ดีไซเนอร์ชุดประจำชาติ

เปิดหมดเปลือก! ดีไซเนอร์ชุดประจำชาติ ยกเครื่องปรับหัวช้างใหม่ ก่อนขึ้นเวทีอีกครั้ง

ดีไซเนอร์ชุดประจำชาติ
ดีไซเนอร์ชุดประจำชาติ

ดีไซเนอร์ชุดประจำชาติ ช้างคู่แผ่นดิน เผยกับแพรวดอทคอมว่า ได้ปรับโครงสร้างหัวช้างใหม่ เพื่อความเหมาะสมและทำให้มีน้ำหนักเบาลงกว่าเดิม สำหรับการประกวดชุดประจำชาติในวันที่ 10 ธันวาคมนี้

หลังจากชุดประจำชาติ ช้างคู่แผ่นดิน (Chang the Icon of Siam) ที่สาวงามตัวแทนจากประเทศไทย นิ้ง – โศภิดา กาญจนรินทร์ ได้ใส่พรีเซ้นต์ไปในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เกิดกระแสดราม่าเกี่ยวกับชุดไม่น้อย โดยเฉพาะโครงสร้างของหัวช้างที่เอาเข้ามารวมกับชุดไทยประยุกต์ โดนคำวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา จนดีไซเนอร์ที่รับผิดชอบชุดนี้อย่าง ธีร์ ผาสุก ต้องปรับเปลี่ยนหัวช้างใหม่ เพื่อให้มีความลงตัวกับชุดมากยิ่งขึ้น

ธีร์ ผาสุก ดีไซเนอร์ชุดประจำชาติ
ธีร์ ผาสุก ดีไซเนอร์ชุดประจำชาติ ช้างคู่แผ่นดิน

โดยวันที่ 10 ธันวาคมนี้ จะเป็นวันประกวดชุดประจำชาติรอบตัดสินว่าชุดของประเทศไหนจะได้กำชัยชนะในครั้งนี้ และก่อนจะถึงช่วงเวลาของการประกวด แพรวดอทคอมได้มีโอกาสพูดคุยกับดีไซเนอร์เจ้าของผลงานชุดประจำชาติ ช้างคู่แผ่นดิน ว่ามีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขส่วนไหนของชุดบ้าง รวมไปถึงฟีดแบ็กต่างๆ ที่เข้ามา ตัวดีไซเนอร์มีความคิดเห็นอย่างไร เรามาฟังคำตอบกันเลยค่ะ

ที่มาของชุดช้างคู่แผ่นดิน

“ธีร์มองว่าช้างสื่อถึงความเป็นไทย เราเห็นช้างมาในหลายๆ รูปแบบ จากการเอามาปรับซิลลูเอตต์หรือดีเทลของช้างมาทำเป็นชุด แต่ของธีร์ที่ต้องเป็นหัวช้าง เพราะเราไม่เคยเห็นช้างที่เป็นตัวช้างอยู่บนเวที ซึ่งถ้าเป็นตัวช้างเลยก็จะไม่เหมาะเท่าไหร่ เราเลยลองทำสิ่งที่เราคิดอย่างหัวช้าง เพราะธีร์เคยทำชุดแบบแปลงร่างมาแล้วหลายครั้ง แต่เป็นแค่งานกระตุกเฉยๆ พอเปลี่ยนมาเป็นชุดประจำชาติ เราเลยมองว่าทำไมไม่ใช้ชุดที่มีกลไกเข้ามาผสม เพื่อให้เป็นตัวช้างขึ้นมา ส่วนชุดไทยที่มีการประยุกต์แล้ว ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นช้างในชุดไทย เพราะทุกอย่างในตัวชุดก็ได้เอาซิลลูเอตต์และรูปแบบของช้างมาทำตัวโครงเสื้อด้วย”

ชุดประจำชาติ ช้างคู่แผ่นดิน

 

