อลังการงานสร้างผ้าโบราณราชสำนักอายุกว่า 300 ปี (ตอนจบ)

อาจารย์วีรธรรมกับงานผ้าโบราณราชสำนักชนิดต่างๆมีทั้งผ้ายกทองและผ้าลายอย่าง
อาจารย์วีรธรรมกับงานผ้าโบราณราชสำนักชนิดต่างๆมีทั้งผ้ายกทองและผ้าลายอย่าง

“ผ้าลายอย่างชิ้นใหญ่สีเขียว ได้จากร้านค้าของเก่า คนขายเล่าว่า เจ้าของเดิมบอกว่าเป็นผ้าสำหรับปูหลังช้าง แต่ด้วยขนาดและลวดลายแล้วสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผ้านุ่งสำหรับควาญช้างหลวงมากกว่า เพราะเป็นผ้าที่ได้จากตระกูลเกี่ยวกับช้างมีผู้รู้บอกว่า เหตุที่ต้องนุ่งผ้าผืนใหญ่เพื่อว่าถ้าบังคับช้างไม่อยู่ จะได้ปลดผ้านุ่งคลุมหัวช้างซึ่งถ้าดูจากขนาดแล้วไม่น่าจะใช้ปูหลังช้างต้องยาวลากพื้นแน่ๆ ”

บรรดาผ้าปูม ที่ครูผ้าคนนี้ได้มาจากหลายแหล่ง
บรรดาผ้าปูม ที่ครูผ้าคนนี้ได้มาจากหลายแหล่ง

สร้างอาคารเพื่อเก็บรักษา
จากนั้นอาจารย์วีรธรรมนำเราเดินเข้าไปชมห้องเก็บผ้า
“การเก็บผ้าต้องเก็บในที่แสงน้อย”ครูผ้าอธิบายก่อนขยายความต่อ
“อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บผ้าโบราณ ตัวอาคารและหลังคาจึงต้องหล่อคอนกรีตเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ถ้าเป็นหน้าฝนต้องใช้เครื่องดูดความชื้นช่วย
“เนื่องจากผ้าเป็นทรัพย์สินมีค่าชนิดหนึ่งของคนโบราณ แต่เราเกิดในยุคอุตสาหกรรม จึงไม่เข้าใจว่าผ้าโบราณทำลำบากยากเย็นขนาดไหนเขาใช้ผ้าทะนุถนอมแค่ไหน ยิ่งถ้าเป็นผ้าไหม เวลาทอต้องลงแป้งกับไหมเส้นยืนเพื่อให้เหนียว เมื่อระยะเวลาผ่านมาเป็นร้อยปี แป้งเหล่านั้นเปลี่ยนตัวเองเป็นกรด ทำลายเส้นใยให้ขาด เมื่อได้ผ้ามาจึงต้องซักก่อนด้วยการขึงผ้าขาวบนกรอบสะดึงขนาดใหญ่ให้ตึง คลี่ผ้าโบราณที่ม้วนอยู่ออก นำน้ำที่ไม่มีค่าความเป็นกรดหรือด่างมาซักล้าง กระทั่งน้ำที่ไหลออกจากผืนผ้าเป็นสีน้ำตาลนั้นหมดไป นั่นหมายถึงหมดความเป็นกรดหรือด่าง จึงนำผ้าฝ้ายดิบสีขาวที่ซักแป้งออกหมดแล้ว มาม้วนแกนกระดาษที่ปราศจากกรด ก่อนนำผ้าโบราณมาม้วน ใช้ผ้าห่ออีกชั้นเก็บในที่อุณหภูมิคงที่ ปราศจากความร้อน และมีความชื้นเหมาะสม”

หีบลายรดน้ำสมัยอยุธยาตอนปลายสันนิษฐานว่า เคยเป็นหีบเก็บผ้าเมื่อเจ้าของถึงแก่กรรมทายาทนำมาถวายวัด พระจึงใช้เป็นหีบเก็บพระคัมภีร์ในเวลาต่อมา
หีบลายรดน้ำสมัยอยุธยาตอนปลายสันนิษฐานว่า เคยเป็นหีบเก็บผ้าเมื่อเจ้าของถึงแก่กรรมทายาทนำมาถวายวัด พระจึงใช้เป็นหีบเก็บพระคัมภีร์ในเวลาต่อมา

คุณค่าสำคัญกว่ามูลค่า ไม่มีการประเมินราคา
“ถ้ามีชาวต่างชาติมาขอซื้อ จะขายไหมคะ” เราตั้งคำถามลอย ๆ แต่คำตอบที่ได้รับกลับหนักแน่น
“ไม่ควรขาย เพราะสุรินทร์เป็นแหล่งผลิตผ้าปูมมาแต่โบราณไม่ค่อยมีลายโบราณให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา ผ้าหลายร้อยชิ้นที่ผมเก็บรักษาไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้ เป็นสมบัติส่วนรวมของแผ่นดิน เพียงแต่ผมช่วยจัดระเบียบระบบเพื่อให้เกิดการศึกษาและเผยแพร่ โดยในอนาคตจะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ผ้าโบราณราชสำนัก รวบรวมให้เป็นแหล่งศึกษา นำลวดลายที่เกิดจากภูมิปัญญาคนโบราณ ที่ทุ่มเทออกแบบไว้มากมายมหาศาล กลับมาทำใหม่
“ถ้าทุกคนได้เรียนรู้ ได้เห็น เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาสร้างสรรค์ ย่อมเป็นสินค้าเลี้ยงชีวิตได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ทอผ้ามัดหมี่ ผ้ายก และผ้าอื่น ๆ อีกมหาศาล”


ที่มา : คอลัมน์Unexpected นิตยสารแพรว ฉบับที่ 858 ปักษ์วันที่ 25 พฤษภาคม 2558

Praew Recommend

keyboard_arrow_up