ดูโอแร็พแนวใหม่ ‘180 องศา Safe Internet’

‘เธอจะพกมีดไว้ใช้สังหาร หรือจะเก็บมีดไว้ทำอาหาร น้ำตาลให้พลังงาน แต่ถ้ากินมากไป ตัวเธอก็จะเป็นเบาหวาน มันเหมือนพระจันทร์ดวงกลมบนฟ้า สว่างแค่ร้อยแปดสิบองศา มีมืดมีสว่างมี ข้างขึ้นข้างแรม เหมือนใช้เน็ตเพื่อศึกษา หรืออวดผัวลงโซเชียลแคม…อยู่ที่เธอ’

“17 ปีก่อนใครจะคิดว่า การที่ผมพยายามกระตุ้นให้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต ด้วยการบอกว่า อินเทอร์เน็ตคือเสรีภาพ คืออิสระ คือการหาความรู้ คือการเข้าไปอยู่ห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด กลายเป็นว่าวันนี้อินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่ห้องนั่งเล่น ไม่ใช่แค่หมู่บ้าน แต่ขยายเป็นมหานครใหญ่ที่มีคนดี คนเลวอยู่เต็มไปหมด แล้วตั้งแต่ 10 ปีมานี้ผมยิ่งตระหนักและรู้สึกผิดมากขึ้น เมื่อเห็นคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตบิดเบี้ยว ไม่มีกระบวนการในการกลั่นกรอง ยิ่งปัจจุบันเป็นเว็บ 2.0 ทุกคนสามารถโพสต์อะไรก็ได้โดยไม่ต้องแคร์เว็บมาสเตอร์ ปล่อยผ่านก่อนแล้วค่อยตามลบ เพราะฉะนั้นอินเทอร์เน็ตจึงถูกดึงมาใช้ในเรื่องไร้สาระ เช่น ถ่ายรูปตัวเอง ‘สวัสดีชาวโซเชียลแคม รักผัว’ หรือถ่ายรูปกับบ้องกัญชา แล้วโพสต์ประกาศทางโซเชียลมีเดียว่า ‘นี่คือบ้องกัญชากู’ ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือเกิดความเชื่อว่า ‘ของฮิตคือของเลว’ คนชื่นชอบความดาร์ค อย่างเว็บหนึ่งที่โด่งดังในยูทูบทำรายการห่ามๆ ไม่มีกรอบชัดเจน เช่น แก้ผ้าปั่นจักรยาน โดยเป็นมุกว่าลืมใส่เสื้อผ้า แกล้งคน เอาขำโดยไม่มีสาเหตุ อย่างถอดกางเกงปัสสาวะใส่ขาเพื่อน หรือจับเพื่อนโยนลงทะเลแล้วปัสสาวะใส่หน้าเพื่อน โดยกลุ่มแฟนคลับคือเด็กวัย 11-12 ปี ที่ปรารถนาการยอมรับในชีวิต เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกหากยอดเข้าชมจะพุ่งสูงถึง 9 แสนวิว แล้วเสียงด่าน้อยมาก เกิดพฤติกรรมเลียนแบบแน่นอน ผมเจอกับตัวมาแล้ว วันนั้นพาลูกกับหลานไปเที่ยวบางแสน มีเด็กขายของตามชายหาดมาขายพลุ ผมซื้อมา 2 แท่งบอกลูกว่า เดี๋ยวพ่อปักลงทราย จุดแล้วรีบหนีไปไกลๆ นะ หลานอายุ 11 ขวบบอกว่าถือได้ เคยดูเว็ปนี้เขายิงใส่กันเลย นั่นยังไม่ตกใจเท่ากับผมเห็นเด็กแถวนั้น ยิงพลุใส่เพื่อนที่อยู่ในน้ำ”