ทำไมถึงเลือกใช้สวารอฟสกี้มาประดับชุด

“ธีร์เลือกสีชุดเป็นสีขาวทอง เพราะรู้สึกว่าเหมาะที่สุด เพื่อให้รู้สึกว่ามีความเป็นไทย เลยใช้สีขาวทองที่มีความชัดเจน แต่ลายของตัวชุดก็ไม่อยากให้เป็นไทยมากจนเกินไป เลยปรับลายไทยให้เป็นลายไทยประยุกต์จากลายไทยเดิม ด้วยการสเก็ตช์ด้วยมือก่อน แล้วค่อยเอาลงคอมพ์ พอได้ลายมาแล้ว ก็มองว่าถ้าใช้วัสดุแค่ลูกปัดจะน่าเบื่อไหม จะดูเป็นชุดแต่งงานหรือเปล่า เลยหันมามองสิ่งที่ทำงานดีที่สุด โดนตาแล้วใช่ที่สุด ก็เลยเลือกสวารอฟสกี้มาใช้กับทุกส่วนเลย ตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งเราสามารถเลือกไซส์ของสวารอฟสกี้ได้จากแค็ตตาล็อก ธีร์เลยเลือกแบบที่ทำงานได้เร็วที่สุด ประกอบร่างเข้ากันแล้วดูเป็นลายไทยที่โมเดิร์น เลือกสีให้มีความแวววาวลงตัวและละมุน เพราะไม่อยากให้ดูระยิบระยับไปทั้งชุด ซึ่งรวมแล้วใช้สวารอฟสกี้ไปประมาณสี่หมื่นกว่าเม็ด และตัวงวงช้างก็ตกแต่งด้วยสวารอฟสกี้เหมือนกัน”

ชุดประจำชาติ สวารอฟสกี้

ชุดประจำชาติ สวารอฟสกี้

เครื่องประดับ ชุดประจำชาติ

 

กว่าจะมาเป็นหัวช้าง

“เราใช้เป็น mechanic ไม่ใช่ไฮดรอลิกที่ต้องใช้น้ำมัน เพราะโครงสร้างจะหนักหน่วงเกินไป เลยลองศึกษาวิธีต่างๆ แต่เราไม่สามารถทำระบบไฟฟ้าเป็นวงจรได้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะคอนโทรลด้วยรีโมตก็ตาม และเราก็ไม่เคยเอากลไกเข้ามาใส่ในเสื้อผ้า มันเหมือนเป็นการเริ่มใหม่ของธีร์ ต้องศึกษาใหม่ว่าจะทำยังไงได้บ้างในเวลาที่จำกัด ข้อสงสัยต่างๆ ที่แฟนนางงามถามว่าทำไมต้องแบบนั้นแบบนี้ ทำไมไม่ทำให้ตรงนี้เล็กลง ทำไมเส้นลวดและโครงอะลูมิเนียมถึงเล็กไม่ได้ อยากให้ตัวช้างขึ้นมาเร็วกว่านี้ ซึ่งเป็นคำถามที่ธีร์ถามทีมมาหมดแล้ว ได้คำตอบมาหมดแล้วว่าเป็นไปได้หรือเปล่า เลยหันมาสร้างใหม่ด้วยการคำนวณว่าตัวโครงต้องหนักเท่าไหร่ ความเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเบาไปกว่านี้ เมื่อตัวมอเตอร์ทำงานจะทำให้โครงเบี้ยว ถ้าโครงเบี้ยวบนเวทีขึ้นมาก็พัง และโครงสร้างช้างอันแรกก็ผ่านการแก้มาแล้ว 3 รอบ ในเรื่องของความเร็ว เราได้ลองปรับความเร็วขึ้นมาแล้ว แต่พอเร็ว ตัวสปริงมันดีด ตอนที่น้องนิ้งใส่อาจจะล้มได้”

 

