เรื่องเล่าจากลูกสาวคุณข้าหลวงผู้ใหญ่ เผยเบื้องหลังคอลเล็คชั่นกระเป๋าจากผ้าไหมมัดหมี่ฉลองวันแม่

พรุ่งนี้ก็วันแม่แล้วนะสาวๆ มีของขวัญให้คุณแม่กันหรือยัง ถ้ายังไม่มีวันนี้แพรวดอทคอมจะขอนำเสนอกระเป๋าคอลเล็คชั่นที่ให้อารมณ์ความเป็นวันแม่สุดๆ เพราะแบรนด์พญาเขาเลือกใช้ผ้าไหมมัดหมี่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงสวมใส่และผลักดันมาตลอดเข้ามาเป็นตัวหลักในคอลเล็คชั่นนี้ด้วย แต่ก่อนจะเปิดโฉมกระเป๋าให้ได้เห็นกันเต็มๆ เราไปดูก่อนว่าทำไมคอลเล็คชั่นนี้ถึงเกิดขึ้น

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริให้มีการส่งเสริมอาชีพและอนุรักษ์การทอผ้าไหม หัตถศิลป์อันวิจิตรของไทยไว้ และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2560 นี้  จิรยง อนุมานราชธน ในฐานะครีเอทีฟไดเร็คเตอร์แห่งแบรนด์พญา (PHYA) ผู้สร้างสรรค์ผลงานการดีไซน์กระเป๋าหนังคุณภาพเยี่ยม จึงได้หยิบเอาผ้าไหมมัดหมี่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาผสมผสานเข้ากับผืนหนังวัวที่นำเข้าจากประเทศอิตาลี ถ่ายทอดเป็นกระเป๋ารุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่นรุ่นมาตา (Mata) และนัดดา (Nadda) ซึ่งได้จัดแฟชั่นโชว์เปิดตัวไป

แนวคิดหลักในการออกแบบกระเป๋าดีไซน์พิเศษครั้งนี้ “แรงบันดาลใจหลักของการทำกระเป๋าสองรุ่นนี้มาจากการที่ดิฉันได้เห็นสมเด็จพระนางเจ้าฯทรงให้การสนับสนุนงานหัตถศิลป์ไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้คนไทยได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่สืบทอดมรดกไทย ดิฉันจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่องานช่าง และรักษาความวิจิตรที่ปรากฏบนงานศิลปะไทยเอาไว้ จึงเกิดเป็นไอเดียในการออกแบบกระเป๋ารุ่นมาตา ที่มีความหมายว่าแม่ และรุ่นนัดดา ที่มีความหมายว่าหลาน โดยสร้างสรรค์ขึ้นจากการผสมผสานระหว่างผ้าไหมมัดหมี่ ผลงานหัตถกรรมอันเลื่องชื่อของไทย และผืนหนังวัวคุณภาพเยี่ยมจากประเทศอิตาลี ให้ออกมาเป็นกระเป๋าดีไซน์หรูที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน”

สำหรับการออกแบบกระเป๋ารุ่นมาตา (Mata) และนัดดา (Nadda) ทางทีมดีไซน์ได้ใช้เทคนิคการตัดเย็บขั้นสูงและประณีตในทุกขั้นตอน เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างผ้าไหมมัดหมี่ จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ที่มีความเบาและอ่อนนุ่ม นำมาตัดเย็บเข้ากับโครงของกระเป๋าที่ทำจากหนังวัว ดังนั้น การวางลวดลายและแพตเทิร์นของผ้า จึงต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญของทีมช่างฝีมือ การคำนวณและตัดเนื้อผ้ามาเย็บเข้ากับประเป๋า เช่นกัน เพื่อให้ผ้าไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป กระเป๋าจึงจะคงรูปความงดงามตามแบบงานหัตถศิลป์ของไทยและความทันสมัยของสากลนิยม

มาตา (Mata) กระเป๋าที่ใช้เทคนิคการผลิตขึ้นตามแบบโครงของกระเป๋ารุ่นนาตาลี กระเป๋าหนังแกะลายควิลต์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีแรงบันดาลใจจากลวดลายผ้าไทยรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ซึ่งเป็นหนึ่งในรุ่นที่ขายดีของทางแบรนด์ โดยการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ในโทนสีม่วงอมชมพู ที่ลวดลายมีความทันสมัยและเป็นเอกลักษณ์ ประดับด้วยสายสะพายโซ่สีเงิน ที่สามารถใช้เป็นกระเป๋าถือ หรือสะพายข้าง หรือจะสะพายแล่งได้ตามความต้องการของผู้ใช้

 

นัดดา (Nadda) กระเป๋าใบเล็ก ดีไซน์กะทัดรัด ที่ใช้เทคนิคการออกแบบตามโครงกระเป๋ารุ่นลิฟ กระเป๋ารุ่นล่าสุดจากแบรนด์พญา (PHYA) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการเย็บประกบหนังสองชิ้นเข้าด้วยกัน ซึ่งในรุ่นนัดดานี้ทางทีมออกแบบได้นำผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลวดลายสีม่วงตัดกับสีฟ้ามาเย็บประกบลงบนแผ่นหนังด้านบน จากนั้นจึงเย็บตัดขอบด้วยหนังสีฟ้า กลายเป็นกระเป๋าถือทรงบ็อกซี่ที่มีดีไซน์หรูหราและสง่างามอย่างลงตัว

