จาก ผ้ายกทองเมืองนครฯ ของช่างฝีมือชั้นสูงในโครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สู่งานมาสเตอร์พีซ กระเป๋าผ้าสุดวิจิตร
อย่างที่รู้กันว่า โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ คือแบรนด์เครื่องประดับและของแต่งบ้านที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แม้ผู้ก่อตั้ง คุณรอล์ฟ วอน บูเรน) จะเป็นชาวเยอรมันและคุณเฮเลน วอน บูเรน ลูกครึ่งไทย-สก็อตแลนด์ แต่ท่านทั้งสองหลงใหลในความอัศจรรย์ของช่างฝีมือไทยและวัฒนธรรมไทย
โดยคุณรอล์ฟพูดเสมอว่า “ประเทศไทยยังคงอนุรักษ์เรื่องของงานฝีมือ วัฒนธรรม ได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ผ่านทางหน่วยงานอย่างเช่น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ คอยส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้”
จึงสร้างสรรค์ชิ้นงานมาสเตอร์พีซขึ้นมา รวมถึงยังได้จัดทำกระเป๋าผ้าไทย นำผ้ายกทองเมืองนครฯ 2 ผืน สีน้ำเงินและสีแดง จากโครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาตัดเย็บเป็นกระเป๋ารุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น เพียง 36 ใบ ซึ่งผ้ายกทองทั้งสองผืนนี้มีความวิจิตรงดงามของลายผ้าที่ถูกทออย่างประณีต นำมาผสานวัสดุหลากหลายกลายเป็นกระเป๋าผ้าไทยที่มีความโก้ หรู เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
ขณะเดียวกัน อัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย ที่สั่งสมประสบการณ์ด้านผ้าไทยกว่า 10 ปี อดีตภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เผยว่า
ในช่วงปี 2536 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านเนินธัมมัง พระองค์ได้ทรงรับทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรในพื้นที่ซึ่งมีฐานะยากจน การประกอบอาชีพหลักคือการทำไร่ ทำนา พระองค์จึงได้ทรงพระราชทานโครงการศิลปาชีพขึ้น ณ บ้านเนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ และก่อสร้างศาลาศิลปาชีพขึ้น
ปัจจุบันคือ โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการทอผ้ายกเมืองนครฯ ซึ่งสูญหายไปแล้วขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างอาชีพให้ชาวบ้านได้มีรายได้เสริม ในช่วงนอกฤดูทำนา
สำหรับผ้ายกทองเมืองนครฯ นับเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมแบบฉบับของช่างฝีมือชั้นสูง เนื่องจากมีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนทอค่อนข้างยาก โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้ครูจากศิลปาชีพนำผ้ายกทองโบราณที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์มาแกะลายและแกะเทคนิคการทอ ใช้ระยะกว่า 2 ปี ถึงสามารถฟื้นฟูความรู้ด้านการทอผ้าเมืองนครฯ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ทั้งนี้ในสมัยโบราณผ้ายกทองเมืองนครฯ เป็นผ้าที่ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณว่าสวยงามแบบอย่างผ้าชั้นดี เป็นผ้าที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในปัจจุบันผ้ายกทองเมืองนครฯ ถูกทอขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องแต่งกายในการแสดงโขนพระราชทาน ทดแทนการสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป โดยใช้สีย้อมธรรมชาติ สีแดงย้อมด้วย ครั่ง และสีน้ำเงินย้อมด้วย คราม
จาก ผ้ายกทองเมืองนครฯ ของช่างฝีมือชั้นสูง สู่งานมาสเตอร์พีซใน กระเป๋ารุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น
Woven Jewelled Silapacheep Clutch with Diamond กระเป๋าคลัชต์ผ้ายกทองเมืองนครฯ ที่ผสานความอ่อนหวานของดอกไม้ทองฝังเพชร เกสรเป็นมุก เข้ากับที่จับกระเป๋าที่ดีไซน์เป็นรูปแหวนทองสุดโก้
Woven Jewelled Silapacheep Hand bag with Carved red coral Blooming Roses กระเป๋าผ้ายกทองเมืองนครฯ ใบนี้โดดเด่นด้วยลวดลายกรวยเชิง ซึ่งถูกทอด้วยเทคนิคชั้นสูง โดดเด่นด้วยช่อดอกกุหลาบทำจากหินสีแดงแกะสลักประดับเพชรทรง Rose-Cut 1.51 กะรัต กรอบกระเป๋าทำจาก Black Rhodium Silver (แบล็ค โรเดียม ซิลเวอร์) ที่จับทำจากไม้ black wood ประดับทอง
Woven Jewelled Silapacheep Hand bag with Lacquer rooster brooch โดดเด่นด้วยลายดอกซีกดอกซ้อน ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณของไทย นำมาดีไซน์เป็นกระเป๋ารูปแบบคลาสสิกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดับเพชรรวม 6.02 กะรัต เพิ่มความเก๋ด้วยเข็มกลัดรูปไก่ งานศิลปะแลคเกอร์ญี่ปุ่น ดวงตาฝังเพชร กรอบกระเป๋าด้านบนทำจากงานคร่ำ ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมโบราณของไทย ด้วยวิธีการฝังทองลงบนเหล็กโดยฝีมือของ อาจารย์แดง-อุทัย เจียรศิริ ผู้เชี่ยวชาญงานคร่ำที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ตัวล็อคอเมทิสต์ 4.93 กะรัต และทัวร์มาลีนสีชมพู 3.32 กะรัต
Woven Jewelled Silapacheep Handbag with Gold Silk Cord and Diamonds and Spiral Red Rubyกระเป๋าใบนี้ได้นำผ้ายกทองเมืองนครฯ ในส่วนของเชิงกรวยมารังสรรค์เป็นกระเป๋าใบงาม ตกแต่งด้วยโครงไม้ไผ่เป็นกรอบด้านบน ตัวล็อคทับทิมสีแดง สายกระเป๋าทำจากไหมสีทองประดับเพชร ใช้เวลาทำประมาณ3 เดือน โดยช่างฝีมือ 16 คน