ปรับแก้หัวช้างในส่วนไหนบ้าง

“เปลี่ยนหัวช้างใหม่เลย สร้างโครงใหม่ ขึ้นรูปแบบใหม่ จากคำติที่ว่าโครงหน้าของช้างไม่ชัด เราก็เอามาปรับหมดเลย ตัวมอเตอร์ก็เปลี่ยนเป็นตัวเล็กลง แต่น้ำหนักก็ไม่ได้เบามาก เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกก็ยังทำให้รับน้ำหนักมากอยู่ ส่วนหัวช้างเราเริ่มจากการวาดแบบที่ใกล้เคียงกับของจริง แล้วนำมาตัดทอนเป็นเส้นต่างๆ ไม่ว่าจะส่วนหัว ส่วนกลาง บริเวณโหนก หน้า ตา งวง ลงทีละขั้นตอน มีการปั้นโมเดลขึ้นมาใหม่ เราได้ปรับแก้ในส่วนต่างๆ ที่ได้รับคำติชม คำแนะนำทั้งหมดมาแล้ว ในส่วนไหนที่เราปรับได้ เราก็ปรับให้ เรารับฟังความคิดเห็น แต่ถ้ามันเกินไปกว่าคอนเซ็ปต์ที่เราวางเอาไว้ ก็คงไม่ได้ทำให้ และยังคงมีตัว mechanic อยู่ แต่จะปิดระบบ mechanic ยังไงให้เนียนขึ้น และส่วนไหนที่หนักเราก็เอาออก อย่างหูช้างก็จะเปลี่ยนให้สั้นลง แต่หลายๆ คนก็อยากให้เพิ่มงาเข้าไปด้วย เพราะมันจะดูเป็นช้างมากยิ่งขึ้น เราเลยเพิ่มตรงนี้ด้วย แต่ก็ต้องหาวิธีว่าจะเอางาลงส่วนไหนดี วางตรงไหนถึงจะสวยลงตัว และมีการเพิ่มพู่ห้อยช้างเข้าไปด้วย

“พยายามทำให้มีน้ำหนักลดลงจากเดิม แต่พอหลายๆ อย่างมารวมกันก็ยังคงหนักอยู่ ความเร็วก็เพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ไม่ถึงกับเร็วมาก เพราะด้วยองค์ประกอบต่างๆ มันเร็วไปกว่านี้ไม่ได้ ในเมื่อความเร็วสามารถปรับได้นิดเดียว เราก็ย่นระยะทางให้มันสั้นลง แต่ปัญหาคือมันจะมีช่องโหว่ เราจะปิดยังไงให้มันสวย ให้ดูเป็นชุด แต่ด้วยเวลาที่จำกัดก็ต้องทำให้ทัน ส่วนตัวอาร์มที่ต้องคล้องกับไหล่ เราก็มีการปรับให้ใหญ่และหนาขึ้น เพื่อไม่ให้มันกดเนื้อ ผ้าที่เอามาคลุมตัวโครงช้างรอบแรก เราก็ลองเอาผ้าหนาๆ ที่ไม่โปร่งมาวางแล้ว แต่มันไม่เข้ากัน จึงเลือกผ้าโปร่งมาใช้ มันดูดีกว่า คือเราอยากนำเสนอผลงานในรูปแบบใหม่ๆ ภาพลักษณ์ใหม่ๆ อยากให้ประสบความสำเร็จ เลยไปศึกษาข้อมูลต่างๆ ดูจากดีไซเนอร์ต่างประเทศบ้าง แต่กว่างานจะออกมา เขาก็ใช้เวลานาน เราจึงใช้วิธีที่รวบรัดตัดตอนมากที่สุดมาทำชุดนี้”

 

เมื่อต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างช้างใหม่ ความกดดันเพิ่มขึ้นจากรอบแรกไหม

