“30 บาทรักษาได้หรือไม่ คนยากจนจะมีโอกาสไหม” จากพระทนต์พระราชาสู่รากฟันเทียมประชาชน

“30 บาทรักษาได้หรือไม่ คนยากจนจะมีโอกาสไหม” จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยประชาชนในเรื่องของรากฟันเทียม นับเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมทางทันตแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง “รศ. ทพ. ดร.ปฐวี คงขุนเทียน” และ “วรวุฒิ กุลแก้ว”

1 ทันตแพทย์ 1 วิศวกร สองผู้ผลิตสู่คนไข้ของพระราชา แม้ทั้งสองไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 พวกเขาจึงได้ร่วมวันคืนที่มีทั้งน้ำตาแห่งความท้อแท้ และน้ำตาแห่งความปีติยินดีร่วมกัน หมอปอมหรือทันตแพทย์ปฐวีเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงรับการรักษาด้วยรากพระทนต์เทียมที่ทำจากไททาเนียม ก็ทรงพอพระทัยมาก รับสั่งถาม ผศ.วิจิตร ธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูงว่า ’30 บาทรักษาได้หรือไม่ คนยากจนจะมีโอกาสไหม’ อาจารย์วิจิตรกราบบังคมทูลว่า ‘เนื่องจากเมืองไทยยังผลิตไม่ได้ ราคาค่ารากเทียมต่อซี่รวมการรักษาจึงเป็นแสนบาท’

01

“พระองค์ท่านจึงมีรับสั่งต่อว่า ถ้าสมเด็จพระราชชนนียังมีพระชนมชีพ อยากให้รักษาด้วยรากฟันเทียม เพราะบ่นว่าเจ็บเสมอเวลาใช้พระทนต์ปลอม ฉะนั้นทันตแพทย์อย่าคิดจะรักษาอย่างเดียว ให้ค้นคว้าและวิจัยด้วย จากกระแสพระราชดำรัสวันนั้น จึงกลายเป็นโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เยอรมนี มาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์วิจิตรจึงเชิญมาร่วมงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เพราะที่เยอรมนีเรื่องรากฟันเทียมถือเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งผมคิดว่าศักยภาพของทันตแพทย์ไทยน่าจะทำได้ อาจารย์จึงเริ่มตั้งทีมคิดค้นร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง ซึ่งขณะนั้นเข้าเป็นโครงการในสำนักงาน สวทช. (สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาฯ และมหิดล กระทั่งได้ตัวต้นแบบรากฟันเทียม”

คุณวรวุฒิ อดีตวิศวกรบริษัทปูนซีเมนต์ ยอมรับว่าแม้เคยทำเรือรบหลวงจักรีนฤเบศร ใช้อะไหล่เป็นล้านชิ้น แต่เครื่องมือผลิตรากฟันเทียมที่มีอุปกรณ์เพียง 7 ชิ้นนี้ ถ้าไม่ใช่เป็นการทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คงถอดใจ “เมื่อปี พ.ศ.2549 – 2550 เรื่องรากฟันเทียมยังใหม่มาก จึงไม่มีใครสนใจยอมลงทุนสร้างโรงงาน ผมมองว่าโครงการนี้ทำเพื่อถวายในหลวง จึงกู้เงิน 30 ล้านบาทในนามส่วนตัว รู้ว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จจะมีเงินงบประมาณในการซื้อเพื่อให้บริการประชาชน แต่ปรากฏว่าสร้างโรงงาน สร้างเครื่องมือเสร็จ ความที่เมืองไทย ณ ขณะนั้นไม่มี พรบ.เครื่องมือแพทย์ เราจึงต้องให้ทางคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสาธารณสุขมาตรวจมาตรฐาน

02

“โดยมีข้อกำหนดว่าด้วยกฎหมายเครื่องมือแพทย์เทียบเท่ากับกฎหมายของอเมริกา เป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชน 500 ล้านคนในสหภาพยุโรป หากเมื่อไหร่ที่ได้รับการประทับตรา คนไข้จะไม่มีอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้นเลย สามารถขายได้ในยุโรป นี่ละคือจุดเริ่มต้นของน้ำตา ปรากฏว่าผลิตไป ตรวจไป พัฒนาไปก็ไม่ผ่านมาตรฐานสักที ผมเริ่มติดหนี้ธนาคาร เงินที่เตรียมไว้สำหรับเงินเดือนพนักงานต้องนำมาจ่ายหนี้ ดูสภาพการณ์แล้วไม่น่ารอด อะไรจะเกิดก็เกิด ผมทำเพื่อพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อประเทศชาติ อย่างไรต้องทำให้จบ ไม่น่าเชื่อว่าเพราะพระบารมีจริงๆ หลังจากที่ทั้งผมและทีมของหมอปอมกัดฟันเดินหน้าต่อ ในที่สุดรากฟันเทียมของคนไทยก็ผ่านการรับรองมาตรฐานเทียบเท่ายุโรป”

