ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 9 พระอัจฉริยภาพ แห่งแรงบันดาลใจ

ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยได้ประจักษ์ถึง พระอัจฉริยภาพหลากหลายด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ นิตยสาร แพรว ได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญ 9 ท่านที่เป็นตัวแทนบอกเล่าพระอัจฉริยภาพ 9 ด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนชีวิตและความคิดให้แก่บุคคลเหล่านี้ รวมถึงคนไทยทุกคน

พระอัจฉริยภาพด้านศาสนา

พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเจ้าคณะภาค 2 เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารกรรมการมหาเถรสมาคม

1-1“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระปฐมบรมราชโองการในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 คือแสงทองแรกของแผ่นดินนี้ โดยพระราชาที่พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่าทรงเป็นต้นแบบที่หาได้ยากยิ่ง

“บุคคลที่เป็นอัจฉริยะคือ ผู้ที่สามารถบูรณาการความรู้ต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถนำสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น นำวิทยาศาสตร์มาเชื่อมโยงกับศาสนาได้อย่างกลมกลืน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะหาใครเป็นแบบนั้น แต่บุคคลหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

“สิ่งหนึ่งที่อาตมาประทับใจในพระอัจฉริยภาพของพระองค์คือ พระราชนิพนธ์ที่เกี่ยวกับศาสนาเช่น พระมหาชนก ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจในศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทั้งที่ต้นฉบับเป็นภาษาสันสกฤตและมีขนาดยาว แต่ทรงแปลและทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ด้วยความไพเราะทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังทรงเสนอมุมมองใหม่ ๆ อันรวมถึงพระบรมราโชวาทที่ทรงนำธรรมะไปปรับใช้แล้วพระราชทานแก่ประชาชนอย่างแนบเนียนและกลมกลืน

“แม้แต่การปกครองของพระองค์ก็สะท้อนอยู่ในทศพิศราชธรรม ดังพระปฐมบรมราชโองการ ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ และตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ ทรงแสดงให้ทุกคนประจักษ์ชัดแล้วว่า พระราชจริยวัตรของพระองค์ทรงอยู่ในธรรม ไม่เคยคลาดเคลื่อนแม้แต่น้อย

“หากยกตัวอย่างทศพิศราชธรรมข้อแรกคือ ทาน ถ้าเราทำบุญก็เป็นทานส่วนตน แต่ทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ อันเป็นที่มาของโครงการตามแนวพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ นี่คือเหตุผลว่าในรัชกาลปัจจุบัน ถ้าประชาชนคิดถึงในหลวง ต้องทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล ตั้งแต่การบวช ปลูกป่า รักษาสิ่งแวดล้อม จะมีใครในโลกที่สามารถทำให้คนอยากทำความดีได้พร้อมเพรียงกันขนาดนี้

“ทรงเป็นต้นแบบที่มีพลานุภาพ และทรงเป็นผู้นำที่อยู่ในใจของผู้คนอย่างแท้จริง”

พระอัจฉริยภาพด้านเศรษฐศาสตร์

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

2-1

แม้จะเกษียณมา 17 ปีแล้ว แต่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลยังคงถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจอย่างที่สุด

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ให้และนึกถึงผู้อื่นตลอดเวลา ตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนมาจะลงทุนอะไรต้องยึดหลักผลตอบแทนว่า ทำแล้วได้กำไรหรือเปล่า แต่ในสายพระเนตรของพระองค์ท่าน หลายสิ่งตีค่าเป็นเงินไม่ได้ พระองค์ท่านเคยตรัสกับผมว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เราตีราคาไม่ได้หรอก คนไม่ใช่วัตถุช่วยได้เท่าไหร่ก็ต้องช่วย เพื่อให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์พระราชดำรัสนี้สวนทางกับกระแสสังคมในปัจจุบันที่นิยมเงินและวัตถุ กอบโกยทุกอย่างจากประเทศชาติโดยลืมไปว่าตัวเองก็ยืนอยู่บนผืนดินนั้นด้วย และที่สำคัญคือ ลืมไปว่าลูกหลานที่รับช่วงต่อเขาจะอยู่กันอย่างไร

