ผ้าอินเดีย

ตามรอยผ้าอินเดีย ในแผ่นดินสยาม ความสวยงามที่แฝงอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย

ผ้าอินเดีย
ผ้าอินเดีย

จากหลักฐานทางโบราณคดี และ ประวัติศาสตร์ไทย พบว่าในอดีตประเทศไทยและประเทศอินเดียมีการติดต่อค้าขายกันมาอย่างยาวนาน

และ “ผ้าอินเดีย” ก็เป็นหนึ่งในสินค้าจากอินเดียที่ซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย

ราชสำนักไทยในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ได้นำเข้าผ้าหลากหลายประเภทจากอินเดียเพื่อใช้ในราชสำนัก ทำให้เกิดการแพร่กระจายของวัฒนธรรมการใช้ผ้าอินเดียมาสู่ไทย ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานให้เห็นจากผ้าราชสำนักในปัจจุบัน

ตามรอยผ้าอินเดีย

ตามรอยผ้าอินเดีย

อาจารย์ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าอินเดียในประเทศไทย กล่าวถึงประวัติศาสตร์ผ้าอินเดียที่มีความเป็นมายาวนาน ผ้าอินเดียผืนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก พบหลักฐานในประเทศอียิปต์ สันนิษฐานว่าเป็นผ้าในศตวรรษที่ ๑๓ –๑๔ แต่ยังคงสภาพค่อนข้างดี ซึ่งกระบวนการพิมพ์ลายผ้าของอินเดียมีความพิเศษ คือ สีที่พิมพ์ลงบนผ้าจะติดทนทาน สีไม่ตก เพราะมีเทคโนโลยีในการใช้สารยึดสีที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านมาแต่โบราณ และมีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

ตามรอยผ้าอินเดีย

ในอดีตกาลผ้าอินเดียที่ประณีตงดงาม ได้เข้ามาเผยแพร่ในรูปแบบของฉลองพระองค์สำหรับกษัตริย์และเครื่องแต่งกายของขุนนางในราชสำนักอยุธยา ซึ่งสืบทอดเป็นธรรมเนียมการแต่งกายของพระมหากษัตริย์และขุนนางไทยต่อเนื่องมายังยุครัตนโกสินทร์ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความต้องการสินค้าผ้าจากอินเดียยังสืบเนื่องต่อมา โดยปรากฏให้เห็นหลักฐานจากผ้าราชสำนักในปัจจุบัน

ตามรอยผ้าอินเดีย

“สยามประเทศอยู่ในโลกของการค้ากับอินเดีย ตั้งแต่สมัยโบราณในสมัยที่อยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และมีการติดต่อค้าขายกับผู้คนมากมายเข้ามาในสยามประเทศ เปอร์เชีย ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาทำการค้าขาย โดยเฉพาะพ่อค้ามุสลิม ซึ่งมีบทบาทในการค้าผ้ามากพอสมควรในสมัยอยุธยา ประมาณศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ มีการติดต่อค้าขาย และเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและวัฒนธรรมอิสลามจากเขตตะวันออกกลาง ซึ่งกลุ่มวัฒนธรรมนี้เรียกว่า อินโดเปอร์เชีย  พระมหากษัตริย์จะพระราชทานผ้าเหล่านี้เป็นบำเหน็จรางวัลให้แก่ขุนนางและข้าราชการชั้นสูง รวมทั้งใช้ผ้าเป็นเครื่องยศ โดยจะมีลวดลายเฉพาะ และพระราชทานให้ตามลำดับขั้นของตำแหน่งทางราชการ ซึ่งเป็นธรรมเนียมเดิมของราชสำนักอิสลามเช่นกัน ผ้าที่ได้รับพระราชทานนั้น จะนุ่งต่อเมื่อเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ถือเป็นเครื่องแบบไปโดยปริยาย”

ตามรอยผ้าอินเดีย

สำหรับผ้าที่ใช้เป็นเครื่องแต่งกายในราชสำนักสยาม มีหลายกลุ่ม อาทิ สมปักปูม มาจากชื่อผ้า ซอมปร็วด แปลว่า ผ้านุ่ง  ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมกัมพูชา เนื่องจากในสมัยอยุธยาตอนต้นได้มีการรับวัฒนธรรมของราชสำนักกัมพูชาเข้ามา ในขณะที่ผ้าอินเดีย ได้มีการบันทึกเรียกว่า สมปักลาย ที่มีการใช้คู่กับ ผ้าสมปักปูม มาโดยตลอด แต่ในระยะหลังการผลิตสมปักปูม มีกำลังการผลิตน้อยกว่าสมปักลาย ทำให้ผ้าลายกลายเป็นที่นิยมมากกว่าในราชสำนัก อีกทั้งผ้าลายเป็นผ้าฝ้าย ทำให้ดูแลรักษาง่าย กว่าผ้าปูมซึ่งเป็นผ้าไหม

