ฝันให้ไกลไปให้ถึง “มีมี่ เทา” ไม่สนคำคน พกฝันสู่รันเวย์ระดับโลก

account_circle

เวลาที่เราบอกความฝันของเราให้ใครฟัง แล้วเขาบอกว่า อย่าเลย ไม่มีทางเป็นไปได้ แถมยังซ้ำเติมอีก ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร สำหรับ “มีมี่ เทา” หรือ “พชรณัฏฐ โนบรรเทา” เธอทิ้งคำร้ายๆ พวกนั้นไว้ข้างหลัว แล้วก้าวเดินตามฝันต่อไปด้วยความตั้งใจ จนพาตัวเองมาเดินอยู่ บนรันเวย์แฟชั่นระดับโลกได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คำพูดร้ายๆ เหล่านั้นทำอะไรเธอไม่ได้!

มีมี่ เทา

ค้นพบตัวเอง

หากย้อนไปถึงชีวิตวัยเด็กของ มีมี่ เทา น่าจะทำให้หลายคนตกใจพอสมควร เมื่อรู้ว่าเธอเคยบวชเป็นเณรนานถึง 6 ปี

มีมี่เกิดและเรียนที่จังหวัดขอนแก่นค่ะ ตอนนั้นเราไม่แน่ใจในตัวเอง เท่าไหร่ว่าเราอยากเป็นอะไร แต่ด้วยความเป็นเด็ก ก็พยายามจะบอกตัวเองตลอด ว่าฉันไม่ได้เป็นตุ๊ด แต่ก็สับสนอยู่นะ คือเรายังไม่เข้าใจตัวเองชัดเจนพอ

ซึ่งเพื่อนๆในโรงเรียนก็ล้อว่าอีตุ๊ด อีกะเทย แต่ความที่เด็กจึงไม่ได้คิดอะไร รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง และสังคมไทยส่วนใหญ่จะเป็นการบูลลี่ในเรื่องของคำพูดยังไม่รุนแรงไปถึงการกลั่นแกล้งมากมาย

พอเรียนจบป.6 มีมี่ตัดสินใจไปเข้าเรียนที่มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ผู้เข้าเรียนทุกคนต้องผ่านการบวชมาก่อน ซึ่งมีมี่เคยบวชเณรในภาคฤดูร้อนมาแล้ว จึงตัดสินใจไป ซึ่งอีกเหตุผลก็คือเพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของที่บ้านด้วย

การบวชทำให้เราได้ฝึกสมาธิ ฝึกจิต ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น จนช่วง อายุประมาณ 15 รู้สึกว่าชัดเจนแล้ว รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร  จากเดิมที่พยายาม ปฏิเสธตัวเองมาตลอด มี่จึงตัดสินใจกลับไปบอกคุณแม่ แต่ท่านบอกว่า ‘ถ้าเป็น แบบนี้ก็ไม่ต้องมาเรียกฉันว่าแม่  เธอไม่ใช่ลูกฉัน’

ซึ่งมี่ก็ยืนยันว่า ‘หนูเลือกแล้ว และถึงจะเป็นแบบนี้ หนูก็จะเป็นคนดีนะ’ ฟังแล้วคุณแม่ร้องไห้ ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่ทำให้มี่รู้สึกเสียใจมาก  ไม่ใช่เพราะเสียใจที่เราเป็นแบบนั้นนะคะ แต่เสียใจ ที่ทำให้ท่านเสียน้ำตา

แต่เมื่อเวลาผ่านไปคุณแม่ก็ค่อยๆ เข้าใจและยอมรับได้ในที่สุด ซึ่งมี่เคยถามท่านว่าทำไมตอนนั้นถึงพูดแบบนั้น ท่านบอกว่า เพราะกลัวว่าถ้าลูกเป็นตุ๊ด เป็นกะเทย สังคมจะไม่ยอมรับ โดนกลั่นแกล้ง หางานทำยาก ไม่มีครอบครัว และไม่มีใครรักจริง จะใช้ชีวิตลำบาก ซึ่งมี่เข้าใจว่าเป็นมุมมองของผู้ใหญ่ที่เป็นห่วง เพราะในหลายๆ อาชีพอย่างข้าราชการ ครู ก็ยังไม่เปิดรับสาวประเภทสองมากนัก

