“นมะรักษ์” ตอบโจทย์เพื่อผู้หญิง

ตอนได้ยินชื่อ “โรงพยาบาลนมะรักษ์” (อ่านว่า นะ – มะ – รัก) แรกๆ ก็รู้สึกสะดุดหูแล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นชื่อที่ให้ความรู้สึกใกล้ชิดและอ่อนโยน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้หญิง

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเยาวนุช คงด่าน และ นายแพทย์วลัญช์ วิไลหงษ์ พร้อมด้วย เภสัชกรอรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์ ทั้งสามคนเป็นกลุ่มเพื่อนที่ทำงานแวดวงการแพทย์มานาน มีความคิดและความเชื่อคล้ายกันเกี่ยวกับการบริหารโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางที่ไม่เน้นตัวเลขกำไร แต่เน้นคุณภาพการรักษาและบริการที่เชี่ยวชาญของแพทย์และบุคลากร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การดูแล “ใจ” คนไข้ เสมือนเป็นคนในครอบครัว เพื่อความอุ่นใจของคนไข้ ดังที่ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเยาวนุช เล่ากับ แพรว ว่า

ปั้น “โรงพยาบาลในฝัน” ให้เป็นจริง

“ถ้าย้อนกลับไปดู 20 – 30 ปีที่แล้ว ความสัมพันธ์ของหมอกับคนไข้เหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน หมอรู้จักครอบครัวคนไข้ มีเวลาพูดคุยให้คำปรึกษา ต่างฝ่ายต่างมีปฏิสัมพันธ์กัน การรักษาในตอนนั้นจึงไม่ใช่แค่ดูแลโรคทางกาย แต่ดูแล ‘ใจ’ คนไข้ประกอบด้วย

“ถามว่าการเป็นหมอโรงพยาบาลรัฐทุกวันนี้สามารถทำแบบนั้นได้ไหม คำตอบคือเป็นเรื่องยาก เพราะคนไข้มีจำนวนมาก อย่างช่วงที่หมอตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คนไข้ 60 คน ตรวจ 3 ชั่วโมง เท่ากับต้องตรวจให้ได้ชั่วโมงละ 20 คน มีเวลาให้คนละ 3 นาที การที่หมอจะพูดคุยหรือให้เวลาคนไข้จึงทำได้แค่บางรายที่ซีเรียส หรือถ้าบางคนอยากมีเวลาคุย คนไข้จะตั้งใจรอคิวสุดท้ายเพื่อไม่กวนคนไข้อื่น เคยมีเคสหนึ่งคนไข้เล่าว่า ‘ตั้งแต่ผ่าตัดเต้านม สามีไม่ยอมนอนด้วย’ ซึ่งการรักษามะเร็งเต้านมสมัยนั้น บางรายโชคดีที่ผ่าตัดแล้วสามารถเก็บเต้านมไว้ได้ บางรายต้องผ่าตัดออกไป ทำให้เห็นว่าการมุ่งรักษามะเร็งให้หาย โดยไม่ได้ให้เวลาคนไข้อย่างเพียงพอ ทำให้มีผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของคนไข้ด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หมอและเพื่อน ๆ เริ่มคิดถึงการรักษาที่ไม่ได้เน้นรักษาโรคอย่างเดียว แต่ต้องดูแง่มุมอื่น ๆ ประกอบด้วย 

 “ทุกวันนี้เวลามีคนไข้มะเร็งเต้านมมาพบ หมอถามคนไข้ก่อนเลยว่ามีแฟนมาด้วยหรือเปล่า เพื่อเราจะได้อธิบายให้เข้าใจขั้นตอนการรักษา จะเกิดอะไรกับภรรยาเขาบ้าง อารมณ์จะเป็นอย่างไร เพื่อให้เขาปรับจูนเข้าด้วยกัน ส่วนถ้าต้องตัดเต้านมของคนไข้ หมอเองก็ต้องมีทางออกให้คนไข้ เช่น ทำเต้านมให้ใหม่ 

 “ถ้าไปดูโมเดลโรงพยาบาลในต่างประเทศที่ดูแลคนไข้แบบองค์รวม มีงานวิจัยดี ๆ หลายแห่งโรงพยาบาลเอกชนทั้งนั้น ที่ไม่ได้ทำเพื่อหวังกำไรสูงสุดอย่างเดียว จึงเป็นความฝันของเราสามคนที่อยากทำโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านเต้านมที่ดูแลคนไข้แบบองค์รวม รู้สึกสบายใจในการมารับการตรวจรักษาที่ผสมผสานทั้ง High Technology และ High Touch เข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นต้นแบบโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางตามความฝันของเรา”

ไฮเทค – ไฮทัช … สัมผัสกาย – สัมผัสใจ

 “คนไข้ที่มาตรวจเต้านมกับเราจะได้รับการตรวจด้วยเทคโนโลยีการตรวจเต้านมที่ทันสมัยสุด ๆ ครบ 4 ขั้นตอน 

“เริ่มด้วยการตรวจแมมโมแกรมดิจิตอล 3 มิติ จากนั้นถึงจะตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ที่คุณหมอขยับหัวตรวจไปตามส่วนต่าง ๆ ของเต้านม และการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์อัตโนมัติที่เรียกว่า‘ออโต้สแกน’ สแกนเต้านมทั้งในท่านอนหงายและนอนคว่ำ เพื่อให้ได้ผลการตรวจเต้านมที่ละเอียดยิ่งขึ้นเป็นการรีเช็ก หรือมีจุดไหนที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษก็จะได้พบแต่เนิ่น ๆ หรือถ้าต้องผ่าตัด เราเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวที่มีเครื่องฉายแสงในห้องผ่าตัด

