SUSPIRIA ฉบับรีเมค

SUSPIRIA ฉบับรีเมค โชว์แฟชั่นยุค 70 ผลงานดีไซเนอร์ผู้จุดประกายให้เหล่าแบรนด์ดัง

SUSPIRIA ฉบับรีเมค
SUSPIRIA ฉบับรีเมค

 ผู้ที่ออกแบบเครื่องแต่งกายในเรื่อง SUSPIRIA ฉบับรีเมค คือ กีเลีย ปิแอร์แซนธี ที่รับหน้าที่เป็นดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความหลอนสุดขีด

ถึงแม้ว่าภาพยนตร์ “Call Me by Your Name (คอล มี บาย ยัวร์ เนม)” ของผู้กำกับ ลูกา กัวดาญิโน่ จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 4 สาขา แต่สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมก็ไม่ได้รวมอยู่ด้วย ซึ่งมันถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะการออกแบบเครื่องแต่งกายของนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนั้นให้บรรยากาศและกลิ่นอายของยุค 80 ได้เป็นอย่างดี และในภายหลังแฟชั่นเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ก็ได้กลายเป็นที่เผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายของ กีเลีย ปิแอร์แซนธี ส่งผลกระทบต่อแฟชั่นการแต่งกายของผู้คน เธอเป็นเสมือนอาวุธลับของผู้กำกับ ลูกา มาตั้งแต่ช่วงที่เธอได้ร่วมงานกับเขาครั้งแรกในปี 2015 จากภาพยนตร์เรื่อง “A Bigger Splash (อะ บิกเกอร์ สแปลช)” แฟชั่นเครื่องแต่งกายของเธอได้จุดประกายให้กับนักออกแบบแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำอย่าง Céline , Balenciaga และ Lanvin ความเชี่ยวชาญพิเศษของเธอก็คือ การนำเครื่องแต่งกายในยุคเก่ามาออกแบบใหม่ให้ดูมีความทันสมัยด้วยเทคนิคแบบใหม่ ปัจจุบันเธอรับทำงานทั้งในวงการแฟชั่นและวงการภาพยนตร์

SUSPIRIA ฉบับรีเมค

เมื่อไม่นานมานี้ กีเลีย ได้ร่วมมือกับผู้กำกับ ลูกา อีกครั้งใน “Suspiria (ซัสพีเรีย)” ภาพยนตร์รีเมคจากผลงานต้นฉบับของผู้กำกับ ดาริโอ อาร์เจนโต ปี 1977 “ฉันเป็นคนออกแบบเครื่องแต่งกายทุกชิ้นค่ะ” กีเลีย กล่าว “ทุกอย่างเลยตั้งแต่เครื่องประดับจนไปถึงเสื้อผ้าและชุดเดรส”  เครื่องแต่งกายเหล่านั้นได้ถูกผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก จนทำให้เธอเคยเอ่ยปากออกมาว่าเธออยากจะนำพวกมันไปขายผ่านช่องทางขายสินค้าออนไลน์ พร้อมๆ กับช่วงที่ภาพยนตร์เข้าฉาย แต่จนถึงตอนนี้เธอก็ยังไม่ได้ตอบตกลงกับที่ไหน

ด้าน ทิลด้า สวินตัน นักแสดงที่ได้เล่นร่วมกับ ดาโกต้า จอห์นสัน ใน “Suspiria (ซัสพีเรีย) ” กล่าวถึง กีเลีย ว่า “เธอเป็นผู้หญิงที่มีความคิดและวิธีการทำงานที่ล้ำหน้าเกินแฟชั่นและก้าวล้ำขอบเขตของการออกแบบเครื่องแต่งกาย” นอกจากนี้เธอยังได้เสริมต่ออีกว่า “ลวดลายบนกระโปรงและชุดเดรสที่เธอเป็นคนออกแบบนั้นเป็นสิ่งที่มีความชดช้อยและงดงามมาก มันจะเป็นสิ่งที่ตรึงตาคุณตั้งแต่ครั้งแรกที่คุณได้เห็นมันบนจอภาพยนตร์ คุณจะสัมผัสได้ถึงความพิเศษที่เหนือระดับ และความเป็นหนึ่งเดียวกันกับบรรยากาศในโลกของภาพยนตร์ที่พวกเราร่วมมือกันสร้างขึ้นมา”

SUSPIRIA ฉบับรีเมค

SUSPIRIA ฉบับรีเมค

“Suspiria (ซัสพีเรีย)” บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 1977 ตามติดชีวิตของนักบัลเลต์สาวชาวอเมริกา (ดาโกต้า จอห์นสัน) ที่ได้เดินทางมายังคณะบัลเลต์ที่มีชื่อเสียงกลางกรุงเบอร์ลิน แต่แล้วเธอก็กลับพบกับความชั่วร้ายที่แอบแฝงอยู่ภายใต้อาคารแห่งนั้น เช่นเดียวกันกับผลงานที่เธอฝากเอาไว้ใน “Call Me by Your Name” กีเลีย ได้เลี่ยงการใช้แฟชั่นในยุค 70 โดยตรง เธอได้ทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายในยุคนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน “การออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับตัวละครของฉันนั้นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอดีตของตัวละคร นิสัย วิธีการเข้าสังคม และช่วงยุคสมัย” กีเลีย กล่าว สำหรับฉากเต้นสำคัญของภาพยนตร์ เธอได้สร้างชุดที่ทำจากศิลปะของการผูกเงื่อน ไอเดียดังกล่าวมาจากภาพที่เธอมี มันเป็นภาพของศิลปินที่มีชื่อว่า คริสโต ซึ่งเป็นภาพวาดเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกพันธนาการด้วยเชือก สีของเชือกที่เธอใช้เลียนแบบสีแดงของเลือดมนุษย์