เดินตามฝัน…ไม่สนคำใคร

มีมี่ เทา

เมื่อชัดเจนแล้วว่าตัวเองต้องการอะไร เธอจึงออกเดินทางทำตามฝันพร้อมด้วยพลังใจเต็มร้อย

พอบวชเรียนจบ 6 ปี มี่เลือกทางเดินให้ตัวเองด้วยการไปหางานทำที่พัทยาค่ะ เพราะตอนนั้นเราคิดว่าพัทยาจะมีงานที่เหมาะกับเรา อย่างนักแสดงหรือนางโชว์ในคาบาเรต์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเจอกับคำดูถูกมากมายค่ะ เพราะตอนนั้นหัวโล้น ที่หนักหน่อยก็พูดว่า  ‘บวชหรือติดคุกมากันแน่ถึงต้องโกนหัว’ หรืออย่างเบาก็ ‘ผมก็ยังไม่มี มาทำอะไรที่นี่’

ตอนนั้นดาวน์มากๆค่ะ จากที่เคยสุขสงบตอนบวช แต่พอออกมาปุ๊บ แล้วไปพัทยาเลย บอกตรงๆ ว่าค่อนข้างโหดร้ายกว่าที่คิดไว้มากใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ เจอคำพูดดูถูกสารพัด แต่หลังจากทำงานที่พัทยาได้ 2 เดือน มี่เริ่มชัดเจนว่า อยากเป็นนางแบบ ชอบด้านนี้ จึงตัดสินใจมาหางานทำที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นยืนแจกใบปลิวตามห้าง เป็นลูกมือตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อหาเงินไปเรียนเดินแบบและเดินสายแคสติ้ง

ช่วงนั้นถือว่าโดนบูลลี่หนักที่สุด ซึ่งต้องยอมรับว่าในสังคมไทย การที่เราเป็นกะเทยมักโดนเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว แล้วยิ่งเป็นกะเทยที่ฝันเพ้อเจ้ออยากเป็นนางแบบอีกยิ่งเป็นเรื่องไกลตัวที่คนรอบตัวมองว่าไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน

ที่เจอบ่อยๆก็คือคำพูดเรื่องรูปร่างหน้าตา อย่างหน้าโหนก มีกราม แบบนี้เป็นนางแบบไม่ได้หรอก เพราะความที่มี่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาหรือรูปลักษณ์ที่ใช้คำว่าสวยได้ในไทย มี่เคยเจอบางคนถึงกับบอกว่า หน้าตาแบบนี้เป็นกะเทยแล้วยังกล้ามาแคสต์งานอีกเหรอ หรือบางที่ที่ไปแคสต์งาน เขายังไม่ทันดูเราเดินแบบเลยนะคะ ก็ให้กลับทันที หรือถามว่าน้องมาทำอะไร แม้กระทั่งใบสมัครก็ยังไม่ให้เขียน และคำพูดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกมากๆ ก็คือ ‘ไม่เอากะเทยเดินแบบหรอก เพราะแบรนด์เขาจะดูไม่ดี เสียภาพลักษณ์’

หรือการเลือกปฏิบัติที่เคยเจอและเสียใจมากคือ ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้างานแบบใช้คำพูดที่ไม่ดีด้วย จนเรารู้สึกว่าต้องทำกันถึงขนาดนี้เลยเหรอ ซึ่งมี่คิดว่าถ้าสังคมยังเลือกปฏิบัติเหมือนกับเราเป็นประชาชนชั้นรอง ต่อให้เหล่าทรานส์เจนเดอร์ เปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนางสาวหรือนายก็ไม่มีความหมาย

