โศกนาฎกรรม ที่ลืมไม่ลง ครั้งหนึ่งใน Wahine ของ นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

โศกนาฏกรรม ช็อกโลกที่น่ากลัวไม่แพ้ไททานิคคือ เหตุการณ์เรือ Wahine อับปางบริเวณท่าเรือเวลลิงตัน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2511 มีผู้เสียชีวิต 55 ราย เรื่องนี้อาจเป็นแค่ความทรงจำ หากไม่มีอีเมลที่ส่งมาจากสถานทูตไทยประจำกรุงเวลลิงตันประเทศนิวซีแลนด์ มาถึง คุณนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ เรื่องราวโศกนาฏกรรมนี้จึงเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง

โศกนาฏกรรม ที่ลืมไม่ลง เรือ Wahine อับปางบริเวณท่าเรือเวลลิงตัน

โศกนาฎกรรม

ตอนนั้นนุสเพิ่งอายุ 5 ขวบ เราพอจำความได้ในระดับเด็กๆ พอโตขึ้นเข้ามหาวิทยาลัยมีเพื่อนถามถึงเหมือนกัน แต่เราไม่ได้คิดว่าเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงหรือมีความสำคัญ ประกอบกับในครอบครัวไม่ได้คุยกันเรื่องนี้เลย เพราะแม่บอกว่ามีนักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยมาขอสัมภาษณ์ ท่านปฏิเสธไม่อยากให้ข่าว จนเมื่อประมาณ 4 เดือนที่แล้วมีอีเมลจากสถานทูตไทยที่กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ มาถึงเลขาฯ นุส มีรายละเอียดว่าเมื่อเร็วๆ นี้ทางสถานฑูตได้รับการติดต่อจากชาวนิวซีแลนด์ สอบถามหาชาวไทยนามสกุล ‘อัสสกุล’ ที่อยู่ในเหตุการณ์เรือ Lyttelton-Wellington Ferry Wahine ล่มในปี ค.ศ. 1968 หรือ พ.ศ. 2511

เขาแจ้งว่าเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ โดยนั่งแพยางออกมาพร้อมกับครอบครัวอัสสกุล บอกแต่เพียงตัวย่อของชื่อต้น ทางสถานทูตคาดเดาจากชื่อย่อและอายุ คิดว่าอาจเป็นนุสและครอบครัว ในปีหน้าทางมูลนิธิของผู้รอดชีวิตจะจัดงานรำลึกครบ 50 ปี จึงอยากติดต่อกับครอบครัวเราและถามว่านุสยินดีที่จะให้ที่ติดต่อกับมูลนิธิไหม ซึ่งนุสยินดี เพราะอยากทราบรายละเอียดด้วย

จากนั้นมีอีเมลจากมิสเตอร์โรเบิร์ต อีวาน ชาวนิวซีแลนด์ มาถึงนุส เขาได้อีเมลนุสมาจากสถานทูตไทยประจำกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เล่าว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่รอดชีวิตจากเรือ Wahine อับปางบริเวณท่าเรือเวลลิงตัน เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2511 เขาเล่าว่าตอนที่เรือกำลังจม เขากระโดดลงแพยางที่สำรองไว้สำหรับอพยพผู้โดยสารในยามฉุกเฉิน

หลังจากแพยางลอยมาถึงฝั่งด้านตะวันออกของ Pencarrow ก็คว่ำ เพราะสู้คลื่นลมไม่ไหว ขณะที่ทุกคนลอยคออยู่ในทะเลใกล้ ๆ กันนั้น เขาเห็นเด็กชายกับเด็กหญิงลอยคออยู่ใกล้ ๆ เขากับผู้ชายคนหนึ่งช่วยดึงเด็กสองคนนั้นขึ้นมาบนฝั่ง โดยแบ่งเด็กกันคนละคน เขาไปกับเด็กหญิง พาไปที่หน่วยให้ความช่วยเหลือ ที่เขาเซอร์ไพร้ส์มากคือ วันรุ่งขึ้นได้เจอเด็กหญิงคนนั้นอีกที่ห้างสรรพสินค้าในเมืองเวลลิงตัน เธอมากับครอบครัวและเด็กหญิงคนนั้นวิ่งเข้ามากอด เขาประทับใจมากนุสอ่านแล้วขนลุกเลย สงสัยจะใช่ นุสพยายามเรียกความทรงจำกลับมาพร้อมกับเข้าไปดูในเว็บไซต์ Wahine Disaster เห็นสิ่งที่เขาบันทึกไว้ถึงกับอึ้งว่าเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดนี้เลยหรือ ซึ่งหากนุสไม่ได้มิสเตอร์โรเบิร์ตช่วยไว้คงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ จึงค่อยๆ จับต้นชนปลายได้

