ฉายเดี่ยวเที่ยว CROATIA (ตอนจบ 1)

ฉันนั่งอยู่บนรถบัสที่แล่นจากซาดาร์ (Zadar) ไปยังสปลิต (Split)นึกถึงคำของคุณป้าเจ้าของ Bed & Breakfast ที่ใจดีขับรถมาส่งฉันถึงท่ารถ แกเล่าให้ฟังว่าในคืนที่คลอดลูกชายคนเล็ก ด้านนอกโรงพยาบาลยังมีเสียงระเบิดกันตูม ๆ เป็นคืนที่ยาวนานและน่ากลัวที่สุดในชีวิตอย่างไรก็ตามคุณป้าบอกฉันว่า ตอนนี้ตัวแกและชาวโครเอเชียคนอื่น ๆ อยากคิดถึงอนาคตมากกว่าที่จะคิดถึงอดีตอันโหดร้าย

สปลิต โบราณสถานที่มีชีวิต
สปลิต โบราณสถานที่มีชีวิต

รถบัสพาฉันไปถึงท่ารถเมืองสปลิตตอนหัวค่ำ ฉันลากกระเป๋าเดินจากท่ารถที่อยู่ใกล้กับท่าเรือลัดเลาะไปตามทางเดินริมทะเล ก่อนจะตัดเข้าเขตเมืองเก่ามุ่งหน้าไปยังโฮสเทลที่จองไว้ พรุ่งนี้หมายใจว่าจะนั่งเรือข้ามออกจากฝั่งไปยังเกาะฮวาร์ (Hvar) เกาะที่อยู่ริมฝั่งแดลเมเชีย (Dalmatia) ท่ามกลางทะเลเอเดรียติก

Hvar Town สวรรค์แห่งแสงแดด

ฉันตื่นแต่เช้าตรู่ อาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็เดินออกมาจากที่พัก แวะร้านขนมปังที่อยู่ไม่ไกลนัก ซื้อครัวซองต์เดินกินไปเรื่อย ๆ ไม่นานก็ถึงท่าเรือเฟอร์รี่

ตลาดเช้าในสปลิตในวันอากาศดี มีขายตั้งแต่อาหาร ผัก ผลไม้ เสื้อผ้า ต้นไม้ ยันอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย
ตลาดเช้าในสปลิตในวันอากาศดี มีขายตั้งแต่อาหาร ผัก ผลไม้ เสื้อผ้า ต้นไม้ ยันอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย

เรือเฟอร์รี่ของบริษัท Jadrolinija ออกจากท่าเรือที่สปลิตตอน 8 โมงครึ่ง ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง เพื่อมุ่งหน้าไปยังท่าเรือสตาริกราด (Stari Grad) ที่ตั้งอยู่บนเกาะฮวาร์ ซึ่งเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงเกาะหนึ่งของโครเอเชีย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ได้รับแสงแดดถึง 2,724 ชั่วโมงต่อปีถือว่ามากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อน ยามที่น้ำทะเลอุ่นพอที่จะลงเล่นน้ำได้

ภายในเกาะฮวาร์นั้นมีเมืองหลายเมืองให้เลือกท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเมืองสตาริกราด อยู่ห่างจากท่าเรือเฟอร์รี่ออกไปราว 2 – 3 กิโลเมตร และยังถือเป็นเมืองมรดกโลกของยูเนสโก เมืองเจลซ่า (Jelsa) หรือเมืองฮวาร์ เมืองชื่อเดียวกันกับเกาะที่ฉันเลือกไป โดยต้องต่อรถบัสที่จอดรออยู่ที่ท่าเรืออีกราว 20 นาที เพื่อข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของเกาะ

เขตเมืองเก่าของเมืองฮวาร์นั้นล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 เวลาเดียวกับที่เมืองถูกสร้างขึ้น โดยมีจัตุรัสนักบุญสตีเฟ่น (St. Stephen’s Square) เป็นศูนย์กลางของเมือง ภายในจัตุรัสมีโบสถ์นักบุญสตีเฟ่น (Cathedral of St. Stephen) และหอระฆังที่สร้างขึ้นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 อยู่ติดกัน

อาคารสรรพาวุธที่ด้านบนเป็นโรงละครอยู่ทางซ้ายมือ ต่อด้วยบ้านแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่หลังคาสีอิฐแดงตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม
อาคารสรรพาวุธที่ด้านบนเป็นโรงละครอยู่ทางซ้ายมือ ต่อด้วยบ้านแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่หลังคาสีอิฐแดงตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม

ทางด้านใต้ของจัตุรัสหันหน้าออกสู่ทะเล คือโรงละครของเมืองฮวาร์ตั้งอยู่เหนืออาคารสรรพาวุธของกองทัพเรือ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1611 ตัวโรงละครสร้างในสมัยเรอเนสซองซ์ ในระยะเดียวกันกับที่อาคารสรรพาวุธถูกสร้างขึ้น นับเป็นโรงละครแห่งแรกในยุโรปที่เปิดให้ทั้งชนชั้นสูงและสามัญชนเข้าใช้อย่างเท่าเทียมกัน

