อนาคตที่เลือกเองได้! จากนักแสดงเด็กสู่แพทย์มืออาชีพ หมอพลอย-โสวิชญา

ทุกบทบาท ทุกอาชีพในโลกนี้ หากจะบอกว่าอาชีพใดสำคัญกว่ากัน ก็คงจะเป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมเอาซะเลย เพราะแต่ละงานต่างก็เป็นองค์ประกอบให้โลกนี้ขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์ บางคนอาจจะค้านในใจว่าไม่จริงหรอก ในเมื่อสังคมยังตัดสินและให้คุณค่าไม่เท่ากัน

วันนี้เลยพามาคุยกับหญิงสาวอดีตนักแสดงเด็ก ซึ่งตอนนี้เธอกลายเป็นคุณหมอเต็มตัว “แพทย์หญิงโสวิชญา ปานทอง” หรือหมอพลอย ลูกสาวของคุณแม่ดี้-ปัทมาและพ่อเอ๋-กษมา เธอพูดเสมอว่าความสำเร็จของชีวิตเธอเวลานี้เป็นเพียงก้าวแรก และการได้เป็นแพทย์ก็ไม่ได้เกิดจากความเก่งกาจฉลาดกว่าใครๆ เพราะสิ่งที่ผลักดันให้มีทุกวันนี้ได้คือความพยายามและอดทน

อนาคตที่เลือกเองได้! จากนักแสดงเด็กสู่แพทย์มืออาชีพ หมอพลอย-โสวิชญา

“สมัยตอนอยู่ในโรงเรียน พลอยไม่ได้เป็นที่ 1 ของห้อง แต่เราเป็นคนตั้งใจเรียนมาก เวลาสอบก็ตั้งใจให้ผ่านทุกครั้ง ถึงเวลาพักก็เล่นกับเพื่อนๆ พลอยเป็นคนคุยเก่งมาก ตอนเด็กๆ โดนฟ้องประจำเลย แต่พอโตขึ้นก็ไม่ค่อยแล้วนะคะ (หัวเราะ)

พลอยเชื่อว่าคนเราไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร จะอยากสอบติดหมอ หรืออะไรก็ตาม  ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งที่ 1 ขนาดนั้น คือวันที่อยากเป็นหมอ ถ้ามีคนมาบอกว่ามันเหนื่อยนะ หนักนะ เราก็ไม่รู้หรอกว่าเหนื่อยที่ว่ามันเป็นยังไง พลอยว่าคนที่จะมาทำอาชีพนี้ อยากให้มีใจที่จะมุ่งมาตรงนี้จริงๆ มากกว่า

อาชีพแพทย์คือ อาชีพที่ต้องใช้ความพยายาม ความอดทน มากกว่าความฉลาด และความรับผิดชอบก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

ถ่อมตัวขนาดนี้ อาจจะต้องให้เล่าเท้าความถึงสมัยเด็กกันสักหน่อยว่า อาชีพแพทย์เริ่มเข้ามาอยู่ในความตั้งใจของหมอพลอยตั้งแต่ตอนไหน

“ตอนแรกอยากเป็นหลายอาชีพเหมือนเด็กทั่วๆ ไป อยากเป็นทูต อยากเป็นแอร์โฮสเตส เพราะชอบไปเที่ยว จนกระทั่งมาช่วงมัธยมปลาย สาเหตุหลักคือ ดูหนัง ดูซีรีส์ที่เกี่ยวกับหมอเยอะมาก ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะ แค่รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่น่าตื่นเต้น แต่ละวันทำอะไรไม่ซ้ำกัน และก็เป็นวิชาชีพที่มีประโยชน์กับคนอื่นด้วย ตอนที่พลอยสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ที่จุฬาฯ ได้ เรายังเด็กมาก เรารู้สึกดีใจที่เราเริ่มมีเป้าหมายในชีวิต แต่ยังไม่มีภาพในหัวเลยว่าจะเป็นหมอแบบไหน พยายามโฟกัสกับการเรียนก่อน เพราะต้องอ่านหนังสือเยอะมาก อย่างช่วงปี 1 – ปี 3 ยังเรียนวิชาพื้นฐาน พอชั้นปีสูงขึ้นความยากมันก็มากขึ้น ต้องขยันให้มากๆ พอเริ่มมีเข้าเวร งานก็เยอะขึ้น เราต้องแบ่งหน้าที่ทั้งการทำงานในหวอดและการอ่านหนังสือ ก็หนักหนาเหมือนกันค่ะ แต่มันคือหน้าที่ของเราอยู่แล้ว เลยไม่เคยคิดว่ามันเป็นอุปสรรคหรือกลายเป็นเด็กที่เคร่งเครียดอะไร และเราก็มีเพื่อนๆ ที่อยู่ด้วยกัน ถึงเวลาสอบก็เต็มที่ แต่พอทุกอย่างเรียบร้อยก็ไปรีแลกซ์บ้าง”