ตามรอยผ้าอินเดียตามรอยผ้าอินเดีย

ต่อมาในยุคที่มีภาพถ่ายทำให้ได้พบหลักฐานของการใช้ผ้าอินเดียได้อย่างชัดเจนมากขึ้น  เริ่มตั้งแต่ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ผ้าอินเดียในราชสำนักชัดเจน เช่นเดียวกับที่พบหลักฐานปรากฎตามจิตรกรรมฝาผนัง เช่น มีการนำผ้าอินเดียไปตกแต่งเป็นม่านในพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือชุดข้าราชการ อาทิ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นุ่งผ้าลายเทพพนมก้านขด หรือพระราชครูพราหมณ์ในสมัยหนึ่งก็นุ่งผ้าลายพื้นขาว ซึ่งแสดงถึงมิติในวัฒนธรรมที่ส่วนใหญ่จะใช้ในงานที่เกี่ยวกับกับศาสนา เป็นต้น

ตามรอยผ้าอินเดีย

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายที่ค่อนไปทางชาวตะวันตกมากขึ้น แต่ผ้าอินเดียก็ไม่ได้หายไป หลักฐานในเอกสารการค้าพบว่ามีการนำเข้าผ้าลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ราว พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๓๑)  จำนวนกว่า ๒ ล้านผืน และมีผ้าลายกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะเป็นดอกเล็กๆ เป็นต้นแบบของผ้าลายไทยในสมัยหลัง คือ ผ้ารุ่นมัสกาติ ซึ่งเป็นผ้าที่อินเดียผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดสยาม ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายลำลองของขุนนางและฝ่ายใน สามัญชนเองก็สามารถซื้อผ้ามัสกาติใช้ได้และยังมีการใช้ผ้าอินเดียแลกข้าวสารอีกด้วย

ตามรอยผ้าอินเดีย

อาจารย์ประภัสสรเล่าอีกว่า “ผ้ามัสกาติ เป็นผ้าอินเดียยี่ห้อแรกๆ ที่เข้ามาในสยามประเทศ และได้รับความนิยมมากในราชสำนัก โดยผลิตผ้าตามลายที่สั่งทำเฉพาะ ทำเป็นบล็อกและพิมพ์ลายลงบนผ้า อาทิ ผ้าพิมพ์ลายอย่าง ถือเป็นผ้าลายพิเศษใช้ในกิจการของราชสำนักโดยเฉพาะ เนื่องจากสั่งทำและนำเข้ามาจากอินเดีย ในระยะแรกจึงเป็นผ้าที่มีลวดลายแบบอินเดีย ต่อมาทางราชสำนักได้สั่งให้ช่างหลวงออกแบบเขียนลายไทยพร้อมทั้งกำหนดสีส่งไปเป็นต้นแบบในการผลิต ผ้าพิมพ์ลายอย่างจึงถือเป็นผ้าที่แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวสยามในการออกแบบลวดลายประดับบนผืนผ้า

ตามรอยผ้าอินเดีย

“ความที่อินเดียเป็นแหล่งผลิตผ้าป้อนตลาดโลก จึงทำให้ปัจจุบันผ้าของอินเดียได้รับการจัดเป็นนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก บวกกับอินเดียมีช่างฝีมือที่สร้างสรรค์ผ้า ซึ่งสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มตั้งแต่ยุคอุปถัมภ์จากมหาราชา โดยมีบันทึกไว้ในสมัยราชวงค์โมกุล มีช่างทอผ้า ๔,๐๐๐ คน ที่ทำงานให้กับราชสำนัก และแม้ว่าปัจจุบันเมื่อระบบอุปถัมภ์เสื่อมสลายไป แต่เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่ส่งเสริมด้านงานฝีมือ จึงยังสืบสานงานในรูปแแบบดั้งเดิม เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ เพื่อให้ตอบสนองตลาดปัจจุบัน อย่างเมืองสุหรัด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ผลิตดิ้นเงิน ก็เปลี่ยนเป็นผลิตดิ้นพลาสติค แต่ยังมีการผลิตดิ้นเงินผสมอยู่บ้าง แต่ราคาค่อนข้างสูง

“สำหรับแหล่งผ้าอินเดียซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ ตลาดผ้าอเมห์ดาบาด  ในรัฐคุชราต ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมุมไบ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถไปเลือกซื้อหาผ้าพิมพ์ลายคุณภาพดี เช่น ผ้ามัสรู ที่มีลักษณะมันวาวคล้ายผ้าไหม แต่เนื้อบางเบาเหมือนฝ้าย, ผ้าบานดานี ผ้าฝ้ายย้อมลายที่มีลักษณะเป็นปุ่มปมคล้ายผ้าหนามขนุนของไทย เป็นต้น”

เรียบเรียงโดย : saipiroon

ที่มา : พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ภาพ : พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up