รันเวย์ชีวิต 'ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์' ตำนานดีไซเนอร์ที่วงการแฟชั่นไทยไม่มีวันลืม

รันเวย์ชีวิต ‘ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์’ ตำนานดีไซเนอร์ที่วงการแฟชั่นไทยไม่มีวันลืม

Alternative Textaccount_circle
รันเวย์ชีวิต 'ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์' ตำนานดีไซเนอร์ที่วงการแฟชั่นไทยไม่มีวันลืม
รันเวย์ชีวิต 'ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์' ตำนานดีไซเนอร์ที่วงการแฟชั่นไทยไม่มีวันลืม

เปิดรันเวย์ชีวิตของ ‘ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์’ ดีไซเนอร์ไทยระดับตำนาน เจ้าของห้องเสื้อ ‘ดวงใจบิส’ แม้สิ้นลมหายใจ แต่จารึกผลงานทรงคุณค่าไว้ให้เป็นที่จดจำ

การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ ‘ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์’ วัย 66 ปี ดีไซเนอร์ดัง เจ้าของห้องเสื้อ ‘ดวงใจบิส’ นับเป็นข่าวเศร้าของวงการแฟชั่นไทย รวมถึงแวดวงนิตยสารแฟชั่นที่ผูกพันกับคุณตั้วเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

หากย้อนกลับไปช่วงยุค 90 คุณตั้วถือเป็นดีไซเนอร์คนแรกๆ ที่แต่งแต้มสีสันให้กับวงการแฟชั่นไทย บรรดาคนดังในยุคนั้น ต่างพากันเทใจให้กับเสื้อผ้าดีไซน์เก๋ของห้องเสื้อ ‘ดวงใจบิส’ เหล่าซุป’ตาร์แห่งยุคล้วนเคยเฉิดฉายบนหน้านิตยสารด้วยอาภรณ์ฝีมือคุณตั้วแทบทั้งสิ้น

ปูมหลังที่ไม่ธรรมดาของคุณตั้ว ทำให้เรากระจ่างใจถึงความเป็นดีไซเนอร์ระดับตำนาน รวมถึงข่าวคราวต่างๆ นานา โดยเฉพาะการประกาศยุติงานอันเป็นที่รักยิ่ง อย่างห้องเสื้อ ‘ดวงใจบิส’ เมื่อปี 2560 เพื่อทุ่มเทความรักให้กับอีกหนึ่งดวงใจของเขา อย่างการดูแลคุณแม่-สมพร ชลสิทธิ์ นั่นเอง

รันเวย์ชีวิต 'ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์' ตำนานดีไซเนอร์ที่วงการแฟชั่นไทยไม่มีวันลืม
ภาพสุดท้ายของคุณตั้วจากเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อรำลึกถึงคุณแม่

และนับต่อจากนี้คือเรื่องราวบางห้วงบางตอน ที่ดีไซเนอร์ท่านนี้เคยเล่าไว้ใน นิตยสารแพรว เมื่อปี 2539 ซึ่ง ณ เวลานั้น ห้องเสื้อ ‘ดวงใจบิส’ ประสบความสำเร็จเข้าขวบปีที่ 16 พอดี

“ตอนที่ตั้วเกิด ทางบ้านอยู่ในฐานะปานกลาง ไม่ลำบาก แต่ก็ไม่ได้รวยมาก พ่อเป็นเภสัชกร ส่วนแม่เป็นช่างตัดเสื้อ แต่งานหนักมาก จำได้ว่าบ้านเป็นตึกแถวสองชั้นติดกันสี่คูหา ช่างเต็มทั้งชั้นล่างชั้นบน วันอาทิตย์ยังต้องทำงานกันเลย โดยแม่เป็นคนคุมทุกอย่าง เข็ม ด้ายอยู่ในลิ้นชักโต๊ะแม่หมด เพื่อกันการรั่วไหล แถมทำบัญชีเองด้วย แล้วยังต้องสอนนักเรียนอีก

“ตั้วมีพี่สาวและน้องชายอีกสองคน ลูกสี่คนแม่เลี้ยงเองหมด แถมเลี้ยงแบบสตริ๊กท์ด้วย แทบจะไม่ให้รู้เรื่องภายนอกเลย ตื่นเช้ามามีคนพาไปส่งโรงเรียน เลิกเรียนมีคนรับกลับ ชีวิตมีอยู่แค่นั้นจริงๆ เพราะแม่หวงลูก ไม่ค่อยให้ไปเที่ยวไหน