dtac1

ผมจึงย้อนถามตัวเองว่า จะอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปจริงหรือ โดยเฉพาะลูกหลานเรากำลังเติบโตมากับสื่อออนไลน์ที่อยู่ในซอกหลืบ ซึ่งนับวันหลืบก็จะใหญ่ขึ้น ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยว อย่างนี้แล้วสังคมจะอยู่กันอย่างไร โดยเฉพาะการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารแรงขึ้นเรื่อยๆ เด็กผู้หญิงอายุ 14 โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า วันนี้มีเซ็กส์กับเพื่อนชาย 40 ครั้ง คือการรับรู้ของเด็กขณะนี้ผิดเพี้ยนหมดแล้ว เพราะหากยึดจากสำนวนโบราณที่สอนว่า ‘กินในที่ลับ อย่าขายในที่แจ้ง’ แต่ปรากฏว่า เด็กสมัยนี้พูดผ่านโซเชียล การมีเซ็กส์กลายเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับในโลกโซเชียล มีผลให้เด็กทุกคนอยากมีแฟน ส่วนหนึ่งเพราะอยากมีเซ็กส์

ผมคิดเรื่องนี้มาตลอด 17 ปีที่เปิดบริษัท ‘โชว์โนลิมิต’ จึงผลิตรายการโทรทัศน์สอดแทรกความห่วงใยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันก็นำเสนอข้อดีของอินเทอร์เน็ตด้วย ปีที่แล้วก็ทำทอล์คโชว์ใหญ่ชื่อ ‘Nui Show โซเชียลมีเดี่ยว’ ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ พูดเรื่องที่บ่มอยู่ในใจมานาน จนได้พบผู้บริหารของดีแทคและเทเลนอร์ พูดถึงเรื่อง Safe Internet เนื้อหาเชิงวิชาการดีมาก เหมือนเรากำลังพูดภาษาเดียวกัน เพราะจากผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ภัยอินเทอร์เน็ตเกิดกับเยาวชนที่มีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตน้อย หรือที่เรียกว่า สก๊อยกับแว้น เนื่องจากปัจจุบันสมาร์ทโฟนมีราคาถูก เมื่อพวกเขาไม่มีช่องทางรับรู้ในเรื่อง Safe Internet น้องสก๊อยจึงโพสต์ทุกอย่างที่คิดว่าโพสต์ได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม 2 ปีมานี้จึงมีขยะเกิดขึ้นเต็มเน็ต ดังนั้นดีแทค โดย ‘คุณอุ้ม-อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์’ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงพุ่งความสนใจไปที่เยาวชนกลุ่มนี้ โดยทาบทามผมมาจัดทอล์คโชว์เรื่อง Safe Internet ให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อปลุกจิตสำนึกในการใช้อินเทอร์เน็ตจนเกิดการรับรู้การใช้งานอย่างถูกต้อง ซึ่งผมเห็นถึงความตั้งใจของดีแทคที่อยากแก้ปัญหาสังคมจริงๆ เพราะตั้งแต่อยู่ในแวดวงไอทีมา 17 ปียังไม่เคยเห็นค่ายไหนโฆษณาให้คนโทร.น้อยลงเหมือนดีแทค และเป็นองค์กรที่โปร่งใส ทำให้ผมสะดวกใจและสนุกที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างน้อยก็ช่วยให้ความรู้สึกผิดบาปที่ติดอยู่ในใจในการกระตุ้นให้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต กระทั่งเลยเถิดกันขนาดนี้ได้รับการแก้ไข แม้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็พยายามทำ จึงตัดสินใจร่วมงานกับดีแทค เพราะหาก ‘จะก่อการดี ติ๋มไม่ได้’

