เดินหน้า Safe Internet ลงดาบภัยเงียบบนโลกออนไลน์

“อำนาจที่ยิ่งใหญ่ ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง”
คำคมจากภาพยนตร์เรื่อง สไปเดอร์แมน ภาค 1 ที่ “อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ (คุณอุ้ม)ฟันเฟืองหลักด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของดีแทคเปิดเผยว่า“Safe Internet เป็นแพชชั่นของอุ้มเลย” เพราะตัวเองมีลูกจึงเห็นเลยว่า เด็กเล็กมีความยับยั้งชั่งใจเป็นศูนย์ อยู่ที่พ่อแม่ ครู และสังคมต้องช่วยกันดูแล จากข้อมูลวันนี้เราพบว่า กลุ่มวัยรุ่น 71 เปอร์เซ็น เคยเข้าเว็บไซต์เกี่ยวกับภาพอนาจาร 52 เปอร์เซ็นคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและมีการแลกเปลี่ยนภาพกัน นอกจากนั้นจากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ยังพบว่า เด็กในช่วงวัย 6-14 ปี กับ 15-24 ปี มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงตลอดกาล ขณะเดียวกันก็ถูกกระทำในโลกออนไลน์สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นในฐานะที่ดีแทคเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องให้ประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย

ดีแทคเริ่มจากโครงการ ‘อินเทอร์เน็ตเพื่อเด็กไทย’ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะจากผลสำรวจโรงเรียนในต่างจังหวัดเกือบพันโรงเรียนพบว่า แม้ส่วนใหญ่มีอินเทอร์เน็ต แต่องค์ประกอบอื่นไม่สมบูรณ์ เช่น ขาดครูที่เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ต ดาวเทียม รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่พร้อม ดีแทคจึงมอบซิมกับแอร์การ์ด เพื่อใช้ชั่วโมงอินเทอร์เน็ตฟรี พร้อมกับจัดอบรมครู รวมถึงเชิญชวนพนักงานที่มีจิตอาสาลงพื้นที่ไปซ่อมแซมอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ต่อเมื่อสำรวจโรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็พบว่าส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีการใช้งานเยอะมาก จึงอยากปลูกฝังเรื่องการรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) คือการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพราะในวันนี้เกือบร้อยประเทศในโลกกำลังเห็นความสำคัญของการเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมตัวกันให้ความรู้กับครู เพื่อนำมาสอนเด็กให้รู้จักลักษณะนิสัยของการเป็นผู้ใช้ที่ดีเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็น Digital Citizen หรือพลเมืองดิจิทัลในอนาคต

แม้จะเป็นหลักป้องกันพื้นฐานที่ทุกคนทราบ แต่สำหรับเด็กในช่วงวัย 6-14 ปี ถือว่ายาก ยิ่งวันนี้ภาพพ่อแม่ลูกนั่งทานข้าว โดยที่แต่ละคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มีให้เห็นจนชินตา เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงโรงเรียน พ่อแม่คือด่านแรก หากเด็กถูกสร้างให้เติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบนี้ จะมีปัญหาเรื่องทักษะการใช้ชีวิต ค่านิยมในการใช้อินเทอร์เน็ตจะถูกบิดเบือน ซึ่งข้อแรกใน Digital Literacy คือ พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักยับยั้งชั่งใจ อาจกำหนดชั่วโมงในการใช้งาน “อย่างอุ้มมีลูกสาว 2 คน อายุ 8 ขวบ กับ 5 ขวบ ที่บ้านจะมีกฏว่า กลับจากโรงเรียนต้องมาทานข้าวกับคุณตาคุณยาย คุยกับพ่อแม่และน้องก่อน แล้วจึงให้เล่นไอแพดได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง จากนั้นก็ไปวิ่งเล่นหรือเล่นกีฬาด้วยกัน อุ้มจะบอกเขาว่า นี่คือบททดสอบว่าหนูสามารถยับยั้งชั่งใจได้หรือเปล่า เมื่อฝึกจนเป็นนิสัย พอครบชั่วโมงเขาปิดไอแพดแล้วเดินมาหาเรา ต่อมาจะกลายเป็นค่านิยม อย่างไปทานข้าวด้วยกัน เคยรอกับข้าวนานมาก ลูกบ่นหิว เรายื่นไอแพดให้ เขาก็ไม่ดู เพราะเริ่มเรียนรู้ว่า การเปิดไอแพดบนโต๊ะอาหารเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง”

