ภาวะเครียดจากการทำงาน ถ้าสะสมนานๆ จะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นอกจากจะหงุดหงิด ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ความสัมพันธ์ย่ำแย่ อาจจะส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าไม่รู้ตัว วันนี้ ดร.แพม–ปรมา มุทิตาภรณ์ ผู้ก่อตั้ง A List Vision ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา จะมาแก้ปัญหาให้ตรงจุด ตรงใจ
เราจะรู้ได้ยังไงว่ากำลังเบิร์นเอาท์?
“เบิร์นเอาท์ประกอบด้วย 4 อาการสำคัญ หนึ่งคือ อารมณ์ จะมีความหงุดหงิด หดหู่ ไม่พอใจ เช่น บางครั้งกำลังขับรถใกล้ถึงที่ทำงาน จู่ๆ เกิดความรู้สึกหงุดหงิด อย่างบอกไม่ถูก นั่นคือสัญญาณบอกว่า คุณไม่อยากเข้าออฟฟิศ
สองคือ พฤติกรรม จากคนที่ชอบคุยเล่น ชอบอยู่กับเพื่อน จู่ๆ ก็อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากคุยกับใคร เริ่มไม่มีสมาธิการทำงาน นอนไม่หลับ หรือจากคนที่กินได้ปกติก็กลายเป็นกินน้อยลง รวมถึงคิดวิตกกังวลเกี่ยวกับงานตลอดเวลา
สามคือ ความคิด เริ่มคิดลบ มีอคติ ระแวง สงสัย ไม่เชื่อใจคนอื่น รวมถึงไม่เชื่อใจตัวเองว่าเราก็มีศักยภาพ
และสุดท้ายคือ ร่างกาย ข้อสังเกตชัดๆ คือพนักงานออฟฟิศ มักจะป่วยคืนวันอาทิตย์กับเช้าวันจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นปวดหัว ปวดท้อง เพราะเขารู้ว่าวันจันทร์ เป็นวันที่ต้องกลับไปทำงานอยู่ในที่เดิมๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อประเมินได้แล้วว่า ฉันกำลังจะเบิร์นเอาท์ ต้องรีบ Selfcare ตัวเองโดยด่วน
Self Care ง่ายๆ มีวิธีไหนบ้าง
วิธีที่ง่ายที่สุดนะคะ แค่มาถึงที่ทำงาน จัดโต๊ะทำงานใหม่ ก็นับว่าเป็นการดูแลตัวเองแล้ว เพราะเป็นวิธีจัดการความยุ่งเหยิงและจัดระเบียบการทำงานของตัวเองรูปแบบหนึ่ง
ต่อมาคือ ต้องรู้จักขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ถ้าไม่ไหวต้องพูดออกมาค่ะ สุดท้ายคือต้องดูแลร่างกาย นอนให้ไว กินให้ดี ทำสมาธิบ้างก็ได้
มนุษย์ออฟฟิศจะมี work life balanced ได้จริงๆ ไหม
“หลายคนถามเยอะมาก ว่ามันจะเป็นไปได้จริงหรือที่ชีวิตเราจะมีคำว่า work life balanced คนทำงานหลายคนเข้าใจผิดว่า การขยันทำงานแบบไม่พัก แล้วค่อยพักตอนไปเที่ยวทีเดียวนั่นเรียกว่าบาลานซ์แล้ว ที่จริงไม่ใช่นะ วิธีนี้เรียกว่า work hard play hard แต่ไม่ใช่บาลานซ์ เพราะบาลานซ์ที่แท้จริง คือการบาลานซ์ในทุกๆ วัน
“ถ้าถามว่า การบาลานซ์ที่เราทำได้ในที่ทำงานมีอะไรบ้าง การอู้งานก็คือการบาลานซ์อย่างหนึ่ง เดินไปซื้อชานมไข่มุก เม้าท์กับเพื่อนโต๊ะข้างๆ หรือโทรศัพท์หาเพื่อน ก็นับว่าใช่ เพราะมนุษย์เราไม่สามารถนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ตลอดเวลา แนะนำว่า ทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรต้องเบรค 15 นาที เป็นวิธีที่ทำให้ร่างกายกลับมาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถ้าคุณนั่งหน้าคอมยาวๆ 8 ชั่วโมงโดยไม่พัก ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะเบิร์นเอาท์
ต้องใช้ชีวิตในสังคมที่ toxic ควรมีวิธีรับมือยังไงคะ
วิธีง่ายที่สุดคือ ต้องตั้งข้อสังเกตว่า เวลาที่เราเห็นคนนี้ท็อกซิก เขาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่แรกที่รู้จักกันหรือเปล่า หรือเขาเพิ่งเป็นทีหลัง แนะนำให้ถามว่า มีเรื่องไม่สบายใจหรือเปล่า หรือมีอะไรให้ช่วยไหม
