ท่านผู้หญิงอังกาบ

เปิดบ้านสิวะดลของ “ท่านผู้หญิงอังกาบ” ความรัก ความผูกพัน ความทรงจำ หลอมรวมกันที่นี่

Alternative Textaccount_circle
ท่านผู้หญิงอังกาบ
ท่านผู้หญิงอังกาบ

นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสพิเศษของ แพรว ที่ “ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ” พร้อมคุณแป๊ก-ผกาภรณ์ บุตรสาวคนเดียว และคุณปิ๊ก-ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนิช บุตรชายคนเล็ก เปิดบ้านต้อนรับพร้อมพูดคุยถึงไลฟ์สไตล์ในวันสบายๆ ของท่านและครอบครัว

ท่านผู้หญิงอังกาบ
ท่านผู้หญิงอังกาบกับบุตรสาวและบุตรชายที่ลานด้านหลังของบ้านใหญ่

บ้านสิวะดล บ้านสไตล์ปราสาทหินประยุกต์

ท่านผู้หญิงพาเดินชมบ้านสไตล์ปราสาทหินประยุกต์ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้หลากหลายพันธุ์ ริมแม่น้ำแควน้อย กาญจนบุรี พร้อมเล่าถึงความเป็นมาที่น่าประทับใจ

“คุณโกวิทกับดิฉันตัดสินใจซื้อที่ดินตรงนี้ตามคำชักชวนของคุณเกษมและคุณหญิง จามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นที่เห็นภูเขา อยู่ติดกับแม่น้ำแควน้อย รวมพื้นที่ทั้งหมดราว 10 กว่าไร่ ตอนนั้นยังเป็นที่รกๆ ตอนแรกว่าจะไม่ซื้อ เพราะเรามีบ้านพักผ่อนที่เชียงใหม่และชะอำอยู่แล้ว ซึ่งต้องคอยไปดูแล แต่คุณโกวิทชอบมาก จึงตัดสินใจซื้อแล้วปลูกบ้านทันที ถ้านับอายุตัวบ้านก็ราว 20 ปีเศษแล้ว แต่เราเพิ่งบูรณะครั้งใหญ่เมื่อไม่นานนี้

ท่านผู้หญิงอังกาบ
บริเวณทางเชื่อมของบ้านหลังใหญ่ เห็นสถาปัตยกรรมสไตล์ปราสาทหินประยุกต์ได้อย่างชัดเจน

“ตอนตัดสินใจสร้างบ้าน มอบหมายให้ปิ๊กไปติดต่อสถาปนิกคือ คุณพาหกิตติ์ ตรีมาส ลูกศิษย์โรงเรียนจิตรลดาคนหนึ่งของดิฉันเป็นผู้ออกแบบ โดยให้อิสระว่าจะออกแบบอย่างไรก็ได้ เขาก็ได้แรงบันดาลใจว่าที่นี่อยู่ไม่ไกลจากปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญ จึงออกแบบให้ตัวบ้านเป็นสถาปัตยกรรมปราสาทหินประยุกต์ หลังคามุงแฝก ในระยะแรกเรามุงด้วยแฝกธรรมชาติ ทว่าต้องเปลี่ยนบ่อยทุก 2-3 ปี บวกกับกลัวอันตรายจากการเผาไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน จึงตัดสินใจสั่งแฝกเทียมนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียมามุงแทน ซึ่งทำได้เหมือนจริงมาก แม้ราคาสูงไปหน่อย แต่มีความทนทานอยู่นานหลายปี ไม่ติดไฟง่าย ถือว่าคุ้มค่า

ท่านผู้หญิงอังกาบ
ศาลานั่งเล่น ชมวิวธรรมชาติ

“ตัวบ้านใหญ่มี 2 อาคาร เชื่อมด้วยทางเดินแบบระเบียงปราสาทหิน เป็นบ้านชั้นเดียว และอาคารหลังหนึ่งมีห้องใต้หลังคาแบบบ้านในอังกฤษ บ้านทั้งหลังรวมถึงสวน ทำทางลาดสำหรับคุณโกวิทซึ่งป่วยต้องนั่งเก้าอี้เข็นไปได้ทั่วบริเวณสวนอันกว้างใหญ่ มีศาลานั่งเล่น มีสะพานยื่นออกไปชมสายน้ำในแม่น้ำแควน้อย เห็นวิวป่าและภูเขาฝั่งตรงข้าม คุณประชาและคุณไขศรี ตันศิริ กรุณาช่วยออกแบบและจัดสวนให้ หลังจากบ้านสร้างเสร็จอย่างสวยงาม เหมือนเป็นบ้านในฝันของเรา ทุกคนพอใจมาก โดยคุณโกวิทก็อนุญาตให้คุณพาหกิตติ์ลงชื่อที่เสาหน้าประตูบ้านไว้เป็นที่ระลึกด้วย

