อลังการงานสร้างผ้าโบราณราชสำนักอายุกว่า 300 ปี (ตอนที่2)

จากคราวที่แล้ว มาติดตามกันต่อในครั้งนี้เรื่อง “องค์ประกอบ” และ “ลวดลายบนผ้า” คือสิ่งบอกยศและตำแหน่ง
อาจารย์วีรธรรมอธิบายว่า การจะดูว่าผู้สวมใส่ผ้าผืนนั้นมียศตำแหน่ง หรือบรรดาศักดิ์ใด ให้สังเกตจากลวดลายบนผ้า “ผ้าราชสำนักโบราณ โดยเฉพาะผ้านุ่งนั้น มีชนิดหนึ่งเรียกว่า
‘ผ้าสมปัก’ ใช้เป็นเครื่องยศ พระราชทานให้นุ่งได้ตามตำแหน่งแห่งยศของแต่ละบุคคล มีทั้งสมปักปูม (มัดหมี่) สมปักยก (ผ้ายก) สมปักลาย (ผ้าลายอย่าง) ไว้ให้ใช้ต่างวาระ
“มีอยู่สี่ระดับชั้น คือ สมปักริ้ว สมปักล่องจวน สมปักกรวยเชิงสมปักปูม สมปักยก สมปักลาย (ผ้าสังเวียน) ผ้าสมปักแต่ละชนิดมีรูปแบบ องค์ประกอบ หรือการแบ่งพื้นที่บนผ้าแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการบอกยศ ตามชั้นบรรดาศักดิ์ของขุนนาง คือ ขุนหลวง พระ พระยา แต่ละชั้นบรรดาศักดิ์มีจำนวนศักดินาที่แตกต่างกันออกไป ให้ดูที่ลายส่วนของท้องผ้า ว่าเป็นกระบวนลายอะไร ดอกขนาดไหน เล็ก กลาง ใหญ่ สีของท้องผ้าอาจเกี่ยวข้องกับสังกัดกรมกองในหน้าที่การทำงาน ส่วนพระภูษาทรงของเจ้านายอาจแตกต่างจากขุนนางตรงวัสดุที่นำมาผลิตและตกแต่ง
“ผ้าหนึ่งผืนสามารถบ่งบอกประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา การเมืองและเศรษฐกิจ ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของชาวสยาม”

พระภูษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4ทรงฉลองพระองค์เมื่อคราวถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดหลวงแห่งหนึ่ง
พระภูษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4ทรงฉลองพระองค์เมื่อคราวถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดหลวงแห่งหนึ่ง

ที่สุดแห่งคุณค่า พระภูษาทรงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ถ้าถามว่าในบรรดาผ้าโบราณนับพันชิ้นที่เขามี ชิ้นไหนทรงคุณค่ามากที่สุด คำตอบคือ
“พระภูษาทรงของรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดหลวงแห่งหนึ่ง
“ตามธรรมเนียมแล้ว เวลามีกระบวนแห่ทางสถลมารค (ทางบก) ก่อนที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯเข้าไปทำพิธีทางศาสนาเมื่อถึงวัด พระองค์ท่านต้องเปลื้องเครื่องทรงกษัตริย์ออกก่อน เพื่อทรงพระภูษาสีขาวทั้งหมด ที่พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้วัดราชบพิธและวัดบวรนิเวศยังมีพลับพลาเปลื้องเครื่องให้เห็นอยู่ลักษณะเป็นหอเล็ก ๆ อยู่ด้านหน้าวัด เมื่อพระองค์ทำพิธีเสร็จเรียบร้อยเสด็จฯกลับออกมา ต้องเปลื้องพระภูษาสีขาวเป็นเครื่องทรงกษัตริย์เพื่อประทับพระราชยานแห่ต่อไป ผ้าสีขาวที่พระองค์ผลัดมักนำถวายวัดเพื่อเก็บรักษาต่อไป เหตุที่พระภูษาผืนนี้มาอยู่ในการดูแลของผม
เพราะมีคุณป้าท่านหนึ่ง บรรพบุรุษท่านเป็นโยมอุปัฏฐากสมภารวัดแห่งนี้พระท่านจึงมอบผ้าผืนนี้ให้มาเก็บรักษา เลยตกมาถึงคุณป้าท่านนี้ และท่านมอบให้ผมเก็บรักษาต่อไป”

