ความแตกต่างที่ลงตัว

LOVE ON WHEELCHAIR “รัก” ช่วยเติมเต็มความขาด

ความแตกต่างที่ลงตัว
ความแตกต่างที่ลงตัว

ความแตกต่างที่ลงตัว ระหว่าง “ฟ้า – วิญธัชชา ถุนนอก” พร่องแค่ทางร่างกาย แต่จิตใจแข็งแรงเต็มเปี่ยม ขณะที่ “สต๊อป – กอบกิจ จันทร์เจิดกาญจน์” ร่างกายแมนเกินร้อย แต่จิตใจกลับเสียศูนย์ เมื่อทั้งสองมาเจอกัน ความขาดจึงถูกเติมเต็มจนกลายเป็นชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์

“ตอนนี้ชีวิตผมมีความสุข เพราะฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากมีลูกสักคนไว้เป็นเพื่อนตอนแก่ ก็สมหวังแล้ว เพียงแต่ครอบครัวผมไม่เหมือนคนอื่น” คุณสต๊อปพูดพลางมองหน้าคุณฟ้าที่นั่งอยู่บนวีลแชร์ หรือที่หลายคนรู้จักเธอในโลกโซเชียลว่า “นางฟ้ารถเข็น” ผู้พิการที่กำลังใจเต็มร้อย เธอเล่าถึงที่มาของฉายาว่า

“ต้องขอบคุณแม่ที่สอนให้ฟ้ามองโลกในแง่ดี ให้มองความพิการเป็นเรื่องเด่น ไม่ใช่ปมด้อย ฟ้าเคยถามแม่ว่าทำไมฟ้าจึงไม่เหมือนเพื่อน ไม่เหมือนพี่ แม่บอกตรงๆ ว่า อาจมีข้อผิดพลาด เพราะมดลูกแม่ไม่แข็งแรง แม่จะพูดให้ฟ้ารู้สึกดีว่า เราเป็นคนพิเศษ ไม่ได้แตกต่าง ฟ้าก็พยายามพัฒนาตนเองในด้านการใช้ชีวิตแบบคนพิการ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ไปสมัครเข้าเรียนที่ไหนเขาก็ไม่รับ

“พออายุ 4 ขวบ พ่อกับแม่แยกทางกัน พี่สาวเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แม่จึงขายสวน พาฟ้ามาอยู่กับพี่สาว เผอิญแม่รู้จักกับเพื่อนของผู้อำนวยการโรงเรียน จึงฝากให้เรียนร่วมกับคนปกติ เพื่อนมองเราเหมือนเป็นตัวประหลาด ทำไมไม่มีขา ขาเธอไปไหน วนเวียนอยู่ที่คำถามเกี่ยวกับขาขาดขาด้วนนี่ละ จากที่เคยดีใจได้ใส่กระโปรงเอี๊ยมแดงไปโรงเรียนกลายเป็นไม่อยากไป ถามแม่ว่าไม่มีขาแล้วผิดตรงไหน แม่พยายามปลอบใจ และกระตุ้นให้คิดบวก จากวันนั้นก็เริ่มมองว่าเราสวยต่างจากคนอื่น บวกกับผ่านไปสัก 2 – 3 ปีที่โรงเรียนก็เริ่มรับได้ว่าเราทำทุกอย่างได้เหมือนคนอื่น จึงใช้ชีวิตมาจนจบ ป.6

ความแตกต่างที่ลงตัว

“ฟ้าเรียน ม.1 ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่นี่เราไม่รู้สึกแตกต่าง เพราะมีคนพิการหมด แต่พอไปเป็นตัวแทนเข้าค่ายลูกเสือโลกร่วมกับเด็กนักเรียนปกติจากหลายๆ ประเทศ ฟ้าจับกลุ่มกับโรงเรียนดังแห่งหนึ่ง เขามองฟ้าแปลกๆ แล้วพูดให้ได้ยินว่าไม่มีขา ก็อดคิดไม่ได้ว่าไม่มีขาแล้วทำไมหรือ แต่ก็ช่าง อย่าหาเรื่องแล้วกัน

