นพ.สันติ  ไฉไลวณิชย์กุล, ไคโรแพรคติก, คุณหมอไคโรแพรคติก, รักษาด้วยไคโรแพรคติก, หมอไคโรฯ

นพ.สันติ ไฉไลวณิชย์กุล ฟื้นจากคนอัมพาตมาเป็นหมอไคโรแพรคติกเบอร์ต้นของเมืองไทย

นพ.สันติ  ไฉไลวณิชย์กุล, ไคโรแพรคติก, คุณหมอไคโรแพรคติก, รักษาด้วยไคโรแพรคติก, หมอไคโรฯ
นพ.สันติ  ไฉไลวณิชย์กุล, ไคโรแพรคติก, คุณหมอไคโรแพรคติก, รักษาด้วยไคโรแพรคติก, หมอไคโรฯ

 

แล้วคุณหมอผ่านอุบัติเหตุนั้นมาในสภาพไหนคะ

ตัวผมไม่มีเลือดออก  แต่ข้างในช้ำ  โชคดีว่าอากาศที่เย็นจัดช่วยแช่แข็งผมไว้  ทำให้ชา  ไม่เจ็บมาก  ประมาณสองชั่วโมงหน่วยกู้ภัยก็มาถึง  เขาใช้เครื่องมือตัดรถเป็นชิ้นๆ เพื่อดึงตัวผมออกมา  โดยใช้เตียงอะลูมิเนียมเบาๆ 2 ชิ้นช้อนด้านข้างผมสองด้าน  แล้วเตียงจะประกบกันตรงกลาง  เพื่อไม่ให้ผมขยับร่างกาย  ใช้ผ้าห่มห่ออีกทีแล้วส่งไปห้องฉุกเฉิน  หมอตรวจโน่นนี่เสร็จก็บอกว่า…

ผมเป็นอัมพาตครึ่งซ้าย  ตั้งแต่แขนลงมา  และต้องทำใจเพราะผ่าตัดไม่ได้

อยู่โรงพยาบาลพักหนึ่ง  หมอก็ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน  แต่อาการยังไม่จบแค่นั้น  ก่อนออกจากโรงพยาบาลผมเริ่มไอถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นไอติดต่อกัน 24 ชั่วโมง  ทรมานมาก  ไปเอกซเรย์ก็ไม่เจออะไร  ต้องส่งตัวไปหานายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไอโดยเฉพาะ  เขาวางยาสลบแล้วใช้กล้องส่องเข้าไปดูที่ปอด  พบว่าปอดผมเต็มไปด้วยเศษกระจกละเอียดยิบเป็นเม็ดๆ ฝอยๆ  ซึ่งหมอคีบเศษกระจกออกมาได้ไม่กี่ชิ้น  เพราะกล้องตัวใหญ่สอดเข้าไปได้ไม่ลึก

เพราะฉะนั้นถึงกลับมาบ้านแล้วผมก็ยังไอไม่หยุด   จนเริ่มไอเป็นเลือด  ผ่านไปเดือนกว่าหมอจึงเรียกผมไปหาใหม่  หนนี้เขาได้กล้องและท่อมาใหม่  ขนาดเล็กกว่าเดิมจึงใส่ได้ลึกขึ้น  นำเศษกระจกออกมาได้เยอะมาก  หลังจากนั้น 2 – 3 อาทิตย์  อาการไอจึงค่อยๆ ลดลง

นพ.สันติ  ไฉไลวณิชย์กุล, ไคโรแพรคติก, คุณหมอไคโรแพรคติก, รักษาด้วยไคโรแพรคติก, หมอไคโรฯ

แล้วเรื่องอัมพาตล่ะคะ ทำอย่างไรจึงหายกลับมาเป็นปกติได้แบบนี้

ตอนแรกผมเบลอไปเลย  คิดภาพตัวเองว่าจะต้องไปนั่งขอทานอยู่ที่ไหนสักแห่ง  ยิ่งพอกลับมาอยู่บ้านยิ่งคิดหนัก  ตอนนั้นปวดมาก  แต่หมอให้ยาเพิ่มไม่ได้  เพราะเป็นมอร์ฟีน

พอปวดมากๆ เข้าไม่รู้จะทำอย่างไร  จึงลากตัวเองไปหน้าบ้าน  โกยหิมะใส่ถุงขยะใบใหญ่ได้ 3-4 ถุง  แล้วผมก็นอนบนถุงให้ตัวเย็นเพื่อลดปวดอักเสบ  โปะอีกถุงบนหัว  ช่วยบรรเทาปวดได้เยอะ  เย็นสบาย (ยิ้ม)

