YSF ผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ มาพัฒนาอาชีพ

กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายพัฒนาและสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตรเพื่อทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าซึ่งมีอายุมากภายใต้โครงการ Young Smart Farmer (YSF) เน้นผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงมีความรู้ด้านวิชาการเกษตรทั้งระบบ  โดยเฉพาะต้องรู้จักปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ การใช้เครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ เป็นการสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตรสามารถพึ่งพาตนเอง และการแข่งขันทางการค้าในอนาคต รวมถึงเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน และช่วยขับเคลื่อนชุมชนที่ตนอาศัยอยู่อย่างยั่งยืน 

นายนันทพงษ์ ทิมฉิมพลี YSF ปี 2562 จังหวัดสกลนคร อายุ 37 ปี ถือเป็นตัวอย่าง YSF คนหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนการทำเกษตร ด้วยเทคโนโลยีและเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน เพื่อสร้างอาชีพเกษตรของตนเองและชุมชนให้ยั่งยืน “นันทพงษ์” เปิดเผยว่า ตนเองได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาทางด้านวิศวกรรมการออกแบบและเครื่องกล เพื่อมาใช้ออกแบบเครื่องจักรกลสำหรับใช้ผลิตครามหรือกวนครามเพื่อใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลผลิตครามได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และยังคงรักษามาตรฐานของสีฟ้าครามได้ดี

การผลิตครามแบบดั่งเดิมในอดีตตามปกติถ้าทำแบบชาวบ้านคือ ต้องใช้ไม้กระทุ้งและกวนครามด้วยมือ ในถังน้ำขนาด 200 ลิตรเพื่อให้ได้เนื้อครามในแต่ละครั้ง โดยใช้เวลานานครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง วันหนึ่งหากใช้แรงงานคนจะทำได้ไม่เกิน 8 ครั้งหรือ 8 ถัง เมื่อเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรกลพบว่า เครื่องจักร 1 เครื่อง สามารถทดแทนแรงงานคนได้ถึง 8 คน วันหนึ่งสามารถทำได้ถึง 16 ถัง ซึ่งทำให้ได้ครามเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว นอกจากช่วยลดแรงงานคนในการทำครามและได้ครามเพิ่มมากขึ้นแล้วยังทำให้สามารถมีเวลาวางแผนการปลูกผักสวนครัวออร์แกนิกส์ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่ทำอยู่มีความคล่องตัวขึ้นด้วย

ประกอบกับเมื่อได้เข้ามาร่วมในโครงการ YSF ของกรมส่งเสริมการเกษตรยิ่งทำให้ได้ผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ จนทำให้เกิดการต่อยอดสร้างเครือข่าย  สร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับและทำการตลาดครามได้มากขึ้น ไม่ว่าตลาดทั่วไป และในตลาดออนไลน์ เรียกว่าทำตลาดได้อย่างครบวงจรทุกช่องทางการขาย จากเมื่อตอนช่วงก่อนเข้ามาเป็น YSF ครามที่ผลิตได้จะไม่ได้รับการยอมรับ ความเชื่อถือ และทำตลาดได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะคิดว่าคุณภาพครามที่ผลิตได้จากลูกหลานเกษตรกรจะมีคุณภาพไม่ดีเทียบกับฝีมือคนรุ่นผู้เฒ่าไม่ได้แต่พอได้มาร่วมงาน YSF โชว์เคส ของจังหวัดลำพูนได้นำไอเดียเครื่องจักรกลมาแสดง และได้ออกรายการโทรทัศน์ จึงได้นำเนื้อหาต่างๆ นั้น มาจัดทำเป็นคลิปวิดิโอ ลงในเพจเฟสบุ๊ก ทำให้ได้ลูกค้าในตลาดอินเตอร์เน็ตมาก YSF จึงนับเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพที่ดีอย่างหนึ่ง และยังเป็นตัวอย่างการพัฒนาให้กับชุมชนเกษตรและเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนได้อีกด้วยเติบโตอย่างต่อเนื่องจนขยายทำเป็นโรงย้อมเอง ผลิตเสื้อผ้าย้อมครามขายเอง ขยายกลุ่มไปสู่ชุมชนโดยรอบและเกิดการเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรหลายกลุ่มอย่างกลุ่มที่ผลิตเสื้อผ้าหม้อฮ่อม กิ๊ฟช้อป เกษตรกรปลูกข้าว เกษตรกรเลี้ยงไก่ ผลิตไข่ไก่อารมณ์ดีขาย จัดตั้งขึ้นเป็น “วิสาหกิจชุมชน Young Smart Farmer สกลนคร”  และมีการบริหารจัดการจัดทำเป็น “YSF Shop”ปรากฎว่าผลตอบรับดีมาก มีคนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงมาเป็นลูกค้าประจำจำนวนมาก จนมีกำไรแบ่งปันสมาชิกในกลุ่มได้

“ถือว่าเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรกรภายในชุมชนได้ จากเมื่อก่อนคนรุ่นก่อนๆ มักจะทำตลาดสินค้าเกษตรกันไม่ค่อยได้ และมักถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบกดราคา ผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้จึงช่วยทำให้เกษตรกรรุ่นเก่าๆ มีช่องทางขายผลผลิตในราคาที่ สามารถสร้างตลาดขึ้นได้เองภายในชุมชนเป็นการสร้างอาชีพและเกิดการจ้างงานให้กับคนในชุมชนอีกด้วย”

อีกเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมใช้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ คือการนำเทคโนโลยีการปลูกผักบนโต๊ะในโรงเรือน พร้อมระบบโซล่าเซลล์ ควบคุมระบบการให้น้ำด้วยสมาร์ทโฟน มาช่วยในการปลูกผักออร์แกนิกส์ และพัฒนาการปลูกผักให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตได้รับความเสียหายในช่วงหน้าฝน และเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากเมื่อมารวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว ไม่สามารถผลิตผักออร์แกนิกส์ป้อนตลาดให้ลูกค้าได้ทันกับความต้องการ ซึ่งเมื่อระบบใหม่นี้เสร็จสมบูรณ์ จะสามารถเพิ่มปริมาณและสามารถขยายตลาดผักไปยังกลุ่มโรงพยาบาลได้อีกด้วย

เช่นเดียวกับ  นายบวรศักดิ์ พรรณรังสี (แบน) YSF ปี 2562 จังหวัดระยอง ทำสวนเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย เมลอน องุ่น และมะเขือเทศ บนเนื้อที่ 3 ไร่ เปิดเผยว่า ได้นำระบบไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ มาใช้ควบคุมการเปิดปิดระบบให้น้ำในแปลงพืชผักเกษตรอินทรีย์ของตน ที่สามารถตั้งเวลาได้ตามความต้องการ สะดวกและสามารถให้น้ำในแปลงพืชได้หลายแปลงพร้อมกัน ป้องกันการหลงลืมให้น้ำซึ่งจำเป็นต้องมีการให้น้ำที่เป็นเวลา ทำมาได้ 3 ปีแล้ว ให้ผลดีมากสามารถให้น้ำและปุ๋ยได้ตรงตามที่กำหนดแน่นอน ไม่ผิดเพี้ยน

“เรากำลังพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งโดยการสั่งเปิดปิดระบบการให้น้ำพืชผักในสวนผ่านเครื่องสมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุม ในช่วงที่เราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปลูกหรือมีธุระต้องไปที่อื่นก็ยังสามารถดูแลและควบคุมการให้น้ำตามเวลาจากจุดที่เราอยู่ได้ สำหรับพื้นที่ 3 ไร่นี้ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในด้านอุปกรณ์ต่างๆ ประมาณ 3 หมื่นบาทและยังมีแผนที่ขยายโรงเรือนปลูกพืชผักเพิ่มอีก 1 โรงเรือนในอนาคต”

บวรศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า  สำหรับการใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตด้านการเกษตรในกิจการของตนเองมีความจำเป็นมาก เพราะช่วยลดปัญหาด้านขาดแคลนแรงงาน อีกอย่างหนึ่ง การใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วย ทำให้กิจการของตนซึ่งเป็นกิจการในครอบครัวที่ทำสืบทอดกันมานานสามารถสร้างรายได้อย่างเพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพในครอบครัว

ทางด้านนายธำรงศักดิ์ ชุมนุมมณี “โอ๊ค” YSF ประจำปี 2560 อายุ 32 ปี เจ้าของสวนเกษตรแบบผสมผสาน ประกอบด้วย ทุเรียน ยางพารา แปลงไม้ดอก  รวมทั้งเลี้ยงแพะนมและวัวร่วมด้วย ในพื้นที่ 35 ไร่ ในตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา  เปิดเผยว่า ได้นำระบบเทคโนโลยีการให้น้ำมาใช้ในสวนทุเรียน ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณน้ำ ควบคุมอุณหภูมิภายในสวนให้มีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอที่ 31 องศาเซลเซียส ถ้าสภาพอากาศร้อนเกินไปจนถึง 35 องศาเซลเซียส ระบบอัตโนมัติจะสั่งให้มีการพ่นน้ำในสวนทันทีเพื่อลดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไปและอยู่ในระดับที่พอเหมาะต้นทุเรียนจึงจะออกผลดีเป็นที่พอใจโดยนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ตั้งแต่ 4 ปีแรกที่ปลูกทุเรียน

ธำรงศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่าการพัฒนาสวนเกษตรของตนไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น  ขณะนี้ กำลังพัฒนาระบบใหม่ คือปรับเป็นระบบที่ควบคุมโดยใช้สมาร์ทฟาร์ม ซึ่งนอกจากจะช่วยควบคุมอุณหภูมิแล้ว  ยังสามารถรายงานผลค่าความชื้นในดิน ค่าอินทรียวัตถุต่างๆ ในดิน ที่พืชต้องการใช้ หรือแจ้งบอกได้ว่าอินทรียวัตถุชนิดใดเหลือน้อย หรือกำลังจะหมด และต้องเติมอินทรีย์วัตถุชนิดใดบ้างลงในดินเพื่อเป็นอาหารให้พืชใช้เจริญเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอและอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามที่พืชต้องการ

การปรับปรุงดังกล่าว ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการติดตั้งระบบ โดยทางสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ช่วยเหลือและให้งบประมาณมาส่วนหนึ่ง เนื่องจากต้องการพัฒนาพื้นที่สวนทุเรียนแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบสำหรับเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งบริเวณโดยรอบและจังหวัดใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพื่อไปพัฒนา ปรับปรุงสวนทุเรียนของตนเองเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นต่อไปรวมทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยตนเองทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการให้ความรู้ด้วย

ธำรงศักดิ์ บอกอีกว่าการพัฒนาให้สวนทุเรียนของตนเองเป็นสมาร์ทฟาร์ม จะช่วยให้เกิดความสะดวกในการทำสวน ไม่ต้องหาแรงงานมาช่วยทำสวนมากนัก เพียงแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ดี ก็สามารถได้รายงานในสิ่งที่ต้องการผ่านระบบได้ทั้งหมด ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นโปรแกรมที่ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาได้ทำการพัฒนาขึ้นมาให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์นั่นเอง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up