“ในปีที่เริ่มเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2539 พระองค์ท่านทรงสอนหลักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเกิดการถกเถียงกันเยอะ นักวิชาการบางคนสรุปไปว่าเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสำหรับคนยากจน แต่ที่จริงแล้วเหมาะสำหรับคนทั้งโลก โดยยึดหลักของความพอประมาณใช้ให้พอดีกับความต้องการของตัวเอง คำว่าพอเพียง ไม่ได้หมายถึงต้องนุ่งผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง พระองค์ท่านตรัสว่าขับรถเบนซ์ก็ได้ ดูทีวีจอโต ๆ ก็ได้ แต่ต้องไม่กู้เงินใครเขามา มีเงินแค่ไหนก็ควรกินอยู่แค่นั้น

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งกับผมตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปถวายงานว่า ‘ไม่มีอะไรจะให้นะ นอกจากความสุขที่ได้ร่วมกันทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น’ ประโยคนี้กลายเป็นกุญแจสำคัญในชีวิต แม้มีเงินร่ำรวย แต่ต้องนอนอยู่ในไอซียูจะมีความสุขอะไร ต่างจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่กลับมอบความสุขใจ

“ผมจึงภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็น 1 ใน 65 ล้านคนที่มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่านครับ”

พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา

ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดา

3ท่านผู้หญิงทำงานที่โรงเรียนจิตรลดามานานเกือบ 6 ทศวรรษแล้วและท่านยังคงยึดมั่นในพระบรมราโชบายด้านการศึกษาที่ได้พระราชทานไว้เป็นแนวทางตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียน

“ดิฉันภาคภูมิใจที่ได้เคยถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งก่อตั้งมาครบ 60 ปี แล้ว โดยมีท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งโรงเรียนจิตรลดาเริ่มมีชั้นอนุบาลที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงเป็นนักเรียนจิตรลดาพระองค์แรก ต่อมาใน พ.ศ. 2500 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้าศึกษาในชั้นอนุบาล ท่านผู้หญิงทัศนีย์ได้เรียกให้ดิฉันเข้ามาช่วยถวายการสอนและเป็นครูประจำชั้น

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและละเอียดอ่อนทางด้านการศึกษา พระองค์ทรงวางรากฐานเริ่มแรกว่า เด็กเพิ่งมาจากบ้าน อย่าบังคับ ครูควรทำให้เด็กรู้สึกว่าที่โรงเรียนเหมือนบ้านหลังที่สอง และดูแลเขาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งหัดให้เด็กดูแลตัวเองได้รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและรู้จักระเบียบวินัย ถ้าหัดได้อย่างดี เด็กก็จะจำและนำไปใช้จนเป็นผู้ใหญ่ และจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป นักเรียนในชั้นสูงขึ้น ทรงเน้นว่าไม่ควรเรียนเฉพาะในหนังสือ แต่ควรมีความรู้รอบตัวด้วย พระองค์ท่านจะเสด็จฯมาทอดพระเนตรการสอน การตรวจสมุดแบบฝึกหัดของครู พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายและพระราชดำริอย่างใกล้ชิด

“พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรส พระราชธิดาได้เข้าพระทัยสภาพแวดล้อมภายนอกและปัญหาของผู้อื่น ฉะนั้นเด็กที่เข้ามาเรียนร่วมในชั้นเดียวกันจะมีหลายสถานภาพ ในชั้นเรียนของทูลกระหม่อมหญิงมีพระสหายร่วมชั้นเรียน ซึ่งมาจากครอบครัวต่างสถานภาพ และในชั้นเรียนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯก็เช่นเดียวกันทรงมีพระบรมราโชบายไม่ให้ครูถวายสิทธิพิเศษแด่พระราชโอรสพระราชธิดา เพื่อจะได้ทรงวางพระองค์อย่างถูกต้อง มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบ

“พระราชวิสัยทัศน์อีกประการหนึ่งคือ มีรับสั่งอยู่เสมอว่า คนเรามีความรู้ความสามารถไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องดูความถนัดของแต่ละบุคคลหาสิ่งที่เขาถนัดมาให้ศึกษา ทั้งที่ตอนนั้นเมื่อหกสิบปีที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้เน้นเรื่องเหล่านี้ ทรงทอดพระเนตรผลการศึกษาแต่ละวิชาของนักเรียนจิตรลดาด้วยพระองค์เองเสมอ และต่อมาในปี 2526 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นองค์บริหารโรงเรียนจิตรลดา

