โรคฮิสโตพลาสโมซิส

เจาะลึกประสบการณ์ตรงจากผู้เผชิญ “โรคฮิสโตพลาสโมซิส” ปอดติดเชื้อจากต้นไม้

Alternative Textaccount_circle
โรคฮิสโตพลาสโมซิส
โรคฮิสโตพลาสโมซิส

เชื่อว่าหลายคนเพิ่งเคยได้ยินชื่อ “โรคฮิสโตพลาสโมซิส” ครั้งแรกในชีวิต จากเหตุการณ์ที่กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปในโพรงต้นช้างม่วงที่ป่าจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วเกิดอาการติดเชื้อราในปอดกว่า 10 คน หนึ่งในนั้นคือ คุณไอซ์ – ศันสนีย์ เชี่ยววิทย์ ผู้จัดการฝ่ายขายและผู้จัดการแผนกทีมพัฒนาระบบ Mobile Application บริษัทจีเอเบิล จำกัด (มหาชน) บริษัทจัดการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ประกอบการชั้นนำ เธอเป็นคุณแม่สายลุยที่รักธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ ครั้งนี้มาเป็นตัวแทนแชร์ประสบการณ์ “ครั้งหนึ่ง” ที่ต้องเผชิญกับภัยเงียบจากเชื้อราแบบไม่คาดคิด

เจาะลึกประสบการณ์ตรงจากผู้เผชิญ “โรคฮิสโตพลาสโมซิส” ปอดติดเชื้อจากต้นไม้

ทริปอนุรักษ์

“จุดเริ่มต้นของทริปเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนอนุรักษ์ธรรมชาติประมาณ 25 คน ที่ตั้งใจเดินทางไปศึกษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติตามผืนป่าในแต่ละพื้นที่ ของประเทศที่มีความหลากหลายและแตกต่าง โดยถือโอกาสพาลูก ๆ ร่วมทริปไปด้วย ในฐานะเยาวชนที่รู้คุณค่าของธรรมชาติและพร้อมจะสืบสานให้คงอยู่ตลอดไป โดยมีผู้เชี่ยวชาญไปคอยให้ความรู้ ซึ่งทริปก่อนหน้านี้เราไปศึกษาธรรมชาติในป่า ดอยอินทนนท์ที่เป็นปลายสุดของเทือกเขาเอเวอเรสต์ และป่าที่จังหวัดสตูล ซึ่งเป็น ป่าชนิดเดียวกับเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย เราสังเกตได้จากสัตว์และพันธุ์พืช

“สำหรับทริปนี้เราไปช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เดินทางมาที่อุทยาน แห่งชาติน้ำตกโยงและป่าวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นลักษณะผสมของ ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขาที่คงความเป็นผืนป่าดึกดำบรรพ์ให้ศึกษาพรรณไม้และสัตว์ป่า โดยกลุ่มเรามีประมาณ 15 คน นั่งเครื่องจากกรุงเทพฯไปลงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วนั่งรถต่อไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อเข้าไปสมทบกับสมาชิกที่เหลือ ณ ที่พัก ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง

“ทริปนี้เราใช้เวลาทั้งหมด 5 วัน จนถึงช่วงเช้าของวันที่สาม (30 กรกฎาคม 2565) เป็นโปรแกรมเดินป่าเพื่อศึกษาระบบนิเวศ รวมทั้งชมต้นช้างม่วงขนาดใหญ่ ที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นต้นไม้ตระกูลเดียวกับต้นตะแบก อยู่กลางป่าวังหีบ ซึ่งธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ คนในพื้นที่จึงอยากให้พวกเราได้เห็นว่าผืนป่าแห่งนี้ มีของล้ำค่า ควรช่วยกันรักษาไว้

“วันนั้นเรานั่งรถออกจากอุทยานไปประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นต้องเดินเท้า เข้าป่า ถ้าเดินอย่างเดียวน่าจะใช้เวลาไม่เกินชั่วโมง แต่เรามีผู้เชี่ยวชาญมาคอย ให้ความรู้และอธิบายถึงสภาพผืนป่าตลอดเส้นทาง จึงใช้เวลาไปกลับเกินกว่า 3 ชั่วโมง

