เที่ยว KRAKO’W เมืองเก่า…ที่น่า (หลง) รัก (ตอนที่1)

ฉันเคาะ…หนุ่มหน้าเข้มโผล่หน้าออกมาแล้วบอกว่าเข้ามาแล้วล็อกประตูด้วย ฉันกวาดสายตาในความสลัว แล้วเหวี่ยงกระเป๋ามุดตัวขึ้นเตียงนอนนิ่งสนิท เพราะเกรงจะรบกวนผู้โดยสารคนอื่น รถไฟกระชากตัวออกจากสถานี สิริรวมตั้งแต่รถจอดจนเคลื่อนตัวใช้เวลาสามนาทีถ้วน!!? เฮ้ย…แอบคิดในใจ ทำไมจอดแป๊บเดียวถ้าขึ้นรถไม่ทันมีหวังตกรถแน่ เพราะอย่างนี้รถไฟยุโรปถึงรักษาเวลาได้ดีเยี่ยม

1

ฟ้าเริ่มสาง ฉันลุกออกมายืนตรงหน้าต่างรถไฟ สองข้างทางดูคุ้นตาพาให้คิดถึงชนบทในประเทศรัสเซียที่เคยไปเมื่อหลายปีก่อน อาจเพราะความใกล้ลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง ภูมิประเทศจึงคล้ายกัน จากหางตาเห็นกวางตัวเล็ก ๆ กระโดดเข้าป่าข้างทาง นึกในใจว่า ประเทศนี้เขารักษาธรรมชาติขนาดนี้เลยหรือ รถไฟสัญชาติโปแลนด์ถึงสถานีในเมืองคราเคา (Cracow) หรือคราคูฟ (Krako’w) ในภาษาโปแลนด์อดีตเมืองหลวงเก่าของโปแลนด์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นกรุงวอร์ซอ (Warsaw) เมืองที่ผ่านความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้อย่างไม่บอบช้ำ แถมยังคงความงามของสถาปัตยกรรมไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

1-1

รำลึกอดีตแสนเศร้าที่ค่ายเอาช์วิตซ์ (Auschwitz)

ขณะนี้เป็นเวลา 7.00 น. เช้าเกินไป ยังเข้าที่พักไม่ได้ ฉันจึงตัดสินใจใช้บริการทัวร์ของคุณน้าชาวโปล ไปเที่ยว ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ที่อยู่ห่างออกไปราว 60 กิโลเมตร ใช้เวลาบนรถประมาณ 1 ชั่วโมงคุณน้าพูดโน้มน้าวว่า ถ้าเราไปถึงก่อน 10 โมงจะสามารถเข้าชมค่ายได้ “ฟรี” คำว่าฟรีนี่มีผลมหาศาลถึงกับจูงใจเราได้ ล้อเริ่มหมุนหลังตกลงราคาระหว่างทางแกก็ชี้ชวนให้ดูตึกสวยสีอมส้มที่ตั้งอยู่บนเนินเขา แกเล่าว่าตึกนี้ฮิตเลอร์เคยใช้เป็นที่พัก แต่ปัจจุบันกลายเป็นโรงแรมหรูไปแล้ว

ถึงที่หมายตามเวลาก่อน 10 โมง ซึ่งตอนนี้มีนักท่องเที่ยว ขอย้ำ!ว่าจำนวนมาก-ก-ก มายืนรออยู่ตรงหน้าทางเข้าแล้ว ใคร ๆ ก็ชอบของฟรีทั้งนั้น คุณน้าชาวโปลรีบดึงแขนให้ไปยืนเข้าแถวตรวจกระเป๋าและผ่านเครื่องสแกน ส่วนแกวิ่งไปหาบัตรฟรีสำหรับเข้าชมมายัดใส่มือเราแล้วกลับไปรอที่รถ ภาพแรกที่คุ้นตาคือซุ้มประตูทางเข้าค่าย ที่มีคำโปรยสวยหรูจูงใจให้นักโทษทำงานเพื่อแลกกับอิสรภาพ มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่กำลังฟังไกด์บรรยายประวัติจุดหลัก ๆ ในเอาช์วิตซ์ จุดที่ควรเยี่ยมชมคือ บล็อก 4, 5, 6, 7 และ 11 ที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ เพราะมี Death Wall ที่ใช้ยิงเป้านักโทษชาวยิว ในบล็อกต่าง ๆ จัดแสดงวิดีโอและรูปภาพเด็ก ๆ ในค่ายที่ยืนอยู่หลังรั้วลวดหนามด้วยแววตาที่ยากจะบรรยายสำหรับฉัน

กระเป๋าเดินทางของนักโทษที่ถูกยึดตั้งแต่เดินทางมาถึงค่าย
กระเป๋าเดินทางของนักโทษที่ถูกยึดตั้งแต่เดินทางมาถึงค่าย

ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของนักโทษที่ถูกยึดตั้งแต่เหยียบย่างเข้ามาในค่าย กระเป๋ารองเท้า หรือแม้แต่ขาเทียม ฉันยืนขนลุกกับกองเส้นผมขนาดใหญ่ ใจหายเวลาเห็นรองเท้าคู่เล็ก ๆ ได้แต่มีคำถามว่ากี่ชีวิตที่ต้องมาเจอเหตุการณ์อันโหดร้ายทารุณในนี้ รูปถ่ายติดผนังทำให้ฉันไม่กล้าสบตาเจ้าของในภาพ เมื่อจินตนาการถึงความโหดร้ายที่พวกเขาได้รับ สภาพเตียงนอนนักโทษที่เห็นทำให้รู้สึกสะเทือนใจถ้ามองจากด้านนอกเหล่าอาคารสีปูนส้มตัดกับท้องฟ้าใสในวันแดดดีและอากาศเย็นสบายแบบนี้ก็ดูสวย แต่ถ้าเป็นวันเวลาในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน สถานที่นี้คงเต็มไปด้วยความโหดร้ายและน้ำตาแห่งความสิ้นหวังของชาวยิวที่เคราะห์ร้าย

ส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ค่ายเอาช์วิตซ์
ส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ค่ายเอาช์วิตซ์
ต้นไม้แห้งในวันฟ้าใสที่ค่ายกักกัน
ต้นไม้แห้งในวันฟ้าใสที่ค่ายกักกัน

ฉันเดินออกมาด้านนอกแล้ว คุณน้าพาเราไปชมโบกี้รถไฟที่ใช้ขนชาวยิวมาที่ค่ายกักกันในยุคนั้นต่อ แกเล่าว่าในหนึ่งโบกี้มีผู้เคราะห์ร้ายยืนแออัดกันมากถึง 120 คน! ฉันไปเดินก้ม ๆ มอง ๆ แล้วจินตนาการไม่ออกว่าสภาพในตอนนั้นจะย่ำแย่สักแค่ไหน ขนาดรถไฟตู้นอนที่ฉันโดยสารมาไม่กี่ชั่วโมงยังปวดเมื่อยแทบแย่

ทางรถไฟสายมรณะ ที่นำชาวยิวจากทั่วยุโรปสู่ค่ายกักกัน
ทางรถไฟสายมรณะ ที่นำชาวยิวจากทั่วยุโรปสู่ค่ายกักกัน

ฉันเดินทางต่อไปยัง ค่ายเบอร์-เกโน (Birkenau) ที่ถูกสร้างเพื่อรองรับจำนวนนักโทษที่มีมากขึ้น และในค่ายนี้ยังมีห้องรมแก๊ส (Gas Chamber) ที่ใช้สังหารนักโทษจำนวนมาก ในคราวเดียวด้วยการรมแก๊สไซโคลน ต่อเมื่อกองทัพนาซีแพ้สงคราม จึงใช้ไดนาไมต์ทำลายหลักฐานและเหลือเป็นซากอาคารให้เรายืนดูมาจนถึงวันนี้ ฉันแอบคิดไปไกลว่า นี่ขนาดเยอรมนีแพ้สงครามยังโหดร้ายได้ขนาดนี้ ถ้าเกิดเป็นฝ่ายชนะล่ะ!?? คิดแล้วขนลุก ฉันเดินสวนกลุ่มนักท่องเที่ยวออกมาตรงอาคารด้านหน้า ที่มีทางรถไฟเชื่อมจากด้านนอกผ่านซุ้มประตู ที่เรียกว่า Death Gate อยากรู้ว่าเด็ก ๆ ที่กำลังเดินตามอาจารย์ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์อันโหดร้ายนี้บ้าง สงครามไม่เคยให้อะไรนอกจากความสูญเสีย ไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะ สุดท้าย…เราทุกคนล้วนแต่ต้องเดินไปจนสุดทางชีวิตเหมือน ๆ กัน

ห้องรมแก๊สพิษในค่ายเบอร์เกโนที่ถูกทำลายหลังนาซีแพ้สงคราม
ห้องรมแก๊สพิษในค่ายเบอร์เกโนที่ถูกทำลายหลังนาซีแพ้สงคราม

เรื่อง : ทิมอรุณ

ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรว ฉบับที่ 860 ปักษ์วันที่ 25 มิถุนายน 2558

บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินของเว็บไซต์แพรว ห้ามผู้ใดนำไปคัดลอก ดัดแปลง หรือทำซ้ำ อนุญาตให้แชร์บทความนี้ได้จากลิ้งค์นี้เท่านั้น

Praew Recommend

keyboard_arrow_up