“แล้วเด็กสมัยนั้นไม่มีของให้เล่นเยอะแยะเหมือนเด็กสมัยนี้หรอก ที่ฮิตมากคือเปเปอร์ดอลล์หรือตุ๊กตากระดาษ ซึ่งหาซื้อยากและราคาแพง เพราะเป็นของนอกเข้ามา มีขายที่เซ็นทรัล วังบูรพา ที่เดียว ไปเดินดูกับพี่สาวก็มีอาการตากะพริบๆ บ้าง ด้วยความอยากได้ พี่สาวเลยวาดให้ พอเอาไปโชว์เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนฝากให้พี่สาววาดใหญ่ ต่อมาเลยหัดวาดเอง”

รันเวย์ชีวิต 'ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์' ตำนานดีไซเนอร์ที่วงการแฟชั่นไทยไม่มีวันลืม

ชีวิตวัยเรียนของคุณตั้ว เรียกว่ามีสีสันตั้งแต่ชั้นประถมเลยก็ว่าได้ ซึ่งหลักใหญ่มาจากความเป็นคนฤทธิ์มากนั่นเอง

“ตั้วเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด เพราะพี่สาวเรียนอยู่ก่อน บอกแล้วว่าแม่ไม่ปล่อย (หัวเราะ) คิดดูสิ เด็กราชินีมี 5 เปอร์เซ็นต์เองมั้งที่เป็นผู้ชาย นอกนั้นเป็นเด็กผู้หญิงหมดเลย

“ตั้วอยู่ราชินีจนถึง ป.3 แม่ก็พาไปสอบเข้าวชิราวุธฯ แต่พอถึงวันรายงานตัวหาผู้ปกครองไม่ได้ เพราะพ่อไปมีผู้หญิงอื่น ในขณะที่แม่เพิ่งรู้ว่าตัวเองท้องนอกมดลูก หมอให้เอาเด็กออก ช่วงนั้นบ้านวุ่นวายมาก ตั้วเกือบต้องหยุดเรียนหนึ่งปี พอดีว่ามีเด็กที่สอบเข้าได้ขอสละสิทธิ์ จึงมีที่ว่างให้เราเข้าไปเรียน

“ชีวิตนักเรียนประจำ สองสามวันแรกจำได้ว่านอนร้องไห้ตลอด ไม่เคยต้องอยู่คนเดียว ทั้งกลัว ทั้งระแวง อีกอย่างตอนที่ตั้วออกจากราชินีไปนั้น ภาษาอังกฤษอ่อนมาก เพราะราชินีสมัยนั้นสอนให้เด็กเขียนแต่ตัวพิมพ์ แต่ที่วชิราวุธฯเขาให้เขียนตัวเขียน จึงลำบากมาก อู๊ย…ฉันจะทำได้ไหมนี่ ร่ำๆ จะบอกแม่อยู่แล้วว่าขอกลับบ้านเถอะ

“แต่ลึกๆ ในใจเรารู้ว่าแม่ไม่ได้อยากให้มาอยู่ประจำหรอก ที่ต้องให้อยู่เพราะพ่อเจ้าชู้ แม่ต้องคอยตาม ที่สำคัญ แม่ยังมีพี่สาวกับน้องชายเล็กๆ อีก 2 คน ให้เลี้ยงหมดทุกคนคงไม่ไหว ไหนจะต้องทำงานเสื้ออีก ถ้าตั้วอยู่ประจำเสียคน แม่คงเบาแรงขึ้น อาทิตย์หนึ่งโรงเรียนจะให้มาเยี่ยมได้เฉพาะวันพฤหัสฯและวันอาทิตย์ ครั้งละชั่วโมง และเดือนหนึ่งกลับบ้านได้ครั้งหนึ่ง

“ตอนอยู่วชิราวุธฯนี่แหละที่พ่อเริ่มสปอยล์ตั้วมาก ถ้าต้องการอะไรเขาจะให้ อย่างเครื่องดนตรีของโรงเรียนวชิราวุธฯ จะมีเป็นของส่วนกลาง ตั้วไม่ยอมใช้ ต้องมีเป็นของตัวเอง พ่อก็ซื้อให้ แต่เราเป็นคนไม่รักษาของ เครื่องเป่าเมโลดี้สีเขียวๆ ยาวๆ คล้ายปี่ ตรงที่เป่ามีปลอกถอดออกได้สำหรับคอยล้างคอยเปลี่ยน ตั้วไม่เคยถอด หนำซ้ำใช้กาวตราช้างติดไว้เลย เพราะขี้เกียจถอดล้าง

“ข้อเสียที่สุดของพ่อคือซื้ออะไรให้แล้วไม่จำ เขาจะไม่มาถามว่าหายไปแล้วหรือ ยังอยู่ไหม ขอไปอีกก็ได้อีก เราเลยยิ่งได้ใจ บางอย่างบอกเขาว่าพังไปแล้ว เขาก็ซื้อให้ ทั้งๆ ที่ไม่พังหรอก แต่ไม่สวยแล้ว