“กดดันมาก เพราะต้องทำออกมาให้สวยที่สุด ขั้นตอนต่างๆ อย่างตอนแรกพอสร้างโครง mechanic เรียบร้อย ก็เอาผ้ามาประดับเลย แต่รอบนี้กลายเป็นว่าปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ต้องปูผ้าและวาดแบบบนผ้า ต่อด้วยการเพ้นติ้งบนผ้าอีกที ถึงจะลงเครื่องประดับได้ ซึ่งเวลาในการทำก็น้อย เพราะต้องส่งชุดให้ทางกองก่อนวันประกวดเป็นอาทิตย์ และตอนทำไม่อยากลงรูปเลย เพราะมีกระแสเข้ามาเยอะ ทางกองประกวดเองก็ไม่อยากให้ลงรูปหัวช้าง ไม่อยากให้คนเห็นหัวช้างก่อน เพราะมันคือไฮไลต์”

ธีร์ ผาสุก ดีไซเนอร์ชุดประจำชาติ

 

ตัวแทนสาวงามจากไทย นิ้ง – โศภิดา มีโอกาสได้ลองใส่ชุดใหม่หรือยัง

“น่าจะได้ฟิตติ้งชุดใกล้วันประกวดเลย รอบแรกน้องนิ้งก็ไม่ได้ซ้อมเดินกับชุด เราเข้าใจว่าทั้งเขาและเราก็มีเวลาน้อย เวลาค่อนข้างกระชั้นชิด วันงานถึงจะได้ลองใส่ชุดเต็มๆ เขาเลยได้ซ้อมน้อยมาก และพอมีระบบ mechanic เข้ามา น้องต้องเป็นคนกดรีโมตเองด้วย พอไม่ได้ซ้อมก็อาจจะไม่คล่องแคล่ว น้องรู้ว่าตัวชุดมีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าพอหัวช้างขึ้นมาแล้วมันจะหนักขึ้นจากเดิม แล้วมันก็ถ่วงลงตามแรงโน้มถ่วง แต่ก็มีโอกาสได้คุยกับน้องนิ้งบ้าง น้องบอกว่าสามารถเอาชุดอยู่ ในวันแถลงข่าวน้องก็ทำได้ดีที่สุดแล้ว ทางเราสามารถตัดทอนน้ำหนักส่วนไหนได้ ก็ตัดออกให้มันดูเบาลง ตัวน้องก็บอกว่ามีการเตรียมตัวเข้าฟิตเนสทุกวันเพื่อชุดนี้”

นิ้ง - โศภิดา ชุดช้างคู่แผ่นดิน

 

ฟีดแบ็กจากโลกโซเชียล

“หลังจากแถลงข่าวจบ ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นใหญ่ขนาดนี้ จากที่เคยชม ก็เริ่มมีความคิดเห็นลบบ้าง ไม่คิดว่าจะโหดขนาดนี้ เราก็ทำเต็มที่นะ แต่ในมุมมองของแต่ละคน หรืออาจจะดูแปลกไปจากรูปภาพ เลยทำให้หลายคนไม่พอใจ เราก็รู้สึกนอยด์ จากวันแรก วันที่สอง ถึงกับลบเฟซบุ๊กออกจากมือถือไปเลย เพราะไม่อยากเสพคอมเมนต์เชิงลบ คอมเมนต์ที่หนึ่ง สอง เป็นกำลังใจ แต่สามถึงร้อยเป็นคำด่า แต่ธีร์ก็เอาคำติชมมาปรับแก้ ตั้งใจทำให้ดีขึ้น เก็บรายละเอียดต่างๆ มาแก้ไข และได้กำลังใจจากครอบครัว เพื่อนๆ ที่รักเรา มาเป็นกำลังใจให้เรามีแรงสู้ มาเริ่มต้นใหม่ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม อยากทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราทำได้”

นับถอยหลังอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการประกวดชุดประจำชาติแล้ว คราวนี้ชุดช้างคู่แผ่นดิน โดยเฉพาะส่วนของหัวช้างที่ถูกปรับโฉมใหม่จะออกมาสวยงามแค่ไหน ต้องรอชมพร้อมๆ กันในวันที่ 10 ธันวาคม เวลาประมาณ 19.00 น.


เรื่อง : Hana_แพรวดอทคอม (ฮานะ)

Praew Recommend

keyboard_arrow_up