“ทุกวันนี้โรงเรียนจิตรลดายังคงยึดมั่นในพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสมอมา ปัจจุบันความรู้ก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ก็ต้องใช้ความรู้ให้เป็น

“ถ้าใช้ถูกต้องจะเป็นคุณมหาศาลในการดำรงชีวิต เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติอย่างยิ่ง”

พระอัจฉริยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช

4พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีความห่วงใยเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกร โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ดังที่มีรับสั่งว่า “…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติก็คือ พลเมืองนั่นเอง…”

“ตามที่ผมสังเกต แม้พระองค์ท่านจะมีพระราชภารกิจมากมายในทุกด้าน แต่เรื่องการแพทย์และสาธารณสุขนั้นทรงมีความห่วงใยในสุขอนามัย ความเป็นอยู่ของประชาชนเสมอ เมื่อก่อนเวลาเสด็จฯที่ไหนที่ยังไม่มีหน่วยแพทย์ก็พระราชทานยา พอมีหน่วยแพทย์เข้าไปแล้วก็เสด็จฯเข้าไปเยี่ยมเยียน ทรงมีความรู้ทางสาธารณสุขพอสมควร เวลาเสด็จฯไปที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลบางแห่ง ก็จะทรงทราบว่าที่นั้นมีจุดไหนที่ต้องช่วยเหลืออะไรบ้าง แม้กระทั่งตอนที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชต้องถวายงาน วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯมา มีรับสั่งถามว่า ‘จะเลี้ยงยุงเหรอ เอาน้ำมาขังไว้ทำไม’ คือทอดพระเนตรสังเกตเห็นหลุมบ่อมีน้ำขังบริเวณรั้วด้านหน้าหรือหลังตึก ซึ่งเราไม่ได้เดินเข้าไปดูแต่ทรงใส่พระทัยมาก เพราะยุงไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงพยาบาล แต่บินข้ามไปฝั่งอื่นได้

“แน่นอนว่า เมื่อตอนที่พระองค์ท่านยังเสด็จออกทรงงานและเยี่ยมประชาชน ไม่ว่าจะเป็นท้องไร่ท้องนากันดารแค่ไหน ก็เสด็จลงแล้วเราจะไม่ตามอย่างเชียวหรือ เมื่อตอนผมหนุ่ม ๆ ผมจึงออกไปตามหัวเมืองปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือด้านการแพทย์ คือศิริราชจะเปิดช่วงงานไว้ว่าปีหนึ่งจะต้องส่งหมอออกไปช่วยในถิ่นทุรกันดาร อย่างผมเลือกไปอุดรธานีติดต่อกันหลายปี ไปครั้งละประมาณหนึ่งเดือน

“พระองค์ท่านมีพระเมตตาต่อคนทุกคน ทรงเห็นเหมือนกับเป็นญาติ ไม่ทรงรังเกียจอะไรเลย และไม่ทรงเคยโยนความรับผิดชอบสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทราบอยู่แล้วไปให้ผู้อื่น เมื่อทรงริเริ่มอะไรไว้แล้วจะทรงติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ

“สำหรับผม ไม่มีคำสอนจากพระองค์เป็นการส่วนตัว แต่ตัวอย่างทุก ๆ เรื่องจากที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติอยู่ ผมจดจำมายึดเป็นแนวทางปฏิบัติทั้งหมด”

พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

5-1ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ตรัสถึงความสำคัญของกีฬาไว้ว่า “กีฬานั้น…ช่วยกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ…เป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติ…”

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดทรงกีฬาเรือใบอย่างมาก สิ่งที่เป็นประจักษ์แก่สายตาประชาชนชาวไทยและคนทั่วโลกคือ นอกจากจะทรงเรือใบได้เก่งแล้ว ยังทรงสามารถคิดค้น ออกแบบและต่อเรือใบด้วยพระองค์เองหลายลำ ลำแรกที่ทรงต่อเองคือเรือใบประเภทเอนเตอร์ไพร้ส์ ลำที่สองคือเรือใบประเภทโอเค โดยพระราชทานนามว่า ‘นวฤกษ์’ ทรงนำเรือใบชนิดนี้เข้าแข่งขันกีฬาแหลมทองและคว้ารางวัลชนะเลิศ ซึ่งพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและองค์เดียวที่ลงแข่งขันในทวีปเอเชีย นอกจากนี้ยังทรงออกแบบเรือใบมดที่ดัดแปลงจากเรือใบประเภทม็อธ ให้มีขนาดเล็กลงเหมาะสมกับรูปร่างคนไทย