“พอจบ ม.3 ฟ้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนขามแก่นนครที่จังหวัดขอนแก่น เป็นโรงเรียนปกติ ฟ้าพยายามเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นจิตอาสาไปออกค่ายบนดอย รุ่นพี่ช่วยแบกตัวเราขึ้นหลัง อีกคนแบกรถเข็นขึ้นไปทำกิจกรรมด้วยกันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ขณะเดียวกันอยากบอกสังคมว่าคนพิการไม่ได้แตกต่าง พอเราได้เจอคนมากมายก็ทำให้มั่นใจในตัวเอง กล้าออกสู่สังคมมากขึ้น จบ ม.6 ฟ้าสอบชิงทุน ก.พ.ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่อังกฤษสาขาสังคมและอาชญกรรม ซึ่งฟ้าชอบด้านนี้ เพราะเจาะลึกสังคมให้รู้จักพฤติกรรมของคนในสังคมมากขึ้น และเรียนทางด้านกฎหมาย” ระหว่างที่เธอมุ่งมั่นกับการเรียนพร้อมกับรักษาสุขภาพ ก็มีเทรนเนอร์ฟิตเนสกล้ามงามเข้ามาคุยด้วยในเฟซบุ๊ก แล้วคุยไม่เลิก คุยจนกลายเป็นสามีในที่สุด คุณสต๊อปเปิดใจด้วยรอยยิ้มว่า

“ผมเป็นเพื่อนเฟซบุ๊กกับพี่เต้ยที่เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส ที่น่าทึ่งคือขาสองข้างเขาพิการ ต้องนั่งวีลแชร์ แต่กล้ามท้องเป็นมัดๆ ประกวดเพาะกายด้วย ผมมองเขาเป็นแรงบันดาลใจ เพราะตอนนั้นผมอ้วนเกือบ 100 กิโลกรัม อยากมีแฟน จึงกินยาลดความอ้วน โดยไม่แตะข้าวเลย กินแต่แอ๊ปเปิ้ล 3 เดือนลงมา 27 กิโลกรัม พอเข้าเดือนที่ 4 ใจสั่น ผลจากยาทำให้เกิดปฏิกิริยาโยโย่ อารมณ์เหวี่ยงขึ้นลง ผมจึงหยุดยาแล้วไปเข้าฟิตเนส น้ำหนักค่อยๆ ลง พร้อมกับบิลท์หุ่นขึ้น แล้วยึดอาชีพเป็นเทรนเนอร์ โดยมีพี่เต้ยเป็นไอดอลมาตลอด

“วันหนึ่งเขาแชร์รูปฟ้าที่ถ่ายในฟิตเนสที่อังกฤษสะท้อนกระจก ไม่มีขา ผมสะดุดตาว่าผู้หญิงคนนี้เจ๋ง อยากรู้จักว่าเป็นใคร จึงตามอ่านเรื่องราวย้อนหลัง เขาชอบเขียนข้อความให้กำลังใจคนและอัดคลิปเล่นกับแฟนคลับ ก็รู้สึกว่าน่ารักดี ตั้งแต่นั้นเข้าไปส่องเฟซบุ๊กฟ้าทุกวัน จนกระทั่งตัดสินใจอินบ็อกซ์เข้าไปบอกว่าติดตามอยู่นะครับ และขอบคุณที่ให้กำลังใจคนอื่นรวมถึงผมด้วย ผมจะติดตามตลอด ตั้งแต่นั้นผมรอตี 3 ตี 4 เพื่อให้ได้คุยกับเขา เล่าเรื่องราวต่างๆ นานาที่เกิดในชีวิต ทั้งร้ายและดี เหมือนเราอยากระบายกับใครสักคน เห็นเขามีกำลังใจเยอะ จึงอยากได้กำลังใจมาใช้ในการดำเนินชีวิต (หัวเราะ) แต่อย่าว่าตอบกลับเลยครับ อ่านก็ยังไม่อ่าน ผมเขียนเป็นเดือน ตอบมาสั้นๆ ว่า ขอบคุณค่ะ”

“อ่านผ่านๆ ค่ะ” คุณฟ้าชี้แจง “เขาพิมพ์มาอย่างเยอะ จนอดคิดไม่ได้ว่าผู้ชายคนนี้เต็มหรือเปล่า จู่ๆ ก็มาเล่าชีวิตประจำวันให้ฟัง เลยไม่กล้าตอบ” ในที่สุด “ความจริงใจ” ก็เอาชนะทุกสิ่ง รวมทั้งคุณฟ้า คุณสต๊อปเปิดใจเล่าว่า