“อย่างตอนที่เครื่องเล่นคาสเส็ทเข้ามาใหม่ๆ ยี่ห้อดีที่สุดในตอนนั้นคือช็อปลอว์เรนซ์ของเยอรมัน บอกพ่อว่าอยากได้ พ่อดันซื้อยี่ห้ออื่นมาให้ เด็กวชิราวุธฯรู้อยู่แล้วว่าหัวสูง ต้องฟังช็อปลอว์เรนซ์เท่านั้น พ่อก็ไม่เข้าใจว่ามันต่างกันอย่างไร พ่อไม่รู้จัก เราก็ทำฤทธิ์ ไม่ยอมเอา จนพ่อต้องไปหาซื้อช็อปลอว์เรนซ์มาให้”

“ในกระบวนพี่น้อง ไม่มีใครเอาแต่ใจตัวเองเท่าตั้ว ตั้วสามารถร้องไห้พร้อมโวยวายว่าไม่มีใครรักเลยได้นานถึง 3-4 ชั่วโมง อย่างเวลาพ่อไปตกปลาที่บางปูแล้วไม่พาเราไป ก็จะยืนร้องไห้จนเขารำคาญและพาเราไปในที่สุด

“และไม่ใช่ว่าจะรู้สึกขอบคุณเขาหรอกนะที่ตามใจ เรียกว่าเป็นคนไม่เคยพอใจในสิ่งที่พ่อแม่ทำให้ เขาชอบอย่างหนึ่ง ตั้วก็จะชอบอีกอย่างหนึ่ง เหมือนได้หนึ่งจะเอาสอง ได้สองจะเอาสี่ มีความทะเยอทะยานมาก พูดง่ายๆ อยากเป็นลูกเศรษฐี ตอนเด็กๆ นั่งนึก… อยากเป็นลูกเจ้าของไดมารูจังเลย เขามีบันไดเลื่อน ซึ่งสมัยนั้นเป็นของหรูมาก (หัวเราะ)

“ส่วนเรื่องการเรียน ยิ่งโตยิ่งแย่ จบมาได้ 51 เปอร์เซ็นต์ แต่เอนท์ฯติดเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกันว่าทำไมเข้าได้  พ่อแม่ดีใจมาก พ่อถึงกับออกรถให้คันหนึ่ง ยี่ห้อโตโยต้า โคโรล่า แต่ตั้วก็ไม่ได้ซาบซึ้งไปด้วย ยังคิดในใจว่าเขาใจดีแปลกๆ บางอย่างที่ไม่ควรให้เขาก็ให้ แต่สิ่งที่น่าทำกลับไม่ทำ

“อย่างเช่นที่บ้านเวลาฝนตก น้ำจะท่วม ซึ่งตั้วว่าเป็นหน้าที่พ่อที่ต้องหาวิธีไม่ให้น้ำท่วมบ้านขึ้นมา แต่พ่อเฉย เดินได้ อาบน้ำได้ แล้วตั้วเป็นโรคสำอาง ชอบเทียบกับบ้านเพื่อนที่เขามีพร้อมหมด สมัยโน้นบ้านไหนติดแอร์นี่หรูมาก รถยนต์ก็ไม่ใช่ว่ามีแอร์ติดมา ซื้อรถมาก็ต้องไปติดแอร์เอง ซึ่งพ่อก็ติดให้ ตอนนั้นเครื่องละ 8,000 บาท รถคันละ 90,000 บาท เขาซื้อให้หน้าตาเฉย แต่ไม่ยอมควักเงินซ่อมบ้าน

“แล้วคิดดู พอมีรถ ปัญหาย่อมตามมาเยอะแยะ แต่ละครั้งต้องให้พ่อเป็นคนสาง ตั้วเคยขับชนท้ายรถเมล์ ความที่ชนครั้งแรกเราก็ไม่รู้ เปิดประตูผลัวะออกมา รถเมล์อีกคันวิ่งมาชนประตูหลุดอีก เสียค่าซ่อมบานทะโร่

“แล้วใช่ว่าอยู่ธรรมศาสตร์จะเรียนได้ดี กระท่อนกระแท่นมาก แถมปีแรกยังขาหักเพราะเล่นรักบี้ เราตัวเล็กก็เล่นเป็นตัวปีก โดนแทร็กที่เดียว เข่าเลื่อนออกไปอยู่อีกข้างหนึ่ง ขานี่บวมตุ่ย หมอจับใส่เฝือก ช่วงนั้นต้องนอนอยู่บ้าน มือถือตะเกียบอันหนึ่งคอยแหย่เข้าไปเกา เวลาไหนหงุดหงิด เดินไปไหนไม่ได้ คนที่จะปล่อยอารมณ์ได้คือแม่…เป็นแม่ภาษาอะไร ไม่เห็นรักลูกเลย แม่ก็ต้องเลิกทำงานมาเฝ้าลูก”