“เหตุการณ์ที่ผมยังรู้สึกประทับใจจนถึงวันนี้คือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบประเภทโอเค ที่ทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ชื่อ ‘เวคา’ ข้ามจากวังไกลกังวลมายังสัตหีบพระองค์ท่านทรงเรือใบด้วยพระองค์เองเพียงลำพัง เป็นระยะทาง 60 ไมล์ทะเล ใช้เวลากว่า 17 ชั่วโมง มีเพียงแซนด์วิชและน้ำชาจีนเป็นเสบียงตลอดทั้งวัน พระองค์ท่านเป็นพระมหา-กษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่มีพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบทางไกลยอดเยี่ยม ในแบบที่ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยทำมาก่อน

“ในฐานะที่ผมเป็นนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านจึงเป็นทั้งแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ตัวผมเองเคยมีโอกาสแล่นเรือใบมาบ้าง ปรัชญาที่แฝงไว้ในกีฬาชนิดนี้คือ การดำเนินชีวิตไม่ต่างอะไรกับการนำเรือไปสู่จุดหมาย บางครั้งอาจต้องเจอกับความทุกข์ยากเปรียบเสมือนการเผชิญคลื่นลมและอากาศแปรปรวนผู้เล่นเรือใบต้องมีสติ สามารถนำชีวิตและเรือไปให้ถึงปลายทาง

“เหมือนดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแสดงให้เห็นในการแล่นเรือใบหลายต่อหลายครั้งครับ”

พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี จิตรกร

6 จิตรกรอิสระผู้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์จนเป็นที่ยอมรับและเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เยาวชนรุ่นหลังมากว่า 20 ปี ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการทำงานมาจากภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

“สมัยเด็กผมเห็นภาพวาดฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แล้วไม่ค่อยเข้าใจ กระทั่งเมื่อได้เรียนศิลปะ จึงเข้าใจว่า ศิลปะไม่ใช่งานที่เหมือนจริงเท่านั้น แต่เป็นงานที่แสดงออกถึงความคิด อารมณ์ความรู้สึก ผลงานภาพฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวมีครบถ้วนทุกอย่างทรงพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมอย่างแท้จริง

“พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน จากนั้นก็เริ่มสะสมทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระบรมรูปหล่อจำลอง พระบรมรูปปั้นภาพพิมพ์ พระบรมฉายาลักษณ์ในอดีต เหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องเคารพกราบไหว้ เป็นศรีแก่ตัวเอง

“นอกจากนี้ผมยังได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

“ ‘ทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง’

“หน้าที่ของศิลปินหรือคนเขียนรูปคือ การเขียนรูปออกมาให้ดีที่สุด รับผิดชอบงาน และต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจของการทำงานศิลปะ พอยิ่งอายุมากขึ้น เรายิ่งต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง เพราะเมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มีรุ่นน้องมาชื่นชมว่าเราเป็นต้นแบบเป็นตัวอย่าง ฉะนั้นเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขา

“ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่องานของตัวเองแล้ว งานที่ออกมาไม่ซื่อสัตย์สำหรับผมก็คืองานปลอม ซึ่งไม่มีค่าอะไรเลย”

พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ

นิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

7“การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนาน หรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง”

“พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานให้คณะกรรมการสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์รุ่นบุกเบิกเมื่อหลายสิบปีก่อนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทรงให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพมาก และมีพระราชประสงค์ให้นักถ่ายภาพทุกคนตระหนักอยู่เสมอในการนำภาพถ่ายไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวม

“แม้ว่าผมจะเกิดไม่ทันช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยทางด้านการถ่ายภาพ แต่เรื่องราวและภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านจำนวนมากก็ได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้เราสามารถศึกษาและมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าโปรดการถ่ายภาพตั้งแต่ได้รับพระราชทานกล้องถ่ายภาพกล้องแรกจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา โดยระยะแรกทรงฉายภาพบุคคลใกล้ชิด รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ทอดพระเนตรเห็นในแต่ละวัน จากนั้นทรงทดลองฉายภาพที่มีมุมมองด้านศิลปะ และทรงมีเทคนิคการถ่ายภาพที่ซับซ้อนมากขึ้น

