In the mood of mourning ย้อนรอยประวัติศาสตร์ของชุดแห่ง ‘ความรัก ความคิดถึง และคราบน้ำตา’ 
ชุดไว้ทุกข์

In the mood of mourning ย้อนรอยประวัติศาสตร์ของชุดแห่ง “ความรัก ความคิดถึง และคราบน้ำตา” 

ชุดไว้ทุกข์
ชุดไว้ทุกข์

เป็นเวลากว่า 500 ปีแล้วครับ ที่มนุษย์ (สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง) ได้คิดหาเครื่องแต่งกายเพื่อการ “ไว้ทุกข์” ให้กับบุคคลอันเป็นที่รัก แม้ว่าจะมีให้เห็นในหลากโทนสี ทั้งม่วงเข้ม เทา ขาว หรือแม้กระทั่งเขียวเข้ม แต่ท้ายที่สุดแล้ว “สีดำ” ก็เป็นสีที่ถูกเรียกหามากที่สุด

Pound_Praewnista ขอพาย้อนกลับไปดูที่มาของชุดไว้ทุกข์ จากกว่า 100 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เพราะทุกเรื่องราวมีที่มา และเพราะว่า “เสื้อผ้า” ไม่ใช่เพียงสิ่งนอกกาย

b9ff6d74625a33f8da2b1dcd2edd4ce42e8abb00

2 22

ไม่สามารถระบุวันเริ่มต้นที่แน่ชัดได้ครับ ว่าใครคือผู้ริเริ่มคนแรกของโลกที่ลุกขึ้นมาบัญญัติให้มีการแต่งกายเพื่อวาระแห่งการไว้ทุกข์ แต่จากหลักฐานหลายแหล่งให้ความสำคัญไปที่พวกยุโรเปียน (ชาติที่มักยกตัวเองเป็นผู้นำด้านเสื้อผ้า) เป็นกลุ่มแรกที่ใส่ เพราะในช่วง Middle Age หรือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 15 ยุโรปได้ออกกฎ แต่ไม่ใช่กฎหมายนะครับ เป็น Sumptuary Laws คือกฎระเบียบของเหล่าผู้ร่ำรวยหรือผู้ดีเก่ายุคนั้น ต้องเข้าใจอย่างนี้ครับว่าค่าที่ยุโรปมีประวัติศาสตร์ยาวนาน กลุ่มขุนนางเก่าแก่ก็มีมาก แต่ในขณะที่การค้ายุคนั้นก็เริ่มเจริญรุ่งเรือง คนรวยใหม่ก็มีเพิ่มขึ้น ชนชั้นที่คิดว่าตัวเองต้องเลิศต้องเก๋กว่าคนอื่นๆก็เลยออกกฎนี้ขึ้นมา เป็นกฎและระเบียบของเครื่องแต่งกาย ทั้งงานมงคล งานร้าย งานน้ำชา และอีกหลายๆงานครับ! แม้หลายเสียงจะบอกว่าพวกเขาออกกฎเพื่อแบ่งชนชั้นทางสังคม แต่ลึกที่สุดในใจผมว่า “ถ้าพวกเขาไม่รู้สึกเสียใจ รำลึก และคิดถึงผู้ตาย” ชุดไว้ทุกข์คงไม่ถูกระบุไว้ในกฎแน่ๆ ซึ่งกฎนั้นก็คือ ขุนนางทั้งหลายต้องใส่ชุด “สีดำ” เพื่อเข้าพิธีศพนั่นเอง โดยชุดในยุคนั้นหนักไปที่การใช้ผ้าหรูหรา ซึ่งความยาวของผ้าคือตัวชี้ฐานะ และนิยมตกแต่งปลายด้วยผ้าเครป (Crape) สีขาวหรือสีดำ ที่สำคัญต้องมีหมวกใบใหญ่เป็นการคอมพลีตลุคอันสมบูรณ์ หลังจากนั้นไม่นาน “โทนดำ” ที่ว่านี้ก็ส่งอิทธิพลถึงชุดของพระสงฆ์ พ่อค้า จนถึงคนทั่วไปทั้งชายและหญิงในเวลาต่อมา