“ส่วนคุณหมอที่ให้การรักษาล้วนแต่เป็นแพทย์เฉพาะทาง หรือ Super Specialist ที่ดูแลรักษาและผ่าตัดเต้านมโดยเฉพาะ ต้องยอมรับว่าคนไข้โรคมะเร็ง ไม่เหมือนคนไข้โรคหวัดที่พูดคุยกับหมอผ่านหน้าจอ หรือใช้ AI หรือแชตบอตตอบคำถามได้ แต่คนไข้มะเร็งต้องการกำลังใจ การใส่ใจ ได้พูดคุยกับหมออย่างใกล้ชิด ที่นี่จึงพร้อมให้คำปรึกษา จะอินบ็อกซ์หรือแวะมาหาที่โรงพยาบาลเพื่อพูดคุยแบบเพื่อนก็ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกับการรักษา

 “ลองนึกภาพว่าคนไข้ต้องเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจ ซึ่งบางคนอาจยังไม่พร้อมหรืออยากขอเวลาทำใจ เราก็จะปล่อยให้คนไข้พัก โดยมีหมอไปพูดคุยสอบถามคนไข้ว่ามีปัญหาอะไร ทำให้เราเข้าใจข้อจำกัดคนไข้มากขึ้น เพราะแค่พูดคุยในห้องตรวจ เราอาจได้ข้อมูลนิดหน่อย ส่วนข้อมูลทางใจส่วนใหญ่มักได้จากการคุยกันนอกห้องตรวจ เราจึงดีไซน์บรรยากาศโรงพยาบาลให้คล้ายเป็น Co-working Space ให้คนไข้เลือกนั่งได้ตามสบาย 

“ความใส่ใจนี้ยังรวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น มีคุณแม่ให้นมลูกคนหนึ่ง อยู่ ๆ ท่อน้ำนมตัน ทั้งที่ไม่ใช่คนไข้ของเรา ไม่เคยรู้จักกัน เคยแต่คุยผ่านเฟซบุ๊กโรงพยาบาล หมอบอกคนไข้มาพบที่โรงพยาบาลตอนสี่ทุ่ม และจัดการขยายท่อน้ำนมให้เขาเสร็จสรรพโดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย คุยไปคุยมา ทุกวันนี้กลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว อย่างทุกวันนี้เป็นโลกออนไลน์ มีคนไข้จากนราธิวาสอินบ็อกซ์มาถาม ซึ่งก็ตอบได้เท่าที่มีข้อมูล อาจไม่เคลียร์ทั้งหมด แต่อย่างน้อยทุกคนสบายใจว่ามีคนให้คุยด้วย ซึ่งปัญหาการรักษามะเร็งเต้านมเวลานี้คือ คนไข้ขาดข้อมูล ทุกข์แล้วไม่รู้จะคุยกับใคร จึงไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนไข้ที่รักษากับนมะรักษ์เท่านั้นถึงจะปรึกษาได้ ถ้ามีข้อข้องใจ สงสัย ไม่รู้จะถามใคร ปรึกษาเราได้ตลอดเวลา”

“ภาวะทางใจ” ที่ต้องเข้าใจคนไข้มะเร็ง

“บ่อยครั้งที่หมอและคนในครอบครัวคนไข้ที่เป็นมะเร็งคุยกันแล้วไม่เข้าใจ จนนำไปสู่ความ

ขัดแย้ง นั่นเป็นเพราะเมื่อคนไข้รับข่าวครั้งแรกจะมีกลไกทางจิตวิทยาที่ปฏิเสธทุกอย่าง ไม่ยอมรับความจริง เพราะสมองปิดกั้นการรับรู้ จนกลายเป็นว่าหมอแนะนำอะไรไปแล้วเขาจำไม่ได้ 

“พอผ่านเฟสนี้ไปแล้ว คนไข้จะรู้สึกโกรธ หงุดหงิด โทษทุกคนรอบตัว หมอไม่ดี สามีไม่ดี ถ้าเราไม่เข้าใจอารมณ์ผู้ป่วยเฟสนี้ จะหงุดหงิดว่าทำไมคนไข้เถียงทุกอย่าง คุยแล้วไม่เข้าใจ การรักษาคนไข้โรคมะเร็งจึงไม่ได้อยู่ที่ความรู้ทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจกลไกทางจิตใจด้วยว่าอารมณ์คนไข้อยู่เฟสไหน กว่าจะถึงเฟสสุดท้ายที่ยอมรับและร่วมมือในการรักษา การทำความเข้าใจอารมณ์เฟสต่าง ๆ เหล่านี้ยากกว่าการผ่าตัดหรือให้เคมีบำบัดเสียอีก แต่ถ้าหมอทำความเข้าใจคนไข้และครอบครัวทุกคนช่วยประคับประคองผ่านอารมณ์ช่วงต่าง ๆ ไปได้ผลการรักษาจะดี”

ทั้งหมดนี้จึงเป็นความตั้งใจของกลุ่มหมอที่เชี่ยวชาญการรักษามะเร็งเต้านมมากว่า 20 ปี ที่ต้องการสร้างโรงพยาบาลในอุดมคติให้เป็นจริง พร้อมปณิธานที่จะทำหน้าที่แพทย์สุดความสามารถ

“เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน และเพื่อประโยชน์คนไข้เป็นสำคัญ”

 

สามารถดูข้อมูลโรงพยาบาลนมะรักษ์เพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2OTYuQt

Praew Recommend

keyboard_arrow_up