ในโลกนี้มีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเรื่องที่เรานำมาให้อ่านกันนั้นเกี่ยวกับ กระทรวงสุดแนว ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริง!
เมื่อไม่นานมานี้อังกฤษเพิ่งตั้งกระทรวงใหม่ล่าสุดที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ในโลก ชื่อกระทรวงความเหงา ซึ่งการตั้งกระทรวงแนวนี้ไม่ได้มีแค่ที่นี่ ชาติอื่นอีกหลายชาติเขาก็มีเช่นกัน เป็นการสะท้อนว่าแต่ละชาติก็มีปัญหาของตัวเองที่แปลกแตกต่างกันไป
6 กระทรวงสุดแนว
1. รัฐมนตรีความเหงา : อังกฤษ
ใครว่าความเหงาเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งใครคนนั้นคงไม่ใช่นายกรัฐมนตรีอังกฤษแน่ เพราะเมื่อไม่นานนี้รัฐบาลของนางเทเรซา เมย์เพิ่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่แกะกล่องและมีเพียงหนึ่งเดียวในโลกนั่นคือ รัฐมนตรีความเหงา หรือ Minister for Loneliness
ข้อมูลเป็นทางการที่นั่นระบุว่า มีชาวสหราชอาณาจักรที่รู้สึกเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างอยู่เสมอกว่า 9 ล้านคน โดยเฉพาะคนสูงวัยที่อายุเกิน 75 ปีนั้น สถิติบอกว่า ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งผู้อาวุโสเหล่านี้มีอยู่ถึงราว 200,000 คนที่ไม่ได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องเลยตลอดเวลากว่าหนึ่งเดือน
ผู้ตระหนักถึงปัญหาความเหงาและพยายามริเริ่มแก้ไขอย่างเป็นรูปเป็นร่างคือ โจ ค็อกซ์ อดีต ส.ส.หญิงที่ถูกพวกหัวรุนแรงฝ่ายขวาสังหารเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งก่อนเสียชีวิตนั้นเธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงตั้งคณะกรรมาธิการแห่งความเหงาขึ้น และรัฐบาลอังกฤษก็นำงานของเธอมาสานต่อเป็นกระทรวงความเหงานี่เอง

โดยที่เริ่มต้นนี้ นายกรัฐมนตรีเมย์ได้มอบหมายให้ เทรซีย์ เคราช์ (Tracey Crouch) รัฐมนตรีกีฬานั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีความเหงาอีกหนึ่งตำแหน่ง และงานเร่งด่วนของรัฐมนตรีหญิงท่านนี้คือ คลอดยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับปัญหาความเหงา วางแผนงานด้านงบประมาณและแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม
2. กระทรวงกิจการฮัจญ์และอุมเราะห์ : ซาอุดีอาระเบีย
แต่ละปีมีชาวมุสลิมไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนจากทั่วโลกมุ่งหน้าสู่นครเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย อย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อประกอบพิธี
ฮัจญ์ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมทุกผู้ทุกนามต้องปฏิบัติหากมีความพร้อม
การมาถึงในสถานที่เดียวกันและในเวลาเดียวกันของผู้จาริกแสวงบุญเป็นล้านคน ว่ากันว่าเป็นการชุมนุมใหญ่โตที่สุดในโลก คิดดูแล้วกันว่าจะเกิดความสับสนวุ่นวายขนาดไหน ทั้งเรื่องการกินอยู่หลับนอน การคมนาคมขนส่ง สุขภาพอนามัย และบางปีก็มีข่าวว่าแออัดถึงขั้นเหยียบกันจนบาดเจ็บล้มตายก็มี
ปัญหาพวกนี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ถึงขนาดที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียต้องตั้งเป็นกระทรวงขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อบริหารจัดการในชื่อว่า Ministry of Haj and Umra หรือกระทรวงกิจการฮัจญ์และอุมเราะห์ โดยภารกิจคือ ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อคอยดูแลสุขทุกข์ของผู้มาจาริกแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ เพื่อให้มีความสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด
3. กระทรวงการแพทย์ทางเลือก : อินเดีย
กระทรวงที่ไม่เหมือนใครของอินเดียนี้คือ Ministry of AYUSH หรือชื่อเต็ม ๆ ว่าMinistry of Ayurveda, Yoga and Naturopathy, Unani, Siddha and Homeopathy ที่แปลว่า กระทรวงอายุรเวทโยคะและธรรมชาติบำบัด ยูนานิ สิทธา และโฮมีโอพาธี
กล่าวง่ายๆ ได้ว่า นี่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ทางเลือก ทั้งที่เป็นศาสตร์โบราณที่สืบทอดต่อกันมาของอินเดีย และที่เขารับเข้ามาจากต่างแดน โดยชื่อศาสตร์ทั้งหลายข้างต้นนั้น ที่ไม่ค่อยคุ้นก็น่าจะเป็นยูนานิ ซึ่งเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ชมพูทวีปรับมาจากอาหรับ และสิทธา คือศาสตร์การแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย
แรกเริ่มเดิมทีในปี ค.ศ. 1995 รัฐบาลภารตขณะนั้นได้ตั้งหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขชื่อว่าการแพทย์อินเดียและ โฮมีโอพาธี ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 หน่วยงานนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอายุรเวท โยคะและธรรมชาติบำบัด ยูนามิ สิทธา และโฮมีโอพาธีก่อนยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงเมื่อปลายปี ค.ศ. 2014
ภารกิจหลักตั้งแต่เป็นหน่วยงานมาจนเป็นกระทรวงคือ เดินหน้าศึกษาและวิจัยศาสตร์การแพทย์ทางเลือกเหล่านี้ให้เป็นระบบระเบียบ ได้มาตรฐาน รวมถึงเผยแพร่ความรู้ทางด้านนี้ให้ผู้คนได้นำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
4. กระทรวงความสุข : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
2 ปีก่อนรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ปรับคณะรัฐมนตรีแบบยกทีม ซึ่งเขาให้ชื่อว่าเป็น ครม.แห่งอนาคต เพราะเป็น ครม.ของคนหนุ่มคนสาว และงานของพวกเขาก็โฟกัสไปที่เรื่องของอนาคต เยาวชน ความสุข การพัฒนาการศึกษา และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

พร้อมกันนี้มีการตั้งกระทรวงใหม่ๆ ขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงที่น่าสนใจคือ กระทรวงเพื่อความสุข หรือ Ministry of State for Happiness โดยเจ้ากระทรวงเป็นผู้หญิงรุ่นใหม่ไฟแรงนามว่า Ohoud Al Roumi งานหลักของกระทรวงแห่งความสุขนี้คือ สนับสนุนและขับเคลื่อนแผนงาน นโยบาย โปรแกรม และกฎหมายต่าง ๆ ที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีความสุขและคิดบวก
ท่านรัฐมนตรีหญิงบอกว่า รัฐบาลไม่ได้มาใช้อำนาจบีบบังคับให้ประชาชนมีความสุข แต่จะสร้างเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น สาธารณูปโภค โอกาสทางการศึกษา หน้าที่การงานสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อจะทำให้ประชาชนมีชีวิตดีขึ้นและมีความสุข
5. กระทรวงแห่งการรวมชาติ : เกาหลีใต้
คาบสมุทรเกาหลีถูกตัดแบ่งออกเป็นสองชาติเหนือ – ใต้ตามลัทธิการเมืองมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนถึงบัดนี้ ซึ่ง
ตลอดมานั้นความคิดเรื่องการรวมชาติเป็นความใฝ่ฝันของผู้คนที่นั่นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะชาวเกาหลีใต้
และช่วงทศวรรษ 1960 เรื่องการรวมชาติได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ชาวโสมขาวสนใจและถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน กระทั่งรัฐบาลประธานาธิบดีพักชองฮีในสมัยนั้นไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ โดยในปี ค.ศ. 1969 หน่วยงานที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเรื่องการรวมชาติอย่างสันติจึงถูกตั้งขึ้น ให้ชื่อว่าคณะกรรมการเพื่อการรวมชาติ
ต่อมาปี ค.ศ. 1998 คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงชื่อว่า Ministry of Unification หรือกระทรวงแห่งการรวมชาติ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในทุกเรื่อง ทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการรวมชาติระหว่างสองเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเจรจา แลกเปลี่ยน รวมถึงร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจอุตสาหกรรม การศึกษา และการไปมาหาสู่
ระหว่างกัน เป็นต้น
6. รัฐมนตรีลักพาตัว : ญี่ปุ่น
ช่วง ค.ศ. 1971 – 1980 มีชาวญี่ปุ่นมากหน้าหลายตาหายตัวไปอย่างลึกลับ ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนของทางการญี่ปุ่นระบุได้แน่ชัดว่า มีชาวญี่ปุ่น 17 คนถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัวไป ส่วนคนอื่นๆ เชื่อว่าอย่างน้อยๆ 100 รายเข้าข่ายต้องสงสัยว่าอาจจะถูกทางโสมแดงลักพาตัวไปเช่นกัน
ต่อมาในปี ค.ศ. 2002 รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับอย่างเป็นทางการว่าได้ลักพาตัวชาวญี่ปุ่นไปจริง และยอมคืนเหยื่อชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวไปเพียง 5 รายเท่านั้น และยืนกรานว่าคืนให้หมดแล้ว ส่วนรายอื่น ๆ นั้นบอกว่าเสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่ก็ไม่รู้ไม่เห็นแต่อย่างใดจึงทำให้กลายเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อค้นความจริงและนำเหยื่อทุกคนกลับบ้านให้ได้
และปี ค.ศ. 2006 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งสำนักงานใหญ่เพื่อแก้ปัญหาลักพาตัว โดยมีรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าดูแลรับผิดชอบ เรียกว่า Minister for the Abduction Issue หรือรัฐมนตรีลักพาตัวนั่นเอง เป็นกระทรวงที่แต่ละประเทศตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดในประเทศของตนจริงๆ
เรื่องและภาพ : นิตยสารแพรว 924