนได้ ราคาเริ่มต้นจะแพงถ้าพอรู้ราคาต้องต่อรองราคาจนต่ำสุดเท่าที่พึงพอใจได้ถ้าไม่สนใจสินค้าที่มาเสนอขายต้องพยายามหลีกให้ห่างไกลมากที่สุด ถ้าจะซื้อควรตรวจสภาพสินค้าให้ดี จะได้ไม่โดนของเก่าเก็บหรือมีรอยชำรุดให้เจ็บใจ

การเดินทางหากใช้สายการบินโลว์คอสต์ทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ จากกรุงเทพฯไปลงนิวเดลีและไปศรีนครหากเดินทางภายในวันเดียวกันการต่อสายการบินในประเทศควรเผื่อเวลาให้มากกว่า 2 – 3ชั่วโมง เพราะสายการบินโลว์คอสต์จะต้องนั่งชัตเทิลบัสไปขึ้นเครื่องอีกเทอร์มินอลหนึ่งใช้เวลาเดินทาง 30 นาทีไม่อย่างนั้นอาจตกเครื่องได้

ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรว ฉบับ 867 ปักษ์วันที่ 10 ตุลาคม 2558

Praew Recommend

keyboard_arrow_up