“อีกทั้งเส้นทางเดินป่านี้ไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วไป จึงต้องมีพรานป่า นำทาง กับมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 2 คนคอยดูแลหัวขบวนและท้ายขบวน การเดินช่วงแรก จะเห็นเป็นเส้นทางเดินเข้าไป จากนั้นเป็นป่ารก พรานต้องคอยใช้มีดถางทางเพื่อ ให้คณะเราเดินได้สะดวก แต่ก็เสียเวลากับการเดินไปแล้วเหมือนมีทางที่จะไปต่อได้ แต่สุดท้ายไปไม่ได้ ต้องเดินย้อนกลับมาใหม่ ต้องปีนป่ายเนินดิน แล้วช่วงที่เรา เข้าไปเป็นหน้าฝน พื้นลื่นมาก เดินลำบากพอสมควร”

โรคฮิสโตพลาสโมซิส

ช้างม่วง…กับดักเชื้อรา

“เรามาถึงต้นช้างม่วงที่มีขนาดลำต้นใหญ่มาก แล้วมีปากโพรงแคบ ๆ ที่สามารถ เบี่ยงตัวเข้าไปได้ทีละคน พรานบอกว่าด้านในเป็นที่อยู่ของพวกค้างคาว เราจึงทยอย เข้าไปชม ซึ่งสามารถเข้าไปได้ประมาณ 4 – 5 คนเลยทีเดียว

“โดยให้เด็ก ๆ เข้าไปดูก่อน ส่วนไอซ์เข้าไปเป็นคนท้าย ๆ ข้างในโพรงมืดมาก ต้องใช้ไฟฉายส่องจึงเห็นค้างคาวกว่า 20 ตัวที่กอดกันกลมแล้วห้อยหัวลงมาจาก ด้านบนของโพรงที่สูงประมาณ 2 เมตร ระหว่างที่พวกเราเข้าออกโพรง ค้างคาว ไม่ได้ตกใจหรือบินหนีเลย และตอนที่อยู่ในนั้นไม่ได้รู้สึกว่าเหม็นหรือมีฝุ่นอะไร ไอซ์เข้าไปไม่ถึง 5 นาทีก็ออกมา แต่มีคุณเก๋และหนุ่มน้อยอีกคนที่ชอบถ่ายภาพ จะเป็นคนที่เข้าไปนานที่สุด ส่วนลูกสาวของไอซ์ขอนั่งรออยู่ข้างนอก เพราะไม่ชอบ อยู่ในที่แคบ สรุปว่ามีคนเข้าไปข้างในโพรงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ประมาณ 10 คน ระหว่างนั้นไม่มีใครมีอาการอะไร ปกติดีทุกอย่าง เราอยู่บริเวณนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ทีแรกตั้งใจเดินสำรวจระบบนิเวศกันต่อ แต่ด้วยสภาพอากาศเหมือนฝนจะลง อาจจะทำให้เดินยากกว่าเดิม จึงตัดสินใจกลับไปทางเดิม”

โรคฮิสโตพลาสโมซิส

พิษ (มูล) ค้างคาว

“พอจบทริปเราแยกย้ายกันกลับบ้าน วันที่ 12 สิงหาคม ไอซ์เริ่มมีอาการ คล้ายเป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวกับคันคอ ไอนิดหน่อยเหมือนมีเสมหะ คืออาการ คล้ายติดโควิด แต่ผลตรวจ ATK ปกติ จึงสรุปว่าตัวเองเป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้ไป หาหมอ แค่กินยาลดไข้กับยาแก้ไอแล้วดื่มน้ำอุ่น แต่สักพักจากเสมหะที่ใสเริ่ม ข้นขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นยาแก้ไอแบบเม็ดฟู่ เสมหะดีขึ้น แต่ยังมีอาการไอแบบกวนใจ ต่ออีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ อาการไอจึงค่อย ๆ ลดลง เหลือแค่มีเสมหะตอนเช้า ผ่านไปสองสัปดาห์ก็หยุดไอ แต่สงสัยว่าทำไมเสมหะไม่หายไปสักที ส่วนลูกสาว ไม่มีอาการอะไร