จากโรงละครฉันมุ่งหน้าไปอีกฝั่งของจัตุรัส หันหลังให้ทะเลเอเดรียติก ผ่านถนนเส้นเล็กเส้นน้อย ค่อย ๆ เดินไต่ขึ้นเนินสู่ Fortress ที่อยู่ด้านบน ป้อมปราการนี้สร้างตั้งแต่สมัยยุคกลางเพื่อป้องกันการรุกรานของพวกเติร์ก สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดคือการมองดูเมืองฮวาร์ในมุมสูงจากป้อม วิวหลังคาสีส้มอิฐของอาคารหลังแล้วหลังเล่าเรียงรายกันตามแนวโค้งแผ่นดิน ตัดกับผืนน้ำสีเขียวมรกตและผืนฟ้าสีฟ้าเบื้องหน้านั้น เป็นภาพที่ทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

จัตุรัสกลางเมือง Trg Josipa Jela i a จากบน Zagreb Eye
จัตุรัสกลางเมือง Trg Josipa Jela i a จากบน Zagreb Eye

แดดร่มลมตกฉันนั่งกินไอศกรีมพลางเขียนโปสต์การ์ดอยู่ที่จุดที่คนขับรถบัสนัดผู้โดยสารทุกคนให้มารอ เพื่อขึ้นรถกลับไปท่าเรือที่สตาริกราด เห็นนักท่องเที่ยวเจอกันบนเรือเมื่อเช้าทยอยมาถึงจุดนัดจนกระทั่งได้สัญญาณเรียกขึ้นรถ ในขณะที่ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้ม ลมเย็นมากระทบจนหนาว ทุกคนจึงลงมาแออัดกันในห้องรับรองในเรือ ไม่นานนักก็เห็นเส้นแนวแผ่นดินของสปลิตราง ๆ อยู่เบื้องหน้าไม่ไกล

Split เมืองเก่าเคล้าอดีต

ฉันเดินจากท่าเรือกลับไปยังโฮสเทลยามโพล้เพล้ มองผ่านกำแพงเมืองเข้าไปในเมืองที่มานอนเป็นคืนที่ 2 แล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสไปทำความรู้จัก ความเหนื่อยจากการเดินตากแดดในฮวาร์มาทั้งวันทำให้ฉันไม่อยากออกไปหาอะไรกินข้างนอก ตัดสินใจกลับโฮสเทล งัดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เตรียมมาใส่น้ำร้อนกินไปพลาง คุยกับแอนเดรีย นักศึกษาด้านเวชศาสตร์การกีฬาจากสกอตแลนด์ที่เจอกันในพื้นที่ส่วนกลางไปพลางเธอกำชับฉันว่าขณะนั่งรถบัสจากสปลิตไปดูบรอฟนิกให้เลือกนั่งทางฝั่งขวามือ เพราะวิวข้างทางที่จะเห็นนั้นสุดยอดมาก…ฉันกลับเข้าห้องนอนก็พบว่าเหล่าสมาชิกร่วมห้องกลุ่มเดิมเช็กเอ๊าต์กันหมดแล้ว มีสมาชิกใหม่เป็นสาวน้อยหน้าใสจากเกาหลี ที่เดินทางเที่ยวยุโรปคนเดียวเป็นเวลา 1 เดือน เล่าให้ฟังว่ามาแวะพักที่สปลิตแค่คืนเดียว เพื่อจะเดินทางต่อไปยังอุทยานแห่งชาติพลิตวิเซ่เลคส์เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันจึงค้นข้อมูลของอุทยานที่ตัวเองมีให้ไป พร้อมกำชับให้เช็กรอบรถบัสล่วงหน้าดี ๆ ก่อนแยกย้ายขึ้นเตียงเข้านอน

เช้าวันใหม่ฉันสะลึมสะลือขึ้นมาเซย์กู๊ดบายกับน้องเกาหลีที่กำลังลากกระเป๋าออกไปขึ้นรถบัส แล้วงัวเงียลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวออกไปยลเมืองสปลิต

สปลิตเป็นเมืองท่าและศูนย์การคมนาคมทางน้ำที่มีความสำคัญมาแต่อดีต (ประเทศนี้มีเมืองท่าเยอะ ก็ติดทะเลทั้งแถบซ้ายของประเทศเสียขนาดนี้) เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของโครเอเชีย รองจากกรุงซาเกร็บ (Zagreb) อยู่ในแคว้นแดลเมเชีย ด้วยความที่เป็นเมืองท่าสำคัญจึงมีส่วนผสมของศิลปะทุกยุคสมัย สร้างต่อเติมกันบนพื้นที่เดิม ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นใครเรืองอำนาจและเข้ามาปกครอง ก่อนจะเป็นประเทศโครเอเชียในปัจจุบัน โดยเขตเมืองเก่าของสปลิตได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1979

