ความสวยงามเบื้องหน้าที่เราเห็นในละครเรื่องพิษสวาทของคุณอุบลหรือสโรชินีที่นุ่น – วรนุชรับบทนำนั้น ใครจะรู้บ้างว่าเบื้องหลังความสวยงามเกิดขึ้นมาจากฝีมือของครูบิ๊ก – พีรมณฑ์ ชมธวัช ผู้ชายผู้อยู่เบื้องหลังความงามสุดประณีตของเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (เครื่องละคร) คุณอุบลในเรื่องเกือบทั้งหมดเลยก็ว่าได้
ก่อนจะพาไปชมความงามและที่มาของเครื่องประดับแต่ละชิ้นของคุณอุบล เรามาทำความรู้จักกับครูบิ๊ก – พีรมณฑ์ ชมธวัช กันก่อนดีกว่า ครูบิ๊กแห่ง “คณะละครอาภรณ์งาม” คือผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์ไทย ทั้งโขนละครโบราณในราชสำนัก รวมถึงมีชื่อเสียงในเรื่องของการออกแบบเครื่องแต่งกายชุดไทยย้อนยุคในสมัยต่างๆอีกด้วย ไม่รอช้า ไปชมความสวยงามของเครื่องประดับแต่ละชิ้นที่ครูบิ๊กออกแบบในละครพิษสวาท พร้อมกับเรื่องราวที่มาที่ไปของแต่ละชิ้นแบบสมจริงอิงประวัติศาสตร์กันเลยจ้า บอกเลยว่าเลอค่ามากกก!
ภาพกรุสมบัติอยุธยาในละครพิษสวาท ครูบิ๊กใช้ทับทรวงที่ทำขึ้นเลียนแบบของโบราณจากกรุวัดราชบูรณะที่มีความเป็นอยุธยาตอนต้นแท้ๆมาวางหน้ากล้องในช็อตระยะใกล้ เพื่อให้สมกับเป็นกรุที่มีทรัพย์สมบัติที่ตกทอดกันมาหลายสมัยจนถึงรุ่นของพระเจ้าเอกทัศ
ตุ้มหูที่สโรชินีใส่ในงานรฤกอยุธยาก็เป็นฝีมือของครูบิ๊กอีกเช่นเคย โดยครูบิ๊กทำขึ้นมาใหม่เลียนแบบจากตุ้มหูทองคำโบราณจากกรุทองวัดราชบูรณะนั่นเอง
ผ้าสไบสีทองเครื่องละครของคุณอุบล ครูบิ๊กเล่าว่าตามบทประพันธ์ในนิยายบอกว่าอุบลนางรำหลวงห่มผ้าสไบสีทอง เมื่อศึกษาดูไม่พบว่ามีผ้าสไบเครื่องละครสมัยอยุธยาให้ดูแล้ว ก็เลยหาหลักฐานที่ใกล้ที่สุด นั่นก็คือผ้าสไบที่เป็นเครื่องละครของจริงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นในการทำชุดให้คุณอุบลครั้งนี้ ครูบิ๊กพยายามจะทำให้ใกล้เคียงกับข้อมูลมากที่สุด แต่เนื่องจากเวลาอันจำกัดและความสมบุกสมบันในการถ่ายทำอันยาวนานกว่า 7 เดือน จึงตัดสินใจไม่ใช้ผ้าตาดของแท้มาทำ เพราะผ้าตาดของจริงที่ครูบิ๊กมีอยู่เป็นผ้าโบราณ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ต้องเก็บไว้ศึกษา หากต้องสั่งทอใหม่จากอินเดียก็ต้องใช้เวลานาน ครูเล็กเลยตัดสินใจหาผ้าสีทองลักษณะคล้ายๆมาใช้แทน ก็ได้ผ้าไหมยกทองส่องประกายวาวๆของอินเดียที่ซื้อสะสมมานานมาก แต่ยังไม่มีโอกาสใช้ แต่เดิมเป็นสีครีมๆ จึงต้องนำมาย้อมสีเหลืองทองให้ตรงกับผ้าตาดต้นแบบ แล้วนำมาขึงสะดึง ปักเลื่อมโลหะชุบทองขนาดเล็ก ผสมปีกแมลงทับ เป็นรูปทรงดอกไม้กระจายทั่วผืนตามอารมณ์ ส่วนปลายสไบก็ปักไหมทองเป็นลายกรวยเชิง โดยได้แบบโครงลายกรวยเชิงสมัยอยุธยามาจากจิตรกรรมลายรดน้ำวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
ผ้าสไบแม่อุบลผืนสีแดงนั้นได้แรงบันดาลใจจากผ้าสไบนางละครที่เป็นภาพเขียนสีบนสมุดข่อยสมัยปลายอยุธยา เป็นลายดอกไม้กระจายเต็มผืน เมื่อมาเทียบกับข้อมูลทางด้านผ้าโบราณ ก็เห็นว่าน่าจะเป็นผ้าไหมทอยกลายทองเป็นดอกดวงๆ ซึ่งเรียกกันว่า ผ้าอัตลัต แต่โบราณก็นิยมใช้ผ้าชนิดนี้มาทำผ้าทรงสะพัก ผ้าอัตลัตจากอินเดียของแท้ นั้นทอเป็นเนื้อไหมซาตินมันวาว ในการทำชุดครั้งนี้ก็อยากจะใช้ของที่ใกล้เคียงโบราณให้มากที่สุด โชคดีที่ครูบิ๊กมีผ้าทรงสะพักลายนี้ที่ได้ผ้ามาจากอินเดียนานแล้ว เลยสามารถนำมาใช้ห่มให้คุณอุบลได้ทันการณ์
ในละครเรื่องนี้จะมีฉากที่อุบลใช้ให้บ่าวนำแหวนไปให้คนของเสด็จในวัง เพื่อขอแบ่งยามารักษาคุณพระ หลายคนอาจยังไม่ทันสังเกต เพราะในละครฉากนี้เร็วมาก ซึ่งครูบิ๊กก็ได้เอารูปแหวนที่ใช้ในฉากนี้มาเผยแพร่ให้เราได้ดู นั่นก็คือทองคำฝังพลอยหลังเบี้ยสมัยอยุธยา วงสีเขียวคือวงที่ถอดส่งให้บ่าว ส่วนวงสีแดงใส่อยู่ที่นิ้ว
มีต่อหน้าถัดไปจ้า