“ไอซ์ออกกำลังกายด้วยการเล่นโยคะ ช่วงนั้นรู้สึกว่าเหนื่อยเร็วผิดปกติ และง่วงนอนตอนกลางวัน แอบคิดเองว่าคงเพราะตัวเองอายุ 50 ปีแล้ว ประกอบกับ ทำงานหนัก นอนไม่เป็นเวลา จึงไม่ได้สนใจอะไร

“กระทั่งต้นเดือนกันยายน หัวหน้าทริปโทร.มาถามว่าไอซ์ เข้าโพรงต้นช้างม่วงหรือเปล่า มีอาการอะไรไหม เราตอบไปว่า เข้าแป๊บเดียว ไม่มีอาการอะไร ที่ตอบอย่างนั้นเพราะไม่ได้นึกถึง อาการไข้หวัดที่เป็นเลย จนเขาถามต่อว่ามีอาการเป็นไข้หรือ รู้สึกอ่อนเพลียไหม ไอซ์จึงเริ่มหยุดคิดว่าอาการของตัวเองคล้าย ๆ กับที่หัวหน้าทริปพูด

“หัวหน้ากลุ่มจึงเล่าให้ฟังว่า ในคณะมี 2 คนคือคุณเก๋ และหนุ่มน้อยที่ชอบถ่ายภาพที่มีอาการเหมือนเป็นไข้ ไอหนักมาก อ่อนเพลีย คุณเก๋อาการหนักสุด ไม่มีแรงขนาดขับรถส่งลูก ไปโรงเรียนไม่ไหว จึงไปหานายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ คุณหมอ เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แต่ ช่วงนั้นอาจารย์มนูญลาหยุด จึงได้รักษากับคุณหมออีกท่าน จาก อาการเบื้องต้นน่าจะเป็นปอดบวมหรือปอดอักเสบ จึงให้ยากลับมา รับประทานประมาณ 7 วัน แต่ก็ไม่ดีขึ้น จึงกลับไปโรงพยาบาล อีกครั้ง คราวนี้คุณหมอส่งไปเอกซเรย์ปอด ผลคือมีจุดฝ้าขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นเต็มปอดทั้งสองข้าง แล้วลามไปที่ต่อมหมวกไต กับม้าม คุณหมอค่อนข้างมั่นใจว่าคุณเก๋เป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4

“พอดีกับที่คุณหมอมนูญกลับมาออกตรวจที่โรงพยาบาล คุณหมอเจ้าของไข้จึงนำเคสไปปรึกษา คุณหมอมนูญบอกว่าอาการ ยังไม่ค่อยชัด อาจเป็นได้หลายอย่าง จึงซักประวัติเพิ่มเติมว่า ไปไหนมาบ้าง เข้าป่าหรือถ้ำมาหรือเปล่า เมื่อเล่าว่าเพิ่งเข้าไปใน โพรงต้นไม้ที่มีค้างคาว คุณหมอมนูญเริ่มเอะใจ เพราะระยะเวลา จากวันที่เข้าโพรงต้นไม้จนเริ่มมีอาการประมาณ 12 – 14 วัน ซึ่ง 

ตรงกับระยะฟักตัวของเชื้อราในร่างกายพอดี คุณหมอมนูญจึงผ่าตัดชิ้นเนื้อที่ปอดส่งตรวจ ปรากฏว่าคุณเก๋เป็น ‘โรคฮิสโตพลาสโมซิส’ เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราฮิสโต- พลาสมาจากมูลค้างคาวหรือนกบางชนิดเข้าไปแล้วเกิดการแพร่กระจายในอวัยวะภายใน”

