5 ข้อที่พึงตระหนักก่อนโพสต์บนโซเชียลมีเดีย

ใครจะรู้บ้างว่าเรื่องของโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่อยากให้เกิดปัญหาต้องคำนึงถึง 5 ข้อนี้

จากความเดิมตอนที่แล้วที่จุ๊เคยบอกไว้ว่าบนโลกโซเชียลมีเดียนั้นเป็นโลกของ เหรียญสองด้าน แฝงไปด้วยเรื่องเชิงบวก และเชิงลบ เห็นได้จากบนหน้าหนังสือพิมพ์ก็ดี บนโลกออนไลน์ที่แชร์ต่อๆกันก็ดี ทั้งเรื่องส่วนตัว คลิปฉาว ปัญหาสังคม และปัญหามากมายจิปาถะ หรือแม้กระทั่งเพียงคำพูดประโยคเดียวก็ชวนให้มโนได้ต่างๆนานา ซึ่งล้วนแต่มาจากการใช้สื่อดิจิตอลในทางที่ผิด โดยที่ผู้ใช้เองอาจจะยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า เอ…บนโลกโซเชียลมีเดียนั้นมีอันตรายด้วยหรือ?

แหม…แล้วถ้าจุ๊จะบอกว่าอันตรายเสียยิ่งกว่าเสือสิงห์กระทิงในป่า คุณจะเชื่อกันไหมคะ?

ประเด็นสำคัญที่จุดประกายปัญหาบนโลกออนไลน์คือ การขาดจริยธรรมในการใช้สื่อดิจิตอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความรอบคอบก่อนการโพสต์ ง่ายๆ เลยเห็นได้จากเฟรนด์บนเฟซบุ๊คของจุ๊ค่ะ มาทั้งรูปภาพและตัวอักษรที่ไม่ควรเผยแพร่สู่สาธารณะ แต่ก็ยังดันทุรังโพสต์จนเกิดการพูดถึงแบบปากต่อปาก และที่สำคัญเกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบอีก เห็นไหมล่ะคะว่ามีแต่เสียกับเสีย ดังนั้นจุ๊เลยมีทิปส์ดีๆ ‘5 ข้อที่คุณพึงตระหนักก่อนโพสต์’ มาฝากค่ะ

T- Is it true?
สิ่งที่โพสต์ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงและไม่กลับมาทำร้ายคุณในภายหลัง
ถึงสิ่งที่คุณโพสต์จะผ่านไปนานแล้ว หรือคุณจะลบโพสต์นั้นไปแล้ว แต่คุณจะแน่ใจได้หรือไม่ว่าไม่มีใคร Capture สิ่งที่คุณโพสต์ได้ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าอีกหลายเดือนต่อมาสิ่งที่คุณโพสต์จะไม่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

H-Is it hurtful?
สิ่งที่โพสต์ต้องไม่กระทบใจผู้อื่น

สำคัญมากเลยค่ะ เพราะภาพที่คุณโพสต์นั้นอาจจะไปกระทบใจของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง เจ้านาย เพื่อน หรือแฟน เพราะฉะนั้นก่อนจะลงภาพควรเช็คให้ดีก่อนว่าการกระทำของคุณไม่กระทบต่อความรู้สึกของคนอื่นแน่ๆ

I-Is it illegal?
สิ่งที่โพสต์ต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ กฎหมาย และไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
ไม่ว่าจะโพสต์รูปภาพ ข้อความหรือแชร์ข้อมูลใดๆ สิ่งสำคัญคือ คุณต้องตระหนักให้ดีว่าข้อมูลที่คุณจะโพสต์นั้นถูกกฎหมายและไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น รวมถึงเรื่องของหลักจริยธรรมและศีลธรรมด้วย เช่น คุณแน่ใจใช่หรือไม่ว่าข้อมูลที่คุณจะโพสต์นั้นไม่ใช่การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต, ข้อความแสดงการหมิ่นประมาทที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีความ หรือเรื่องเซนซิทีฟต่อความรู้สึกของผู้อื่น ดังนั้นก่อนจะโพสต์ทุกครั้ง คุณต้องพึงตระหนักอย่างรอบคอบว่าข้อความเหล่านั้นจะไม่กระทบต่อคุณ คนรอบข้าง สังคม และประเทศอย่างแน่นอน

N – Is it necessary?
สิ่งที่โพสต์ต้องเป็นสิ่งที่คำนึงถึงช่วงเวลาของผู้อื่น
อันนี้ห้ามเด็ดขาดเลยนะคะ โดยเฉพาะคนทำงาน และเป็นสิ่งที่จุ๊จะสอนลูกน้องเสมอว่า เวลาออกไปประชุมข้างนอก หากเหลือเวลาไปทานอาหาร ‘อย่าโพสต์รูปอาหารอร่อยๆหรือรูปที่แสดงถึงความสุขมากนัก’ เพราะเรายังอยู่ในช่วงเวลางาน แต่เพื่อนคนอื่นไม่ได้ทานแบบเรา ดังนั้นต้องนึกถึงใจเขาใจเราให้มากที่สุด

K – Is it kindful?
สิ่งที่โพสต์สามารถบอกสถานะและสิ่งที่คุณกำลังทำแก่คนรอบข้างได้
ข้อนี้เป็นสิ่งที่จุ๊ค่อนข้างสนับสนุนค่ะ เพราะด้วยการทำงานที่มีเวลาค่อนข้างจำกัด เราไม่สามารถบอกทุกคนได้ว่าเรายุ่งแค่ไหน และกำลังทำอะไรอยู่ แนะนำเลยว่าตั้งสเตตัส และเช็คอินเถอะค่ะ อย่างน้อยคนที่เขารอคุณอยู่ที่บ้านจะได้ไม่กังวล เพราะฉะนั้นเลือกใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์นะคะ

เห็นไหมล่ะคะว่าเรื่องของโซเชียลมีเดียนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องนึกถึงใจเขาใจเราก่อนโพสต์ จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลังค่ะ

อัพเดทเรื่องราวบนโลกดิจิตอลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.iamsorada.com ค่ะ

blog โดย 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up