หนังสือนับหมื่นเล่มถูกเก็บรักษาอย่างเป็นระเบียบในห้องสมุดของสำนักพิมพ์ต้นฉบับ หลายเล่มในนั้นเป็นหนังสือหายากในระดับที่เรียกว่า ได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่เคยเห็นเล่มจริง วันนี้แพรวเดินทางไปหา คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เจ้าของห้องสมุดนั้น เพื่อพูดคุยถึงความหลงใหลในหนังสือหายาก พร้อมทั้งเรื่องราวของเอกสารชิ้นสำคัญของชาติ เช่น หนังสือของราชทูตฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, แผนที่กรุงเทพฯ-ธนบุรี ฉบับ พ.ศ. 2430 จนถึงหนังสือโป๊เล่มแรกของประเทศไทย
เปิดคลังมรดกของชาติ “หนังสือหายาก” แห่งรัตนโกสินทร์
บทที่หนึ่งของนักสะสม
ตั้งแต่สมัยเด็ก วิชาที่ผมชอบเรียนคือประวัติศาสตร์ เวลาครูสอนวิชานี้ เพื่อนหลายคนอาจง่วงนอน แต่ผมสนุกมาก จนถึงวัยทำงานก็ยังแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์อยู่เรื่อยๆ วันเสาร์-อาทิตย์ก็ชอบไปเดินหาหนังสือเก่าที่สวนจตุจักรและอีกหลายแห่งจนรู้จักเกือบทุกร้าน หนังสือชุดแรกๆ ที่สนใจคือ หนังสือที่ระลึกงานศพของบุคคลที่มีชื่อเสียงในอดีต โดยเนื้อหาด้านในมักมี 3 ส่วนสำคัญหลักๆ คือ ประวัติผู้ตาย คำไว้อาลัยของเพื่อนสนิทมิตรสหาย และเนื้อเรื่องหลักซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสนใจ เพราะมักจะเป็นเรื่องราวที่หาอ่านได้ยาก เช่น พระราชพงศาวดาร วรรณคดี ในขณะที่เนื้อหาในสองส่วนแรกก็มักจะมีเกร็ดประวัติศาสตร์อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งหลายครั้งมีเนื้อหาที่เราคาดไม่ถึง

ผมเริ่มสะสมหนังสือหายากมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ตอนนั้นทำงานเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แผนและนโยบาย สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อน จะได้ทำงานการเมือง โดยเป็นเลขาฯให้คุณเดช บุญ-หลง ส.ส.พรรคชาติไทย พอคุณเดชเลิกเล่นการเมือง ผมก็ขออนุญาตออกมาทำสิ่งที่ตัวเองชอบ นั่นคือการเปิดสำนักพิมพ์ต้นฉบับในปี พ.ศ. 2540 เพราะมีความคิดว่า มีหนังสือเก่าๆ ที่พิมพ์ครั้งเดียวแล้วไม่ได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกเลย ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของประเทศอยู่ในหนังสือเหล่านั้น ทำไมไม่นำมาพิมพ์ใหม่เพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ เกณฑ์ของผมจะเลือกหนังสือที่เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สูญหายไปแล้ว 50-100 ปีเป็นอย่างน้อย และส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่ไม่เคยพิมพ์ซ้ำมาก่อน เพื่อเก็บรักษาประวัติศาสตร์หน้าสำคัญให้คงอยู่ต่อไป
พอตั้งสำนักพิมพ์ ผมก็เริ่มซื้อหนังสือเยอะขึ้น บางครั้งใช้วิธีซื้อต่อ เหมาซื้อทุกเล่มจากนักสะสมที่เสียชีวิต เคยได้มาคราวเดียว 8,000 เล่ม กับ 12,000 เล่ม เป็นเงินหลักแสนบาท จากนั้นต้องลงทะเบียนเป็นข้อมูลว่ามีหนังสืออะไรบ้าง ซึ่งรวมทั้งหมดตอนนี้น่าจะมีหนังสืออยู่ในหลักหมื่นเล่ม
การเก็บรักษาเอกสารโบราณทรงคุณค่า
หนังสือหายากหรือหนังสืองานศพจะชำรุดตามกาลเวลา บางทีมีแมลงที่กินหนังสือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bookworm เป็นแมลงปีกแข็ง สีน้ำตาลตัวเล็กเท่ามด จะเข้าไปกินเยื่อของปกหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือปกแข็ง มันจะเข้าไปทำรังในเล่ม ออกลูกเป็นหนอน แล้วกลายเป็นแมลงตัวนี้ ถ้าเจอก็ต้องทิ้งปกอย่างเดียว เพราะตัวมันเล็กมาก เวลาเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในปกหนังสือ ไม่ว่าทำอย่างไรก็ฆ่าไม่ได้หมด ถ้าผมเจอก็ทิ้งปกเก่า ทำเล่มให้สะอาด แล้วส่งซ่อมทำปกใหม่ ถ้าเป็นเล่มที่มีคุณค่าจะทำปกแบบเดิม เพื่ออนุรักษ์หนังสือเล่มนั้นไว้ ซึ่งค่าใช้จ่ายตกเล่มละพันบาทขึ้นไป

หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมรักษาด้วยวิธีนี้คือ หนังสือของราชทูตฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พอท่านราชทูตกลับประเทศก็เขียนบันทึกไว้ว่า ได้เจออะไรที่สยามบ้าง หนังสือเล่มนี้พิมพ์ปี พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) ผมส่งไปทำการอนุรักษ์ที่ประเทศอังกฤษ จ่ายไปกว่า 2 หมื่นบาท เป็นวิธีการซ่อมในระดับซ่อมจดหมายเหตุ โดยนำหนังสือแช่ลงในน้ำที่มีค่าความเป็นกลาง เพื่อทำให้กระดาษคลายตัวเป็นแผ่นๆ จากนั้นนำมาผึ่งให้แห้งดี แล้วซับด้วยกระดาษพิเศษ ทำแบบนี้ทุกหน้า จากนั้นก็นำมาเย็บเข้าเล่มใหม่

3 หนังสือหายากของรัตนโกสินทร์
1. บทสวดมนต์หลวง จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในปี พ.ศ. 2423 โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียง ถือเป็นหนังสือที่ระลึกงานศพเล่มแรกของประเทศไทย และเป็นหนังสือที่นักสะสมทุกคนใฝ่ฝันว่าจะได้ครอบครอง จำนวนพิมพ์ในครั้งนั้นประมาณ 10,000 เล่ม ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาพระราชทานแจกจ่ายแก่วัดต่างๆ ใช้ในการฝึกซ้อมสวดมนต์ให้ถูกต้อง หนังสือเล่มนี้มีอายุเกือบ 140 ปีแล้ว ปัจจุบันหายากมาก

2. Grammatica Linguae Thai ตำราเรียนไวยากรณ์ภาษาไทยเล่มแรกสำหรับชาวยุโรป แต่งโดยพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) บาทหลวงสังกัดคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 โดยแบบเรียนนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ เมื่อปี พ.ศ. 2393
ท่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์เขียนแบบเรียนเป็นภาษาละติน โดยมีอักษรไทยกำกับ เพื่อสอนให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้าใจภาษาไทยขั้นพื้นฐาน โดยจัดพิมพ์แค่ 60 เล่ม ตามหลักฐานเท่าที่ผมรู้มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน 5 เล่ม คือ ที่หอสมุดแห่งชาติ 1 เล่ม หอสมุดกลาง 1 เล่ม หอสมุดมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น 2 เล่ม และ อยู่ในความครอบครองของผม 1 เล่ม ซึ่งประมูลมาจากคริสตี้ไทยแลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2546 เป็นเงิน 72,000 บาท โดยผมอนุญาตให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำไปพิมพ์ให้เหมือนต้นฉบับ มีจำนวนพิมพ์ 500 เล่ม ปัจจุบันไม่น่าจะเหลือแล้ว
ในหนังสือเล่มนี้ยังบันทึกรูปแบบภาษาที่คนไทยใช้ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เช่น พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับขุนนาง ขุนนางพูดกับไพร่ ฯลฯ ซึ่งว่าไปแล้วนี่คือไดอะล็อกที่คนทำละครย้อนยุคสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

3. กล่อมครรภ์ หนังสือโป๊เล่มแรกของประเทศไทย เขียนโดยหลวงวิลาศปริวัตรานุสรณ์ (ครูเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) ในปี พ.ศ. 2440 คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยบอกผมว่า กล่อมครรภ์เป็นหนังสือคลาสสิกและหายากมาก มีคนไม่มากที่เคยเห็น ในขณะที่ครูเหลี่ยมก็ใช้ภาษาบรรยายเรื่องราวอีโรติกได้สวยงาม สละสลวย และให้อารมณ์ ความรู้สึกที่สุดยอดมาก เช่น

