กว่าจะมาเป็นกระเป๋า Bottega Veneta รุ่น The Cabat ผลงานระดับมาสเตอร์พีซอันโดดเด่น

“This is more about what you hide than what you show” นี่คือหนึ่งในประโยคที่ โทมัส เมเยอร์ (Tomas Maier) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของโบเตก้า เวเนต้า (Bottega Veneta) เคยกล่าวไว้ และน่าจะเป็นคำจำกัดความชั้นยอดที่บรรยายสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในกระเป๋า “เดอะคาบาท” (The Cabat) ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของแบรนด์อันโดดเด่นด้วยงานฝีมือชั้นครูและดีไซน์หรูหราตราตรึงใจ

ย้อนกลับไปในปี 2001 กระเป๋าเดอะคาบาทรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แสนจะเรียบง่าย แต่โดดเด่นด้วยลวดลายขัดสานจากผืนหนังได้ถือกำเนิด ณ Bottega Veneta Atelier ในวิเซนซา (Vicenza) ถือเป็นผลงานการออกแบบกระเป๋าชิ้นแรกของโทมัส เมเยอร์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์ ณ เวลานั้น ก่อนเผยโฉมเต็มๆ ในคอลเล็คชั่น Spring / Summer 2002 ซึ่งมีให้เลือก 2 ขนาด คือขนาดกลางและขนาดใหญ่

 Bottega Veneta

 Bottega Veneta

โทมัส เมเยอร์ ตั้งใจรังสรรค์เดอะคาบาทให้เป็นกระเป๋าที่มีความสวยงามทั้งภายในและภายนอก โดยเลือกการถักเส้นหนังสองด้านด้วยมือ เพื่อให้เห็นลวดลายทั้งด้านนอกและด้านในของกระเป๋า กลายเป็นงานดีไซน์หรูชูตัวตนอันเด่นชัดของโบเตก้า เวเนต้า ที่เรียกได้ว่าทั้งหรูหรา ซับซ้อน คลาสสิกไร้กาลเวลา และยังใช้งานได้จริง ส่งผลให้เดอะคาบาทโดดเด่น เป็นกระเป๋าในดวงใจของหลายคนมาเกือบ 2 ทศวรรษ

The Spheres Cabat

สำหรับ Early Fall 2018 นี้ ไฮไลท์เด็ดที่โบเตก้า เวเนต้า เน้นย้ำว่าไม่ควรพลาดคือ เดอะคาบาทรุ่นใหม่นามว่า “The Spheres Cabat” “This is more about what you hide than what you show” นี่คือหนึ่งในประโยคที่ โทมัส เมเยอร์ (Tomas Maier) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของโบเตก้า เวเนต้า (Bottega Veneta) เคยกล่าวไว้ และน่าจะเป็นคำจำกัดความชั้นยอดที่บรรยายสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในกระเป๋า “เดอะคาบาท” (The Cabat) ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของแบรนด์อันโดดเด่นด้วยงานฝีมือชั้นครูและดีไซน์หรูหราตราตรึงใจ ผสมผสานเทคนิคการสานหนังแบบดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์เข้ากับลูกเล่นใหม่ๆ ก่อให้เกิดเอฟเฟ็กต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าเดิม โดย โทมัส เมเยอร์ นำแรงบันดาลใจจากลูกแก้วทรงกลมที่ชาวเวนิสนิยมใช้วางประดับในสวนเพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้าย มาทำเป็นลูกปัดทรงกลมเนื้อสัมผัสพิเศษกว่า 1,400 ชิ้น แล้วนำไปประดับตกแต่งลงบนกระเป๋าด้วยมือ ทำให้ได้มาซึ่งงานลูกปัดสามมิติที่เกาะอยู่บนกระเป๋าราวกับหยดน้ำพร่างพราว โดยไม่ทิ้งความเนี้ยบ เรียบ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในดีเทลต่างๆ ตั้งแต่ด้านนอกถึงด้านใน สมความเป็นชิ้นงานมาสเตอร์พีซ

Simple, Seamless & Sophisticate

ว่าแต่อะไรที่ทำให้เดอะคาบาทเป็นชิ้นงานมาสเตอร์พีซ เรามาดูกัน

นอกจากเป็นงานออกแบบชิ้นแจ้งเกิดของโทมัส เมเยอร์ ในหมวดหมู่ของกระเป๋าแล้ว เดอะคาบาทยังจัดได้ว่าเป็นงานแฮนด์เมดชิ้นเริ่ดที่แสดงถึงงานฝีมือสุดบรรจง มีรูปทรงที่แข็งแรง ทว่าดูนุ่มนวลอยู่ในทีด้วยแผ่นหนัง เนื้อนุ่มที่ขัดสานเข้าด้วยกันอย่างชดช้อย ดังนั้นกว่าจะได้กระเป๋าเดอะคาบาทแต่ละใบ ต้องอาศัยกระบวนการผลิตที่ไม่ธรรมดาและลงลึกทุกรายละเอียดเลยทีเดียว