ผมพยายามใช้ความรู้ด้านแพทย์ดูแลและกายภาพตัวเอง  พอดีผมเป็นสมาชิกฟิตเนสที่เปิด 24 ชั่วโมง  จึงลากตัวเองไปกายภาพที่ฟิตเนสทุกคืน  ตอนนั้นใช้ขาได้ข้างเดียว  ต้องใช้ไม้เท้าค้ำแล้วค่อยๆ เขยกไปเรียกแท็กซี่มารับหน้าบ้าน  พอถึงฟิตเนส  ผมวางแขนซ้ายนาบกับเครื่องออกกำลังกาย  แล้วใช้เชือกหรือสายรัดรองเท้าบู๊ตมัดแขนตัวเองไว้  มือเดียวไม่ถนัดก็ใช้ปากคาบช่วยมัด  พอออกกำลังแขนเสร็จจึงเรียกแท็กซี่กลับบ้าน

ส่วนขา  ผมใช้วิชาที่เรียนมาคอยบิดขากลับเรื่อยๆ  สักพักสะโพกและขาที่ยื่นออกจึงค่อยๆ กลับเข้าที่  ไม่นานก็เริ่มฟื้นตัวพอเดินได้  แต่การสั่งงานยังไม่ดี  เวลาเดินจะเป๋ไปชิดซ้ายตลอด  แขนนี่ยิ่งลำบาก  กายภาพเท่าไรก็ไม่ขยับ  เวลาเดินต้องจับมือตัวเองใส่ไว้ในกระเป๋า  ไม่อย่างนั้นแขนจะแกว่งไปตีก้นคนเขาทั่ว (หัวเราะ)

มีท้อบ้างไหมคะ

บอกตรงๆ ว่า 3 เดือนแรก  กายภาพตัวเองไปร้องไห้ไป  ต้องไปฟิตเนสตอนกลางคืนเพราะคนน้อย  พยายามเชียร์อัพตัวเองทุกวันว่าท้อไปก็ไม่มีประโยชน์  หากเราสู้ยังมีโอกาสฟื้น  แต่ถ้าท้อต้องไปนั่งขอทาน  เลือกเอาเอง

ตอนนั้นผมไม่บอกใครเลย  แม้แต่ที่บ้านและพ่อแม่บุญธรรม  ไม่อยากสร้างปัญหาให้ใคร  เกิดมาจนก็ต้องดูแลตัวเอง แต่ข้อดีของที่โน่นคือ  เวลามีอุบัติเหตุ  ประกันจะจ่ายให้ทุกอย่าง  เราแค่ต้องเก็บบิลทั้งหมดไว้  แล้วยื่นให้ทนายความจัดการ  พอเรื่องดำเนินการเสร็จ  ทนายจะได้ 33  เปอร์เซ็นต์จากเงินประกัน

ประมาณ 4-5 เดือนให้หลัง  ผมเทสต์ตัวเองด้วยการดีดและหยิกแขนทุกวัน  พอรู้สึกเจ็บขึ้นมาก็แฮ็ปปี้(หัวเราะ)  พอเข้าเดือนที่ 6 เริ่มขยับได้  แต่ยังไม่มีแรง  จับถืออะไรแล้วหล่น  ซึ่งถึงจุดนี้ผมรู้ตัวแล้วว่าจะไม่เป็นอัมพาต  จึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ  อาทิตย์ละ 3 ครั้ง 3 ปีเต็มๆ

แล้วเรื่องเรียนล่ะคะ หยุดไปนานแค่ไหน

ผมหยุดจริงๆ แค่ 2 อาทิตย์ก็ต้องกลับไปเรียนแล้ว  เพราะครูที่ปรึกษาที่ไม่ถูกกันขู่จะไล่ออก  อ้างว่าผมเกเรหยุดเรียน  ผมจึงต้องไปเรียนทั้งขาข้างเดียว  อีกเหตุผลคือเรียนหนักมากอย่างที่บอก  วันหนึ่งเรียน 4 – 5 วิชา  หรือบางวันสอบ 3 – 4 วิชาก็มี  ถ้าไม่เรียนแล้วจะตามทันได้อย่างไร

