เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสที่พูดถึงในวงกว้างเกี่ยวกับชุดผ้าไทยของ นายกอุ๊งอิ๊งค์ – แพทองธาร ชินวัตร ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าชุดของเธอนั้น เหตุใด เชิงผ้าหรือตีนซิ่น ของผ้าไหมนั้นลายถึงถูกยกขึ้นมาด้านบน หลายคนมองแล้วแปลกตา และตั้งคำถามว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งคุณจารุต ภิญโญกีรติ เจ้าของห้องเสื้อเพชร ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ คณะศิลปะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรต ประสานมิตร และอดีตอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญญบุรี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวมถึงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการร่างหลักสูตรการเรียนการสอน สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ด้านผ้าและเครื่องแต่งกายในระดับปวช.และปวส. กรมอาชีวศึกษา ได้ให้สัมภาษณ์กับแพรวถึงในเรื่องนี้ว่า
คุณอุ๊งอิ๊งค์ท่านเป็นลูกค้าของทางร้านอยู่แล้วครับ เวลาเธอเลือกชุด มักจะต้องเห็นภาพก่อนเสมอว่าชุดใส่ออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร ตัดออกมาแล้วต้องตรงตามแบบที่เลือก อย่างชุดผ้าไทยที่ท่านใส่ในช่วงปีใหม่นั้นก็เป็นชุดที่ตัดจากผ้ายกดอกลำพูน เป็นดีไซน์ที่ทางร้านมีไว้อยู่แล้วครับ ซึ่งท่านก็จะแจ้งมาเลยว่าอยากได้สีอ่อน เรามีหน้าที่ตัดให้ตรงตามที่คุณอุ๊งอิ๊งค์ต้องการ พร้อมกับดูให้เหมาะสม เข้ากับสรีระ อย่างรูปร่างของคุณอุ๊งอิ๊งจะมีปัญหาในเรื่องของกระดูกช่วงสะโพกที่ดูยกสูงทำให้ช่วงตัวด้านบนดูสั้น ดังนั้นเราในฐานะคนตัดเสื้อผ้า เราก็ต้องแก้ไข้ปัญหาตัดชุดให้เหมาะสม เสื้อผ้าที่เราตัดก็ต้องส่งเสริมสัดส่วนให้ดูออกมาดีได้
ผมในฐานะช่างตัดเสื้อผ้า ผมมีหลักในการปฏิบัติในการทำงานคือเราจะตามใจลูกค้าทุกคน ไม่ทำงานตามใจตัวเอง โดยจะทำตามใจลูกค้า 70 % อีก 30 % เราก็ต้องยังคงเอกลักษณ์ และตัวตนของเราไว้ ส่วนในการตกแต่งรายละเอียดหรือดีเทลบนตัวเสื้อผ้าผมก็จะใส่เต็มที่ครับ
สำหรับการเลือกใช้เชิงผ้าหรือตีนซิ่นที่ถูกพูดถึง ผมมี 3 เหตุผลหลัก ๆ เลยคือ หนึ่ง ผมมองว่าตีนซิ่น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเป็น ผ้ายกดอกลำพูนนะครับ ตีนซิ่นของผ้ายกลำพูนเป็นส่วนที่ดูสวยที่สุดและโดนเด่นขององค์ประกอบผ้า โดยปกติในการนุ่งผ้าไทยตีนซิ่นจะอยู่ในส่วนของชายผ้า ในการถ่ายรูปบ้างครั้งก็จะไม่ได้เห็นในส่วนสวยที่สุด เราเลยมีแนวคิดที่อยากจะโชว์ส่วนที่เด่นและสวยที่สุดของผ้าไว้ด้านบน
สอง ในปัจจุบันนี้ ผ้ายกดอกลำพูนมีการทอลายผ้าตีนซิ่นมีขนาดที่สูงและกว้างขึ้นประมาณ 50 – 60 เซนติเมตรซึ่งมันเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งโดยปกติสัดส่วนของผู้หญิงทั่วไปวัดจากเอวถึงพื้น ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 90 – 100 เซนติเมตร ซึ่งลายผ้าจะกลายเป็นครึ่งนึงของความยาวขา เวลาที่เรานำมาตัดเป็นชุด ผ้าที่มีลายตีนซิ่นที่สูง จะทำให้ผู้หญิงดูสั้น เตี้ย จึงเกิดการนำมาประยุกต์ให้ลวดลายตีนซิ่นมาอยู่ข้างบนแทนเพื่อที่จะส่งเสริมให้สัดส่วนผู้หญิงดูตัวสูง สง่ามากยิ่งขึ้น
เหตุผลสุดท้าย ผมอยากให้คนที่มีสายอาชีพเดียวกันกับผมหรือคนอื่น ๆ ก็ตาม ในการที่เรานำลวดลายตีนซิ่นมาใช้ในอีกรูปแบบนึง จะได้เป็นอีกหนึ่งแนวความคิดและทางเลือกในการในการตัดเสื้อผ้า เพื่อที่จะได้อุดหนุนและสร้างกระแสให้คนหันมาสนใจผ้าไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากประสบการณ์การเป็นครูที่สอนมาเกือบ 20 กว่าปี ผมจึงมีแนวคิดที่อยากให้คนปฏิบัติตามและทำต่อเพื่อให้สายอาชีพในการตัดเสื้อยังคงอยู่ และอีกหนึ่งอาชีพในการทอผ้าก็ยังคงดำเนินต่อได้ ต้องบอกก่อนเลยว่าปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้นุ่งซิ่นออกไปใช้ชีวิตประจำวัน เราจึงเกิดแนวความคิดว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้อาชีพทอผ้า รักษาสืบทอดอาชีพนี้ยังคงอยู่ และสามารถกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ยั่งยืนได้อีกด้วย ในฐานะอาชีพช่างตัดเสื้อเป็นอาชีพปลายน้ำ เรามีหน้าที่ ที่จะรังสรรค์ผลงานให้เป็นที่พึ่งพอใจกับลูกค้าของเรา
ส่วนในเรื่องของคำวิจารณ์ ติชม ทุก ๆ ความคิดเห็นส่วนตัวผมน้อมรับเสมอ แต่คุณค่าของงานมันขึ้นอยู่กับว่าผมทำงานผลงานชิ้นนี้ว่ามีการผลิตรูปแบบนี้ซ้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องบอกว่ารูปแบบงานดีไซน์รูปแบบนี้มีการสั่งผลิตซ้ำเพิ่มขึ้นมาก ท่านนายกอุ๊งอิ๊งค์ – แพทองธาร ชินวัตร ไม่ใช่คนที่สวมใส่ชุดในรูปแบบนี้คนแรก เป็นอีกหนึ่งสิ่งในความน่ารักของท่านคือ ท่านไม่สนใจว่าจะสวมใส่เสื้อผ้าในรูปแบบที่ซ้ำกับคนอื่นหรือเปล่า อีกทั่งท่านก็ไม่ได้สั่งตัดเสื้อผ้าที่ร้านผมร้านเดียว ท่านยังสั่งตัดในอีกหลาย ๆ ร้านทำให้เกิดการกระแสรายได้และกระจายรูปแบบในการหยิบยกผ้าไทยมาใช้ในแบบต่าง ๆ อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจเพิ่มมากยิ่งขึ้นครับ