SUSPIRIA ฉบับรีเมค

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ชุดที่ทำจากเส้นเชือกที่สะท้อนถึงการนองเลือดในภาพยนตร์ “เราได้ถักชุดแต่ละชุดด้วยมือของพวกเราเอง ชุดเหล่านั้นจะให้อารมณ์ของเลือดที่กำลังหยด” กีเลีย กล่าว “เราได้ถักเชือกสีแดงแต่ละเส้นด้วยมือ และใช้ผลงานภาพของ โนบุโยชิ อารากิ เป็นอ้างอิงสำหรับการผูกเงื่อนค่ะ” และถ้าเรื่องนี้ยังไม่ทำให้คุณกลัวล่ะก็ คุณอาจจะอยากรู้ว่าการเต้นที่ใช้ชุดนี้คือส่วนหนึ่งของพิธีกรรมของเหล่าแม่มดด้วย “พวกเราต้องเต้นตามสัญลักษณ์ดาวห้าแฉก มันเหมือนกับว่าการเต้นนั้นก็คือการร่ายคาถาอย่างหนึ่งค่ะ” ดาโกต้า จอห์นสัน พูดเสริม

สำหรับเครื่องแต่งกายอื่นๆ นั้น กีเลีย ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ยุค 70 “Eyes of Laura Mars” นักแสดงแต่ละคนจะได้ใส่รองเท้าบู๊ททรงสูง เสื้อโค้ทที่มีเข็มขัดคาด ชุดเดรสที่มีจีบเยอะๆ และบางคนก็มีผ้าคลุมด้วย ชุดที่มีการเอ่ยถึงเป็นพิเศษคือชุดของ ทิลด้า ซึ่งเป็นชุดเดรสสีดำสุดตระการตาที่ลากคลุมลงมาถึงพื้น มันทำให้เธอดูเป็นแม่มดที่มีเสน่ห์อย่างยิ่ง “กีเลีย ได้ผลิตเครื่องแต่งกายเหล่านี้ ราวกับว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นของนักแสดงนั้นมาจากตู้เสื้อผ้าส่วนตัวของพวกเขาเลยครับ” ลูกา กล่าว “พวกเราไม่อยากให้ภาพยนตร์นี้มีความหรูหรามากจนเกินไป เราจึงทำการค้นคว้าหาเครื่องสวมใส่สำหรับนักกีฬาในช่วงยุคนั้นที่สามารถถอดสลับเปลี่ยนให้กันได้ แต่ในขณะเดียวกันยังต้องคงเอกลักษณ์ของตัวละครเหล่านั้นเอาไว้ได้ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ กีเลียได้ศึกษาตัวละครทุกคนจากบทหนัง และสุดท้ายเธอก็สามารถออกแบบเครื่องแต่งกายที่สามารถถ่ายทอดอุปนิสัยและยุคของตัวละครเหล่านั้นได้อย่างไร้ที่ติครับ”

SUSPIRIA ฉบับรีเมค

SUSPIRIA ฉบับรีเมค

SUSPIRIA ฉบับรีเมค

ลูกา กัวดาญิโน่ ได้พูดถึงประเด็นเรื่องโทนสีหลักที่เขาจะใช้ในภาพยนตร์ ซึ่งครอบคลุมไปถึงโทนของภาพ สีของฉาก และสีของเครื่องแต่งกาย “สำหรับผม ผมมักจะคิดอยู่เสมอถึงเรื่องเซ็ตติ้งของหนังก่อนที่ผมจะตัดสินใจเรื่องแสงและสีที่จะใช้ในเรื่อง” ลูกา กล่าว “นี่ก็คือหนังเกี่ยวกับกรุงเบอร์ลิน ปี 1977 ประเทศที่กำลังจะเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งดินแดนถูกแบ่งแยกเป็นเวลาชั่วอายุคน ความหวาดกลัวของอดีตกาล เผชิญกับความรุนแรงของปัจจุบัน มันคือช่วงที่ถูกเรียกว่าเหตุการณ์เยอรมันออทั่ม พวกเราเริ่มค้นหาภาพในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะภาพจากผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับ ไรเนอร์ ฟาสไบน์เดอร์ และเราก็เริ่มคิดถึงเหตุผลว่า ทำไมศิลปินอย่าง บัลทัส ถึงสามารถวาดภาพที่มีทั้งความสยองและความหวาดกลัวได้ เหตุผลเหล่านี้ทำให้ ผู้ออกแบบงานสร้าง อินบาล ไวน์เบิร์ก ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย กีเลีย ปิแอร์แซนธี ผู้กำกับภาพ สยมภู มุกดีพร้อม และผมตกลงว่าพวกเราจะใช้สีน้ำตาลดำและน้ำเงินเขียว เป็นหลัก เพื่อเป็นสัญญาณรำลึกถึงเหตุการณ์เยอรมันออทั่ม สิ่งเหล่านี้ก็คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ใช้สีเดียวแบบต้นฉบับ”

“ผมจินตนาการไม่ออกเลยครับว่า ผมจะสร้างหนังเรื่องต่อๆ ไปได้อย่างไรถ้าผมไม่มี กีเลีย” ลูกา กล่าว

Praew Recommend

keyboard_arrow_up