dtac2

ดังนั้นทอล์คโชว์ผมจึงมีคำหยาบบ้าง เพื่อให้พูดภาษาเดียวกับกลุ่มผู้ฟัง แต่อยู่ในขอบเขต ยิ่งตอนนี้มีคำเลี่ยง เช่น ‘เผือก’ ซึ่งผมชื่นชมคนคิดนะ เพราะเปลี่ยนจากคำที่หยาบไม่ให้หยาบได้ เปิดเวทีแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เตรียมเนื้อหาอย่างแน่นเลย แต่ปรากฏว่าความที่ผมยังใหม่กับน้องๆ ขณะที่น้องๆ ก็ยังใหม่กับเรื่อง Safe Internet จึงนั่งฟังกันเงียบ ผมโยนคำถามให้ก็ไม่มีเสียงตอบกลับ จึงพยายามทำตัวเป็นพวกเดียวกับเขาโดยใช้ตลกนำ ก่อนจะช็อคเขาด้วยการเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นใกล้ตัว เช่น เรื่องของพนักงานในองค์กรหนึ่งที่โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ‘จะมาดูหนังกันทำไม ทำไมไม่ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไอ้ควาย’ คิดว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ลืมไปว่าเป็นระบบออโต้ จึงมีผู้หวังดี ระบุโลเคชั่นให้ ภายใน 24 ชั่วโมง องค์กรนั้นโพสต์เลยว่า ไล่พนักงานคนนั้นออกแล้ว หรือใครที่เคยโพสต์บ่นด้วยคำพูดพิเรนทร์ไว้ ปรากฏว่าชีวิตเปลี่ยนชั่วข้ามคืน กลายเป็นนางงาม หรือผู้เข้ารอบสุดท้ายของเวทีประกวดร้องเพลง คิดว่าโพสต์เหล่านั้นจะลบได้ ตรงนี้ผมจึงถือโอกาสเตือนเลยว่า อินเทอร์เน็ตเมื่อได้รับการเผยแพร่แล้วไม่สามารถลบภาพนั้นได้อีกเลย เช่น คลิปหลุดของดาราที่ทำให้เจ้าตัวเกือบฆ่าตัวตาย ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ น้องๆ เริ่มคล้อยตาม แล้วจึงสรุปจบว่า โลกนี้มี 360 องศา ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ อินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน ซ้ายคือโอกาส ขวาคือหายนะ ขึ้นอยู่กับเราว่าจะใช้ให้เกิดโอกาสหรือหายนะให้ตัวเอง แล้วทำไมเราจึงไม่เลือกใช้แต่ด้านดี

ขณะที่ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยรังสิต นักศึกษาให้ความสนใจเยอะ ถึงกระนั้นก็ตามผมมีความเชื่อว่า ตลอด 90 นาทีของการทอล์คโชว์ สุดท้ายแล้วคำที่ติดอยู่ในความทรงจำของนักศึกษามีแค่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ กับ ‘ดิจิทัลซิติเซ็น’ คุณคือประชากรดิจิทัลที่ต้องอยู่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ผมอยากให้มีมากกว่านั้น ซึ่งเพลงจะทำให้จดจำได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณอุ้มเปิดไฟเขียว คนแรกที่นึกถึงคือ ‘กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่’ (ณัฐวุฒิ ศรีหมอก) ผมฟังเพลงเขาตั้งแต่อัลบั้ม ‘สิงห์เหนือเสือใต้’ แล้วก็ค้นพบว่า เขาเป็นปราชญ์ สามารถใช้คำที่ไม่น่าจะแต่งเป็นเพลงให้เกิดเป็นบทเพลงได้ พอดีเขาก็เพิ่งเป็นคุณพ่อคนใหม่จึงอินกับเรื่องนี้มาก บอกว่า แม้ฟรีก็ทำ เพราะเป็นประโยชน์กับลูกในอนาคต ผมจำได้บอกกับเขาว่า ‘อินเทอร์เน็ตเหมือนมีดทำครัว จะหั่นผักก็ได้ จะแทงคนก็ตาย’ แล้วผมก็ไม่ผิดหวังว่า เพราะแรงบันดาลใจจากลูกทำให้กอล์ฟตีความได้ลึกซึ้งว่า ‘ชีวิตมี 360 องศา’ ทั้งมุมดีและมุมร้าย ทำไมเราจึงไม่เลือกใช้เฉพาะแง่ดี จนตกผลึกเป็นเพลง ‘180 องศา’ ดนตรีเป็นแร็พ สนุกๆ โดยผมร้องสลับกับกอล์ฟ ซึ่งดีแทคเปิดกว้างมาก ต้องการให้เป็นเพลงเพื่อสังคมจริงๆ เพราะฉะนั้นจะไม่มีคำว่าดีแทคหรือเทเลนอร์อยู่ในบทเพลงเลย ผมมั่นใจว่า เพลงนี้จะเป็นวิธีการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ ในการสร้างต่อมฉุกคิดให้กับคนก่อนจะโพสต์อะไรลงในโลกโซเชียล ล่าสุดเป็นข่าวดีว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เข้ามาร่วมสนับสนุนในโครงการ Safe Internet ของดีแทค ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกที่ดีของการนำ Safe Internet เข้าสู่วาระของชาติ
“เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ยุคพลเมืองดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ”

