Neonatologist คุณหมอผู้ชำนาญการทารกแรกเกิดเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

“เนื่องจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้” คุณแม่ที่ตั้งครรภ์และคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรหลายท่านจึง มักจะมีความกังวลใจเรื่องความปลอดภัย  โรคภัยไข้เจ็บ หรือความผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และความกังวลเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการตั้งศูนย์เวชศาสตร์มารดาเเละทารกปริกำเนิด (Perinatal Center) และหน่วยทารกแรกเกิด (Neonatal Service) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อคอยดูแลคุณแม่ตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์จนถึงทารกคลอด โดยมี ศ.พญ.อรดี จันทวสุ หัวหน้าหน่วยทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จะมาไขข้อสงสัยและบอกกล่าวถึงความสำคัญของศูนย์เวชศาสตร์มารดาเเละทารกปริกำเนิด (Perinatal Center) รวมทั้งแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) 

ศูนย์เวชศาสตร์มารดาเเละทารกปริกำเนิด (Perinatal Center) คืออะไร

ศูนย์เวชศาสตร์มารดาเเละทารกปริกำเนิด เป็นศูนย์บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติของทั้งมารดาและทารกในครรภ์ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ กับแพทย์ผู้ชำนาญการด้านทารกแรกเกิด โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้การดูแลทารกแรกเกิดตั้งแต่ระดับปกติจนถึงทารกแรกเกิดวิกฤต ซึ่งสามารถแบ่งมาตรฐานการดูแลเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 

  • Level1 (Well newborn nursery) การดูแลทารกที่คลอดตามกำหนด และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ
  • Level 2 (Special care nursery) การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด หรืออายุครรภ์มากกว่าหรือเท่ากับ 32 สัปดาห์ น้ำหนักตัวเด็กมากกว่าหรือเท่ากับ 1,500 กรัม ที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน หรือทารกที่มีอาการคงที่หลังออกจาก NICU
  • Level 3 (NICU) คลอดก่อนกำหนดโดยมีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ น้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัมมีการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดต่าง ๆ รวมถึงแก๊ส Nitric Oxide หรือทารกที่ต้องการการดูแลจากกุมารแพทย์เฉพาะทาง เช่น แพทย์ผ่าตัดเด็ก แพทย์วิสัญญีเด็ก แพทย์เฉพาะทางตาเด็ก
  • Level 4 (Regional NICU) การดูแลตาม Level 3 และยังมีศักยภาพในการรับย้ายผู้ป่วยที่มาจากโรงพยาบาลอื่น ๆ หรือแม้แต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากต่างประเทศก็สามารถทำได้ด้วย NICUของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีครบทุก Pediatric Surgical Sub-specialty (ผ่าตัดหัวใจ สมอง และอื่น ๆ ) รวมถึงเครื่องมืออย่าง ECMO หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด   Labแบบ Micro Technique ซึ่งใช้เลือดน้อยมาก ๆ เด็กจะได้ไม่เกิดอาการตัวซีดจากการเสียเลือด และทราบผลตรวจได้รวดเร็ว ส่วนเครื่องเอ็กซเรย์ก็ต้องเป็นแบบเคลื่อนย้ายได้เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรักษา

Neonatal Service ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ – ความพร้อมที่แตกต่าง

เตรียมความพร้อมตั้งแต่แรกคลอด

เพราะช่วงเวลา 10 นาทีแรกหลังคลอด (First Golden Minutes) เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ในแต่ละเสี้ยววินาทีอาจหมายถึงชีวิตและความปลอดภัยของทารกและคุณแม่ ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ให้แผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) ห้องคลอด และห้องผ่าตัดสำหรับทารกโดยเฉพาะ อยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเคลื่อนย้ายและเพิ่มความสะดวกในการดูแลอย่างใกล้ชิด หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า ช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตหรือไม่ให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้นได้นั่นเอง     