ตั้งแต่เด็กช่วงปิดเทอมนุสและพี่ชาย 2 คน (กีรติ – วีรวุฒิ อัสสกุล) จะได้ไปเที่ยวต่างประเทศทุกปี เพราะคุณแม่เป็นเอเจนซี่บริษัททัวร์ จำได้ว่าตอนอายุ 5 ขวบเราไปเที่ยวนิวซีแลนด์กัน มีคุณพ่อ (กฤษณ์) คุณแม่(สุมาลี) คุณย่า (หม้อ) พี่ชาย 2 คน คุณแม่วางโปรแกรมว่าจะเช่ารถขับเที่ยว เพราะนิวซีแลนด์เป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวย ส่วนขากลับนั่งเรือ Wahine ข้ามจากเกาะใต้ที่เมืองลิตเทลตัน (Lyttelton) ไปยังเมืองเวลลิงตันที่เกาะเหนือ แล้วค่อยขับรถต่อไปที่สนามบิน

เรือลำนี้มีลักษณะคล้ายเรือสำราญขนาดใหญ่ จากข้อมูลในเว็บไซต์บอกว่า กว้างประมาณ 200 เมตร ยาว 149 เมตร จุผู้โดยสารประมาณ 734 คน มีห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนโรงแรม สามารถนำรถเข้าไปจอดได้ ที่จำได้คือคืนนั้นเราพักค้างบนเรือ ประมาณตี 5 ต้องสะดุ้งตื่นด้วยเสียงไซเรน พร้อมกับเสียงกัปตันประกาศให้ทุกคนขึ้นมารวมกันบนชั้นที่คล้ายๆ กับล็อบบี้ แม้ตอนนั้นเรือค่อยๆ โคลงแล้วเอียงลงเรื่อยๆ แต่ผู้โดยสารไม่ได้ตกใจ เพราะยังเสิร์ฟอาหาร ไอศกรีม นุสกับพี่ชายด้วยความเป็นเด็ก เห็นพื้นเรือเทลงก็เล่นเป็นไม้ลื่น กินไอศกรีม สนุกเลย

จากที่ดูในคลิปวิดีโอที่บันทึกรายละเอียดไว้อย่างสมบูรณ์ว่า วันนั้นกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าพายุไซโคลนจะเข้า นับเป็นพายุที่ใหญ่และรุนแรงมากในประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์ กัปตันมั่นใจว่าแรงลมขนาด 50 นอต หรือ 50 – 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรับมือได้ แต่ตอนที่เรือกำลังจะเข้าเทียบที่ท่าเรือเวลลิงตัน แรงลมขึ้นไปถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กัปตันจึงนำเรือออกสู่ทะเลอีกครั้ง เพราะคลื่นลมแรงเกินกว่าที่จะนำเรือเข้าไปจอดได้ ความที่คลื่นลมแรงขึ้น ด้านหนึ่งของเรือจึงไปชนกับแนวหินโสโครกซึ่งอยู่ใกล้กับทางเข้าท่าเรือเวลลิงตัน ทำให้ใบพัดด้านขวาเสียหาย เกิดรูรั่วที่ใต้ท้องเรือ น้ำทะลักเข้ามา

แม้กัปตันสั่งให้ลูกเรือไปอุดแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น กัปตันจึงทิ้งสมอคิดว่าผู้โดยสารอยู่บนเรือน่าจะปลอดภัยกว่าที่จะอพยพ เพราะแม้อยู่ใกล้ฝั่งและน้ำไม่ลึก แต่การออกไปสู้คลื่นที่ทั้งแรงและสูงประมาณ 6 – 7 เมตรไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ประมาณบ่าย 2 โมงเรือที่มีน้ำหนัก 9,000 ตันเริ่มเอียงลงเรื่อยๆ กัปตันกลัวว่าเรือจะระเบิด จึงสั่งผู้โดยสารอพยพลงเรือบดสำหรับเกิดเหตุฉุกเฉิน มีอยู่ 2 ฝั่ง ฝั่งละ 4 ลำ แต่เมื่อเรือตะแคง ฝั่งที่เอียงขึ้นสูงเกินกว่าจะปล่อยเรือบดลงได้ จึงเหลือแค่ 4 ลำเทียบกับจำนวนผู้โดยสารกว่า 700 คน ดังนั้นภาพแย่งชิงกันลงเรือบดจึงไม่ต่างจากที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง ไททานิค

“เรือเริ่มเอียงลงเรื่อยๆ ฝั่งที่เอียงขึ้นสูงเกินกว่าจะปล่อยเรือบดลงได้ จึงเหลือแค่ 4 ลำ เทียบกับจำนวนผู้โดยสารกว่า 700 คน ดังนั้นภาพแย่งชิงกันลงเรือบดจึงไม่ต่างจากที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง ไททานิค”

