วิตามินดีต่ำ ระวังโรคถามหา เผยผลวิจัยหนุ่ม-สาวออฟฟิศเสี่ยงสุด!

กังวลเรื่องการโดนแสงแดดกันมาเกินไป ในเวลานี้คนไทยเลยขาดวิตามินดีมากถึงร้อยละ 36.5 เนื่องจากพฤติกรรมการหลบแดด หรือนั่งทำงานอยู่แต่ในห้องแอร์ นอกจากนี้อีกงานวิจัยยังพบว่าคนกรุงเทพร้อยละ 64.6 มีวิตามินดีไม่เพียงพอต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ในระยะยาว ซึ่งรวมถึงโรคที่เกี่ยวกับกระดูกด้วย

รู้จักวิตามินดี

“วิตามินดี” (Vitamin D) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน โดยวิตามินดีมี 2 รูปแบบที่จำเป็นสำหรับคนเรา นั่นคือ วิตามินดี 2 และวิตามินดี 3 โดยแหล่งที่พบวิตามินดี 2 คือพืช ส่วนวิตามินดี 3 สังเคราะห์ได้ในร่างกายมนุษย์เมื่อได้รับแสงแดดหรือหลังบริโภคอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดีและอาหารเสริม

d2

วิตามินดี มาจากไหน

ร่างกายคนเราสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เมื่อได้รับแสงแดดที่มีรังสีอัลตร้าไวโอเลต หรือหลังบริโภคอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี ได้แก่ ปลาที่มีไขมันสูง เช่น แซลมอน ทูน่า แมคเคอเรล หรือ นม ซีเรียล โยเกิร์ต และน้ำผลไม้ นอกจากนี้ยังสามารถบริโภควิตามินดีเสริมได้จากน้ำมันตับปลาคอด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี

สาวๆ ที่ชอบทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) สูงๆ – เพราะสารเอสพีเอฟในครีมกันแดด จะลดการสังเคราะห์วิตามินดี ยกตัวอย่างเช่น ครีมกันแดดที่มีสารเอสพีเอฟ 15 (SPF 15) ลดการดูดซึมแสงแดดสู่ผิวถึงร้อยละ 99 ,

หนุ่มสาวออฟฟิศที่ไม่ค่อยออกแดด – การนั่งทำงานในห้องแอร์ของหนุ่มสาวออฟฟิศ ประกอบกับการหลีกเลี่ยงแดด หรือไม่ค่อยออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ขาดวิตามินดีได้ ทั้งนี้เนื่องจาก รังสี UVB นี้ไม่สามารถทะลุผ่านกระจกใส การนั่งรับแสงผ่านหน้าต่างกระจกหรือหน้าต่างรถยนต์จึงไม่ได้วิตามินดี นอกจากนี้ เมฆก็ทำให้ได้รังสี UVB น้อยลงไป 50% และการอยู่ใต้ร่มเงาชายคาก็ทำให้ได้รังสี UVB น้อยลงถึง 60%

มลภาวะทางอากาศ – ฝุ่น ควัน และมลภาวะทางอากาศทำให้รังสีอัลตร้าไวโอเลตจากแสงแดดมาถึงผิวหนังได้น้อยลง ทำให้กระบวนการสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกายเราลดลงไปด้วย

ขาดอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี – วิตามินดีได้จากอาหารเป็นส่วนน้อย อาหารที่มีวิตามินดีสูงเช่น ปลาค้อด ปลาแซลมอน เห็ดตากแดด ปลาทูน่า และอาหารที่ผู้ผลิตจงใจเสริมวิตามินดีเข้าไป เช่นนมเสริมวิตามินดี (fortified milk) การหวังพึ่งวิตามินดีจากอาหารปกติจึงเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีสูง

ผู้สูงอายุ – ในผู้สูงอายุ กลไกการสังเคราะห์วิตามินต่างๆ ของร่างกายก็เสื่อมลงตามธรรมชาติ ประกอบกับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือการออกแดดก็มีน้อยลง จึงมีโอกาสขาดวิตามินดีมากกว่า

คุณแม่ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระยะให้นมบุตร – วิตามินดีมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการควบคุมการเติบโตของเซลล์ ภูมิคุ้มกัน และเมตาบอลิซึมของเซลล์ วิตามินดีจึงมีความสำคัญต่อตัวอ่อนหรือทารกเพื่อการเติบโตอย่างเป็นปกติ และคุณแม่ถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนกระทั่งในระยะที่ให้นม คุณแม่จึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 90 ของสตรีที่รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ ก็ยังสามารถพบภาวะขาดวิตามินดีได้อย่างแพร่หลาย

d1


วิธีประเมินว่ามีความเสี่ยงขาดวิตามินดีหรือไม่จากลักษณะและโรคที่เป็น

คนที่มีโอกาสขาดวิตามินดีมากได้แก่
1. คนที่มีโอกาสออกแดดน้อย และไม่มีโอกาสได้ทานอาหารที่อุดมวิตามินดีหรืออาหารเสริมวิตามินดี
2. คนที่ผิวมีสีคล้ำ
3. คนที่เป็นโรคทางเดินอาหารชนิดที่การดูดซึมวิตามินดีเสียไป
4. คนที่เป็นโรคไตเรื้อรังหรือโรคตับเรื้อรัง
5. ผู้สูงอายุ เพราะการสังเคราะห์วิตามินดีของร่างกายลดลง

มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นโรคหรือมีสภาพร่างกายที่หากขาดวิตามินดีจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักและเกิดโรคเรื้อรังต่างๆที่สัมพันธ์กับวิตามินดีจึงมีความจำเป็นต้องใส่ใจป้องกันการขาดวิตามินดี ได้แก่

o หญิงวัยหมดประจำเดือน
o ผู้ชายคนสูงอายุ (เกิน 50 ปี)
o ผู้เป็นโรคอ้วน (BMI > 30 kg/m2)
o ผู้เคยเกิดกระดูกหักจากการถูกแรงกระแทกหรือการหกล้มเพียงเล็กน้อย
o ผู้ได้รับยากันชัก
o ผู้ตั้งครรภ์ หรือ อยู่ในภาวะให้นมบุตร
o ผู้ได้รับยากลุ่มสเตอรอยด์ (Steroid) ต่อเนื่อง
o ผู้เป็นโรคเรื้อรังที่อาจสัมพันธ์กับการขาดวิตามินดี.เช่นมะเร็ง เบาหวาน ความดันเลือดสูง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์

คำแนะนำในการดูแลตัวเอง เพื่อให้ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ

กรณีเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสขาดวิตามินดี หรือกลุ่มคนที่สภาพร่างกายจะเสียหายหากขาดวิตามินดี ควรตรวจวัดระดับวิตามินดี เพื่อให้ทราบว่าคุณมีวิตามินดี เพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็ปรับการใช้ชีวิตให้ได้รับวิตามินดีมากขึ้นด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่าง หรือทั้งสามอย่าง คือ

1. ทานวิตามินดีเสริม
2. ให้ผิวหนังที่ไม่ทาครีมกันแดดได้สัมผัสกับแสงแดด(ที่ไม่ผ่านกระจก)มากขึ้น
3. รับประทานอาหารอุดมวิตามินดีเช่น ปลาค้อด ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เห็ดตากแห้ง นมเสริมวิตามินดี เป็นต้น

d3

Praew Recommend

keyboard_arrow_up