“บานหน้าต่าง (ของร้าน แอร์เมส) ก็เหมือนกับโรงละคร…” นี่คือคาถาร่ายมนตร์ของ “ไลลา เมนซารี” (Le la Menchari) ผู้อยู่เบื้องหลังการเนรมิตวินโดว์ดิสเพลย์อันหรูหรางดงาม ณ 24 rue du Faubourg Saint-Honor แฟล็กชิปสโตร์แอร์เมสในกรงุปารีส ที่สามารถสะกดผู้คนที่เดินผ่านไปมาให้ตื่นตะลึงได้แทบทุกครั้งที่มีการจัดดิสเพลย์ใหม่

เพราะในบานหน้าต่างแห่งนั้นดูไม่ต่างอะไรกับฉากอลังการในโรงละครชั้นสูง หากเปลี่ยนไปเล่าเรื่องราวผ่านงานฝีมือ สีสัน องค์ประกอบศิลป์ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อันสุดบรรเจิด โดยทั้งหมดนี้คุณอาจไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงิน แต่สามารถครอบครองได้ด้วยสายตาและเก็บไว้ในหัวใจ
จึงเป็นที่มาของการจัดงานนิทรรศการ “Hermçs ß tire-d’aile -Les mondes de Le la Menchari” ณ Grand Palais ในกรุงปารีสที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศให้ผลงานการเล่าเรื่องผ่านดิสเพลย์อันสวยงามของไลลา โดยได้ Nathalie Criniçre มาร่วมออกแบบห้องจัดแสดงให้ ผ่านการรีเมค 8 ซีนตระการตาจาก 4 ฤดูกาลที่ไลลาเคยทำไว้ ว่าแต่คุณพร้อมแล้วหรือยัง ที่จะเดินทางไปสู่โลกเหนือจินตนาการของไลลา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1961 ไลลาเป็นเพียงนักศึกษาสาวชาวตูนีเซียที่เพิ่งเรียนจบจาก Ecole des Beaux-Arts de Tunis ก่อนจะเดินทางมาศึกษาต่อที่ The Beaux-Arts School ในกรุงปารีส พร้อมกับความฝันเล็กๆ ในใจว่าอยากทำอะไรสักอย่างในแวดวงแฟชั่น กระทั่งเธอได้มีโอกาสโชว์ภาพสเก็ตช์ให้ Annie Beaumel หัวหน้าทีมผู้ดูแลวินโดว์ดิสเพลย์ของแอร์เมสในขณะนั้นดู โดยแอนนี่กล่าวกับเธอสั้นๆ ว่า “ลองวาดความฝันของเธอออกมาให้ดู”
นั่นคือประโยคจุดประกายฝันที่ทำให้ไลลาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ แอร์เมส โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยของแอนนี่
พอถึงปี 1978 ไลลาก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดดิสเพลย์หน้าร้าน 4 ครั้งต่อปีให้เมซงแอร์เมสที่ 24 rue du Faubourg Saint-Honorè รวมถึงรับผิดชอบในการดูแลเรื่องการใช้สีสันบนผ้าพันคอแอร์เมสด้วย โดยปิแอร์-อเล็กซิส ดูมาส์ (Pierre-Alexis Dumas) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของแอร์เมส ได้กล่าวถึงผลงานของไลลาไว้ว่า “สมัยยังเด็ก ผมมีไลลาเป็นแรงบันดาลใจ เธอมักปรากฏตัวพร้อมกับกลิ่นหอมและเครื่องประดับอันงดงาม ขณะเดียวกันผลงานดิสเพลย์หน้าร้านที่มีเสน่ห์และลึกลับของเธอนั้นก็ดูมีชีวิตชีวามากๆ…”
