เปิดประสบการณ์แผนก ICU ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด นพ. วรกิจ เฉลิมสกุลรัตน์ อายุรแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤตและโรคปอด หัวหน้าหน่วยเวชบำบัดวิกฤต  โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ใครที่เคยมีประสบการณ์กับแผนก ICU ไม่ว่าจะเป็นตัวคนไข้เอง ญาติคนไข้ หรือแม้แต่ผู้ไปเยี่ยมคนไข้ มักจะเกิดอาการใจคอไม่ดีเมื่อต้องไปเยือนแผนกนี้ ซึ่งความจริงแล้วหากได้รู้จักและเข้าใจแผนก ICU มากขึ้น จะเข้าใจว่าแผนกนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ซึ่ง นพ.วรกิจ เฉลิมสกุลรัตน์ อายุรแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤตและโรคปอด หัวหน้าหน่วยเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่มีประสบการณ์ในแผนก ICU มามากกว่า 15 ปี จะเป็นผู้เปิดประสบการณ์แผนก ICU ให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น

“เมื่อพูดถึงแผนก ICU หลายคนมักจะคิดถึงผู้ป่วยอาการหนักที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเท่านั้น แต่ภายใต้ความเสี่ยงนั้นก็มีโอกาสพลิกฟื้นชีวิตได้จากบุคลากรที่มีความชำนาญในขั้นสูง การทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ และเครื่องมือรักษาที่ทันสมัยภายใต้มาตรฐานสากลของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์”

แผนก ICU ทำหน้าที่อะไร

“แผนก ICU ทำหน้าที่รองรับและดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมถึงมีภาวะหรือความเสี่ยงต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญล้มเหลวได้ เช่น ความดันตกอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถหายใจเองได้โดยปราศจากเครื่องช่วยหายใจ หรือคนไข้ที่มีความเสี่ยงว่าอาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งบุคลากรในแผนก ICU ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จะปฏิบัติงานร่วมกันในการประคับประคองการทำงานของอวัยวะสำคัญให้พ้นจากอาการหนักตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางผู้ป่วยวิกฤตโดยตรง ทีมพยาบาลผู้มีความชำนาญพิเศษในการดูแลผู้ป่วยหนัก และผู้ชำนาญการเฉพาะทางในสาขาต่างๆ”

หัวใจหลักของแผนก ICU 

“หลายคนมักเข้าใจผิดว่าหัวใจหลักของแผนก ICU ขึ้นอยู่กับทีมแพทย์เท่านั้น แต่ความจริงแล้วต้องขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ บุคลากรที่มีความชำนาญในขั้นสูง เครื่องมือนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำงานประสานกันอย่างมีระบบ ได้มาตรฐานแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยวิกฤตได้มีโอกาสกลับสู่ภาวะปกติมากที่สุด”

การทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ

“เมื่อพูดถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ คือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยหนัก ซึ่งแผนก ICU ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีบุคลากรที่มีความชำนาญในขั้นสูงด้านต่างๆ ประจำแผนก ICU ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะคนไข้แผนกวิกฤตมีความซับซ้อน สามารถอาการทรุดลงหรือหัวใจหยุดเต้นได้ทุกเมื่อ จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของหลายๆ สาขามารวมกัน เช่น คนไข้บางรายอาจมีอาการหรือโรคหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้แผนก ICU จึงมีทีมสหสาขาวิชาชีพที่คอยประสานงานในการดูแลคนไข้ เช่น แพทย์เฉพาะทาง ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบประสาทและสมองเป็นต้น รวมถึงพยาบาลในแผนกก็ต้องทำงานประสานกันตลอด 24 ชั่วโมง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพที่เข้ามาช่วยดูแลคนไข้ เพื่อช่วยเสริมการรักษาให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งในคนไข้ส่วนใหญ่จะมีสายเครื่องมือระโยงระยาง ขณะทำกายภาพอาจมีความเสี่ยงทำให้สายเครื่องหลุดได้ การทำงานร่วมกับบุคลากรอื่นๆ อย่างเป็นทีม จะทำให้คนไข้ได้รับความปลอดภัยมากที่สุด”

นอกจากนี้ก่อนแพทย์จะสั่งยาสามารถประสานงานร่วมกับเภสัชกรซึ่งมีอยู่ภายในแผนก ICU ได้ทันที เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าจะใช้ยาตัวไหน ปริมาณเท่าไรได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และโอกาสผลข้างเคียงน้อยที่สุด

เครื่องมือนวัตกรรมทางการแพทย์ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