ท่านผู้หญิงอังกาบ
แนวสะพานที่เชื่อมไปยังศาลานั่งเล่น

“คุณโกวิทตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านสิวะดล” ตามชื่อบ้านที่ถนนคอนแวนต์ของตระกูลสีบุญเรือง ย่านสีลมที่คุณโกวิทเกิด และสถาปนิกก็ออกแบบสร้างศิวลึงค์และฐานโยนีไว้เป็นจุดเด่นในสวนด้านหลังบ้านด้วย คุณโกวิทรักบ้านหลังนี้มาก มาเกือบทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาชอบไปนั่งที่ศาลา ชมวิวธรรมชาติที่สวยงาม และยังชอบชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงมาเที่ยวชม ดิฉันเองก็มีความสุข และสนุกกับการทำอาหารไว้เลี้ยงแขก

ท่านผู้หญิงอังกาบ
ท่านผู้หญิงอังกาบกับคุณผกาภรณ์และผู้ช่วยศาสตราจารย์กนิช ในห้องนั่งเล่นของบ้านหลังใหญ่

“ต่อมาคุณโกวิทให้สร้างบ้านของแป๊กเพิ่มอีกหลัง ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มป่วยมากขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่ก็ยังมาที่บ้านนี้และติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้างอยู่เสมอ ถ้าเดินทางมาไม่ได้ก็ให้แป๊กถ่ายรูปไปให้ดูพร้อมรายงานความคืบหน้า คุณโกวิทพอใจ การก่อสร้างบ้านหลังใหม่นี้มาก หลังใหญ่ยกให้เป็นของปิ๊ก ส่วนป๊อก (คุณประกิด บุตรชายคนโต) ยกบ้านที่เชียงใหม่ให้ ซึ่งดิฉันอยากจะบอกว่า การก่อสร้างบ้านหลังนี้ไม่ได้ใช้วัสดุอะไรที่แพงเลย พื้นเป็นซีเมนต์ผสมสี ไม้ก็ไม่ใช่ไม้สัก หลังคาเป็นกระเบื้องลอนแล้วคลุมด้วยแฝก

ท่านผู้หญิงอังกาบ
มุมนั่งเล่นด้านนอกของบ้านหลังที่ 3 ซึ่งเป็นบ้านของคุณผกาภรณ์

“เมื่อคุณโกวิทถึงแก่กรรมเมื่อหลายปีก่อน ลูกๆ ถามว่าจะเชิญอัฐิและอังคารไปลอยที่ไหน ดิฉันบอกว่าที่แควน้อยหลังบ้านนี่แหละ เพราะเป็นสถานที่ที่เขาชอบ และเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลไปเชื่อมกับแม่น้ำอื่น ไม่ใช่คูคลองเล็กๆ จึงตัดสินใจเชิญมาลอยที่นี่

ท่านผู้หญิงอังกาบ
ความงามของลำน้ำแควน้อย

“ที่นี่ไม่เคยแห้งแล้ง เพราะอยู่ติดแม่น้ำและมีต้นไม้เยอะ อย่างมะยงชิด ดิฉันลงไว้หลายต้น เวลาออกผลนี่ดีมาก เนื้อหนา หวาน เสียดายโดนค้างคาวโจมตี เหลือรอดไม่มาก ยังมีต้นพริกไทยที่เก็บทีได้เป็นกิโลๆ แต่สะตอปลูกไม่ขึ้น ออกมาแค่ 2 ฝักอร่อยมาก แล้วไม่ออกฝักอีกเลย หรือมะขามก็ลงไว้มาก พอมีฝักก็นำมาแกะเนื้อทำมะขามเปียกขาย นำเงินมาสมทบเข้ากองทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียน ซึ่งดิฉันตั้งกองทุนไว้ ตอนที่จัดงานฉลองอายุท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ อายุ 84 ปี และดิฉัน อายุ 72 ปี เมื่อหลายปีก่อน ตอนแรกดอกเบี้ยมีจำนวนมากพอจะส่งเสีย แต่ตอนหลังดอกเบี้ยต่ำลงเรื่อยๆ ต้องหาเงินมาเพิ่ม ก็ทำขนมขายบรรดาผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งทำมะขามเปียกขายอย่างที่เล่า ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่