ส่วนอาเซล ดูมาส์ (Axel Dumas) ซีอีโอของแอร์เมสบอกว่า “ผมโชคดีที่มีโอกาส ชมผลงานของเธอ 4 ครั้งต่อปีผ่านดิสเพลย์ของแอร์เมส ผมชื่นชอบมนตร์สะกดที่เธอใส่ไว้ในผลงาน มันทำให้ผมเซอร์ไพร้ส์ได้ทุกครั้ง เพราะทุกอย่างในนั้นล้วนเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ชวนหลงใหล ที่สำคัญงานของเธอไม่เคยหยุดอยู่กับที่ แต่จะเหนือชั้นขึ้นทุกครั้ง” และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้บริหารของแอร์เมสไม่เคยเข้าไปยุ่งกับงานสร้างสรรค์ของเธอ แต่กลับไว้ใจและมอบอิสระอย่างเต็มที่ให้ไลลา “ไม่เคยมีใครขอตรวจงานวินโดว์ดิสเพลย์ของเธอก่อนที่ม่านจะเปิด”
หากใครที่รู้จักไลลาจะรู้ว่าเธอมักหยิบยกแรงบันดาลใจจากการเดินทางซึ่งเธอชื่นชอบเป็นพิเศษมาเล่าเป็นเรื่องราว รวมถึงการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จากศิลปินหลากหลายแขนงมาเติมเต็มจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกร ประติมากร ช่างทำเครื่องหนัง ช่างโมเสก ช่างตัดหิน ช่างเป่าแก้ว ฯลฯ ทุกคนล้วนเคยสร้างสรรค์งานให้เธอเพื่ออวดโฉมในดิสเพลย์ของแอร์เมส
คุณอาจได้เห็นหนูตัวจิ๋ววิ่งเล่นอยู่ในทุ่งข้าวสาลี เสือดำจากแอฟริกาที่กำลังก้มดื่มน้ำอย่างหิวกระหาย ม้าบิน รูปปั้นฟาโรห์ เรื่อยไปจนถึงปราสาทอันงดงามของมหารานี หรือแม้กระทั่งอุกกาบาตที่ลอยอยู่ในเอ่อ…บานกระจกดิสเพลย์! ซึ่งไลลาบอกว่าการทำงานแต่ละครั้งนั้น ไม่ง่าย ออกจะเครียดมากด้วยซ้ำ เพราะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำกับงานเดิมๆ ภายในเวลาจำกัด “เราใช้เวลาหลายเดือนในการลงรายละเอียด ไม่ว่าจะชนิดของผ้าหรืองานเย็บปัก ถักร้อยที่จะนำมาใส่ไว้ในดิสเพลย์ หลายครั้งที่ฉันก็ลังเลอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้งานที่จริงใจและเป็นเอกลักษณ์”
เธอจึงกล้าพูดว่า “ทุกชิ้นงานจึงเป็นงานชั้นยอดของฉัน! แต่ขอบอกว่างานที่ดูเรียบง่ายที่สุด มักมีเบื้องหลังที่ยุ่งยากที่สุด เช่น มีปีหนึ่งที่เราทำเรื่องเกี่ยวกับดาวและเทพปกรณัม (ตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า) เราขอร้องให้ Albert Fèraud ประติมากรที่เก่งด้านโลหะ ลองทำอุกกาบาตที่สามารถหมุนไปมาในอากาศได้ ซึ่งหมายถึงหมุนอยู่ในช่องหน้าต่างของแอร์เมส ซึ่งเป็นความคิดที่บ้ามาก ฉันไม่รู้จริงๆ ว่าเขาทำอย่างไร แต่สุดท้ายเขาก็สามารถไปหาเหล็กก้อนหนึ่งมาทำเป็นอุกกาบาตที่หมุนอยู่กลางอากาศให้ฉันได้ มันเหลือเชื่อมากๆ
หรือบางครั้งฉันอยากได้เขากวางเรนเดียร์มาใส่ในดิสเพลย์ พอติดต่อเพื่อนคนหนึ่งไป เขาก็ส่งฉันเข้าไปอยู่ที่ชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เก็บเขากวาง ซึ่งตายจากการต่อสู้กันเองไว้กองพะเนินเต็มไปหมด บางทีฉันก็รู้สึกพิเศษมากที่ได้ไปยืนอยู่ตรงนั้น เรื่องขำๆ ก็มีนะคะ อย่างบางครั้งเราคิดไว้ว่าจะใช้ทรายมาทำดิสเพลย์ แต่พอถึงเวลาก็มีทรายมาส่งโดยที่เรายังไม่ทันตั้งตัว ไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหนดี” (หัวเราะ)