ตอนแรกผมไม่ได้อินกับอินเทอร์เน็ตมาก เมื่อพี่หนุ่ยเล่าคอนเซ็ปต์จึงยังเห็นภาพไม่ชัดว่า อินเทอร์เน็ตจะมีอิทธิพลกับชีวิตขนาดที่ต้องแต่งเพลงเชียวหรือ แต่พอเข้าไปคุยกับทีมงานของดีแทค ได้รับรู้ข้อมูลที่น่าตกใจมาก ยิ่งได้รู้ตัวเลขความเสี่ยงของเด็กในเจนปัจจุบันที่ใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา เรียกว่าดึงตัวเองไปอยู่ตรงนั้นเลยก็ว่าได้ เกิดการฆ่าตัวตายจากการใช้อินเทอร์เน็ต ยิ่งเดี๋ยวนี้มีเพจที่รุนแรงก้าวร้าวเพิ่มขึ้นในโลกโซเชียล อันตรายมาก ซึ่งผมฟังแล้วต้องบอกว่าขนลุกครับ ต้องขอบคุณดีแทคที่ไม่ได้มองเรื่องการพัฒนาสัญญาณให้แรงอย่างเดียว แต่ยังมีมุมน่ารัก ที่ลุกขึ้นมาปกป้องเด็กและเยาวชน ด้วยการรณรงค์ให้มีจิตสำนึกในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ แล้วยิ่งผมเพิ่งได้ลูกสาว (น้องชูใจ) ก็คิดว่าอีก 5 ปี 10 ปีถึงตอนนั้นโลกใบนี้คงเชื่อมต่อทุกอย่างด้วยอินเทอร์เน็ตไปหมดแล้ว และในเมื่อไม่สามารถปิดกั้นเขาจากอินเทอร์เน็ตได้ เราก็ปลูกฝังให้เขาเลือกเติบโตไปกับด้านดีๆ ของอินเทอร์เน็ต
ขณะที่ผมนั่งคิดก็ลองแหงนมองฟ้าเห็นพระจันทร์เต็มดวง เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า พระจันทร์ที่เราเห็นรูปลักษณ์ภาพนอกวงกลม 360 องศา ซึ่งเป็นมุมสว่าง แต่จริงๆ แล้วมีมุมที่มืดมาก หากเลือกเพียงครึ่งหนึ่ง 180 องศาอยู่กับมุมที่สว่างได้ก็ดีสินะ ก็เหมือนโลกอินเทอร์เน็ตมี 2 ด้าน คือโอกาสและหายนะ ทำไมเราไม่เลือกพูดในทางที่ดี โพสต์ในสิ่งที่ดี ให้กำลังใจหรือสร้างโอกาสในการพัฒนาเรียนรู้ตัวเอง แล้วก็เริ่มทำเพลงกับโปรโตซัว โปรดิวเซอร์ฮิปฮอปรุ่นใหม่ที่เก่งมาก ร่วมกับน้าชม ชุมเกษียร นักแต่งเพลง รอบเดียวผ่านเลย และเป็นเพลงแรกที่พี่หนุ่ยมาร่วมร้องอย่างเป็นทางการ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up