ดีแทคได้วางแผนจัดทำ Parent Guide คู่มือพ่อแม่สำหรับสอนลูกว่า ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้ปลอดภัย ถือเป็นฉบับแรกของเมืองไทย ซึ่งเนื้อหาจะปรับจากที่เทเลนอร์กรุ๊ป พันธมิตรหลักของดีแทค จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของความเสี่ยง หรือภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อินเทอร์เน็ต เพราะทางยุโรปมีความก้าวหน้าในเรื่องของ Safe Internet เป็นอย่างมาก โดยจะปรับเนื้อหาให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย เพื่อที่พ่อแม่จะรู้เท่าทันลูกว่า เว็บไซต์อะไรควรเข้าหรือควรหลีกเลี่ยง มีแอพสำหรับแชตอะไรบ้างที่กำลังฮิต หรือคำศัพท์ที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต อย่างคำว่า Sexting คือการส่งรูปภาพอนาจารให้กัน นอกจากนั้น พ่อแม่ต้องเปิดใจ และเริ่มต้นพูดคุย ชี้ให้เห็นโอกาสและประโยชน์ของการใช้อินเทอร์เน็ต เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่ไม่เปิดใจ ดุก่อนเลย ลูกก็รู้สึกผิด เกิดปฏิกิริยาปิดกั้นทันที ควรกำหนดข้อตกลงร่วมกันที่ต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งยังต้องมีการสอนให้รู้ว่าอะไรคือความเป็นส่วนตัว เช่น พาสเวิร์ดต้องเก็บเป็นความลับ และรู้ว่าเรื่องใดควรโพสต์หรือไม่ควร และต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นด้วย

ad-dtac2

ขณะเดียวกัน ตัวเด็กเองในช่วงวัย 10-13 ปี ต้องสร้างพฤติกรรมให้ถูกต้อง ขณะนี้ดีแทคจัดกิจกรรม ‘dtac Digikidz School Visit’ เดินสายให้ความรู้เรื่อง Safe Internet กับนักเรียนในโรงเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โรงเรียนแรกคือ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม เราใช้วิธีสื่อสารกับเด็กด้วยละครสั้น กับพี่ d-Hero ยอดมนุษย์ที่ปกป้องเด็กจากภัยที่มากับอินเทอร์เน็ต เสียงตอบรับดีมากทั้งนักเรียนและครู d-Hero สามารถดึงความสนใจเด็กผู้ชายจำนวน 500 คนให้นั่งอยู่กับที่ได้ ขนาดครูยังแปลกใจ รวมทั้งเรื่องราวที่ตัวละครชื่อ ฟ้าใส เด็กผู้หญิงที่รับผู้ชายแปลกหน้าเป็นเพื่อนทางออนไลน์ คุยตีสนิททุกวัน ถามอะไรก็ตอบตามจริงทุกอย่าง จนกระทั่งยอมออกไปพบ ปรากฏว่าเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาหลอก ขนาดอุ้มรับฟังมาเยอะ แต่เพิ่งทราบว่า เขาหลอกกันอย่างนี้เอง พอพิธีกรถามเด็กว่า น้องๆ มีพฤติกรรมอะไรที่กลับไปแล้วจะเปลี่ยนเลย เด็กผู้ชายคนหนึ่งยกมือบอกว่า จะกลับไปเปลี่ยนพาสเวิร์ด เพราะจำง่ายเกิน บางคนบอกว่า หากมีคนแปลกหน้ามาขอเป็นเพื่อน ผมจะบล็อคเลย อุ้มฟังแล้วดีใจ เพราะต้องการแค่เวลา 1 ชั่วโมงที่อยู่กับเรา ทำให้เด็กสามารถรู้ว่าจะปกป้องตัวเองจากภัยอินเทอร์เน็ตอย่างไร โดยเรายังให้เด็กๆ เขียนเรียงความในหัวข้อ ‘ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์’ เพื่อตอกย้ำให้เกิดภาพจำที่ทำให้พฤติกรรมเด็กเป็นอย่างนั้นตลอดไป อย่างเช่นที่อุ้มจำประโยคที่ว่า ‘ตาวิเศษเห็นนะ ของมูลนิธิตาวิเศษ ที่รณรงค์เรื่องการทิ้งขยะ ทำให้อุ้มรู้สึกว่าการทิ้งขยะบนถนนเป็นสิ่งผิดจนถึงวันนี้

นอกจากนั้นยังรวมถึงกลุ่มวัยรุ่นด้วย ปีที่แล้วเราจัด dtac & Telenor Youth Summit 2014 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนที่ถือเป็นกำลังหลักของประเทศตระหนักว่า คุณต้องนำอินเทอร์เน็ตมาใช้เป็นพลังสร้างสรรค์สังคม เช่นที่ ‘อัสมา นาคเสวี’

ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนในโครงการ dtac & Telenor Youth Summit ที่ใช้อินเทอร์เน็ตสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีม่ายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็น่าดีใจ เพราะอุ้มอยู่ตอนที่เยาวชนทั้ง 35 คนออกจากห้องเวิร์คชอป เขาพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ อินเทอร์เน็ตยิ่งใหญ่กว่าที่คิด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่างจริงๆ พลังของพวกเขาทำให้เรารู้สึกว่า โลกนี้เต็มไปด้วยพลังงานที่ดี น่าอยู่มากขึ้น เพราะฉะนั้นโครงการดีๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้คือ ดีแทคจะให้การสนับสนุนโรงพยาบาลศิริราช จัดโครงการอบรมเด็กติดเกม ไม่น่าเชื่อว่า พ่อแม่พาลูกมาสมัครเยอะมาก ขณะที่โครงการรับได้แค่ 150 คน อุ้มดีใจแทนพ่อแม่หากเด็กสามารถเลิกเล่นเกมได้ เพราะสถานการณ์เด็กติดเกมปัจจุบันน่ากลัวมาก ที่เคยเป็นข่าวใหญ่ว่าเด็กอายุ 14 ปี ถึงกับฆ่าแม่เพียงเพราะไม่ให้เล่นเกม ขณะที่เด็กบางคนก็ฆ่าตัวตายด้วยความน้อยใจที่พ่อแม่ไม่ให้เล่นเกม ดังนั้น เราจะนำแรงบันดาลใจจากเยาวชน dtac & Telenor Youth Summit ไปสร้างพลังให้กับเด็กๆ หันมาใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการสร้างสรรค์ อย่างน้อยพ่อแม่ก็จะมีกำลังใจในการทำงาน ในการเลี้ยงลูก ครอบครัวจะได้กลับมาใช้เวลาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม

ดีแทคยังวางแผนเดินสายจัดทอล์คโชว์ตามมหาวิทยาลัยและวิทยาเขตต่างๆ ใน 10 จังหวัด โดย “คุณหนุ่ย – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์” ชูประเด็นให้เห็นว่า อินเทอร์เน็ตมีพลังมากพอจะเปลี่ยนโลกได้ สามารถแก้ปัญหาใกล้ตัวที่สะสมอยู่ให้มีทางออกได้ ในเมื่อทุกคนมีอำนาจและโอกาสเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นจึงอยากให้เขาเห็นพลังของอินเทอร์เน็ตในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าจะเป็นแค่เกมหรือใช้เพื่อความบันเทิงเท่านั้น

ทุกวันนี้สิ่งที่ดีแทคทำ คือ การปลูกฝัง สร้างลักษณะนิสัยที่ดีในการใช้อินเทอร์เน็ตให้กับเยาวชนไทยด้วยความหวัง ยิ่งดีแทคห่วงใยสังคมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่มากเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ สมาชิก dtac & Telenor Youth Summit บอกอุ้มเลยว่า พ่อแม่เปลี่ยนมาใช้ดีแทคกันทั้งบ้าน ฟังแล้วชื่นใจ อย่างน้อยเราทำให้ลูกค้าพูดว่า ‘รักดีแทค’ ได้เต็มปาก โชคดีว่า ‘คุณลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่ง’ ซีอีโอคนใหม่ ที่แถลงข่าวรับตำแหน่งเมื่อ 1 เมษายน ที่ผ่านมานี้ มาจากบริษัทในเครือเทเลเนอร์ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีความก้าวหน้าในเรื่อง Safe Internet มาก มีหน่วยงานเฉพาะที่มากำกับดูแลเด็กและเยาวชนในเรื่องอินเทอร์เน็ต มีการจัดฝึกอบรมและเวิร์คชอป ที่เราสามารถนำรูปแบบของเขามาพัฒนาได้

ในอนาคตดีแทคจะทำการศึกษาว่า เด็กและเยาวชนไทยมีความพร้อมในการก้าวสู่การเป็น Digital Citizen อย่างมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน
ซึ่งการที่ประเทศจะก้าวสู่ยุค Digital Economy ได้นั้นรัฐบาลต้องพัฒนาประสิทธิภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต กับปลูกฝังความรับผิดชอบในการใช้งานอินเทอร์เน็ตไปพร้อมกัน”

Praew Recommend

keyboard_arrow_up