ในหนึ่งวันหมอต้องดูแลคนไข้ยังไงบ้าง

หลังจากเรียน พลอยก็ไปใช้ทุน คือทุกคนที่เรียนจบคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐบาลจะต้องไปใช้ทุน 3 ปี พลอยได้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลสระบุรีค่ะ  ช่วงแรกก็ปรับตัวเยอะเหมือนกัน เพราะเราเองก็ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันยากลำบากอะไรนะคะ เราค่อยๆปรับตัวไปในแต่ละวัน เจอปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไป

ในหนึ่งวันตื่นเช้ามาก็ตรวจคนไข้ในหวอดผู้ป่วยตั้งแต่ 7.30 น. ถึง 10.30 น. จัดการงานทำหัตถการถึงประมาณเที่ยง ถ้าวันไหนมีออกตรวจผู้ป่วยนอกก็จะไปประมาณ 10.00-12.00 ช่วงเที่ยงก็จะ มีน้องๆพี่ๆ ที่ทำงานด้วยกันมาร่วมพูดคุย Topic ต่างๆ ในห้องประชุม และก็กินข้าวกัน เสร็จก็กลับมาตรวจคนไข้ที่รับใหม่ในหวอด และก็ตรวจผู้ป่วยรอบเย็น คือก็จะวนหลูบนี้ทุกวัน”

พอใช้ทุนที่นี่จบ วางแผนกับอาชีพแพทย์ไว้ยังไงอีกบ้าง

“ตั้งใจว่าจะกลับไปเรียนต่อพาะทางด้านอายุรกรรมค่ะ จริงๆ แต่ละด้านจะมีลักษณะงานที่แตกต่างกันไป แต่อายุรกรรมมันเข้ากับชีวิตพลอยมากที่สุด ด้วยบุคลิกนิสัยของเราเอง ชอบคุยกับคนสูงอายุหน่อย เราไม่ใช่คนรักเด็กขนาดนั้น ก็รู้สึกว่าคุยกับคนสูงอายุง่ายกว่าด้วย และตัวเนื้อหาวิชาพลอยชอบแนวนี้มากกว่า เลยมีความสนใจด้านนี้ ”

ประสบการณ์ในอาชีพนี้ยังไม่มาก มีความกดดันเวลารักษาคนไข้บ้างไหม

“ จริงอยู่ว่าการที่เราเป็นหมอจบใหม่ อาจจะไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่ก็พยายามที่จะเรียนรู้ และถามคนที่มีความรู้มีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้มากกว่าเรา ส่วนมากถ้ากดดันก็คงเป็นที่ตัวเอง ว่าเราต้องทำให้ได้ อย่างเรื่องหัตถการที่ต้องใช้เวลาในการทำ ถ้าเราทำได้เร็วก็จะดีกับผู้ป่วยมากกว่า แต่จริงๆ สิ่งที่เครียดมากเลยคือ เวลาเห็นญาติผู้ป่วยเขากังวล เพราะเราก็เต็มที่นะ แต่เขาก็ยังเครียดอยู่ ใจเราเองก็อยากให้เขาแฮ็ปปี้”

ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างจังหวัด แตกต่างจากที่หมอเคยเห็นบ้างไหม

“มันก็ต่างเยอะค่ะ ด้วยจำนวนหมอ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ หมอที่อยู่ต่างจังหวัดก็พยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทรัพยากรตรงนั้นจะมีให้ได้มากที่สุด แต่การจะพัฒนาทั้งระบบมันคงต้องใช้เวลา มันคงเปลี่ยนไม่ได้ภายในปีสองปี ตอนนี้ถ้าคิดว่าอะไรที่สำคัญที่สุด พลอยคิดว่าจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้ามารักษาผู้ป่วย ซึ่งจะต้องอยู่ตามโรงพยาบาลรัฐฯ เพราะตอนนี้ยังไม่พอกับผู้ป่วย”

ที่ผ่านมาอาชีพนี้ให้ข้อคิดอะไรกับหมอพลอยบ้าง

“หลังจากที่ทำงานมาสักพักก็รู้สึกเลยว่าปัญหาอื่นๆ ในชีวิตมันไม่ค่อยเป็นปัญหา มันไม่ได้มีอะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะยังมีอีกหลายคนที่เขาเจอปัญหายิ่งกว่าเรา และเราโชคดีที่ไม่ได้เจอแบบนั้น รู้สึกว่าเราใช้ชีวิตของเราให้มีความสุขได้แบบง่ายๆ มากขึ้น ชีวิตคือไม่มีอะไรให้เครียดแล้วนอกจากเรื่องงาน”

วางเป้าหมายกับการทำหน้าที่นี้อย่างไรบ้าง

“ ตอนนี้เป้าหมายระยะสั้นคือ อยากเรียนต่อ เราจะได้มีความรู้มากขึ้น ดูแลคนไข้ได้เยอะขึ้น หลังจากนั้นก็จะทำงานในอาชีพนี้ให้ดีที่สุด ไม่ให้ขาดตกบกพร่องในหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยทุกคนที่มาเจอเรา เขาจะได้รู้สึกว่าโชคดีที่ได้เราเป็นคนรักษาเขา”

จรรยาบรรณข้อไหนที่หมอพลอยคิดว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการเป็นแพทย์

“พลอยว่าเรื่องความซื่อสัตย์ เพราะเราพูดโอะไรไป คนไข้ก็เชื่อเรา มันเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ อีกอย่างก็คือ ความรับผิดชอบ เพราะเราต้องรักษาคนไข้ให้ดี อย่างเวลาที่คนไข้มารักษา ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลจนจะกลับ บางคนไม่มีญาติมารับ ไม่มีที่ไป เราอาจจะต้องช่วยติดต่อว่าจะมีใครสามารถดูแลเขาได้บ้าง หรือทำยังไงที่จะสามารถช่วยตามหาญาติได้ เจ้าหน้าที่ทุกคนก็จะช่วยๆ กันค่ะ การมาทำหน้าที่นี้ต้องนึกถึงหัวใจของผู้ป่วย และ คนในครอบครัวของเขาด้วย คือเราต้องดูแลคนสำคัญในชีวิตของอีกหลายๆ คน ก็ต้องแบกความรู้สึกความคาดหวังของพวกเขาไว้มากพอสมควร”

เส้นทางในสายอาชีพนี้ของหมอพลอย ส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่จะสร้างทางเดินให้กับชีวิตตัวเองเป็นไปอย่างดีแบบทุกวันนี้ พ่อและแม่ก็มีส่วนสำคัญมาก

“ทุกวันนี้พลอยรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น เราได้เห็นชีวิตของคนอื่นที่หลากหลายรูปแบบมาก จนมาย้อนนึกถึงตัวเองเลยว่าจริงๆ เราโชคดีมากนะ ดังนั้นเราเองก็ต้องทำชีวิตเราให้ดีมีความสุข เพราะความเจ็บป่วยมันไม่เข้าใครออกใคร ทำให้เรารู้ว่าเราต้องดูแลคนที่เรารักอย่างคุณพ่อคุณแม่ เพราะบางทีเราก็อาจจะไม่ได้มีโอกาสดูแลเขาไปได้ตลอดชีวิต”