เรียกว่ามี่เจอมาหมดแล้วทุกคำพูดร้ายๆ ถามว่าตอนนั้น เหนื่อยไหม เหนื่อยค่ะ แต่ไม่ท้อ! คงเพราะมี่ชัดเจนในตัวเอง และถ้าอยากทำอะไรก็จะทำให้ได้ บวกกับที่เคยบวชเรียนมา ทำให้ไม่เก็บคำพูดที่ไม่ดีมาไว้กับตัว แน่นอนว่าตอนที่ได้ยิน เรารู้สึกเจ็บ รู้สึกเสียใจ  แต่ก็จะไม่เก็บมาทำให้ตัวเองทุกข์ ซึ่งมี่จะ บอกตัวเองตลอดว่า วันนี้ยังไม่ได้งานไม่เป็นไร พรุ่งนี้สู้ใหม่นะ (ยิ้ม)  มี่เชื่อว่ามันต้องมีที่สำหรับเรา ที่ที่ต้องการลุคแบบเรา เพราะมี่เชื่อว่าคำว่าสวยของแต่ละประเทศนิยามไม่เหมือนกัน บ้านเราอาจชอบความขาว มีความเป็นฝรั่ง แต่ก็ต้องมีบางที่ที่เขาชอบหน้าตาแบบเอเชีย ผิวแทน มี่ให้กำลังใจตัวเองแบบนี้ตลอด”

สู้เพื่อรันเวย์ระดับโลก

ด้วยความตั้งใจและไม่ยอมแพ้  ในที่สุดเธอก็สามารถทำฝันที่อยากเป็นนางแบบได้สำเร็จ

พอเก็บเงินได้พอสมควร (ปี2017) มี่ตัดสินใจบินไปนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเหมือนเป็นการเปิดโลกเลยแหละ เพราะมีทั้งความยาก ความเหนื่อย จริงอยู่ว่าตอนหางานที่ไทยเราก็สู้เต็มร้อยนะ แต่พอไปเมืองนอกต้องสู้มากกว่านั้นอีกค่ะ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ อย่างเมืองไทยเวลาเปิดแคสต์งาน ทางโมเดลลิ่งจะแจ้งลูกค้าก่อนว่ามีนางแบบทรานส์นะคะ (Transgender บุคคลข้ามเพศ) ให้ไปแคสต์ไหม ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ แต่ที่นิวยอร์กเขาไม่แบ่งเพศ จะให้ลูกค้าเลือกเองว่าชอบเราหรือเปล่า อาจเพราะเขามีกฎหมายบังคับว่า ถ้าเลือกปฏิบัติกับเพศที่สามอาจโดนฟ้องเรียกค่าเสียหาย

และเมื่อมาที่นี่ พวกคำร้ายๆที่เราเคยเจอ เช่น หน้าโหนก หน้าอีสาน กรามใหญ่จัง อะไรพวกนี้ ฝรั่งกลับชอบ เขาบอกว่า I love your cheekbone, I love your jawline. หรือเพื่อนนางแบบฝรั่งบางคนก็มาถามมี่ว่า เธอไปทำหน้าที่ไหนมา บอกฉันหน่อย ฉันอยากทำบ้าง  ตรงนี้ทำให้เรามีความพิเศษและ แตกต่างกว่าคนอื่น ซึ่งถ้าก่อนหน้านี้ตอนแคสต์งานที่ไทยเคยมีคนบอกให้มี่ไปทำ ศัลยกรรมตัดโหนก เหลากราม แต่เราชอบที่หน้าตัวเองเป็นแบบนี้ ซึ่งถ้าตอนนั้น ตัดสินใจทำก็อาจจะไม่ได้เป็นนางแบบอย่างทุกวันนี้ค่ะ (ยิ้ม)

แต่ถามว่ายังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ไหม มีอยู่แล้วค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความชอบหรือความนิยมส่วนตัว เช่น ถ้าดีไซเนอร์เป็นชาวเอเชีย โอกาสที่หน้าตาแบบมี่หรือหน้าแบบเอเชียจะไม่ได้งานมีสูงมาก อย่างงานหนึ่งพอไปแคสต์ เขามองมี่ตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้วบอกว่าแคสติ้งปิดแล้วค่ะ แล้วสักพักก็มีนางแบบฝรั่งเดินเข้าไปต่อจากเรา ซึ่งมี่ก็เข้าใจนะ โอเค…ไม่เป็นไร