ในหมู่มิตรสหาย เป็นที่รู้กันว่าคุณตั้วรักคุณแม่มาก ทว่าวิธีการที่เขาแสดงความรักต่อท่าน โดยเฉพาะในโมงยามของความเป็นเด็ก ต้องบอกว่า “ร้าย” ไม่เบาเลยทีเดียว

“เพราะตั้วเป็นโรคขวางโลก ขัดไปเสียทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคุยกับแม่ไม่เคยถึงสองนาที

“ตอนอยู่ธรรมศาสตร์ ตั้วเคยขาหักเพราะเล่นรักบี้ เราตัวเล็กก็เล่นเป็นตัวปีก โดนแทร็กที่เดียว เข่าเลื่อนออกไปอยู่อีกข้างหนึ่ง ขานี่บวมตุ่ย หมอจับใส่เฝือก ช่วงนั้นต้องนอนอยู่บ้าน มือถือตะเกียบอันหนึ่งคอยแหย่เข้าไปเกา เวลาหงุดหงิด เดินไปไหนไม่ได้ คนที่จะปล่อยอารมณ์ได้คือแม่… เป็นแม่ภาษาอะไร ไม่เห็นรักลูกเลย แม่ก็ต้องเลิกทำงานมาเฝ้าลูก

“อีกครั้งตั้วนั่งรถไปกับพี่สาว เขาขับไปแถวพาราเมาท์ ถนนแถวนั้นมีเกาะกลางอยู่ พี่สาวขับอยู่เลนนี้ แต่เลนตรงข้าม รถที่วิ่งสวนมาเขาขับส่ายมาก แล้วอยู่ดีๆ รถคันนั้นก็ขับข้ามเกาะกลางมาชนรถเรา พอแม่รู้ โอ๊ย… เป็นลมแล้วเป็นลมอีก เพราะตำรวจโทร.ไปบอก ฟื้นขึ้นมา ก็บึ่งมาหาเราที่โรงพัก เห็นเราปิดปลาสเตอร์ก็เป็นลมอีก

“ญาติๆ เขาเลยชอบยกเรื่องนี้มาพูดเวลาตั้วดื้อว่า… รู้ไหมว่าแม่รักเรามากนะ ตั้วคิดในใจ… ทำไมฉันจะไม่รู้ ถ้าฉันไม่รู้ ฉันคงไม่แผลงฤทธิ์อย่างนี้หรอก (หัวเราะชอบใจ)

“ตั้วเคยแผลงฤทธิ์แรงถึงกับหนีไปอยู่กับเพื่อน จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว คล้ายกับว่าพ่อแม่ทะเลาะกัน แล้วพ่อลุกขึ้นล้มโต๊ะอาหาร กับข้าวกระจายเกลื่อน ไม่ได้กินกันทั้งบ้าน มีเรื่องตั้วหนีเที่ยวด้วย คือถึงอยู่ธรรมศาสตร์แล้วแม่ก็ยังหวง ชนิดที่ว่า ถ้าพระอาทิตย์หายไปจากฟ้าแปลว่าดึกแล้ว ทุกคนต้องอยู่ในบ้าน การจะไปเที่ยวกลางคืนแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องใหญ่

“สมัยนั้นสถานที่เที่ยวยังไม่เยอะอย่างเดี๋ยวนี้ ตั้วต้องแกล้งทำเป็นขับรถเข้าบ้านก่อน และทำทีเป็นปิดประตูเสียงดัง หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เข็นรถไปแอบไว้นอกบ้าน เสร็จแล้วถึงค่อยเดินเข้าบ้านเปลี่ยนใส่ชุดเที่ยวไว้ใต้ชุดนอน พอแม่หลับก็ค่อยๆ ย่องออกจากบ้าน ถอดชุดนอนออกและขับรถออกไป

“แต่ตอนหลังแม่ก็จับได้ คนเรานะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดนแม่ด่าไปตามระเบียบ แต่ด้วยนิสัยไม่ยอม เลยทะเลาะกันและพานมาถึงเรื่องที่เราเป็นอย่างนี้ หลังจากนั้นมีอะไรต่ออีกไม่รู้ แต่ทำให้เราหนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน ไปอยู่เป็นอาทิตย์เลย ตอนไปอยู่สองวันแรกยังนึก…ฉันออกมาเป็นอิสระแล้ว แต่พออยู่ไปๆ มันก็ไม่มีเงิน หาเงินก็ไม่เป็น ก็ต้องกลับบ้าน”

มาถึงพาร์ทงาน เส้นทางดีไซเนอร์ของคุณตั้วนั้นได้รับการปูทางมาตั้งแต่เกิด จากการคลุกคลีอยู่ในเนื้องานของคุณแม่ที่เป็นเจ้าของร้านตัดเสื้อ เพราะฉะนั้นทันทีที่เขาเรียนจบเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สร้างความภาคภูมิใจให้คุณพ่อคุณแม่เรียบร้อย ก็จัดการแพ็คกระเป๋าลัดฟ้าไปปารีสทันที