“ผมเขียนเป็นเดือนกว่าเขาจะยอมตอบ แล้วเมื่อยิ่งเขียนก็สนิทกันมากขึ้น ผมยอมรับแมนๆ เลยครับ ก็ถามใจตัวเองเหมือนกันว่าจะจีบฟ้าจริงหรือ เรารับได้จริงหรือ แต่คำที่แม่เคยบอกว่า ไม่ว่าคนบนโลกนี้จะอยู่ในรูปลักษณ์ไหนก็เป็นคน ไม่ควรดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา ผมจึงคิดว่าที่ผ่านมาแม้มีแฟนสวยระดับพริตตี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในความรัก เพราะฉะนั้นหากฟ้ารักผมจริง คือคำตอบสุดท้าย จึงหลอกถามว่าชอบผู้ชายแบบไหน”

“ตอบตรงๆ เลยนะว่าสต๊อปไม่ใช่สเป็ค” คุณฟ้าอมยิ้ม “สเป็คฟ้าต้องเคป็อป เกาหลี ขาวสูง ไม่ใช่สายบึ้กแบบนี้ แต่เขาพยายามคุยเฟซตลอด คิดว่าคงเหงา เราอยู่ที่นั่นไม่มีคนไทยให้คุยก็พิมพ์คุยกันไป จากนั้นเริ่มขอไลน์ เปิดวิดีโอคอลล์คุยกัน ฟ้าจึงถามตรงๆ ว่าจะจีบจริงหรือ เราพิการไม่มีขา กล้าเดินด้วยหรือ ทำใจไว้ได้เลยว่าจะถูกสังคมมอง เขาบอกลองดู ก็รักน่ะ ฟ้าจึงชั่งใจ บอกว่าเดี๋ยวกลับไทยแล้วไปกินข้าว ดูหนังกัน”

เดตแรกของเธอคือเดตวัดใจ คุณฟ้าอยากรู้ว่าคุณสต๊อปรับเธอได้จริงไหม ขณะที่ฝ่ายชายก็อยากรู้ว่าสามารถดูแลคนรักได้จริงหรือเปล่า คุณสต๊อปเล่าว่า

“วินาทีแรกที่เจอฟ้า ผมตกใจ เพราะผิดจากภาพที่คิดว่าตัวใหญ่ แต่กลายเป็นว่าตัวเล็กมาก น้ำหนักแค่ 24 กิโลกรัม ขณะที่ผมบิลท์กล้ามใหญ่ หนัก 94 กิโลกรัม ผมมือสั่น ไม่กล้าจับ กลัวเขาเจ็บ ก่อนที่จะเจอเขา ผมศึกษาวิธีการดูแลคนพิการจากคู่รักฝรั่งในยูทูบ แต่เชื่อไหมครับ เดตครั้งแรกจากที่เตรียมใจไว้แล้วว่าต้องเจอกับสายตาของคนรอบข้างแต่ไม่คิดว่าจะเยอะและมีพลังขนาดนั้น บางคนมองตั้งแต่ศีรษะไล่ลงไปถึงล้อรถเข็น แล้วมองที่ขาฟ้า เด็กวัยรุ่นมองแบบไม่ค่อยดี เด็กเล็กเดินมาชี้ให้แม่ดูฟ้าว่าขาขาด ผมยอมรับว่าไม่พอใจ ทำไมพ่อแม่ไม่อธิบายให้ลูกฟัง”

ความแตกต่างที่ลงตัว

“ใช่ค่ะ เราเข้าใจว่าเด็กก็คือเด็ก” คุณฟ้าบอกเสียงเศร้า “แม้วันนี้ฟ้าจะรับอะไรได้เยอะ แต่ภาพที่พ่อแม่เดินจูงมือลูกหนี ฟ้าไม่เคยทำใจได้เลย เพราะสิ่งที่ฟ้าพยายามต่อสู้เพื่อคนพิการมาตลอดชีวิตคือ ไม่อยากให้คนปกติมองคนพิการเหมือนตัวประหลาด”