ร่องรอยความยิ่งใหญ่ของพระราชวังไดโอคลีเชียนที่ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบโดนรายรอบด้วยร้านค้า
ร่องรอยความยิ่งใหญ่ของพระราชวังไดโอคลีเชียนที่ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบโดนรายรอบด้วยร้านค้า

ใจกลางเขตเมืองเก่าของสปลิตคือ พระราชวังไดโอคลีเชียน (Diocletian’s Palace) ซึ่งพระราชวังนี้เป็นส่วนหนึ่งของเขตเมืองเก่าที่มีลักษณะเป็นถนนเส้นเล็กเส้นน้อย คดเคี้ยวราวกับเขาวงกต ภายในกำแพงเมืองเก่าที่ล้อมรอบพระราชวังอยู่นี้ยังเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนหลากหลายสไตล์ตั้งอยู่ติด ๆ กัน รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ

เมืองโบราณที่มีชีวิต

ยังไม่ทันได้เริ่มดูอะไรก็มีคนเดินมาแจกใบปลิวชวนเข้าร่วม Walking Tour รอบเขตเมืองเก่าสปลิต เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 5 – 6 คนคิดคนละไม่แพง ฉันจึงเข้าร่วมทัวร์รอบ 10 โมงกับเขาด้วย เมื่อถึงเวลานัด ฉันครอบครัวพ่อแม่ลูกจากนิวซีแลนด์ และคู่แต่งงานจากอเมริกาจึงมารวมตัวกัน โดยมีไกด์ชาวสปลิตเป็นคนนำ ระหว่างที่พาเราเดินจากจุดเริ่มต้นทางด้านหน้าพระราชวังทะลุเข้าไปยังประตูทางออกสู่ทะเล ไกด์อธิบายถึงพระราชวังไดโอคลีเชียนว่า จักรพรรดิของโรมันชื่อไดโอคลีเชียนโปรดให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับหลังเกษียณจากการทำงานรับใช้จักรวรรดิโรมันมานาน โดยนำเข้าหินอ่อนที่ดีที่สุดมาจากอิตาลีและกรีซ นำเข้าเสาหินและสฟิงซ์มาจากอียิปต์ ตัวเขตพระราชวังนั้นล้อมรอบด้วยกำแพงและประตูเข้าเมืองทั้ง 4 ทิศ

พระอารามฟรานซิสกัน พื้นที่พักหายใจแบบเซอร์ไพร้ส์เล็กๆ ใจกลางเมืองดูบรอฟนิก
พระอารามฟรานซิสกัน พื้นที่พักหายใจแบบเซอร์ไพร้ส์เล็กๆ ใจกลางเมืองดูบรอฟนิก

ไกด์เล่าต่อว่า สปลิตนั้นถือว่าเป็นเมืองโบราณที่มีชีวิต คือไม่เคยถูกปล่อยให้รกร้าง เป็นเมืองที่มีคนอาศัยมาทุกยุคสมัย เมื่อเรามองไปที่อาคารบางหลังจะเห็นร่องรอยของอดีตในหลายยุค ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคารแบบยุคกลาง หน้าต่างแบบเวนิเชียน หรือนีโอคลาสสิกทับซ้อนผสมผสานหล่อหลอม เกิดขึ้นเป็นสภาพที่เห็นในปัจจุบัน

ไกด์พาเราเดินไปรอบเขตเมืองเก่า แนะนำแต่ละสถานที่พอให้เราได้รู้จักความเป็นมาของสถานที่นั้น ๆ ตั้งแต่อนุสาวรีย์ของ Marko Maruli นักประพันธ์คนดังของโครเอเชียจากสปลิต Knjižara Morpurgo ร้านหนังสือประตูสีเขียวที่เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860 แล้วพาวนผ่านตรอกเล็กตรอกน้อย เขตพระราชวัง เดินตามเสียงดนตรีที่แว่วมาตามทางจนโผล่ที่โถงกลางแจ้งแห่งหนึ่ง ณ โถงกลางแจ้งแห่งนั้น คลาปา (Klapa) นักร้องประสานเสียงอะแคปเปลลาแบบดั้งเดิมของแคว้นแดลเมเชียในชุดเต็มยศกำลังเปล่งเสียงประสานก้องกังวาน ปลุกให้พระราชวังโบราณที่อายุร่วม 1,700  ปีแห่งนี้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง

ฉันออกจากสปลิตในเย็นวันนั้น เลือกนั่งฝั่งขวาของรถบัสตามที่แอนเดรยีบอกแล้วก็ไม่ผิดหลัง เพราะข้างมางนั้นสวยงามเหนือคำบรรยายจริง ๆ ฉันมาถึงดูบรอฟนิกตอนพลบค่ำ ต่อแท็กซี่ไปยังโรงแรมที่จองไว้

ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรว ฉบับที่ 864 ปักษ์วันที่ 25 สิงหาคม 2558

บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินของเว็บไซต์แพรว ห้ามผู้ใดนำไปคัดลอก ดัดแปลง หรือทำซ้ำ อนุญาตให้แชร์บทความนี้ได้จากลิ้งค์นี้เท่านั้น

Praew Recommend

keyboard_arrow_up