LE PARIS RUSSE DE CHANEL

LE PARIS RUSSE DE CHANEL ชาเนล & รัสเซีย จากความหลงใหลสู่เครื่องประดับชั้นสูงของ CHANEL

LE PARIS RUSSE DE CHANEL
LE PARIS RUSSE DE CHANEL

สำหรับกาเบรียล ชาเนลแล้ว ความรักและความสัมพันธ์มีอิทธิพลอันแรงกล้า ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานมาตลอดชีวิตของเธอ เช่นเดียวกับเครื่องประดับชั้นสูงอันงดงามของชาเนลในครั้งนี้ ที่ใช้ชื่อว่า “เลอ ปารีส รูสส์ เดอ ชาเนล” LE PARIS RUSSE DE CHANEL ได้แรงบันดาลใจมาจากความหลงใหลชื่นชอบของชาเนลที่มีต่อ “รัสเซีย” ประเทศที่เธอไม่เคยไปเยี่ยมเยือน หากแต่ผูกพันล้ำลึกจนกลิ่นอายและสไตล์ความเป็นรัสเซียนั้นถูกนำมาผสมผสานอยู่ในงานแฟชั่นของเธออยู่หลายครั้งหลายครา

จึงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่าชาเนลเริ่มเปิดประตูรับอิทธิพลจากรัสเซียเข้ามาในหัวใจผ่าน “แกรนด์ ดยุค ดิมิทริ พาฟโลวิช” (Grand Duke Dmitri Pavlovich) หนุ่มเจ้าเสน่ห์ชาวรัสเซียผู้เปี่ยมไปด้วยความสง่างาม ซึ่งเป็นพระญาติกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง แม้ทั้งคู่จะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งอยู่แค่สั้นๆ แต่แกรนด์ ดยุค ผู้นี้คือชายหนุ่มผู้เปิดโลกอันรุ่มรวยไปด้วยศิลปะและงานออกแบบจากพระราชวังอันหรูหราโอ่อ่าที่สุดในยุโรปให้กับชาเนล ส่งผลให้ชาเนลเริ่มสนใจและหลงใหลในความเป็นรัสเซีย ต่อมาเกิดการปฏิวัติรัสเซียจนชาวรัสเซียต้องอพยพลี้ภัยมาอยู่ปารีสเป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นได้มารวมตัวกันเพื่อถ่ายทอดศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนสถาปัตยกรรมแบบรัสเซียขึ้นในปารีส ผ่านวิหาร ร้านอาหาร ผับ บาร์ เรื่อยไปจนถึงตามถนนในย่านต่างๆ จนเกิดคำเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า “ปารีสสไตล์รัสเซีย”

แกรนด์ ดยุค ดิมิทริ พาฟโลวิช และ กาเบรียล ชาเนล
แกรนด์ ดยุค ดิมิทริ พาฟโลวิช

ในช่วงนั้นเอง ชาเนลได้ทำความรู้จักและให้การสนับสนุนศิลปินและชนชั้นสูงชาวรัสเซียที่อพยพมาอยู่หลายคน บ้างก็ได้รับการว่าจ้างให้มาเป็นเลขาฯ บ้างก็มาเป็นนางแบบและพนักงานขายให้กับแบรนด์ของเธอ จากการคลุกคลีแบบคลุกวงในนี้เอง ทำให้อิทธิพลของรัสเซียค่อยๆ ปรากฏชัดในผลงานแฟชั่นของชาเนลเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อทูนิคตัวยาว เสื้อคลุมประดับขนเฟอร์ และเสื้อที่คาดเข็มขัดขนาดใหญ่ ซึ่งนำต้นแบบมาจากเสื้อรูบาชก้าดั้งเดิมของรัสเซีย หรือเสื้อผ้าที่มีลวดลายจากร้านเย็บปักถักร้อยโบราณของรัสเซีย ซึ่งเกิดจากการที่เธอให้เแกรนด์ ดัชเชส มาเรีย พาฟโลฟนา น้องสาวของแกรนด์ ดยุค ดิมิทริ เจ้าของร้านเย็บปักถักร้อย “คิทเมียร์” ผลิตผลงานพิเศษให้กับชาเนลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 แม้แต่ในอพาร์ทเมนต์ส่วนตัวของชาเนลบนถนนกัมปง ก็ยังตกแต่งด้วยกระจกที่ล้อมกรอบด้วยนกอินทรีสองเศียรของรัสเซีย

แต่ความย้อนแย้งก็คือ ตลอดชีวิตของชาเนล เธอไม่เคยเดินทางไปรัสเซีย ที่นั่นคือความฝันและความหลงใหล ที่อยู่ในจินตนาการของเธอตลอดมา สิ่งเดียวที่ใกล้เคียงกับฝันที่เป็นจริงของเธอมากที่สุดคือ ในปี ค.ศ. 1967 ที่เธอได้ส่งคอลเล็คชั่นและนางแบบของเธอไปแสดงโชว์บนรันเวย์ที่  Red Square ในกรุงมอสโก แม้ครั้งนั้นเธอจะไม่ได้ไปร่วมงานด้วย แต่บรรดานางแบบที่ถูกส่งไปเป็นตัวแทนของเธอได้นำรวงข้าวสาลี หนึ่งในลวดลายที่เธอชอบที่สุด ด้วยเป็นตัวแทนของสีทองและดวงอาทิตย์ สัญลักษณ์แห่งความโชคดี กลับมาแสดงความขอบคุณเธอ

ด้วยเหตุนี้ คอลเล็คชั่นเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูง เลอ ปารีส รูสส์ เดอ ชาเนล (LE PARIS RUSSE DE CHANEL) จึงเลือกนำเสนอเครื่องประดับที่หยิบจับความเป็นรัสเซียมาปรุงใหม่ ผ่านสัญลักษณ์นกอินทรีสองหัว หรือรูปทรงของกระจกแปดเหลี่ยมแบบรัสเซีย เรื่อยไปจนถึงลวดลายบนงานเย็บปักถักร้อยแบบโบราณ หรือการตัดแต่งลายที่ได้มาจากโกโกสนิก (Kokoshnik – เครื่องประดับศีรษะดั้งเดิมของรัสเซียที่ทำจากกำมะหยี่ ตกแต่งด้วยไข่มุกและการแต่งขอบ) ลวดลายของผ้าพันคอ และผ้าที่พิมพ์ลายนิทานพื้นบ้าน จนกลายเป็นสร้อยคออร้าอร่ามและเครื่องประดับศีรษะทรงโค้ง ที่โชว์ความประณีตของลวดลาย สร้อยโซ่เส้นใหญ่ตกแต่งด้วยไข่มุกระย้า

นอกจากนี้ คอลเล็คชั่นนี้ยังมีชิ้นงานที่โชว์ความสดใสเปล่งประกายของอัญมณีสีสดน้ำงาม อย่างสร้อยคอที่เรียงเป็นชั้นประดับแซฟไฟร์สีเหลือง โกเมน มรกต และเพชร ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมแต่งแต้มความเป็นชาเนลเข้าไปผ่านเค้าโครงลวดลาย “ดอกคามิลเลีย” ดอกไม้ที่ชาเนลโปรดปราน และลวดลาย “รวงข้าวสาลี” ตัวแทนแห่งความโชคดี ซึ่งคอลเล็คชั่นนี้ ได้นำมารวมไว้

เพื่อเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความผูกพันของชาเนลกับรัสเซีย


Scoop CHANEL_Online         

เรื่อง Tomalin                     

ภาพ Courtesy of CHANEL

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up