“…ข้าพเจ้าบีบคลำน่าขาแล้วร่นมาถึงท้องถึงนม แล้วตลบกลับลงไป แลขึ้นมาอีกสองสามหน ความพิศวาสดิ์นั้นรุนแรง ราวกับจะคลั่งด้วยหน้ามืดตัณหา ข้าพเจ้าจึ่งว่า ก้อนโลหิตตกจะทำให้เปื้อนเปรอะ เพราะฉนั้นต้องเปลื้องผ้าเสียก่อน ถึงหล่อนก็ควรเปลื้องออกอีกเหมือนกัน…” (ภาษาตามต้นฉบับ)
นักประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยฮือฮามากว่าผมหาเล่มนี้มาได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่าด้วยความบังเอิญ ผมเจออยู่ที่โซนขายหนังสือเก่าที่สวนจตุจักร พอเห็นก็ตาโตเลย รีบหยิบหนังสืออีก 20 เล่มมาวางทับไว้ แล้วถามเจ้าของร้านว่าถ้าซื้อยกตั้งคิดเท่าไร เพราะถ้าเจ้าของร้านเห็นซื้อเล่มนี้แค่เล่มเดียวอาจจะแพงมาก พอซื้อเป็นตั้ง เจ้าของร้านบอกว่า 2,000 บาทละกัน แต่ผมต่อเหลือ 1,500 บาท แล้วยกหนังสือกลับบ้านทั้งตั้ง ทั้งที่จริงๆ อยากได้เล่มเดียวนั่นแหละ
แผนที่กรุงเทพฯ-กรุงธนบุรีที่แม้แต่หอจดหมายเหตุแห่งชาติยังไม่มี
เอกสารโบราณชุดหนึ่งที่ผมเก็บรักษาไว้คือ แผนที่กรุงเทพฯ-ธนบุรี ฉบับ พ.ศ. 2430 ซึ่งเดิมทีผมมีความรู้เพียงแค่อาจารย์ท่านหนึ่งคือ พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี เคยให้ข้อมูลผมว่า เวลาไปตลาดของเก่าช่วยดูแผนที่กรุงเทพฯด้วย ที่ผ่านมาพวกเราใช้แต่แผนที่ฉบับนายวอนนายสอนที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2439 มาตลอด แต่อาจารย์สงสัยว่าจะมีแผนที่อีกฉบับที่ยังหาไม่เจอ นั่นคือ แผนที่กรุงเทพฯ-กรุงธนบุรี ฉบับปี พ.ศ. 2430
ความสำคัญของแผนที่กรุงเทพฯชุดนี้คือ เป็นแผนที่ที่สำรวจและตีพิมพ์ให้เห็นกรุงเทพมหานครในยุคต้นรัชกาลที่ 5 อย่างละเอียด มาตราส่วน 1 : 5000 โดยมีทั้งหมด 36 แผ่น เป็นฝั่งกรุงเทพฯ 18 แผ่นและฝั่งธนบุรีอีก 18 แผ่น ซึ่งผมมีในส่วนของฝั่งกรุงเทพฯครบ แต่ของฝั่งธนบุรีขาดไป 5 แผ่น โดยแผนที่แต่ละแผ่นมีขนาด 22 x 34 นิ้ว ถือว่าใหญ่มาก ฉะนั้นจึงเห็นกรุงเทพมหานครในทางกายภาพอย่างละเอียด เช่น ถนนบางลำพู วัดบวรนิเวศ โรงเรียนสตรีวิทยา ป้อมมหากาฬ แม่น้ำเจ้าพระยา แม้กระทั่งถนนหนทาง บ้านเรือน แพที่ลอยอยู่ในน้ำ เป็นแผนที่ที่ทุกคนตะลึง ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ นักสถาปัตยกรรม รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้เห็นโครงสร้างของกรุงเทพฯและกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2430

นอกจากนี้ยังเป็นแผนที่ชุดที่ไม่เคยปรากฏในแหล่งเก็บสะสมของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นหอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมแผนที่ทหาร หรือกรมที่ดิน เป็นแผนที่ที่พิมพ์ขึ้นมาแล้วสาบสูญ เนื่องจากอะไรก็ไม่ทราบได้ แต่มีความสำคัญมากในแง่ของนักประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม แม้กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ เพราะสามารถเห็นกรุงเทพมหานครเมื่อ 130 ปีก่อนอย่างละเอียด
ผมเจอแผนที่ชุดนี้เมื่อปี พ.ศ. 2542 ที่ร้านขายของเก่าย่านสวนผัก ตอนแรกเจ้าของร้านถามผมว่าสนใจโฉนดที่ดินโบราณไหม ผมเดินไปถึงก็เห็นม้วนกระดาษแข็ง 2 ม้วนอยู่ในกระเป๋าเดินทางเก่าในยุครัชกาลที่ 7 ผมค่อยๆ คลี่กระดาษม้วนแรกออกก็เห็นแผนที่วัดโพธิ์ มีเจดีย์ย่อมุม 12 ชัดแจ๋ว คมกริบ ตอนนั้นขนลุกเลย นี่ไม่ใช่โฉนดที่ดิน แต่เป็นแผนที่กรุงเทพฯ-ธนบุรี ฉบับ พ.ศ. 2430 พอคลี่กระดาษอีกม้วนก็เห็นแม่น้ำเจ้าพระยา โรงพยาบาลศิริราช แบบชัดแจ๋วเหมือนกัน ผมตัดสินใจซื้อทันที ซึ่งตอนหลังเจ้าของร้านก็รู้แล้วนะครับว่าไม่ได้ขายโฉนดที่ดินให้ผม แต่เป็นแผนที่ชิ้นสำคัญ แกยังแซวว่า แหม…คุณอ้วน
ความเป็นมาของหนังสือหายากแห่งรัตนโกสินทร์ยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจอีกเพียบ สามารถติดตามอ่านเรื่องราวฉบับเต็มแบบจุใจได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับ 936