แม้ว่าการใส่ “ชุดไว้ทุกข์” จะเกิดขึ้นในยุคกลางของยุโรป แต่โลกกลับยอมรับความสำคัญอันยิ่งใหญ่ของเครื่องแต่งกายนี้ในยุคทองของยุควิกตอเรีย (Victoria Era) หรือในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เหตุเพราะสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ทรงสวมใส่ฉลองพระองค์สีดำตั้งแต่การจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ต (Prince Albert) ตั้งแต่ปี 1861 จนถึงวันสุดท้ายของพระองค์เอง (ปี 1901) นั่นด้วยเพราะพระองค์ทรงเข้าพระทัยถึงความเศร้าโศกอย่างที่สุด พระองค์ไม่เพียงแค่อยากบอกให้โลกรับรู้ว่าพระองค์ทรงทุกข์ แต่พระองค์ทรงต้องการบอกตัวเองว่านอกเหนือจากความเสียใจที่มีนั้น คุณค่าของความเป็นคนที่รักและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกสูญเสียเป็นเช่นไร

1 5 12

ซึ่งทั้งหมดนั้นได้ทำให้เกิดบรรทัดฐานแห่งการใส่ชุด “ไว้ทุกข์”  โดยเน้นไปที่หญิงม่าย (Widow) จะยึดถือการไว้ทุกข์ยาวนานเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ซึ่งมีหลักการในการแต่งต่างกันออกไป

ปีแรก (Full Mourning) จะใส่ชุดสีดำเท่านั้น ไม่มีการปักประดับใดๆทั้งสิ้น ต้องสวมผ้าปิดหน้าตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้าน ไม่คบค้าสมาคมถ้าไม่จำเป็น แม้กระทั่งกับลูกด้วยเช่นกัน

ปีที่ 2 (Second Year) มีเครื่องประดับปักประดับเพิ่มได้ เช่น ตัวชุด ปลายกระโปรง ชายแขนเสื้อมีการตกแต่งขอบด้วยลูกไม้หรือเครปได้ตามสมควร แต่โทนสียังคงเป็นสีดำเท่านั้น

ครึ่งปีสุดท้าย (Half Mourning) ชุดสามารถเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำได้ นั่นคือสีเทา สีม่วง หรือสีม่วงก่ำ

5 52

“ชุดไว้ทุกข์” แบบที่ว่านี้ได้ถูกยึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน เริ่มต้นจากการเป็น “ชุดเพื่อความเศร้าโศก” สู่ “ชุดเพื่อมารยาททางสังคม” ซึ่งผู้ที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์” พร้อมใจกระทำเรื่อยมา แต่ด้วยความรุ่มรวยของดีเทลชุดและความฟุ่มเฟือยของการจัดเตรียม ชุดไว้ทุกข์แบบเดิมจึงถูกลบเลือนไปในที่สุด จนเข้าสู่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความฟุ่มเฟือยที่ว่าจึงถูกลดทอนลงเหลือแค่ “สีดำ” แต่ความหมายทั้งหมดยังคงเดิม นั่นก็เพื่อ “รำลึกถึงผู้เป็นที่รัก” และเป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ถึงความเสียใจที่มากเกินกว่าจะพูดออกมาได้ เสื้อผ้าจึงไม่ใช่แค่เรื่องฉาบฉวย เฉกเช่นกับความรู้สึก “รัก คิดถึง” ที่มากทวีใจ แต่ต้องทนกับความ “สูญเสีย” และการจากไปของบุคคลอันเป็นที่สุดของดวงใจก็ด้วยเช่นกัน

และถ้าการสวมชุดเพื่อ “ไว้ทุกข์” คือการแสดงความรักอีกทางหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ เพราะอย่างน้อยชุดนั้นก็เป็นพลังอย่างหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาหัวใจที่ทุกข์ให้ดีขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับหัวใจของแต่ละคน

ด้วยรักและคิดถึงสุดหัวใจ

เรื่อง :  pound_Praewnista

Praew Recommend

keyboard_arrow_up