ซึ่งกระเป๋ารุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่นมาตา (Mata) และนัดดา (Nadda) ทางแบรนด์พญา (PHYA) ได้ผลิตขึ้นมาเพียงไม่กี่ใบเท่านั้น และรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายกระเป๋าทั้งสองรุ่น ทางแบรนด์จะมอบให้กับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและอนุรักษ์งานหัตถศิลป์อันเป็นมรดกของไทยสืบไป

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร บุตรสาวของท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร คุณข้าหลวงผู้ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาร่วมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการทอผ้าไหม หนึ่งในงานหัตถศิลป์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า “ตั้งแต่จำความได้ คุณแม่ (ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร) จะเล่าให้ฟังตลอดว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึงแม้พระองค์จะทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงรักความเป็นไทยมาก ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหมไทยมาตั้งแต่ยังเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร แล้วหลังเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรก พระองค์ทรงออกแบบฉลองพระองค์ต่างๆด้วยพระองค์เอง โดยทรงศึกษาจากพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง และทรงใช้ชื่อพระตำหนักต่างๆในวังมาตั้งเป็นชื่อฉลองพระองค์ที่ทรงออกแบบด้วย และทุกครั้งเวลาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นว่าชาวบ้านแต่งตัวด้วยผ้าไหมที่ทอขึ้นเองอย่างสวยงามมาเฝ้าฯรอรับเสด็จ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทรงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมและอนุรักษ์การทอผ้าไทยของแต่ละชุมชนเอาไว้ จึงเป็นที่มาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และมีการสืบสานศิลปะการทอผ้าไทยมาจนถึงทุกวันนี้”

ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร (ซ้ายมือ)

d

เทคนิคการมิกซ์แอนด์แมตช์การแต่งตัวกับผ้าไทย

นำโดยแม่ลูกคู่ซี้อย่าง คุณแม่บุศรา และลูกสาวคนสวย ผึ้งมธุนาฏ ซอโสตถิกุล

ด้วยความที่ลูกสาวโตมาในรั้วโรงเรียนจิตรลดา ซึ่งจะคุ้นชินกับความเป็นไทยอยู่แล้ว และเวลาคุณแม่ไปรับไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนจะพาแวะร้านจิตรลดา เลือกซื้อสินค้าหัตถศิลป์มาใช้ตลอด โดยเฉพาะผ้าไทย “จริงๆ ผึ้งเห็นคุณแม่ใส่ชุดผ้าไหมไทยมาตั้งแต่ผึ้งยังเด็กๆ จนตอนนี้ก็ยังเห็นคุณแม่ใส่ชุดผ้าไหมไปทำงานทุกๆวันอังคาร เพราะที่ออฟฟิศของคุณแม่ (การบินไทย) ส่งเสริมให้พนักงานสวมใส่ชุดไทย หรือแม้กระทั่งโอกาสพิเศษต่างๆ คุณแม่ก็จะเลือกสวมใส่ชุดไทยออกงานตลอด จนทำให้เราซึมซับเวลาเข้าวัดทำบุญ ผึ้งก็จะหยิบผ้าซิ่นผ้าไหมมานุ่ง นอกจากจะสุภาพเรียบร้อยแล้ว ยังมีความสวยงามไม่แพ้ชุดดีไซน์โมเดิร์นในปัจจุบัน อีกอย่างชุดผ้าไทยหรือผ้าฝ้ายสามารถสวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดีกว่าผ้าใยสังเคราะห์อีกด้วย”

ด้านคุณแม่ยังสาว น้ำผึ้ง-จารุวรรณ โชติเทวัญ ที่ควงคู่มากับลูกสาววัยน่ารัก น้องญาร่า-ธันยพัต ภัคดีมงคลโรจน์ เผยว่า “แม้ลูกสาวจะยังเด็ก แต่ก็พยายามปลูกฝังให้ลูกรักความเป็นไทย จะคอยสอนให้ลูกรู้จักศิลปะไทย ยกตัวอย่างเช่น ผ้าไหมไทย ว่าเป็นการทอผ้าที่มีลวดลายสวยงามด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นเอกลักษณ์และเป็นมรดกของชาติที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้”


 

ของขวัญชิ้นนี้แพรวดอทคอมมองว่าเหมาะกับคุณแม่สุดๆเลย เพราะการดีไซน์และแรงบันดาลใจที่ตั้งใจทำออกมาเป็นพิเศษเฉพาะเพื่อวันแม่ ถ้าไม่มอบให้คุณแม่เป็นของขวัญวันแม่ก็ช้าไปแล้วนะ อิๆ ใครที่สนใจสามารถเข้าไปดูในช็อปของแบรนด์พญาได้เลยจ้า

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up