หมอปอมเล่าถึงประสบการณ์ตอนออกหน่วยแพทย์ว่า “เราเริ่มอบรมทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศที่เข้าโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพราะการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมเป็นการรักษาขั้นสูง ทันตแพทย์ต้องได้รับการฝึกอบรมก่อนจึงจะให้การรักษาได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยคือผู้สูงอายุทั่วประเทศ 10,000 คน ครั้งหนึ่งที่ไหนผมจำไม่ได้ แต่คำที่คุณลุงท่านหนึ่งพูด ชีวิตนี้คงลืมไม่ได้ ‘ตอนที่ไม่มีที่ทำกิน ในหลวงก็มาดูแลให้มีที่ทำกิน ไม่มีน้ำ ท่านก็หาน้ำมาให้ พอแก่ไม่มีฟันเคี้ยว ท่านก็พระราชทานฟันปลอม วันนี้ฟันปลอมไม่แน่น ก็พระราชทานรากฟันเทียมให้อีก’

“ผมเข้าใจที่ท่านเคยรับสั่งว่า ‘ทำงานกับเราไม่มีเงินจะให้ นอกจากได้ดื่มด่ำความสุขด้วยกัน’ เป็นเช่นนั้นจริงๆ” คุณวรวุฒิเสริมว่า “ปีที่แล้วเราไปพัทลุง เครื่องบินลงที่หาดใหญ่ แล้วต่อรถตู้เข้าไปในพื้นที่ คนไข้มารอประมาณ 2,000 คน คืนนั้นพายุเข้า ฝนตก ไฟดับ น้ำท่วม วันรุ่งขึ้นขณะที่เราเดินทางกลับ ปรากฏว่าน้ำท่วมทางขาด ผมติดเสื้อตราสัญลักษณ์ ภปร.ไปด้วย ก็ขอบารมีพระองค์ทรงช่วยคุ้มครองให้กลับไปขึ้นเครื่องได้ เพราะเป็นไฟลต์สุดท้าย พอวนรถกลับ เจอชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซค์สวนมา ผมให้ช่วยนำทางไปที่สนามบิน แม้จะเสนอเงิน 500 บาท แต่เขาไม่ไป ผมบอกว่าเป็นคณะแพทย์มาฝังรากฟันเทียมให้ผู้ป่วยที่พัทลุงถวายในหลวง คำว่า ‘ในหลวง’ ลุงรีบสตาร์ทมอเตอร์ไซค์นำทางให้เลย วันนั้นพอขึ้นเครื่องปุ๊บ รู้สึกเหมือนรอดตาย”

1

วันแห่งความปลื้มปีติหลังจากโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา พวกเขายังต่อยอดพัฒนาทำฟันเทียมเฉพาะซี่ และเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หมอปอมเป็นตัวแทนเล่าถึงวินาทีนั้นว่า “วันเข้าเฝ้าฯ นำโดยศาสตราจารย์พิเศษ ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช หัวหน้าทันตแพทย์ประจำพระทนต์ สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงคือ พระองค์ท่านทอดพระเนตรทุกคนและทีละคนจนครบทั้งคณะ และทอดพระเนตรวิดีโอที่เราบันทึกตอนออกหน่วย ยิ่งถึงตอนที่ทันตแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลในชนบทพูดว่า ‘ไม่เคยแม้แต่จะได้เห็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่พอได้ทำโครงการนี้เหมือนได้รับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาท’ พระองค์ท่านแย้มพระสรวล เราเห็นภาพนั้นแล้วชื่นใจ พระองค์ท่านรับสั่งว่า ‘ขอบใจทุกคน รู้ว่ายากลำบาก แต่มีประโยชน์’ ขณะที่พระองค์ท่านรับสั่งคำว่า ‘ขอบใจทุกคน’ ทรงทอดพระเนตรพวกเราทุกคน และพระสุรเสียงแต่ละคำชัดเจน วินาทีนั้นผมไม่อยากได้อะไรแล้ว นี่คือสูงสุดของการได้เกิดเป็นคนไทย”

คุณวรวุฒิเสริมว่า “หลังจากที่พวกเราเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯถวาย ปรากฏว่าพระองค์ท่านพระราชทานกลับคืนมายังหน่วยทันตกรรมพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช เป็นผู้อำนวยการ ดังนั้นเราต้องนำฟันเทียมพระราชทานไปแจกจ่ายให้กับประชาชน จึงเกิดโครงการฟันเทียมและรากฟันเทียมพระราชทาน 999 ชุด พร้อมกับจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิศูนย์ทันตนวัตกรรม โดยผมลาออกจากงานประจำมาเป็นเลขาธิการมูลนิธิเช่นกันกับหมอปอม เหนือสิ่งอื่นใดคือที่พระองค์รับสั่งครั้งแรก ณ วันนี้เป็นจริงแล้วครับ คือ 30 บาทรักษาได้”

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 774 ปักษ์วันที่ 25 พ.ย. 54

Praew Recommend

keyboard_arrow_up