อีกอย่างหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากงานของไลลาคือ ภาพฝันอันเหนือจริงที่เกิดจากความนิยมชมชอบ “ดาลี” (Salvador Dalì) และศิลปินแนวเซอร์เรียลเป็นพิเศษ งานของเธอจึงมีความอัศจรรย์อยู่หน่อยๆ ซึ่งเธอก็ยอมรับ “ฉันรักความเหนือจริง แต่ในความเหนือจริงนั้นต้องมีสิ่งของจริงๆ ที่ผู้คนเห็นแล้วจดจำหรือเข้าถึงได้อยู่ด้วย งานของฉันจึงเป็นงานที่เหนือความคาดหมาย แปลกใหม่ และสร้างเซอร์ไพร้ส์ให้ผู้คนได้…” โดยเธอแอบเล่าเคล็ดลับในการทำงานไว้ว่า “เวลาออกแบบฉากใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องใส่ความลึกลับเข้าไปด้วยทุกครั้ง เพราะความลึกลับคือสปริงบอร์ดสู่สระน้ำแห่งความฝัน ความลึกลับคือการเชื้อเชิญให้ลองเติมอะไรบางอย่างลงในช่องว่างที่จินตนาการเว้นไว้ให้”
ไลลามองว่าการจัดดิสเพลย์คือการเล่าเรื่องรูปแบบหนึ่ง “โดยหน้าต่างก็เหมือนกับโรงละครที่ฉันต้องจัดฉากให้เข้ากับเรื่องราว แต่ยากกว่าตรงที่ฉากในดิสเพลย์ไม่มีข้อความ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีระยะห่างคุณจึงต้องเป็นทุกอย่าง ตั้งแต่ดีไซเนอร์ จิตรกร นักประพันธ์ ผู้กำกับการแสดง…
“ครั้งหนึ่งฉันทำดิสเพลย์ที่เรียบง่ายมากๆ แทบจะไม่มีอะไรในนั้นเลย มีแค่ชายหาด งานแกะสลักหินอ่อนที่ดูเหมือนคลื่น แว่นกันแดดและชุดว่ายน้ำ จากนั้นฉันก็ใช้น้ำหอม Eau d’orange verte ฉีดพรมไปตามถนนหน้าร้าน ซึ่งครั้งนั้นฌอง-หลุยส์ ดูมาส์ (Jean-Louis Dumas อดีตประธานแอร์เมส) บอกฉันว่า ‘แต่นี่มันไม่มีอะไรเลยนะ!’ กระทั่งเขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนสูดกลิ่นหอมนั้นอยู่กลางถนน เขารีบบอกมาดามคนนั้นให้สูดหายใจลึก ๆ หลังจากนั้นไม่นานกลิ่นหอมนั้นกระจายไปสู่ทุกคนคนที่เดินผ่าน จนทำให้คนมามุงกันอยู่ตรงนั้นเป็นกลุ่มใหญ่ ดังนั้นกุญแจจึงอยู่ที่ความสามารถในการปลุกเร้าสิ่งที่ผู้คนชื่นชอบ โดยหาวิธีเล่าให้แตกต่างออกไป ซึ่งนี่ก็จะเป็นสิ่งที่เราทำในงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วยค่ะ คือการเล่าถึงสิ่งที่เคยทำไปแล้วในรูปแบบใหม่ ฉากและองค์ประกอบใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากงานเดิมที่ฉันเคยทำ บอกได้เลยว่านี่จะเป็นการเดินทางครั้งใหม่”
อาเซล ดูมาส์ กล่าวปิดเรื่องราวของดิสเพลย์ การเล่าเรื่องราวในเชิงศิลป์ของแบรนด์ไว้ว่า “ครั้งหนึ่งผมเดินทางไปอิตาลี มีคู่รักบอกผมว่าสินค้าของแอร์เมสแพงไปหน่อย แต่ทุกครั้งที่ไปปารีส เขาจะต้องไปดูวินโดว์ดิสเพลย์ของแอร์เมสเสมอ…ผมว่านี่แหละคือหน้าที่ของดิสเพลย์ คือการเปิดโลกภายในบ้านของเราให้คนอื่นได้เห็น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันกับการตลาดใดๆ เราแค่นำเสนอสิ่งของที่ไม่ได้มีไว้ขาย แต่คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ไม่ว่าจะอายุเท่าไร เขาก็รู้สึกว่าเอื้อมถึง วินโดว์ดิสเพลย์สำหรับเราคือ สะท้อนในสิ่งที่เราอยากจะบอก สิ่งที่เราสามารถทำได้
“มันคือการสะท้อนตัวตนของเรา”
ภาพและที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 920 คอลัมน์ FASHION SCOOP