“จบธรรมศาสตร์ปั๊บ สภาพเราเหมือนนกออกจากกรง ฉันจะต้องบินแล้ว ต้องหาประสบการณ์ชีวิต อยากเห็นหอไอเฟล ถึงไม่มีรูปรับปริญญาไง เพราะตั้วถือว่าเคยรับจากในหลวง ร.9 มาแล้วตอนจบ ม.ศ.5 ที่วชิราวุธฯ

“แต่แม่ไม่สนับสนุนเลย เพราะไม่อยากให้เราลำบากอย่างเขา อีกอย่างการเป็นช่างเสื้อต้องคอยก้มๆ เงยๆ วัดตัวให้ลูกค้า แม่มองว่าเป็นงานที่ไม่ค่อยมีเกียรติสักเท่าไหร่ แต่เขาก็ไม่ค้านนะ คงเห็นว่าฉุดอย่างไรก็ไม่อยู่ อีกอย่างเราทำสิ่งที่เขาต้องการให้แล้ว คือเรียนจบปริญญาตรี

“ตอนที่เหยียบฝรั่งเศสครั้งแรกรู้สึกตื่นตาตื่นใจไปหมด และหนาวจับจิต ตั้วไปถึงเช้ามาก ใจคิด นี่หรือฝรั่งเศส นึกว่าคนจะเยอะ โธ่…เครื่องลงหกโมงเช้า ผู้คนที่ไหนจะมาเดินให้เราเห็น

“ตั้วขนกระเป๋าไปทั้งหมด 100 กิโลได้มั้ง มีทุกอย่าง เสื้อผ้า รองเท้าไม่รู้กี่คู่ ความที่แม่กลัวเราลำบาก อยากได้อะไรขนซื้อให้หมด สภาพเหมือนบ้าหอบฟาง เผอิญเพื่อนพี่สาวที่พาเราไป ภรรยาเขาทำงานอยู่แอร์ฟรานซ์ ตั้วจึงหอบไปมากมายขนาดนั้นได้โดยไม่ต้องชิปลงเรือ

“กำลังเก้ๆ กังๆ ว่าจะขนกระเป๋าอย่างไรดี ก็พอดีมีหนุ่มฝรั่งเศสใจดีอาสามาช่วย วันนั้นตั้วใส่โอเวอร์โค้ตตัวยาว โผล่แต่หน้าขาวๆ เขาคงนึกว่าเป็นผู้หญิง ผลคือไม่ต้องยกกระเป๋าสักใบ แค่ส่งยิ้มหวานเป็นการขอบคุณ แต่ไม่กล้าออกเสียง กลัวเป็นแบบ…บอย
ไม่ดื่มค่ะ (เก๊กเสียงเหมือนในโฆษณา) แล้วเขาจะตกใจ เตลิดเปิดเปิงไป (หัวเราะสนุก)

“หลังจากนั้นเพื่อนพี่สาวพาไปฝากให้อยู่กับผู้ดูแลนักเรียน ก.พ. แต่อยู่ได้แป๊บเดียว เพื่อนที่อยู่เยอรมนีแวะมาเยี่ยม ทีนี้เขารู้จักพี่ป้อม-ธีรพันธุ์ วรรณรัตน์ จึงแนะนำให้รู้จัก หลังจากนั้นตั้วก็ย้ายไปอยู่กับพี่ป้อม แต่เขาเรียนจบและกลับเมืองไทยก่อน

“ตั้วเรียนที่ Cours de Coupe Laine แต่เข้าสายเป็นประจำ โรงเรียนมีกฎว่าถ้าเกิน 9.30 น. เขาจะปิดประตูไม่ให้เข้า ปิดประตูหรือ ปิดก็ปิด ฉันก็กลับบ้านนอน เผอิญว่าตั้วพอมีพื้นฐานอยู่บ้างจึงไปได้เร็ว อีกอย่าง ตั้วคิดด้วยว่า ธรรมศาสตร์ฉันยังจบได้เลย ตัดเสื้อนี่เห็นมาตั้งแต่เกิด ทำไมจะทำไม่ได้ เรื่องเล็ก ขี้ผง หลักสูตรเขาเรียนกัน 3 ปี แต่ตั้วเรียน 2 ปีเท่านั้น เขาไม่รู้จะสอนอะไรให้แล้ว

“หลังเรียนจบ ตั้วอยู่ที่นั่นต่ออีกปีกว่าๆ ยังไม่อยากกลับ มีความรู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับที่โน่น แม้ว่าห้องที่อยู่จะเล็กนิดเดียว แต่ก็มีความสุข สุขที่ได้ทำกับข้าว ซักเสื้อผ้า รีดเสื้อผ้าเอง ระหว่างนั้นก็ไปทำงานเสิร์ฟอาหาร ชื่อร้านรอยัลออร์คิด ทั้งร้านมีพนักงานเสิร์ฟคนเดียวคือตั้ว ทำให้ได้ทิปต่อวันเยอะเลยละ