นอกจากนี้อยากให้มองมุมกลับ อาจจะไม่ใช่เขาที่ท็อกซิก แต่เป็นเราที่อ่อนไหวง่ายเกินไป เขาอาจจะมีนิสัยอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ช่วงนี้เราดันมีเรื่องไม่สบายใจ เวลาใครพูดอะไรมา ก็รู้สึกกระทบใจง่าย เพราะฉะนั้นต้องถามใจตัวเองด้วย
แต่ถ้าเราสำรวจตัวเอง และพบว่าฉันสบายดี ไม่มีเรื่องกวนใจ แต่กลายเป็นเขาที่ท็อกซิกมาเนิ่นนาน ต้องรู้จัก วางขอบเขต ทุกอย่างเราควบคุมได้ด้วตัวเองนะคะ เขาจะท็อกซิกใส่เราหรือไม่ ขึ้นกับว่า เราอนุญาติให้เขาทำแบบนั้นหรือเปล่า ถ้าเราขีดเส้นเป็น เวลาคุยกับเขา ต้องคุยเรื่องงาน และให้คิดเสมอว่า เอาเรื่องงานให้รอดก่อน ส่วนนิสัยหรือเรื่องส่วนตัวให้เลี่ยงไปเลย เพราะฉะนั้นต้องใช้สติในการพูดคุย
เมื่อมนุษย์ออฟฟิศรับบทเป็นเดอะแบกของครอบครัว ต้องเจอปัญหารอบด้านพร้อมกัน ทั้งเงิน งาน ความรัก ฯลฯ มีวิธีจัดการปัญหายังไง
คุณสมบัติหนึ่งของเดอะแบก คือความอดทน เมื่อเจอปัญหาใหญ่บางทีเขาจะรู้สึกผิดและไม่กล้าพูดออกไป ไม่กล้าปฏิเสธคน โดยเฉพาะคนที่เป็นเดอะแบกของครอบครัว เขาจะให้ครอบครัวก่อน แต่ไม่ให้ตัวเอง เพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากการปรับมายด์เซ็ตของตัวเอง ต้องรู้จักอนุญาติให้ตัวเองมีความสุขก่อนและถึงแม้เราจะเป็นคนดี เราก็สามารถปฏิเสธคนอื่นได้ อยากให้คุณลองนึกเล่นๆ ว่า ในชีวิตนี้ แคร์ใครมากที่สุด บางคนเอาครอบครัวขึ้นก่อน เพราะฉะนั้นลองตั้งคำถามว่า แล้วเราอยู่ตรงไหน?
เวลาเรียงลำดับความสำคัญ แนะนำให้เรียงเป็นแถวหน้ากระดาน ไม่ใช่แถวตอน เพราะทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน เราต้องไม่ทอดทิ้งตัวเอง และคุณสามารถเป็นเดอะแบกได้ โดยที่ตัวเองก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าคนอื่น
อยากหยุดเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับชีวิตคนอื่นในโลกออนไลน์ ต้องทำยังไง?
ที่จริงการจะตัดสินว่า เราด้อยหรือไม่ ขึ้นกับใจของคุณ ไม่ได้อยู่ที่โซเชียล แต่ที่โซเชียลมีส่วนเพราะอัลกอรึทึมต่างๆ เข้ามากระตุ้นความต้องการของเรา เช่น เราชอบไถดู กระเป๋า กระเป๋าก็มาให้เห็นเรื่อยๆ ยิ่ง เห็นคนอื่นมี เราก็ยิ่งอยากได้ ถ้าไม่ได้ก็อาจจะรู้สึกแย่ และถ้าเรายิ่งดูซ้ำๆ ก็ยิ่งรู้สึกไม่ดี จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครทำคุณ นอกจากตัวคุณเอง
เพราะฉะนั้น เราจะรู้สึกดีหรือไม่ดี ขึ้นกับการเซ็ตอัพความคิดของตัวเอง ทุกอย่างอยู่ในมือของคุณ เราคอนโทรลได้ เพราะเราเป็นคนใช้มือถือ ไม่ใช่มือถือมาใช้เรา
วิธีสร้างความรู้สึกดีๆให้กับตัวเองตั้งแต่ตื่นเช้า
“แนะนำให้ตื่นก่อนเวลาสัก 15 นาที เช่น ปกติคุณตื่น 8.00 แนะนำให้ตื่น 7.45 น. แล้วจะรู้ว่า 15 นาที ก็มีความหมาย และจะช่วยเซ็ตมู้ดแอนด์โทนของชีวิตไปทั้งวัน ให้ 15 นาทีนี้ ทำอะไรก็ได้ที่คุณอยากทำ จะจัดเตียง กินอาหารเช้า มองออกนอกหน้าต่างโดยไม่ต้องทำอะไรเลยก็ยังได้ มันคือช่วงเวลาพิเศษของคุณ แต่ถ้าวันไหนคุณตื่นสาย เร่งรีบ ไม่มีเวลาให้ตัวเอง สังเกตไหมว่าจะหงุดหงิดไปทั้งวัน คุณจะรู้สึกว่า วันนี้รถติดกว่าเดิม ทั้งๆ ที่รถก็ติดอย่างนี้ทุกๆ วัน สาเหตุคือความรู้สึกลนลาน ลองเพิ่มเวลาให้ตัวเองดูค่ะ
ถ้าทำไม่ได้ทุกวัน เริ่มจากอาทิตย์ละวันก็พอ แล้วจะเห็นความต่าง
เรื่อง: Fai