“จนกระทั่งช่วงที่ทรงได้พบกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ขณะที่ทรงเป็นพระคู่หมั้นที่งดงามออกมาเป็นจำนวนมาก หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระฉายาลักษณ์พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ จนเวลาผ่านไปพระราชกรณียกิจในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนมากขึ้นตามลำดับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในช่วงนั้นก็ได้แปรเปลี่ยนไปเน้นเป็นภาพที่ทรงฉายขณะที่ทรงงานในพื้นที่ อันเป็นการบันทึกภาพสำหรับทรงใช้เป็นข้อมูลเพื่อให้การทรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง นับเป็นแบบอย่างที่ประเสริฐที่สุดแก่นักถ่ายภาพทุกคน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังทรงพระมหากรุณาธิคุณกับวงการถ่ายภาพของประเทศไทยเป็นอเนกประการ โดยได้ทรงรับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปี 2504ทั้งยังได้พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายของสมาคมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินรางวัลชนะเลิศจากภาพที่เข้ารอบสุดท้ายด้วยพระองค์เองอีกด้วยนอกจากจะทรงตัดสินภาพแล้ว ในบางครั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชดำรัสว่าภาพที่ได้รับรางวัลนั้นหากปรับปรุงบางส่วนตามที่ทรงแนะนำ ก็จะทำให้ภาพนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ยังความปลาบปลื้มแก่เจ้าของภาพและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างหาที่สุดมิได้

“ส่วนตัวผมเองก็ได้ทำงานบริการสังคมในการบริหารงานสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และงานถ่ายภาพบุคคลสำคัญของชาติ ตามความถนัดของตนเอง เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองเราด้วยภาพถ่าย

“แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิด แต่ก็มีความภาคภูมิใจที่ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมาในตอนต้นมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้”

พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาชนบท

พิมพรรณ ดิศกุล อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

8เมื่อ “สมเด็จย่า” เสด็จฯมาที่ดอยตุง เมื่อ พ.ศ. 2530 มีรับสั่งว่า“ตกลงฉันจะสร้างบ้านที่นี่ แต่ถ้าไม่มีโครงการดอยตุง ฉันก็ไม่มา”

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงศึกษาโครงการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สามแห่ง เพื่อนำมาปรับใช้ที่ดอยตุง พระองค์ท่านเสด็จฯไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกป่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสร็จไปศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูเรื่องการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติด และ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ราชเลขานุการในพระองค์ (ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์) ไปที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อดูงานการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จะบอกว่าโครงการพัฒนาดอยตุงเป็นโครงการที่แม่เรียนจากลูกก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งลูกก็เรียนมาจากแม่เช่นกัน

“จึงเรียกได้ว่าโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการตามทั้งวิธีคิดและวิธีการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จย่า คือ เอาคนเป็นตัวตั้ง เข้าใจเข้าถึงข้อมูลจริง และรู้ถึงข้อมูลทางภูมิสังคม แปลว่าไม่ใช่แค่ข้อมูลทางกายภาพ แต่ต้องรู้ถึงข้อมูลเชิงวัฒนธรรม ความคิดความรู้สึก ความเชื่อ เป็นข้อมูลทางสังคมที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญภาพที่ประทับบนพื้นดิน กางแผนที่ฟังชาวบ้านทูลรายงาน เป็นภาพที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราทุกคนทำงานตามรอยพระองค์ท่าน คือ ออกไปฟังเสียงประชาชนจริง ไปเรียนรู้จากปัญหาของชุมชนจริง และพยายามทำงานตามข้อมูลจริง เพื่อที่จะได้ตอบโจทย์ได้จริงและตรงจุด

“ความสำเร็จจากการพัฒนาตามพระราชปณิธานและแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์เป็นที่ประจักษ์แล้ว จากบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่เดิมเป็นทุ่งฝิ่น มีกองกำลังชนกลุ่มน้อย มีเสียงปืนดังเป็นเรื่องปกติคนยากจนมาก วันนี้เป็นวันที่ทุกคนมีชีวิตมั่นคง เลี้ยงตัวเองได้ และอยู่กับป่าอย่างร่มเย็น

“ปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านการพัฒนาตาม ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ ได้ขยายผลต่อในพื้นที่อื่นทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น โครงการขยายผลที่จังหวัดน่าน ที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ‘ปลูกป่า ปลูกคน’บนพื้นที่ 250,000 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ ท่าวังผา สองแควและเฉลิมพระเกียรติ และที่ต่างประเทศ เช่น พม่า อัฟกานิสถานและอินโดนีเซีย

“องค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติให้การยอมรับและยกย่องให้เราเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) มูลนิธิชวาป (Schwab Foundation for Social Entrepreneurship) สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนั้นยังได้รางวัลนิเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) จากญี่ปุ่น ในฐานะองค์กรยอดเยี่ยมของเอเชียทางด้านการพัฒนาชุมชนและวัฒนธรรม เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคนี้

“ในขณะที่ทั้งโลกยังคงพยายามหาคำตอบถึงปัญหาต่าง ๆ น่าภูมิใจมากที่ประเทศไทยมีองค์ความรู้ของคำตอบนั้นคือหลักเศรษฐกิจ พอเพยี ง

“และดอยตุงเป็นหนึ่งในโครงการที่เห็นถึงความสำเร็จเป็นรูปธรรมจากการนำศาสตร์ของพระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวงมาปรับใช้”

พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี

เอกชัย เจียรกุล นักกีตาร์คลาสสิกระดับโลก

9-2“เบิร์ด – เอกชัย เจียรกุล” หนุ่มเอเชียคนแรกที่คว้าแชมป์กีตาร์คลาสสิกอันดับหนึ่งของโลกจากการประกวดจากเวที GFA ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีบทเพลงพระราชนิพนธ์เป็นแรงนำใจ

“บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีอิทธิพลต่อชีวิตผมมาก จำได้ว่าตอนเรียนอยู่ชั้น ม.1 ผมฟังรุ่นพี่ในวงโยธวาทิตเล่นกีตาร์คลาสสิก เพลงชะตาชีวิต แล้วประทับใจมาก นอกจากทำนองที่ไพเราะแล้วเนื้อหายังจับใจอีกด้วย ผมเริ่มหัดเล่นกีตาร์ตั้งแต่นั้น และใช้เวลาหัดอีก 3 เดือนจึงเล่นเพลงนี้ได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผมในฐานะนักกีตาร์คลาสสิก

“จนเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสทำโปรเจ็คท์พิเศษร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เชิญ 15 บทเพลงพระราชนิพนธ์มาเรียบเรียงโดยนักกีตาร์คลาสสิกระดับโลก เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 5 ธันวาคม 2553 และต่อเนื่องไปถึงโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาทำให้รู้สึกมีความผูกพันและประทับใจบทเพลงพระราชนิพนธ์มากขึ้น อย่างล่าสุดผมไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ต่างประเทศกว่า 9 เดือนก็อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปเล่นด้วยทุกครั้ง

“ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลกที่ทรงพระปรีชาในการพระราชนิพนธ์เพลงได้ไพเราะ ทรงมีประสบการณ์ด้านดนตรีสูง แต่ละเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ล้วนมีชั้นเชิงผสมผสานระหว่างดนตรีแจ๊สและป็อป มีความไพเราะอยู่เหนือกาลเวลา ผมเคยดูวิดีโอที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงดนตรีร่วมกับเบนนี่ กู๊ดแมน นักดนตรีแจ๊สระดับโลกพระองค์ท่านทรงพระอัจฉริยภาพมาก เวลาเล่าเรื่องนี้ให้นักดนตรีชาวต่างชาติฟัง ทุกคนจะตื่นเต้น เพราะผู้ที่จะได้ร่วมเล่นกับนักดนตรีระดับโลกต้องมีฝีมือไม่ธรรมดา และพระองค์ท่านก็ทรงเป็นหนึ่งในนั้น

“ความฝันสูงสุดในชีวิตผมคือ การมีโอกาสเล่นกีตาร์คลาสสิกแสดงเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครับ”

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับที่ 833 ปักษ์วันที่ 10 มิถุนายน 2559

Praew Recommend

keyboard_arrow_up