คุณสต๊อปจึงเปลี่ยนบรรยากาศว่า “จำคุณป้าคนนั้นได้หรือเปล่า ที่เดินมาชมเราว่าน่ารักจังเลย แล้วมีคนถ่ายรูปเราเดินจับมือไปลงในเฟซบุ๊ก จนกลายเป็นกระแสอยู่พักหนึ่ง เพราะด้วยความสูงของวีลแชร์ที่ไม่พอดีกับตัวผม พอก้มเข็นรถนานๆ ก็ปวดหลัง ผมจึงจูงมือฟ้าแล้วลากรถไปด้วย โดยฟ้าใช้มืออีกข้างบังคับล้อ พอเข้าไปดูหนัง ปรากฏว่าไม่มีทางลาด ผมยกฟ้าทั้งรถเดินไปตรงกลางของโรงหนังที่เป็นทางเดิน แล้วเทียบรถเข็นตรงเบาะที่นั่งเพื่อให้ฟ้ายกตัวขึ้นนั่งบนเบาะ ส่วนผมพับรถเข็นพิงไว้ข้างตัวแล้วก็นั่งดูหนังกัน”

“ฟ้าอยากลองใจ เพราะผู้ชายส่วนมากแคร์คนอื่น” คุณฟ้าเผย “เราอยากรู้ว่าเขาจะทำอย่างไร จะยกรถเราไหม อายคนอื่นไหม ซึ่งเขาผ่านทุกด่าน ไม่ทิ้ง แต่ลึกๆ ก็กลัวว่าหากหมดโปรโมชั่นแล้วเขาจะทิ้งเราหรือเปล่า เราไม่อยากเจ็บ แต่ฟ้าก็เปิดใจลองคบดู ผ่านไปได้ 1 เดือน ฟ้ากลับไปเรียนต่อปริญญาโท” ภายใน 1 เดือนนั้น ความรักของทั้งคู่ก็เติบโตงอกงาม โลกนี้กลายเป็นสีชมพู โดยที่คุณฟ้าก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่ได้กลับไปคนเดียว แต่ได้พาอีกหนึ่งชีวิตกลับไปด้วย คุณสต๊อปเล่าว่า

“เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ไปเที่ยว ดูหนัง พาซ้อนบิ๊กไบค์ เขากลัว อาจเป็นเพราะไม่มีขาในการรักษาสมดุลและมองไม่เห็นทาง กอดเอวผมแน่น เปลี่ยนให้นั่งซ้อนด้านหน้า คนก็มอง จนฟ้ากลับไปเรียนต่อแล้วบอกผมว่าท้องได้ 2 เดือน ยอมรับว่าอึ้ง เพราะไม่ได้วางแผนชีวิตไว้ ทำงานได้เงินมาก็หมดกับการแต่งตัว เที่ยวเล่น ซื้อบิ๊กไบค์ 3 คัน แต่คำว่าลูก ทำให้ผมยอมขายมอเตอร์ไซค์ 2 คัน เหลือคันที่รักเพียงคันเดียว เตรียมเงินเพื่อเดินทางไปอยู่กับเขา ปรากฏว่ายื่นวีซ่า 2 ครั้งไม่ผ่าน ผมจึงต้องรออยู่ที่นี่

“ณ เวลานั้นเป็นเทรนเนอร์ที่ฟิตเนส ทำอาหารคลีนขาย เล่นดนตรีกลางคืนด้วย เหนื่อย แต่ก็ทน เตรียมเก็บเงินตอนที่เขากลับมา ใช้วิธีติดต่อทางวิดีโอคอลล์ เขาถ่ายรูปตัวเองให้ดู เห็นแล้วเป็นห่วง เพราะจากสภาพร่างกายของคนพิการที่มีปัญหากระดูกหลังคดอยู่แล้ว พอมีน้องก็ไปเบียดอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะปัสสาวะ ระบบขับถ่าย อยู่คนเดียวลำบาก ผมถามว่ากลับมาอยู่เมืองไทยไหม ฟ้าจึงคุยกับทางมหาวิทยาลัยว่าขอดร็อปเรียน แต่กว่าจะได้กลับ อายุครรภ์ก็ 5 เดือนแล้ว”