“ทันทีที่ส่งเรือลำที่ 1 ลงไป กัปตันประกาศให้โยนเด็กลงก่อน แต่ผู้โดยสารที่แตกตื่นกลัวตายก็แย่งกันกระโดดลงเรือ จากเดิมที่จุได้ 60 – 70 คนก็กลายเป็นร้อยคน เรือพลิกคว่ำทันที ครอบครัวหนึ่งต้องเสียลูกอายุ 5 – 6 ขวบหายไปกับคลื่น จากนั้นกัปตันส่งเรือลำที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ลงไป ความที่คลื่นลมแรงจนพัดเรือออกจากฝั่งอย่างควบคุมทิศทางไม่ได้บางลำสู้ไม่ไหว พอใกล้ถึงฝั่งก็ล่ม กระแสน้ำพัดคนไปอัดกับแนวหินจนเสียชีวิต เท่าที่นุสจำได้ ครอบครัวเราน่าจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้ลงเรือ กัปตันประกาศให้ผู้โดยสารมาลงเรือทางฝั่งสตาร์บอร์ด ซึ่งคือด้านขวาของเรือ แต่เรือเอียงขนาดนั้น ก็สับสนทิศทางว่าฝั่งไหนคือสตาร์บอร์ดความโกลาหลจึงเกิดขึ้น บางคนไปปีนผิดฝั่ง ครอบครัวเรามายืนตามที่กัปตันบอก หากให้นึกภาพตามที่คุณโรเบิร์ตเขียน เรือ 4 ลำน่าจะไปหมดแล้ว นุสน่าจะถูกโยนลงในแพยางซึ่งเป็นลำสุดท้ายจริงๆ ตามด้วยพี่ชายคนโต จากนั้นมีผู้ใหญ่กระโดดลงมาทับเราจนเต็มเรือ รวมถึงมิสเตอร์โรเบิร์ตด้วย แล้วแพยางก็ออกไปโดยที่คุณพ่อคุณแม่ คุณย่า และพี่ชายคนกลางยังอยู่บนเรือ ได้ยินเสียงแม่ตะโกนบอกพี่ชายว่าให้ดูแลน้องด้วย

แพเล็กๆ โต้คลื่นลมแรงได้สักพักก็คว่ำ โชคดีที่มีชูชีพ เพราะนุสยังว่ายน้ำไม่เป็น ไม่รู้ว่าลอยอยู่กลางทะเลนานเท่าไร ขณะนั้นคลื่นลมแรงมากจนเรือกู้ภัยไม่สามารถนำเรือออกมาช่วยได้ แต่แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งก็เพิ่งมารู้ในอีเมลว่าคือมิสเตอร์โรเบิร์ต ช่วยพานุสขึ้นฝั่งไปส่งที่รถพยาบาล จากนั้นนุสถูกพามาเจอกับครอบครัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทุกคนปลอดภัย รวมถึงคุณย่าที่ตอนนั้นอายุ 70 ปี ท่านแข็งแรงมาก จากนั้นตามที่มิสเตอร์โรเบิร์ตบอกก็คือ นุสกับครอบครัวไปที่ห้างสรรพสินค้าเพื่อเปลี่ยนชุดใหม่ จึงได้เจอกับเขาอีกครั้ง ที่นุสเดินเข้าไปกอด คิดว่าตอนนั้นความรู้สึกเราอยากขอบคุณผู้ใหญ่ ขณะที่เขาประทับใจมาก

จากวันนั้นเราค่อยๆ ลืมเหตุการณ์นั้นไป แม้เขาจะจัดงานรำลึกทุก ๆ 5 ปี แต่เพราะเราไม่รู้จักใครเลย จึงเหมือนกับถูกตัดขาดไปโดยปริยายซึ่งในอีเมลของคุณโรเบิร์ต นอกจากเขียนมาบอกเล่าเหตุการณ์แล้วยังเชิญมาร่วมงานครบรอบ 50 ปีที่เรือ Wahine จม เพราะเหตุการณ์นี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงของนิวซีแลนด์ มีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิผู้รอดชีวิต ให้ความช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตจำนวน 53 รายที่จมน้ำตาย และอีก 2 รายเสียชีวิตขณะส่งโรงพยาบาล ทำเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ซึ่งมิสเตอร์โรเบิร์ตเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิจึงอยากเชิญครอบครัวเราไปร่วมงานในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561ซึ่งจะมีพิธีรำลึก 50 ปีที่เรือWahine ล่ม จัดเป็นงานใหญ่ ตั้งแต่เวลา6.30 น. – 15.30 น.

“วันนี้คุณพ่อคุณแม่และคุณย่าไม่อยู่แล้ว พี่ชายทั้ง 2 คน กับนุสตัดสินใจแคนเซิลทริปยุโรปเพื่อเดินทางไปนิวซีแลนด์ เพื่อไปขอบคุณเขาด้วยตัวเอง

“เพราะหากไม่ได้เขา ก็อาจไม่มีนุสราในวันนี้”

เรื่องและภาพ : นิตยสารแพรว, https://nzhistory.govt.nz, Stuff.co.nz, thewahine.co.nz

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up