ตัวที่ 1-2 ฉลองพระองค์ผ้าเยียรบับ (ผ้าชนิดหนึ่งที่ทอจากต่างประเทศ)สีเขียวและสีชมพูมีขนาดเล็ก น่าจะเป็นของเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฉลองพระองค์ยันต์ ตัวที่ 3 นี้เรียกว่า เสื้อเสนากุฎ สำหรับทหารแต่งกายเข้ากระบวนแห่ในงานพระราชพิธี สันนิษฐานว่าอาจสั่งผลิตในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ตัวที่ 1-2 ฉลองพระองค์ผ้าเยียรบับ (ผ้าชนิดหนึ่งที่ทอจากต่างประเทศ)สีเขียวและสีชมพูมีขนาดเล็ก น่าจะเป็นของเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฉลองพระองค์ยันต์ ตัวที่ 3 นี้เรียกว่า เสื้อเสนากุฎ สำหรับทหารแต่งกายเข้ากระบวนแห่ในงานพระราชพิธี สันนิษฐานว่าอาจสั่งผลิตในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ผ้าราชสำนักชิ้นเด่น ตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ยังมีผ้าอีกหลายชิ้นที่ทรงคุณค่าทางจิตใจของผู้ครอบครอง และมีเรื่องราวให้เขาสืบเสาะ ค้นหาเจ้าของที่แท้จริง รวมถึงแง่มุมต่าง ๆ ที่นอกเหนือ เช่น การสันนิษฐานงานศิลปกรรมที่ปรากฏ เทคนิค วัสดุที่ใช้ และระบบระเบียบการนำผ้าผืนดังกล่าวมาใช้งาน
“ผ้าหนึ่งผืนมีเรื่องราวเบื้องหลังมากมายให้สืบหาได้ตลอด ไม่ใช่ว่าได้ผ้ามาผืนหนึ่งก็เก็บไว้ แต่เราต้องหาข้อมูลต่อว่า ของชิ้นนี้เป็นสมบัติเดิมของใคร ตระกูลไหน ยศชั้นไหน ทำให้ได้ความรู้ว่าเจ้าของผืนผ้านี้เป็นใคร ได้รับพระราชทานมาสำหรับทำราชการ ทำให้รู้ว่าบรรดาศักดิ์เท่านี้ ศักดินาเท่านี้ ได้รับพระราชทานผ้าแบบไหน
“มีผ้าชิ้นหนึ่งเป็นผ้าปูมเขมร ได้มาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พอมาอ่านพงศาวดารเมืองไทรบุรี กลันตัน จึงรู้ว่ารัชกาลที่ 4เคยพระราชทานผ้าปูมเขมรให้เจ้าเมืองประเทศราชแถบนั้น อีกผืนเป็นผ้าม่านท้องพระโรงขนาดใหญ่มาก ซึ่งผมไม่เคยพบผ้าผืนใหญ่เท่านี้มาก่อน ไม่ว่าในพิพิธภัณฑ์หรือที่ต่าง ๆ เป็นลายเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบและสังเวียนรอบด้าน น่าจะใช้ในวังเจ้านาย สันนิษฐานจากลวดลายว่าน่าจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3
“อีกผืนเป็นผ้าพระสุจหนี่กำมะหยี่ ลายปักหักทองขวาง ดูจากลวดลายน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 – 4 ใช้เป็นเครื่องปูลาด เพื่อวางพระแท่นหรือพระเก้าอี้ ยามเจ้านายเสด็จออกงานพิธีต่าง ๆ เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งตกทอดในราชสกุลหนึ่ง ผู้ที่จะใช้ผ้าผืนนี้ได้ต้องเป็นเจ้านายชั้นสูง ความพิเศษอยู่ที่การใช้ผ้ากำมะหยี่ปักด้วยไหมทอง โดยใช้สิ่วตอกกระดาษเป็นลวดลาย ก่อนนำกระดาษมาตรึงบนผ้ากำมะหยี่ใช้ไหมทองพับไปพับมาเป็นลวดลาย จัดเป็นเทคนิคที่สาบสูญไปแล้วเพราะไม่มีใครฟื้นฟูหรือทำต่อเนื่อง เนื่องจากต้องใช้เวลาและความอุตสาหะมาก
“ส่วนผ้าปูมดอกใหญ่ผืนนี้ได้จากผ้าห่อพระคัมภีร์ ถ้าดูลวดลายอาจกำหนดอายุได้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายราว 200 – 300 ปี
“มีชิ้นหนึ่งเป็นพระภูษาลายอย่างเขียนทอง พื้นเหลือง แต่ก่อนมีผ้าขาวบุด้านหลัง เขียนด้วยหมึกว่า ‘ใช้ทรงตอนว่าราชการ’ เสียดายที่ตอนหลังผ้าบุนั้นหายไป ทำให้ไม่ทราบว่าผ้าผืนนี้เป็นของเจ้านายพระองค์ไหน แต่ตามระเบียบแล้ว ผู้ที่จะนุ่งพระภูษาเขียนทองได้ต้องเป็นพระองค์เจ้าขึ้นไปจนถึงเจ้าฟ้า และพระมหากษัตริย์

ที่มา : คอลัมน์Unexpected นิตยสารแพรว ฉบับที่ 858 ปักษ์วันที่ 25 พฤษภาคม 2558

Praew Recommend

keyboard_arrow_up