คุณภาพชีวิตต่ำ ผลสำรวจเรื่องเงิน-สุขภาพ ปัญหาใหญ่สุดของคนไทย

ผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° เป็นดัชนีรายปีตัวแรกที่ทำขึ้นเพื่อศึกษาการรับรู้และทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเอง โดยสะท้อนความรู้สึกของแต่ละคนที่มีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเอง โดยการสำรวจนี้ได้รับการออกแบบเพื่อศึกษาสุขภาพและความเป็นอยู่ในห้าด้านหลัก ได้แก่ สุขภาพและความเป็นอยู่ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการงาน โดยดัชนีชี้วัด หรือ คะแนนที่ได้จากการสำรวจนั้น วัดจากความคิดเห็นโดยรวมของประชากรที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิคและสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้คะแนนที่ได้จากผลการสำรวจ “สุขภาพและความเป็นอยู่” โดยรวม จากการสำรวจใน 6 ประเทศ อันประกอบด้วย ประเทศไทย เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์และสหราชอาณาจักรนั้น ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่สอง รองจากประเทศจีน โดยผลคะแนนยังเผยอีกว่าคนไทยมีคะแนน ‘ต่ำ’ ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ทางการเงิน แต่มีคะแนนสูงในด้าน ”สุขภาพและความเป็นอยู่ด้านครอบครัว”

ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ทางการเงิน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนไทยโดยรวม โดยมีเพียงแค่ 22% เท่านั้นที่รู้สึกมั่นคงกับสุขภาพทางการเงินของตนเอง โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ซึ่งเป็นรุ่นที่ต้องแบกรับภาระ ทั้งในการดูพ่อแม่และดูแลครอบครัวของตนเอง โดยพวกเขารู้สึกว่าสถานการณ์ด้านการเงินของตนเองไม่ดีพอและไม่มั่นคง คนไทยเพียง 17% ที่รู้สึกว่าตนเองมีสุขภาพทางการเงินที่ดี นอกจากนี้ผลสำรวจยังเผยอีกว่าเพียง 18% ของคนไทยเท่านั้นที่รู้สึกว่ามีเงินเพียงพอสำหรับการเกษียณและมีความความมั่นคงทางการเงินหากไม่ได้ทำงาน ซึ่งจากผลสำรวจโดยรวมสะท้อนว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้สึกไม่มีความมั่นคงทางการเงิน

ผลสำรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ด้านร่างกายและสังคม พบว่าคนไทยมีแนวโน้มเสพติดสื่อออนไลน์ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพที่ย่ำแย่ลงในระยะยาว ผลสำรวจบ่งชี้ว่าคนไทย 78% ใช้เวลาไปกับกิจกรรมทางออนไลน์ เช่น การเล่นอินเตอร์เนท ใช้งานเครือข่ายทางสังคม, เล่นเกมออนไลน์ มากขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แทนที่การนอนพักผ่อนและการออกกำลังกาย ผลสำรวจออกมาสอดคล้องกันที่ว่าคนไทยใช้เวลาโดยเฉลี่ยในการออกกำลังกายเพียง 1.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใช้เวลาในการออกกำลังกายเฉลี่ย 2.3 ชั่วโมง จำนวนชั่วโมงที่ใช้ไปกับการท่องอินเตอร์เนทที่สูงถึง 18.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แสดงให้เห็นถึงการเสพติดกิจกรรมออนไลน์อย่างหนักของคนไทย (ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคใช้เวลาเพียง 14.5 ชั่วโมง) นอกจากนั้นคนไทยยังใช้เวลา 13.5 ชั่วโมงไปสังคมออนไลน์ 7.9 ชั่วโมงไปกับการเล่นเกม 7.8 ชั่วโมงไปกับการดูวิดิโอออนไลน์ และใช้เวลา 4.1 ชั่วโมงในการซื้อสินค้าออนไลน์

ผลสำรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ด้านครอบครัวพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากที่สุดซึ่งผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ผลสำรวจเผยว่า 94%ของคนไทยเห็นด้วยว่าการใช้เวลากับครอบครัวมีความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่โดยรวม โดยให้ความสำคัญกับการใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่และลูกค่อนข้างใกล้เคียงกัน

ผลสำรวจอื่นๆ:

· 76% ของคนไทยกังวลกับค่าครองชีพในประเทศที่สูงขึ้น

· 22% ของคนไทยเท่านั้นที่รู้สึกดีกับสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง

· 64% ของคนไทยมองว่าความมั่นคงด้านการเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่คิดว่าพวกเขามีสถานการณ์ทางการเงินที่มั่นคง

· ประเทศไทยแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่ำเป็นอันดับที่สองรองจากสหราชอาณาจักร (เฉลี่ยประมาณ 10,000 บาท ต่อปี) เนื่องจากมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาช่วยรองรับ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายตามจริงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุคือประมาณ 16,000 บาทต่อปี (สำหรับผู้ที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี) แต่มีเพียง 38% เท่านั้นรู้สึกว่าพวกเขามีความพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหลังการเกษียณ

· 72% ของคนไทยรู้สึกพอใจกับความมั่นคงด้านการงานของตนเอง แต่มีเพียง 59 % เท่านั้นรู้สึกมีความสุขกับผลตอบแทนและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงาน

· คนไทยใช้เวลาไปกับกิจกรรมทางออนไลน์มากขึ้น โดยรวมแล้วคนไทยใช้เวลาในการเล่นอินเตอร์เนทมากขึ้น 66% ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น 57% เล่นเกมออนไลน์มากขึ้น 40% ทั้งนี้กลุ่มคนอายุน้อยมีความเสี่ยงที่สุดที่จะใช้เวลามากเกินไปกับกิจกรรมออนไลน์ โดยผลสำรวจพบว่า 77% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-29 ปี ยอมรับว่าการเล่นอินเตอร์เนทเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาพักผ่อนไม่เพียงพอ

stress-info

ข้อมูล : cigna

Praew Recommend

keyboard_arrow_up