โรคฮิสโตพลาสโมซิส

ฮิสโตพลาสมามีจริง

“พอรู้อย่างนั้นหัวหน้าทริปจึงแจ้งกับทุกคนที่เข้าไปในโพรงต้นช้างม่วงให้รีบไป โรงพยาบาลเพื่อเอกซเรย์ปอดโดยด่วน ตอนนั้นไอซ์รู้สึกอึ้ง แต่คิดว่าฉันไม่เป็นหรอก เข้าไปในโพรงแค่แป๊บเดียว แต่เพื่อความสบายใจ จึงเข้าไปตรวจกับคุณหมอมนูญ แอบลุ้น ว่าจะเป็นอะไรไหม ผลคือที่ปอดทั้งสองข้างเกิดฝ้าขนาด 0.4 มิลลิเมตรกระจายไปทั่ว ด้วยไอซ์มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะฆ่าเชื้อราได้ดีเท่ากับ คนอื่น อาจารย์จึงให้รับประทานยาฆ่าเชื้อรา เช้า – เย็น ครั้งละ 2 เม็ด โดยต้องกิน ติดต่อกันเป็นปี แล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้น เท่าที่ทราบทริปนี้มีคนต้องกินยาอยู่ 3 – 4 คน

“ที่น่าสังเกตคือในทริปนั้นมีน้องผู้ชายที่เข้าออกโพรงต้นไม้หลายรอบ แต่ปรากฏว่า พบฝ้าที่ปอดน้อยมาก คุณหมออธิบายว่าร่างกายคนเราสามารถฆ่าเชื้อตัวนี้ออกได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่สุขภาพยังแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ร่างกายก็จะสามารถกำจัดเชื้อรา ออกได้มากกว่าผู้ใหญ่ คุณหมอจึงไม่ได้สั่งยาให้น้องคนนี้เหมือนกับไอซ์ แต่แนะนำให้ ออกกำลังกายเอ๊าต์ดอร์มาก ๆ พยายามสูดหายใจลึก ๆ ให้เต็มปอด ร่างกายจะได้รับ ออกซิเจนเพื่อยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา

“ซึ่งไม่ต่างจากเคสของหนุ่มน้อยที่ชอบถ่ายภาพที่อยู่ในโพรงไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง เขารักษาตัวอยู่อีกโรงพยาบาล คุณหมอที่นั่นวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค เมื่อกินยาอาการ ก็ทุเลา ซึ่งคุณหมอมนูญอธิบายให้ไอซ์ฟังว่าเพราะเขาอายุยังน้อยและร่างกายแข็งแรง จึงสามารถกำจัดฆ่าเชื้อรานี้ได้ เพราะยาวัณโรคไม่สามารถใช้รักษาโรคฮิสโตพลาสโมซิส

“ทุกวันนี้ไอซ์ยังคงมีเสมหะในตอนเช้านิดหน่อย หลังจากนั้นก็โล่งไปทั้งวัน เรียกว่า ลดลงกว่าตอนที่ยังไม่กินยา โดยคุณหมอนัดติดตามอาการทุกเดือน การตรวจครั้งล่าสุด ขนาดฝ้าเล็กลง แต่ยังมีอยู่ทั่วปอดทั้งสองข้าง ปริมาณการแพร่กระจายของเชื้อราลดลง คุณหมอแนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ ได้

“เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อธรรมชาติหรือป่าเปลี่ยนไปในทางไม่ดี ตรงข้ามกลับยิ่งรู้สึกดี เพราะได้รู้ว่าธรรมชาติบ้านเรายังมีจุดที่ระบบนิเวศสมบูรณ์ ส่วนที่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคฮิสโตพลาสโมซิสก็เพราะเราเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ควร จากนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ต้องระวัง หากเข้าไปที่อับชื้นอย่างโพรงต้นไม้หรือถ้ำ ต้องรู้จักดูแล สังเกตอาการตัวเอง อย่าประมาท อะไรก็เกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่คาดคิด” 


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 990

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up