“แต่ตั้วเป็นคนใช้เงินเก่ง เงินทุกฟรังก์ที่ได้มา ตัวเอาไปแต่งตัวกับซื้อหนังสือ เครื่องเพชรเครื่องพลอยตั้วไม่ชอบ ชอบนาฟิกาอย่างเดียว ส่วนเรื่องกิน ตั้วไม่สนใจ ซึ่งตรงนี้เป็นเพราะเราติดมาจากที่อยู่วชิราวุธฯ เก้าปีที่กินแต่อาหารพื้นๆ ไปแรกๆ ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอก ชีส ไวน์ กินไม่เป็น อยู่ที่นั่นสี่ปีกว่าไม่เคยจิบไวน์สักอึก”

เมื่อกลับมาเมืองไทย คุณตั้วตัดสินใจทำแบรนด์เป็นของตัวเอง โดยตั้งชื่อว่า “ดวงใจบิส” ซึ่งที่มาของการใช้ชื่อแบรนด์นั้น เขาเล่าว่า

“ต้องการอิงกับชื่อร้านแม่ ไม่ต้องการเป็นกีรติ เพราะดีไซเนอร์เมืองไทยทุกคนเป็นอย่างนั้น เปิดร้านใช้ชื่อตัวเองหมด เราใช้ดวงใจบิสดีกว่า ให้คนมาถาม ตลอดชีวิตที่ทำแบรนด์มา ช่วงพีคๆ ต้องมีคนถามเดือนละหนึ่งครั้งว่า ชื่อดวงใจบิสมาจากไหน

“ตั้วก็จะตอบว่าต้องเริ่มจากว่า บ้านเลขที่ในเมืองไทย เลขที่ 1 ถ้าซอยลงไปก็เป็น 1/1 แต่ที่ฝรั่งเศส เวลาซอยจะเป็น 1-Bis ตั้วเห็นว่าแม่มีโรงเรียนสอนตัดเสื้อดวงใจแล้ว ซึ่งไม่ใช่ชื่อแม่ด้วยนะ เป็นชื่อพี่สาว ก็อยากคงอะไรไว้ให้แม่ภูมิใจ

“อีกอย่างที่แม่เลี้ยงเรามาจนโตก็ด้วยชื่อโรงเรียนสอนตัดเสื้อดวงใจนี่ จนเรามีบ้าน มีรถ มีทุกอย่าง ถึงแม่ไม่ได้มีวิธีเลี้ยงลูกแบบที่คนร่ำรวยเขาเลี้ยงกัน แต่ตั้วก็ภูมิใจที่เกิดเป็นลูกแม่ ตั้วไม่อยากทิ้งอะไรที่เป็นของแม่

“ทีนี้ดีไซเนอร์ที่มีในเมืองไทยตอนนั้น ทุกคนเย็บอยู่ที่บ้านนะ มีพี่ไข่ (สมชาย แก้วทอง) อยู่ศูนย์การค้าคนเดียว ตั้วจึงอยากเปิดร้าน อยากมีโชว์รูม และพูดตรงๆ ณ ขณะนั้นเราอยากออกมาจากอ้อมอกแม่ ขอเงินแม่มาเปิดร้านที่โอเรียนเต็ลพลาซ่า แม่ให้ห้าแสน ตั้วละเลงแป๊บเดียวหมด หุ่นตัวละแสนซื้อมาสองตัว แต่ไม่ได้ใช้

“เปิดร้านวันแรกทำแฟชั่นโชว์ด้วย มีคนมาดู 50-60 คน ได้เงินมาสองหมื่นกว่าบาท มือสั่น (ทำท่าประกอบ) เกิดมาไม่เคยหาเงินได้เองมากขนาดนั้น ขอแต่เงินพ่อแม่ตลอด ที่เคยทำงานเสิร์ฟก็เป็นเงินกระจิบกระจอกเหลือเกิน

“นั่นเป็นครั้งแรกที่เรามีอาชีพและทำเงินได้ เอาเงินใส่กระเป๋า พลางคิด อุ๊ย… ฉันรวยแล้ว จะไปฝากแบงก์ไหนดี วันนั้นพอดีมีคนทำงานที่แบงก์อเมริกามาดูเสื้อ เขาบอก เปิดที่แบงก์อเมริกาสิ เช็คสวยนะ ตั้วขอดูเช็คเขา เออ…เช็คสวยจริงๆ เลยเอาสองหมื่นนั่นไปฝากที่แบงก์อเมริกา”