“ความรู้สึกตอนนั้นมหัศจรรย์มากค่ะ คิดไม่ถึงว่าตัวเองจะสามารถมีลูกได้ สต๊อปกังวลว่าลูกจะไม่สมบูรณ์ เร่งให้ไปอัลตราซาวนด์ ฟ้าก็กังวลไม่ต่างจากเขา เพราะลูกมาเร็ว ไม่ทันได้ปรึกษาหมอเลย ฟ้าฝากท้องที่อังกฤษ หมอตรวจละเอียดยิบ ตั้งแต่ดาวน์ซินโดรม หัดเยอรมัน ผลออกมาสมบูรณ์ แต่ด้วยสภาพร่างกายเราที่ไม่ปกติ ก็กังวลว่าลูกจะไม่อยู่ จึงพยายามกิน พักผ่อนให้เยอะที่สุด และกินยาตามที่หมอสั่ง

“พอถึงเมืองไทยลูกเริ่มดิ้น ยิ่ง 7 เดือนไปแล้วหนักมากท้องใหญ่ล้นออกมานอกรถเข็น จนฟ้าไม่สามารถยกตัวเองได้ หากปวดปัสสาวะตอนที่สต๊อปไม่อยู่ก็ต้องอั้นรอ ตอนนั้นเขาเป็นเทรนเนอร์ฟรีแลนซ์และขายอาหารคลีนด้วย พอมีช่วงว่างจะกลับมาพาเราเข้าห้องน้ำ เตรียมอาหารให้ แล้วออกไปทำงานต่อ ขณะเดียวกันฟ้าอยู่บ้านก็ทำธุรกิจสินค้าความงามทางออนไลน์ หกโมงเย็นเขากลับก็มาช่วยกันแพ็คของส่งลูกค้าถึงตี 1 เป็นอย่างนี้จนถึงวันคลอดเลย

“ฟ้าคลอดก่อนกำหนดนิดหน่อย ต้องผ่าคลอด เราได้ลูกสาวน้ำหนัก 2.4 กิโลกรัมแต่แข็งแรง ตั้งชื่อว่า ฮาร์เลย์ เพราะพ่อชอบขี่ฮาร์เลย์ ให้กินนมแม่ ฟ้าอาจมีอุปสรรคตรงที่ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิ จะใช้หมอนรูปตัว C รองตัวลูกไว้แล้วให้นม เห็นเขาเติบโตก็ดีใจ เพราะวันนี้เขา 4 เดือน หนัก 7 กิโลกรัม ถือว่าสมบูรณ์ แต่ลึกๆ ก็แอบกังวลว่าลูกจะถูกล้อไหมว่ามีแม่พิการ”

“อาจเป็นเพราะเราถูกกระแสโซเชียลเล่นงานหนัก” คุณสต๊อปบอก “มีตั้งแต่ว่าเห็นผมอยู่กับผู้หญิงอื่น จนถึงผมมาเกาะฟ้า เดี๋ยวก็เลิกกัน แรงสุดคือสมน้ำหน้าทำคนพิการท้อง ขณะที่เขียนถึงฟ้าว่าน่าสงสารจัง พิการแล้วยังท้องอีก แต่ละประโยคแต่ละคำมีแต่ทำร้ายจิตใจ ทำไมสังคมไทยมีมุมมองกับคนพิการแบบนี้ แต่ในเมื่อบ้านผมยินดี เพื่อนรอบข้างก็ชื่นชมในสิ่งที่ผมปฏิบัติต่อฟ้า ใครจะพูดอย่างไรผมไม่สน เพราะถือว่าฟ้ามาเติมเต็มในสิ่งที่ผมโหยหามาตลอดชีวิต นั่นคือความรัก ความจริงใจ และความมั่นคงที่ผมไม่เคยได้รับจากคนที่มีร่างกายสมบูรณ์เลย เพราะฉะนั้นผมจะดูแลเขาตลอดไป”

“หายากค่ะ ผู้ชายแบบนี้ ถือว่าฟ้าโชคดี” คุณฟ้าจบประโยค ก่อนทั้งคู่จะจูงมือกันไป

ที่มา : คอลัมน์ LIVE STORIES นิตยสารแพรว ฉบับที่ 891

Praew Recommend

keyboard_arrow_up