Dior Lady Art

ศิลปินชาวตุรกี Burçak Bingöl สร้างผลงานสุดโดดเด่นใน Dior Lady Art ครั้งที่ 3

Alternative Textaccount_circle
Dior Lady Art
Dior Lady Art

กลับมาอีกครั้งสำหรับโปรเจ็กต์ Dior Lady Art ที่ทางเฮ้าส์เก่าแก่อย่างดิออร์จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งนี้ยกระดับความพิเศษขึ้นอีกขั้นด้วยการเชิญ 11 ศิลปินหญิงจากทั่วโลก มาร่วมตีความและสร้างสรรค์กระเป๋า Lady Dior ขึ้นมาใหม่ในแบบเฉพาะตัว โดยหนึ่งในศิลปินที่น่าจับตามองคือ Burçak Bingöl จากตุรกี

Dior Lady Art
Burçak Bingöl ศิลปินชาวตุรกี

FROM A BAG TO AN ART

ย้อนกลับไปในปี 1995 กระเป๋า Lady Dior ถือกำเนิดขึ้นเมื่อครั้งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฝรั่งเศสได้ถวายกระเป๋ารุ่นนี้ให้เป็นของกำนัลแด่เจ้าหญิงไดอะน่า แห่งเวลส์ หรือ “Lady Di” ซึ่งเจ้าหญิงโปรดปรานมากจนถึงกับทรงถือคู่พระวรกายไปด้วยทุกที่ นับแต่นั้นมา Lady Dior ก็กลายเป็นกระเป๋าระดับตำนานที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ด้วยรูปกระเป๋าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัดเย็บแบบเดินเส้นโชว์ตะเข็บด้วยลายคานนาจ (Cannage) ตกแต่งด้วยหูกระเป๋าทรงโค้งมน ประดับชาร์มตัวอักษรสีทองอันเป็นตัวแทนของสัญลักษณ์นำโชคที่มิสเตอร์ดิออร์รักมาก กระเป๋าเลดี้ดิออร์สุดคลาสสิกนี้ไม่ได้แค่สร้างความสุขให้ผู้ครอบครอง หากยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้บรรดาศิลปินชื่อดังได้นำไปสร้างสรรค์ต่อเป็นผลงานใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ ดังเช่น โปรเจ็กต์ Dior Lady Art ซึ่งเป็นการหลอมรวมชิ้นงานอันเป็นเอกลักษณ์เข้ากับการตีความเชิงศิลปะ กลายเป็นผลงานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ทั้งแฟนคลับของดิออร์และผู้หลงใหลงานศิลปะทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เป็นการสืบสานความหลงใหลในศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมแฟชั่นของมิสเตอร์ดิออร์ อดีตเจ้าของแกลเลอรี่ในกรุงปารีส ผู้นำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินดังมาแล้วมากมาย ก่อนจะผันตัวมาเป็นกูตูริเยร์อย่างที่รู้จักในปัจจุบัน

สำหรับ Dior Lady Art ครั้งที่ 3 ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์ผ่านศิลปินหญิง ทั้งหมด 11 คนนี้ หนึ่งในศิลปินที่เนรมิตผลงานได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสวยงามไม่แพ้ใครคือ Burçak Bingöl จากตุรกี ศิลปินหญิงที่โดดเด่นด้วยผลงานเซรามิกหลากหลายชนิด ทั้งยังขยับขยายการสร้างผลงานศิลปะไปสู่รูปแบบอื่นๆ อย่างภาพวาด วิดีโอ ภาพภ่าย และงานอินสตอลเลชั่นอาร์ต งานของเธอเน้นการสำรวจลึกไปถึงความคิด ความรู้สึก และการส่งผ่านทางวัฒนธรรม สังคม ตัวตน และอัตลักษณ์ จึงให้ทั้งอารมณ์ความสวยงามในแบบงานฝีมือท้องถิ่นและการนำเสนอแนวมุมมองความคิดต่อประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ผลงานของเธอเคยจัดแสดงเดี่ยวมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในตุรกีและในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี และดูไบ

DIOR LADY ART #3 by Burçak Bingöl

สำหรับกระเป๋า Lady Dior ในมุมมองของ Burçak Bingöl นั้น เธอยังคงนำสิ่งที่เธอสนใจอย่างประวัติศาสตร์และความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานประดิษฐ์ไปจนถึงงานศิลปะท้องถิ่น เช่น งานเพ้นต์แบบตุรกี และแรงบันดาลใจจากโบราณสถานของกรุงอิสตันบูล มานำเสนอผ่านกระเป๋า Lady Dior ใน 2 รูปแบบ นั่นก็คือ

Dior Lady Art
กระเป๋า Lady Dior ทำจากหนังลูกวัวสีน้ำตาลเข้ม ประดับด้วยงานปักลวดลายดอกไม้สีเรืองแสง โลหะประดับสีเงิน ส่วนชาร์มตัวอักษรและหูหิ้วหุ้มด้วยหนังสีน้ำตาลเข้มพิเศษ