รันเวย์ชีวิต 'ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์' ตำนานดีไซเนอร์ที่วงการแฟชั่นไทยไม่มีวันลืม

ถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าคงมีคนสังเกตเห็นถึงอุปนิสัยความเป็นคนไม่ซับซ้อน กล้าใช้ชีวิต และมองโลกในแง่ดีของดีไซเนอร์มือตำนานท่านนี้อยู่บ้าง

“สิบสองปีแรกของการทำงานเรียกว่าดีมาตลอด ชีวิตราบรื่น รถกี่แรงม้า กี่วาล์ว กี่ออปชั่น ฉันไม่สน โทรศัพท์สั่งให้มาจอดหน้าบ้านเลย ช่วงนั้นตั้วหาเงินได้ง่ายมากจริงๆ เรียกว่าอยากได้อะไรในโลกนี้ก็ได้ ยกเว้นดาวเดือน เงินใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด ทั้งๆ ที่ใช้เก่งเหลือเกิน

“ซื้อเสื้อผ้าโดยไม่คิด แต่งไม่ขึ้นก็ขอแต่ง ฌอง ปอล โกลติเยต์ ตั้วว่าตั้วใส่คนแรกๆ ของเมืองไทย เครื่องสำอาง เชื่อไหม ห้องนี้ถ้าเอามากอง ยังวางไม่หมดเลย (ขนาดห้องประมาณ 4 x 6 เมตร) บ้าซื้อ ผสมกับกลัวหมด เห็นครีมออกใหม่ซื้อมาเลย 6 ขวด แถมฝากเพื่อนซื้ออีก ใช้ปั๊บแพ้เห่อทั้งหน้าเลย ต้องให้คนอื่นไป

“ตั้วเคยช็อปปิ้งหมดเงินไปสองล้านภายในเวลาอาทิตย์เดียว แต่เราขายได้มากกว่า ละเลงใช้อย่างไรก็ยังมีเงินฝากแบงก์เดือนละห้าแสน มีคนพูดว่าเป็นเพราะตั้วเรียนเศรษฐศาสตร์มา แต่จริงๆ ตั้วไม่ได้ใช้หลักเศรษฐศาสตร์อะไรเลย เป็นเพราะฝีมือมากกว่า

“สิบปีแรก กราฟของตั้วขึ้นอย่างนี้เลย (วาดเส้นในอากาศพุ่งสูงปรี๊ด) พอขึ้นปีที่ 12 ถึงค่อยๆ ลง ซึ่งเป็นช่วงซัดดัมลงพอดี เศรษฐกิจย่ำแย่ ไหนจะต้องสู้กับดีไซเนอร์ใหม่ ไหนจะเสื้อแบรนด์นอก

“ถ้าให้พูดถึงงานตัวเอง ตั้วคิดว่าเสื้อตั้วไม่เหมือนคนอื่น แต่คนอื่นจะทำเสื้อเหมือนกับตั้วหรือเปล่า อันนี้ไม่รู้ ลูกค้าบางคนมาบ่น เสื้อสีแรงไป ถ้าเป็นสมัยรุ่งๆ ตั้วจะไล่ให้ไปซื้อร้านอื่น แต่นี่เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ต้องบอกว่า ถ้าจะให้ทำให้เหมือนคนอื่นมันก็ไม่มีอะไรโดดเด่น

“เราต้องมีเอกลักษณ์ของเรา สีแรงก็ต้องแรง ถ้าอยากได้เสื้อสีอื่น ผมไม่ได้หมายความว่าไม่ให้คุณซื้อร้านผม แต่คุณไปดูร้านอื่นดีกว่า คุณจะมาบังคับให้ผมทำตามที่คุณต้องการซึ่งเป็นความต้องการของคนทั่วไป ผมทำไม่ได้

“ตั้วถือว่างานออกแบบเสื้อเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เราต้องมีความเป็นตัวของตัวเองและไม่หยุดอยู่กับที่ เมื่อก่อนใครด่าเสื้อตั้วๆ จะโกรธ แต่หลังๆ เลิกโกรธแล้ว เพราะคิดได้ว่าถ้าตัวเองชอบ ต่อให้ใครค่ายังไงก็ยังมั่นใจ

“สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักการดัดแปลง ที่ต้องดูงานของฝรั่งด้วย เพราะเราไม่ใช่แคปิตอลออฟแฟชั่นเหมือนปารีส อย่าว่าแต่ให้ฝรั่งมายอมรับเลย คนไทยด้วยกันยังไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับว่าแฟชั่นที่เราออกไปเนี่ยฮิตเหมือนกับที่เมืองนอกฮิตหรือเปล่า อย่างเวลาตั้วไปเมืองนอกกลับมา อุ๊ย…ปีนี้เขาใส่สีอะไรกันคะ ปีนี้เขาใส่สั้นหรือยาวคะ (ดัดเสียงอ่อนเสียงหวาน)