การดูแลทารกหลังคลอด

เพราะทารกแรกคลอดไม่เหมือนกับเด็กเล็กหรือเด็กโต ดังนั้นบุคลากรจะต้องมีความชำนาญการเฉพาะด้านในการดูแลทารกหลังคลอดโดยเฉพาะ (Newborn Service) และมีการทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพ โดยทารกแรกคลอดจะย้ายจากห้องคลอดมาที่แผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) ที่อยู่ติดกัน ทารกที่ปกติดี จะถูกแยกไปห้องรับทารกคลอดใหม่ เพื่อสังเกตอาการหลังคลอด ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง โดยมีพยาบาลคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เมื่ออาการคงที่แล้วจะย้ายไปที่แผนก Nursery เพื่อให้ใกล้ชิดกับคุณแม่ที่พักอยู่ในห้องพักโซนเดียวกัน แต่ถ้าเป็นทารกที่มีความผิดปกติ จะถูกพาไปที่ห้องทารกป่วยกึ่งวิกฤตหรือห้องทารกป่วยวิกฤตทันทีแล้วแต่อาการและสภาวะของทารก นอกเหนือจากพื้นที่ในการใช้งานแล้ว เรายังมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยสำหรับทารกที่มีอาการวิกฤต เช่น เครื่องช่วยหายใจทั้งชนิดปกติและชนิดความถี่สูง เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)  เทคโนโลยีในการตรวจวัดผลเลือดสำหรับทารกแบบ Micro Technique ใช้เลือดทารกประมาณ 1-2 หยด โดยทั้งหมดนี้สามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์มาทำที่ข้างเตียงทารกได้เลย ไม่ต้องเคลื่อนย้ายทารกไปที่อื่นและรู้ผลได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีห้องผ่าตัดสำหรับผ่าตัดรวมถึงผ่าตัดหัวใจเด็กเล็ก เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้มากที่สุด

การบริการเหนือระดับ

โรงพยาบาลพร้อมให้คำปรึกษาในทุก ๆ ด้าน (Complete Panel of Consultants) เพราะความเข้าใจของพ่อแม่ย่อมมีส่วนสำคัญในการรักษาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทีมแพทย์ เราจึงไม่ละเลยเรื่องการดูแลเอาใจใส่ทั้งร่างกายและจิตใจของคุณพ่อ คุณแม่ และลูกน้อย โรงพยาบาลมีห้อง Private ในแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU)  ห้องเดี่ยวส่วนตัว ที่สามารถให้คุณพ่อคุณแม่ได้อยู่ร่วมกันกับลูกตลอดเวลาและมีส่วนร่วมในการเลี้ยงและดูแลลูกพร้อมกันกับพยาบาล 1 – 2 คน ขึ้นอยู่กับอาการของทารก นอกจากนี้ยังมี Family Room ให้คุณแม่มาอยู่ค้างคืนกับลูกก่อนจะกลับบ้าน เพื่อเป็นการให้คุณแม่ฝึกเลี้ยงดูลูก และเพิ่มความมั่นใจให้คุณแม่ว่าจะสามารถดูแลลูกได้หลังจากกลับบ้านแล้ว นอกจาก 2 ห้องที่พูดถึงแล้วใน NICU ของเรายังมีห้อง NegativePressure room เพื่อใช้ในการดูแลทารกที่ติดเชื้ออีกด้วย

ทีมเวิร์คและบุคลากรคือหัวใจสำคัญของทุกชีวิต

ศูนย์เวชศาสตร์มารดาเเละทารกปริกำเนิด (Perinatal Center) และแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้ความสำคัญกับทีมเวิร์คหรือทีมบุคลากรสหสาขาวิชาชีพเป็นอย่างยิ่ง ให้มีความพร้อมในการทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดแผนการรักษา รวมถึงการพูดคุยและทำความเข้าใจกับคุณพ่อคุณแม่ถึงภาวะความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นว่าลูกเป็นอะไรและอาจจะต้องเผชิญอะไรในอนาคต ทั้งนี้เพื่อการวางแผนการรักษาร่วมกันให้เกิดความปลอดภัยอย่างสูงสุด

ในส่วนแรกเป็น ทีมแพทย์ที่มีความชำนาญการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสูติแพทย์ผู้ชำนาญการสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการสาขากุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิด (แพทย์เฉพาะทางการดูแลรักษาทารกที่มีภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด) วิสัญญีแพทย์ผู้ชำนาญการสำหรับการดูแลหญิงตั้งครรภ์และทารกหลังคลอด แพทย์ผู้ชำนาญการโรคพันธุกรรม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านพยาธิวิทยาและห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีแพทย์ผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจเด็ก แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคต่อมไร้ท่อ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโลหิตวิทยาและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคข้อและกระดูก 

อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ทีมพยาบาล‘  จะต้องมีความชำนาญการเฉพาะทางด้านทารกแรกเกิด  โดยจะต้องผ่านการฝึกอบรมจากโรงพยาบาลก่อน และไปสอบทางด้าน neonatal practitioner  course เพื่อให้ได้รับใบประกาศนียบัตรเฉพาะทาง จนเกิดความชำนาญเพราะเด็กทารกกับเด็กโตต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน  นอกเหนือจากพยาบาลดูแลทารกแรกเกิดโดยเฉพาะแล้ว ทีมพยาบาลร่วมยังต้องมีความชำนาญในการดูแลคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างคลอดทีมพยาบาลผู้ประสานงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  และมีบุคลากรอื่นที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการทางห้องปฏิบัติการ เภสัชกรที่ได้รับการอบรมด้านเด็กและทารกแรกเกิดโดยเฉพาะ และนักกิจกรรมและกายภาพบำบัดของทารกอีกด้วย

นาทีวิกฤติที่แสนประทับใจของ ศ.พญ.อรดี จันทวสุ 

ความจริงแล้วเราผ่านคนไข้ยาก ๆ และน่าจดจำมากมายที่เข้ามารับการรักษา   ไม่ว่าจะเป็นทารกที่คลอดน้ำหนักน้อยเพียง 700-800 กรัม หรือทารกที่มีภาวะลำไส้อยู่ในทรวงอก ลำไส้อุดตัน ซึ่งถือเป็นคนไข้ที่ยากและมีความเสี่ยงสูงมาก แต่อยากจะขอเล่าเรื่องราวของคนไข้ล่าสุดซึ่งเป็นคนไข้จากต่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่มาฝากครรภ์ที่นี่ละกันค่ะ

เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝดมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติ ซึ่งเคสนี้แม่ตั้งครรภ์แฝดจะมาคลอดที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แต่ไม่ทัน แฝดคนหนึ่งเสียชีวิต ส่วนอีกคนมีชีวิตอยู่แต่น้ำหนักน้อยเพียง 780 กรัม มีปัญหาทางระบบหายใจ เราต้องรีบไปรับคนไข้เพื่อนำมาดูแลรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหมอและทีมในแผนก NICU  ในการเตรียมการเพื่อรับย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่น แต่ด้วยที่จังหวัดนั้นไม่มีสนามบินจึงต้องบินลงที่จังหวัดใกล้เคียงแทน จะต้องเตรียมในการประสานงานกับทุกฝ่าย ตั้งแต่จัดเตรียมรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อไปรอที่โรงพยาบาลปลายทางที่ทารกอยู่ในตอนกลางคืน  ส่วนหมอกับพยาบาลบินไปตอนเช้า และทำงานร่วมกับทีมที่ไปรอเพื่อรับทารกกลับมาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์   

ทารกรายนี้มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Distress Syndrome) ภาวะนี้เกิดในทารกที่คลอดก่อนกำหนด  เกิดจากโครงสร้างปอดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์และไม่ทันสร้างสารสร้างแรงตึงผิวขึ้นในถุงลมและทารกคนนี้ยังมีอีกปัญหาทางปอด เรียกว่า Congenital Chylothorex เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของท่อน้ำเหลืองในปอดทำให้น้ำเหลืองท่วมปอด สุดท้ายทารกสามารถมีชีวิตรอดปลอดภัยและกลับภูมิลำเนาสู่อ้อมอกคุณพ่อคุณแม่ด้วยความอบอุ่น 

เราจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ด้วยความชำนาญการเฉพาะทางและความร่วมมือร่วมใจของสหสาขาวิชาชีพในศูนย์เวชศาสตร์มารดาเเละทารกปริกำเนิด (Perinatal Center) และแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ที่จะมีบทบาทสำคัญในการดูแลลูกน้อยร่วมกัน ก็ทำให้ชีวิตของเจ้าตัวน้อยปลอดภัยและกลับสู่อ้อมอกได้อย่างมีความสุข

Praew Recommend

keyboard_arrow_up