ช่วงแรกที่มานิวยอร์ก มี่วิ่งถือแฟ้มงานเดินสายแคสต์งานเยอะ 5- 6 งาน ต่อวัน เพราะเป็นช่วงก่อนจะมีงานแฟชั่นวีคพอดี (New York Fashion Week 2018) ยังจำได้แม่นเลยค่ะ ตอนที่ดีไซเนอร์จากแบรนด์โทร.มาบอกว่า ‘ฉันเห็นเธอ เดินแล้วชอบมาก พอเห็นในประวัติว่าเป็นทรานส์เจนเดอร์ ฉันตกใจนิดหน่อย แต่ โอเคนะ เพราะฉันชอบลุคเธอจริงๆ’ ความรู้สึกตอนนั้นทั้งตื่นเต้น ดีใจจนพูด ไม่ออก เหมือนว่าความฝันของเราเป็นจริงแล้ว (ยิ้ม)

จากนั้นก็ได้โอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ผ่านมาน่าจะกว่า 100 เวทีแล้วค่ะ (ยิ้ม) และล่าสุดได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนางแบบในรายการ Project Runway ปีที่ 17 ซึ่งเป็นรายการเรียลิตี้โชว์ที่ให้ดีไซเนอร์ออกแบบชุดตามโจทย์ต่างๆ ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งมี่เคยสมัครไปแล้วเมื่อปีก่อนๆ แต่ไม่ได้ จนครั้งนี้เขาคงเห็นความตั้งใจ ได้รับเลือกเป็นนางแบบทรานส์คนแรกของรายการ และที่ดีใจมากๆ คือ ได้รับคำชมจาก นีน่า กราเซีย (Nina Garcìa) ผู้ก่อตั้งรายการนี้ และเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Elle  ซึ่งปกติจะไม่ค่อยเอ่ยปากชมใคร แต่เขาบอกมีมี่ว่า เธอเดินสวยนะ (ยิ้ม) ซึ่งทำให้เรามีกำลังใจมากๆ และมั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้วจริงๆ

อีกหนึ่งงานที่มี่ภูมิใจและประทับใจมากก็คือ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการ ถ่ายแคมเปญน้ำหอมของ คริสเตียน ซีรีอาโน (Christian Siriano) ที่มีคอนเซ็ปต์ ว่า People Are People ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายืนหยัดมาตลอด แคมเปญนี้เขาได้ เลือกนางแบบทั้งทรานส์ ทอม  เกย์ จนถึงมุสลิมที่มีผ้าโพกหัว นำเสนอความแตกต่างของผู้คน ซึ่งมี่เป็นนางแบบเอเชียคนเดียวที่ได้รับเลือกในแคมเปญนี้ จึงถือเป็นอีกงานที่ภูมิใจมากๆค่ะ

จนถึงวันนี้ มี่ขอบคุณตัวเองที่ต่อสู้กับคำร้าย ๆ หรือคำดูถูกมาได้… สมมติว่ามีนางแบบ 2 คนไปแคสติ้งแล้วไม่ได้งานทั้งคู่ แต่คนแรกรู้สึกท้อมากว่า ทำไมไม่ได้ แล้วโทษทุกอย่าง ทั้งโทษตัวเอง โทษดีไซเนอร์ที่ตาไม่ถึง เก็บไปเครียดเป็นเดือนๆ แต่อีกคนมองว่างานนี้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร พยายามฝึกฝนต่อไป ใครว่าอะไรก็นำมาปรับปรุง แล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ในวันต่อๆไป ซึ่งความคิดแบบหลัง นี่แหละค่ะ  ที่พามี่มาถึงฝันในทุกวันนี้


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 959

ภาพ : mimi_tao

Praew Recommend

keyboard_arrow_up