พ่อกับแม่มีส่วนสำคัญกับการตัดสินใจมากขนาดไหน

“พ่อกับแม่ไม่เคยบังคับหรือวางกรอบเลยว่าพลอยต้องเรียนเก่งนะ ต้องสอบให้ได้เท่านั้นเท่านี้นะ แต่เขาให้เรารู้ว่าหน้าที่ของเรามีอะไรบ้าง และทำหน้าที่ของเราให้ครบมากกว่า ที่บ้านเราจะพูดกันได้ทุกเรื่อง จะไม่มีความลับต่อกัน คุณแม่ไม่เคยมาดุ แต่เราคุยกันด้วยเหตุผล พลอยเลยกล้าคุยกับพ่อแม่ทุกเรื่อง

(คุณแม่เสริม) “ตอนนี้เขาเองก็มีแฟนนะ คบมาตั้งแต่สมัยเรียน พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะเขาพากันเรียน พอทำงานก็ทำสายเดียวกัน แต่ก่อนเวลามีใครมาชอบ มีใครเอาอะไรมาให้ก็จะเล่าให้ฟัง และเขาเป็นคนที่ยับยั้งตัวเองได้ อย่างสมัยที่น้องพลอยยังเป็นนิสิตแพทย์ พ่อเขาเคยชวนไปเที่ยวกลางคืน เพราะอยากให้ลูกเห็น ให้รู้จักอีกโลก เขาก็พูดเลยว่ามันจำเป็นด้วยหรอที่เขาต้องไปรู้จัก” (หัวเราะ)

“ตั้งแต่เด็กเวลาถ้าจะขออะไรกับพ่อแม่ พลอยจะคิดมาแล้วว่าขออันนี้ได้ ถ้าขอแล้วไม่ได้ก็จะไม่ขอเลย คุณแม่จะสบายๆ ค่ะ ส่วนคุณพ่อจะตามใจแบบจะไปไหนเขาก็จะพาไป รับ-ส่งทุกที่ทุกเวลา”

หมอคิดว่าอะไรที่ทำให้สามารถจัดการกับความคิดได้ว่าเราต้องรักอนาคตของตัวเอง

“พลอยว่าอาจจะเพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นคนในวงการ ทุกคนรู้ว่าเราเป็นลูกใคร คือเราคิดมาตลอดตั้งแต่เด็กเลยว่า ถ้าเราทำตัวไม่ค่อยดี เขาจะว่าหรือเปล่าว่าพ่อแม่สอนมาแบบนี้หรอ พลอยไม่อยากให้พ่อกับแม่โดนใครว่า และรู้สึกว่าชีวิต เราเป็นคนกำหนดว่ามันจะดีหรือไม่ดี ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำ ถ้ามันเป็นอะไรที่เราทำเพื่อความสุขนิดๆ หน่อย แต่ว่าส่งผลระยะยาว และทำให้ชีวิตเราถูกพูดถึงในแง่ไม่ดี พลอยคิดว่าก็ไม่ทำจะดีเสียกว่า”

คำว่า “ความสำเร็จ” หรือการบรรลุเป้าหมายอะไรสักอย่างที่มนุษย์ทุกคนต่างตั้งความหวัง จริงอยู่ว่าอาจเริ่มที่การปลูกฝังจากครอบครัวและคนรอบข้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วคนที่จะนำพาให้ชีวิตเป็นไปอย่างที่อยากให้เป็นได้ก็คือตัวเราเอง

มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด ฉลาดที่สุด ก็สามารถไปถึงเป้าหมายในชีวิตได้ ขอแค่มีความตั้งใจและความพยายาม..


สัมภาษณ์/เรียบเรียง : ภัทรีพันธ์ สุขสมพร้อม

ภาพ :    จักรพงษ์ นุตาลัย

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up