“แม้ว่าเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความทันสมัยย่อมจะมีส่วนช่วยในการรักษาให้คนไข้พ้นจากภาวะวิกฤต แต่บุคลากรที่มีความชำนาญขั้นสูงในการใช้เครื่องมือก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน โดยทุกเครื่องมือจะต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน มีการจัดเก็บที่เป็นระบบระเบียบเพื่อพร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และยังต้องมีจำนวนเพียงพอต่อการใช้งานอยู่เสมอ ตั้งแต่เครื่องมือชิ้นใหญ่ๆ ตลอดจนส่วนประกอบเล็กๆ ก็ต้องเตรียมพร้อมอย่าได้ขาด เพื่อให้คนไข้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเครื่องมือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น เครื่อง CT Scan มีพร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้อ่านค่าจากเครื่องสแกนพร้อม 24 ชั่วโมงเช่นกัน เพื่อให้แพทย์พร้อมทำการรักษาทุกเมื่อ”

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยสู่แผนก ICU

“สำหรับกรณีการย้ายคนไข้จากแผนกฉุกเฉินหรือแผนกอื่นๆ ภายในโรงพยาบาล จะต้องได้รับคำสั่งแพทย์ก่อนเท่านั้นถึงจะทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาแผนก ICU ได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีความเตรียมพร้อมย้ายคนไข้อาการหนักตลอด 24 ชั่วโมง

     
“แต่หากเป็นการเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลอื่นๆ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรหรือเครื่องมือไม่เพียงพอก็ตาม หลายคนมักเข้าใจผิดว่าต้องรีบเคลื่อนย้ายให้เร็วที่สุด แต่ความจริงแล้วความปลอดภัยที่สุดสำคัญกว่าครับ โดยแพทย์จะให้คำปรึกษาในการดูแลและประคับประคองอาการคนไข้ให้มีอาการคงที่และมีภาวะแทรกซ้อนจากการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุดก่อน หรือบางกรณีแพทย์อาจจะต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลต้นทางเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนย้ายคนไข้ด้วย”

“และเมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทีมแพทย์จะเริ่มจากรักษาอาการคนไข้ ณ ปัจจุบันให้มีอาการและความดันโลหิตคงที่ก่อน จากนั้นค่อยทำการวินิจฉัยโรค เพราะหลายครั้งที่แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นอะไรมา รู้เพียงแค่ว่าอาการเป็นอย่างไร แพทย์ก็ต้องทำการสืบค้นถึงสาเหตุของอาการ และทำการเฝ้าระวังและรักษาอาการตามลำดับเช่นเดียวกับการย้ายคนไข้ภายในครับ”

การสื่อสารและข้อมูลอาการป่วย

“ทุกการสื่อสารล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าเป็นการสื่อสารภายในองค์กร หรือการสื่อสารระหว่างแพทย์กับคนไข้และญาติก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะการที่คนไข้และญาติได้รับความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ก็สามารถช่วยเหลือแพทย์ในการรักษาได้อีกทางหนึ่ง 

“โดยภายในแผนก ICU มีการเตรียมห้องประชุมไว้รองรับสำหรับทีมแพทย์และญาติคนไข้ ซึ่งเป็นห้องปิดมิดชิด ไม่มีเสียงรบกวน เพื่อให้แพทย์ได้ให้ข้อมูลการรักษา โรคและอาการแก่ญาติคนไข้ รวมถึงญาติคนไข้ที่ต้องการประชุมกันเพื่อเป็นการไม่รบกวนคนไข้ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์ คนไข้ และญาติคนไข้ จะช่วยให้ได้บทสรุปในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย”

ICU ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

“ในฐานะที่ผมทำงานในแผนก ICU มานานกว่า 15 ปีแล้ว มุมมองของผม แพทย์จะต้องรักษาคนไข้อย่างสุดความสามารถอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวคนไข้เองด้วย เพราะแม้จะเจ็บป่วยจากโรคหรืออาการเดียวกัน ผลลัพธ์ในการรักษาก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป ซึ่งถือเป็นความท้าทายของผมในการรักษาคนไข้อย่างไม่ย่อท้อ เพื่อให้คนไข้มีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด

“ถึงแม้คนไข้จะมีโอกาสเพียงเล็กน้อย แต่ผมและทีมทุกคนจะทำทุกอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ มีหลายครั้งที่ผมเจอญาติคนไข้หมดกำลังใจไปแล้ว แต่ด้วยการทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ บุคลากรที่มีความชำนาญในขั้นสูง เครื่องมือนวัตกรรมทางการแพทย์ที่พร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ก็ช่วยให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันรักษาคนไข้อย่างเต็มที่จนคนไข้อาการดีขึ้นก็มีไม่น้อย”

“ผมอยากให้ทุกคนมองภาพของแผนก ICU ว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ผมว่าความกลัวเกิดจากความไม่รู้มากกว่า ซึ่งเราพร้อมจะให้ข้อมูลและทำการรักษาอย่างเต็มที่ โดยญาติและคนไข้สามารถออกความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ของ ICU ให้ดีขึ้น เพียงแค่ทุกคนเข้าใจกันครับ”

Praew Recommend

keyboard_arrow_up