ท่านผู้หญิงอังกาบ
ห้องนอนใหญ่ในบ้านของคุณผกาภรณ์

“ถ้าดิฉันมีเวลาก็จะมาที่นี่ เช้าไปจ่ายตลาดใหญ่ บ่ายไปตลาดนัด รู้จักแม่ค้าหมดทุกร้าน ช่วงไหนไม่ได้ไปนานหน่อย พอไปถึงเขาก็ถาม พักนี้ไม่เห็นมานะคะ ดิฉันซื้อเกือบทุกร้านเลย จนแม่ค้าบางคนบอกคุณนายใจดี ขอให้ได้เป็นคุณหญิงนะคะ เราก็อุ๊ย ขอบคุณค่ะ” (หัวเราะ)

ท่านผู้หญิงอังกาบ
ส่วนนั่งเล่นในบ้านหลังเล็กของคุณผกาภรณ์

ความสุข ณ วันพักผ่อนของท่านผู้หญิงอังกาบ

ท่านผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดามานานหลายสิบปี และเพิ่งลาออกเมื่อไม่นานนี้

“ตอนนี้ได้พักผ่อน ไม่ต้องทำงานเต็มตัวเหมือนเมื่อก่อน แต่ยังเป็นที่ปรึกษาอยู่บ้าง มีเวลาได้ทำสิ่งที่อยากทำมากขึ้น ตอนทำงานประจำดิฉันทิ้งเรื่องอื่นหมด มุ่งงานของโรงเรียนเป็นหลัก เดี๋ยวนี้อยากไปไหนก็ไป ดูแลเรื่องบ้าน อ่านหนังสือ จัดห้องสมุดที่มีหนังสือจำนวนมากและยังจัดไม่เสร็จเลย (ยิ้ม) ได้ไปเที่ยวทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ มีเวลาเจอเพื่อนฝูงมากขึ้น ซึ่งพวกเขานัดทานข้าวกันเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ หรือนัดกันไปเที่ยวบ่อย แต่ที่ผ่านมาดิฉันต้องขาดตลอด เพราะติดทำงาน

ท่านผู้หญิงอังกาบ
ท่านผู้หญิงอังกาบที่สะพานเชื่อมไปยังศาลานั่งเล่น

“ดิฉันตัดสินใจลาออกเพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วค่ะ เปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาทำบ้าง เคยกราบบังคมทูลไว้นานแล้วว่าดิฉันอายุมากแล้วอยากจะขอพัก สิ่งที่ดิฉันทำไว้ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงสร้างวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาเพื่อสร้างวิชาชีพให้นักศึกษา ดิฉันปูรากฐานไว้หมดแล้วแต่คนที่มาใหม่จะเปลี่ยนอะไรก็ได้ ทุกอย่างต้องหมุนไป ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับยุคสมัย

“ถือว่าดิฉันได้มีชีวิตส่วนตัวมากขึ้น ได้เจอลูกหลานบ่อยขึ้น สมัยนี้แต่ละคนต่างมีภาระหน้าที่การงานกันเยอะ แต่ทุกคนก็ปลีกเวลามาช่วยดูแลดิฉัน ไปเที่ยวด้วยกัน ไม่เหมือนแต่ก่อนที่พอไปไหนด้วยกันได้ไม่นาน ดิฉันต้องรีบกลับมาทำงาน วันนี้จึงถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ได้อยู่กับลูกหลาน

“ทั้งลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ระลึกถึง เชิญไปงานเลี้ยงหรือมาพบปะเยี่ยมเยียนดิฉันกันมากมายตามเทศกาลต่างๆ บางคนก็ให้เกียรติดิฉันเป็นผู้ใหญ่ไปสู่ขอหรือเป็นสักขีพยานในงานหมั้น งานแต่งงานของเขาเองหรือลูกเขา ดิฉันถือว่าเป็นเกียรติในฐานะครูคนหนึ่งที่ได้รับเกียรติมากเช่นนี้”


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 938

Praew Recommend

keyboard_arrow_up