ผมประสาทเสียอยู่พักใหญ่  เรียนก็หนัก  ร่างกายก็แย่  ยังเจอครูหาเรื่องอีก  จึงปรึกษากับทนายคนที่ดูแลเรื่องอุบัติเหตุให้เรา  ทนายแนะนำให้ไปแจ้งผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยว่า  ถ้าครูคนนี้ไม่หยุดกวน  เราจะฟ้อง  แค่นั้น  จบเลย  เพราะคนที่นั่นกลัวทนาย

หลังเรียนจบก็เริ่มอาชีพหมอทันทีเลยไหมคะ

ที่สหรัฐอเมริกา  พอเรียนจบเราจะเป็นดอกเตอร์ไคโรแพรคเตอร์  ถือเป็นแพทย์แขนงหนึ่ง  แต่การรักษาสาขานี้จะไม่มีอยู่ในโรงพยาบาล  พอดีเพื่อนชวนเปิดคลินิกด้านไคโรฯ  ผมจึงไปเป็นพาร์ตเนอร์กับเขา  ต่างคนต่างหาคนไข้เอง  เสียค่าใช้จ่ายเอง  ผมทำงานที่นั่นอยู่ 7 ปี  เรียกว่ามีรายได้พอใช้

นพ.สันติ  ไฉไลวณิชย์กุล, ไคโรแพรคติก, คุณหมอไคโรแพรคติก, รักษาด้วยไคโรแพรคติก, หมอไคโรฯ

อยู่สหรัฐอเมริกากี่ปีถึงกลับเมืองไทยคะ

ผมอยู่อเมริกา 22 ปี  ไม่เคยได้กลับบ้านเลย  จนกระทั่งที่บ้านโทรเลขมาบอกว่าพ่อไม่สบายมาก  ให้รีบกลับมาดู  พอมาถึงพ่อพูดแทบไม่ได้แล้ว  ต้องใช้ภาษามือคุยกัน  ซึ่งครั้งนั้นผมรับปากพ่อไว้ว่า  ถ้าพ่อไม่อยู่แล้ว  ผมจะดูแลแม่แทน  พอผมกลับไปอเมริกาได้พักหนึ่ง  ที่บ้านโทร.มาบอกว่าพ่อเสียแล้ว  จึงกลับมาชวนแม่ไปอยู่ที่อเมริกาด้วยกัน  แต่แม่ไม่ยอม  เป็นห่วงน้องสาวที่อยู่ตัวคนเดียวเพราะเพิ่งหย่า

ยอมรับว่าคิดหนัก  เพราะตอนนั้นมีครอบครัวแล้ว  อีกอย่างไม่เคยคิดจะหากินที่เมืองไทย  แต่เมื่อสัญญากับพ่อไว้จึงกลับไปเก็บของที่อเมริกา  ยกหุ้นในคลินิกให้เพื่อนไป  สมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีแพทย์แขนงนี้  ผมก็ถามคนนั้นคนนี้  ไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุขบ้าง  สุดท้ายหุ้นกับน้องสาวเปิดคลินิกเล็กๆ ตรงสีลม  ซึ่งก็คือคลินิกที่อยู่ในปัจจุบัน

ฟีดแบ็กดีไหมคะ

แทบไม่มีคนไข้(หัวเราะ)  อาจเพราะสมัยนั้นคนไทยยังไม่รู้จักว่าไคโรแพรคติกคืออะไร  บางวันนั่งมองโน่นนี่ไปเรื่อย ๆ  พอตกเย็นก็กลับบ้าน  ผมทำการตลาดไม่เป็น  แค่บอกน้องชายกับน้องสาวว่า  ถ้ามีคนรู้จักก็ส่งมานะ  คนไข้ล็อตแรกจึงเป็นเพื่อนของน้องๆ ที่ชอบตีกอล์ฟ  จากนั้นคนไข้บอกกันปากต่อปากจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากปีแรกที่มีคนไข้ประมาณ 10 คนต่อสัปดาห์  ผ่านไปสามปี  คนไข้เริ่มล้น  หนักที่สุดคือมีคนไข้มาให้รักษา 45 คนต่อวัน  ทำคนเดียวตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม  6 วัน  หยุด 1 วัน  มีแค่เลขาฯ  กับผู้ช่วยอีกคนคอยนัดคิวและเตรียมเครื่องมือเท่านั้น