Iznik Enchanted กระเป๋าเลดี้ดิออร์ในไซส์มินิและไซส์กลาง ทำจากหนังลูกวัวสีน้ำตาลพิเศษ เติมเสน่ห์ด้วยงานปักประดับเป็นลวดลายช่อดอกไม้สีสันฉูดฉาดจี๊ดจ๊าด ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงและลวดลายของดอกไม้ในศตวรรษที่ 16 จากงานเซรามิกอิซนิก (Iznik งานกระเบื้องของตุรกีที่วาดลวดลายด้วยมือ มีสีสันสดใสและมีลักษณะเป็นลายนูนขึ้นมา) ซึ่งตัวลวดลายมีความอ่อนช้อยและมีสีสันมากกว่ายุคก่อนๆ โดยลวดลายดอกไม้ที่เลือกมานำเสนอนั้น เป็นการบอกเล่าถึงภาพดอกไม้ในสวนซึ่งปรากฏอยู่บนผนังกระเบื้องของพระราชวังโทพคาปี (Topkapi) ในอิสตันบูล หากแต่ได้นำลวดลายนั้นมาปรับใหม่ โดยการเปลี่ยนสีสันจัดจ้าซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของงานเซรามิกแบบเดิมของตุรกี มาเพิ่มความร้อนแรงเข้าไปอีกขั้นด้วยสีนีออนสะท้อนแสง ตัดกับหนังสีโทนน้ำตาลเข้มของตัวกระเป๋า ช่วยขับความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสีพื้นราบเรียบของกระเป๋ากับสีสันอันสดใสและเท็กซ์เจอร์ของดอกไม้ สื่อถึงส่วนประกอบของอดีตกับปัจจุบัน ความเป็นระเบียบและความสับสนอลหม่าน ความงามและความเสื่อมโทรม

Dior Lady Art
กระเป๋า Lady Dior ทำจากเฟอร์เทียมสีขาวบริสุทธิ์ ปักประดับด้วยลวดลายดอกไม้สีน้ำเงินและเมแทลลิก แต่งด้วยชาร์มและหูหิ้วกระเป๋าแบบโปร่งแสง

ส่วนอีกแบบนั้นบินกอลตั้งชื่อให้ว่า Cobalt Course โดดเด่นด้วยกระเป๋าเลดี้ดิออร์หุ้มเฟอร์เทียมสีขาว ประดับด้วยลวดลายช่อดอกไม้ที่ทำจากแผ่นอะลูมิเนียมเรียงต่อกัน ส่วนหูกระเป๋าและชาร์มตัวอักษรห้อยประดับนั้นทำจากวัสดุโปร่งแสง ปลุกความรู้สึกสดใสให้คุณสาวๆ อย่างต่อเนื่อง งานชิ้นนี้ศิลปินได้หยิบงานโมทีฟสีน้ำเงิน-ขาวที่ได้รับอิทธิพลมาจากงาน Blue and White หรือเครื่องกระเบื้องของจีนผ่านการค้าขายทางเส้นทางสายไหมในยุคอาณาจักรออตโตมันอันรุ่งโรจน์มาใช้ โดยเธอนำแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากผนังกำแพงซึ่งสร้างโดยสถาปนิกมิมาร์ ซินาน ในศตวรรษที่ 16 มานำเสนอใหม่ผ่านวัสดุที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างเฟอร์สีขาวบนผ้าไหมสีขาว อะลูมิเนียมและอะคริลิก สีน้ำเงินที่ใช้ในการสร้างสรรค์รูปดอกไม้ รวมไปถึงวัสดุโปร่งแสงอย่างเพล็กซิกลาส (Plexiglas) มาทำเป็นหูหิ้วกระเป๋าและชาร์ม ถือเป็นการตีความแบบร่วมสมัยของงานโมทีฟสีน้ำเงิน-ขาวในประวัติศาสตร์ โดยตั้งชื่อว่า Cobalt Course เพื่อสื่อถึงการค้นพบโคบอลต์ แร่ที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการทำกระเบื้องเซรามิกสีน้ำเงิน

บินกอลเล่าถึงการทำงานร่วมกับดิออร์ในครั้งนี้ว่า “เราเลือกทำงานบนกระเป๋าสองรูปแบบที่ต่างกันไปเลย ซึ่งทำให้ฉันตื่นเต้นมาก ในฐานะศิลปิน การออกแบบให้วัตถุหรืองานศิลปะสามารถใช้งานได้ด้วยนั้นถือว่ายากมาก เพราะมีข้อจำกัดมากมายที่เราต้องหาวิธีจัดการเพื่อก้าวข้ามมัน แต่สุดท้ายฉันก็ทำได้ และกลายเป็นประสบการณ์ที่สนุกมากๆ ฉันตั้งใจทำงานศิลปะโดยปรับให้อยู่ในรูปลักษณ์ของกระเป๋า แล้วใช้รูปทรงและลวดลายของดอกไม้จากงานเซรามิกอิซนิกในศตวรรษที่ 16 มาแต่งแต้ม ทำให้กระเป๋าทั้งสองใบเป็นผลงานที่สื่อถึงงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของกระเบื้องเคลือบตุรกี

“สำหรับฉันแล้ว กระเป๋าเลดี้ดิออร์ทั้งสองรูปแบบนี้คือความเรียบง่ายที่ซุกซ่อนไปด้วยความซับซ้อนในกระบวนการทำงาน ความชำนาญในการสร้างสรรค์ผลงานชั้นสูง และความสง่างาม”


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 943

Praew Recommend

keyboard_arrow_up