“สมัยก่อนตอบได้ เพราะดีไซเนอร์ทั้งเมืองไทยเมืองนอกมีนิดเดียว เดี๋ยวนี้มีเป็นพันๆ หมื่นๆ คนแล้ว ทุกสไตล์ ทุกยุค ทุกสมัยฮิตได้หมด มีตั้งแต่มารี อังตัวเน็ตต์ เสื้อชาฟารี เสื้อแคชวล ทุกคนก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง จะมาบอกว่าสีแดงฮิต 365 วัน เธอจะใส่สีแดงตลอดเลยหรือ เพราะฉะนั้นจะให้บอกว่าฮิตอะไรลำบากมาก ทุกอย่างมันหลากหลาย วาไรตี้ไปหมดแล้ว”

เฉกเช่นทุกๆ ชีวิตที่ย่อมต้องผ่านทั้งเส้นทางรุ่งโรจน์ และร่วงโรย แต่เพราะความเป็นคนมองโลกในแง่ดี ทำให้คุณตั้วตั้งหลักรับได้ในทุกสถานการณ์

“ตั้วอยากให้ใครก็ได้มีความคิดเหมือนตั้ว คือเอาส่วนที่ดีของตั้วไป แต่ความเลวอย่าเอา ความโมโหร้าย เอาแต่ใจตัว อย่าเอาไป แต่เรื่องงาน อยากให้ใครหลายๆ คนที่อยู่ในอาชีพนี้มีนิสัยเหมือนตั้ว แล้วตั้วรับรองเลยว่า เขาจะต้องได้ดี ตั้วไม่ได้หมายความว่าตัวเองเก่งแล้วนะ ตั้วเก่งสำหรับตัวตั้วเอง แต่กับคนอื่น ตัวสู้เขาได้หรือเปล่า ไม่รู้ แต่ว่าตั้วชนะตัวเองได้แล้ว

“ตั้วอยากมีความสุข และความสุขของคนเราก็อยู่ที่ความพอ ซึ่งตั้วพอใจในจุดที่ตัวเองเป็นอยู่ในตอนนี้ ถามว่าตั้วประสบความสำเร็จไหม ตั้วไม่รู้ แต่ตั้วมีความสุขตรงจุดนี้แล้ว ไม่อยากไขว่คว้าอะไรอีก พอแล้ว คนเราตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ ที่ผ่านมาตั้วก็ทำอะไรให้พ่อแม่ภูมิใจตั้งเยอะ ในวงศ์ตระกูล ตั้วก็เป็นคนรักษาชื่อเสียง

“แม้แต่ตอนที่เศรษฐกิจตกต่ำเหลือเกิน จนคิดที่จะเลิกไม่ทำงาน เพราะเบื่อกับสภาพจมไม่ลง นั่งนึก…สมัยก่อนฉันก็ใช้เงินวันละร้อยได้ ทำไมถ้าไม่มีเงินขึ้นมา ฉันจะอยู่ไม่ได้ คนเราต้องรู้จักที่มาที่ไป เราไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองแบบคนอื่น ตอนนั้นเรียกช่างมาบอก ใครจะไปไหนก็ไปนะ ไม่ไหวแล้ว

“โทร.ไปบอกลูกค้า ลูกค้าแว้ดกลับมา… แล้วใครจะตัดเสื้อให้ฉันใส่ล่ะ มันก็เป็นแรงใจขึ้นมา ยิ่งพอมีลูกค้ามาหา มีหนังสือโทร.มาบอกให้ทำเสื้อลงเล่มนี้นะๆ มันแปลว่าเรายังมีค่า มีความสามารถ คนยังต้องการเราอยู่

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ตั้วไม่เคยคิดจะแข่งกับใคร แต่จะแข่งกับตัวเอง อะไรที่ทำไปแล้วจะพยายามแข่งเพื่อให้งานดีขึ้น เท่านั้นพอแล้ว ตั้วสอนเด็กที่ทำงานเสมอว่า อิจฉาได้ แต่อย่าริษยา เพราะอิจฉาแล้วจะทำให้ทะเยอทะยาน มีพลังที่จะต่อสู้ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ คนเราต้องมีความหวัง ความฝัน ต้องมีความมุ่งมั่น มีอนาคต

“แต่ถ้าริษยาเมื่อไร นั่นหมายถึงว่าเรากำลังจ้องจะทำร้ายเขา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะไม่มีวันมีความสุขได้เลย”

นิตยสารแพรวขอไว้อาลัย ขอให้ดวงวิญญาณของคุณตั้ว สู่สุคติในสัมปรายภพด้วยค่ะ


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2539

ภาพเพิ่มเติม : Kerati Chollasit

Praew Recommend

keyboard_arrow_up