รัฐธรรมนูญไทย ตลอดรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 2)

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้มีบุคคลจํานวนหนึ่งก่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว เจ้าหน้าที่ตํารวจได้เข้าจับกุมผู้ก่อการ จนมีการปะทะกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดชุมนุมประท้วงการจับกุมและอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง ต่อมานิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันรวมตัวกันก่อการประท้วงด้วย เหตุการณ์ไม่สงบลุกลามไปทั่วกรุงเทพมหานคร
พระบารมีคลี่คลายเหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516
ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2516 รัฐบาลได้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และให้คํารับรองว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเวลาไม่เกินหนึ่งปี แต่ไม่อาจสลายการชุมนุมได้ จนกระทั่งในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดการปะทะกันขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารกับนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชน จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก จอมพลถนอมได้ลาออกจากตําแหน่ง และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ความไม่สงบจึงคลี่คลายลงโดยเร็ว
การระงับเหตุการณ์ครั้งนั้นอาศัยพระบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยแท้ มิฉะนั้นแล้วเหตุการณ์คงลุกลามมากขึ้น เพราะการต่อสู้ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว มีการทําลายสถานที่ราชการและทรัพย์สินต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่ง ในตอนดึกของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
9 ได้มีพระราชกระแสรับสั่งทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ว่า
“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 7 – 8 วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากันจนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทําความตกลงกันได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทําให้เกิดการปะทะกันและมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนคร ถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด
“อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุน เพื่อคณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสุข ความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”
ที่มา : บทความพิเศษ นิตยสารแพรว ฉบับที่ 895 ปักษ์วันที่ 10 ธันวาคม 2559

Praew Recommend

keyboard_arrow_up