เริ่มจากการคัดเลือกหนังที่ต้องพิถีพิถันสุดๆ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นหนังจระเข้ ซึ่งมีลวดลายอยู่ในตัว เพื่อให้ได้ขนาดของหนังที่เหมาะสมกับขนาดของกระเป๋า รวมถึงแผ่นหนังนั้นต้องสามารถนำมาตัดเป็นเส้นยาวเพื่อใช้สานได้ด้วย

ในการทำกระเป๋าแต่ละใบต้องใช้หนังจระเข้จำนวน 20 – 30 ชิ้น ก่อนจะนำมาแปรรูปเป็นเส้นยาว 1.30 เมตร จำนวน 80 เส้น และขนาด 1.50 เมตร จำนวน 100 เส้น โดยกระเป๋าเดอะคาบาทขนาดกลางใช้เส้นหนังในการถักสาน 80 เส้น ส่วนกระเป๋าขนาดใหญ่ใช้เส้นหนัง 100 เส้นในการทำลวดลาย ขั้นตอนต่อจากนั้นคือการแบ่งเส้นหนังด้วยการจับคู่กับพื้นผิวเดียวกัน แล้วนำแต่ละเส้นมาขัดสานเป็นลาย (Intrecciato) ซึ่งในแต่ละแถวจะต้องสานเป็นรูปสามเหลี่ยมถึง 11 ครั้ง ช่างฝีมือจึงต้องแน่ใจทั้งในความถูกต้องของลายถักกับต้องคำนึงถึงความตึงและแนวการสานของเส้นหนังแต่ละเส้นด้วย เพื่อให้ได้งานเนี้ยบที่สุด

เมื่อกระบวนการถักสานเสร็จสิ้น ก็จะนำผืนหนังที่สานแล้วมาประกอบเป็นตัวกระเป๋าที่โชว์ลวดลายขัดสานทั้งด้านในและด้านนอกแบบเน้นๆ หลังจากนั้นช่างฝีมือก็จะยึดฐานกระเป๋าและหูจับเข้ากับตัวกระเป๋าด้วยการเย็บตะเข็บเพิ่มอีก 80 จุด

รวมแล้วกว่าจะได้กระเป๋าเดอะคาบาทหนึ่งใบต้องใช้เวลาในการสรรค์สร้าง อย่างน้อย 2 วัน จากช่างฝีมือ 2 คน แต่วงเล็บไว้ว่าระยะเวลานี้คือเวลาในการทำกระเป๋า เดอะคาบาทหนังนัปป้าขนาดกลางที่ถือว่าเรียบง่ายที่สุดแล้วนะ แต่หากเป็นหนังจระเข้ด้วยแล้ว ก็ต้องอาศัยระยะเวลา ความแม่นยำ ความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นอีก จึงไม่น่าแปลกใจที่ในแต่ละปี โบเตก้า เวเนต้า จะส่งเดอะคาบาทออกมาในจำนวนจำกัด เพราะต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันขั้นเทพจากช่างฝีมือชั้นเซียนเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลงานอันคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ที่แท้จริง

Bottega Veneta New Atelier

หนึ่งในสิ่งที่โบเตก้า เวเนต้า ให้ความสำคัญและขยับตัวเป็นแบรนด์แรกๆ ในโลกลักซ์ชัวรี่คือ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยได้ย้ายสถานที่ทำการจากวิเซนซา อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเดิมมาอยู่ที่เมืองมอนเตเบลโล วิเซนติโน (Montebello Vicentino) พร้อมกับขนย้ายพนักงานกว่า 300 ชีวิตตามมาด้วย

“Bottega Veneta Atelier” หรือที่ทำการใหม่ของแบรนด์นั้น สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้แนวคิดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม กินพื้นที่กว่า 55,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีตัวอาคารหลักคือ Villa Schroeder – Da Porto อาคารสมัยโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่ทางโบเตก้า เวเนต้า รีโนเวตใหม่ โดยคงโครงสร้างเดิมไว้ แล้วต่อเติมส่วนขยายที่กินพื้นที่อีกกว่า 12,500 ตารางกิโลเมตร (วังดีๆ นี่เอง) ให้สวยสด งดงาม ทว่าทันสมัยด้วยโครงสร้างและกระบวนการสมัยใหม่ ที่คำนึงถึงทุกรายละเอียดเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เรียกได้ว่าทุกขั้นตอนการดำเนินการ ตั้งแต่ออกแบบจนถึงก่อสร้างและการใช้งานนั้น คำนวณมาแล้วว่าต้องลดการใช้น้ำและไฟฟ้า พึ่งพาพลังงานทดแทนและแสงธรรมชาติให้มากที่สุด แถมยังเลือกวัสดุก่อสร้างและมีระบบจัดการต่างๆ ที่ช่วยลดขยะและมลภาวะ จนได้รับการรับรองจาก LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีองค์กรภาคแฟชั่นและสินค้าลักซ์ชัวรี่ได้รับการรับรองนี้


ภาพและที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 933 คอลัมน์ FASHION SCOOP หน้า 44-47

Praew Recommend

keyboard_arrow_up