พออายุเข้า 60 ผมจึงตัดชั่วโมงการทำงานออกถึงแค่ 6 โมงเย็น  หนึ่งวันรับคนไข้ได้ประมาณ  20 – 25 คน  ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนัดล่วงหน้าเพราะคิวยาว  แต่ถ้าฉุกเฉินหรือเจ็บมาก ไม่ไหวจริงๆ มาได้  แนะนำให้มาช่วงเช้าๆ เพราะคนยังไม่เยอะ  แต่ถ้าตรวจแล้วพบว่าไม่ฉุกเฉินจริงก็ต้องรอ  บางครั้งอาจต้องรอ  3 – 4 ชั่วโมง  เพราะให้สิทธิ์คนที่จองมาก่อน

โรคที่พบในคนไข้ไทยส่วนใหญ่คืออะไรคะ

ปัญหาเกี่ยวกับไขข้อ  สะโพก  ก้นกบ  หัวเข่า  และกระดูกสันหลังเสื่อม  โดยเฉพาะใครที่ตีกอล์ฟจะมีปัญหาที่ไขสันหลังส่วนล่างและหมอนรองกระดูกที่เป็นเหมือนฟองน้ำ  มีน้ำอยู่ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์  เมื่อถูกกดบ่อยๆจะขาดความชื้นทำให้ปวดหลัง  อีกอย่างคือ  หมอนรองกระดูกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้กดแล้วบิดแบบท่าสวิงของการตีกอล์ฟ  ทำให้หมอนรองกระดูกแตก  ดังนั้นถ้าอยากตีกอล์ฟ  แต่ไม่อยากปวดหลัง  ให้หาบาร์ไว้โหน  เพื่อจัดระเบียบให้หมอนรองกระดูกยืดเกิดเป็นช่องให้ความชื้นเข้าไปช่วยชะลอการปวดหลังได้

อย่างตอนผมได้รับอุบัติเหตุรถชนคราวนั้น  ความสูงผมหายไปนิ้วครึ่งเพราะหมอนรองกระดูกที่คอกับเอวแตก  ผมจึงยืดด้วยการโหนบาร์มาเรื่อย ๆ จนได้ความสูงกลับมา 1 นิ้ว  โรคออฟฟิศซินโดรมก็พบเยอะ  สำคัญ
ต้องเปลี่ยนวิธีการใช้คอมพิวเตอร์  โดยเฉพาะโน้ตบุ๊ก  ผมแนะนำให้ปรับหน้าจอโน้ตบุ๊กให้สูงขึ้น  วางคีย์บอร์ดให้ชิดตัวเรามากที่สุด  หาหมอนใบใหญ่ๆ  มาวางไว้ที่พนักเก้าอี้แล้วพิงให้เต็มหลัง  ช่วยให้กล้ามเนื้อหลังไม่เกร็ง  ชะลอการปวดได้

ส่วนตัวผมถนัดเรื่องการรักษาสะโพกเบี้ยว  เจ็บหัวเข่า  ผ่าตัดแล้วไม่หาย  กายภาพก็ไม่หาย  เดินก็ยังเจ็บ  ถ้าตรวจดูจะพบว่า  กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเต็มไปด้วยพังผืดและหินปูนจึงเสียศูนย์  ต้องปรับร่างกายให้เข้าศูนย์  ซึ่งถ้าอายุไม่มากก็ง่ายหน่อย  คนไข้เองต้องมีวินัยที่จะดูแลตัวเองตามที่ผมแนะนำ  บางคนอ้างว่าไม่มีเวลา  ลืม  หรือขอคิดก่อน  บอกได้เลยว่าแบบนี้ชีวิตลำบากแน่  เพราะเขาจะทำอย่างนี้ตลอดไม่เปลี่ยนแปลง

ผมมีคนไข้เป็นอัมพาตเยอะ  แต่จะหายไหมต้องแล้วแต่เคส  ส่วนใหญ่ถ้าเพิ่งเป็นมาใหม่ๆ สัก 4 – 5 สัปดาห์นี่พอรักษาได้  ไม่ยาก

ตอนนี้การแพทย์สาขาไคโรแพรคติกได้รับการยอมรับแค่ไหนคะ

ที่เจ็บปวดคือวงการแพทย์ของไทยยังไม่ยอมรับ  ผมเคยโดนเรียกว่าหมอกายภาพบ้าง  หมอนวดบ้าง  เชื่อไหม  กฎหมายไทยระบุว่าแพทย์ไคโรฯต้องทำงานภายใต้การดูแลของนักกายภาพ  ทั้งๆ ที่นักกายภาพเรียน 4 ปี  แต่เราเรียน 10 ปี  ถามว่าถ้าคุณเรียนจบปริญญาตรีแล้วให้เด็กมัธยมมาคุมคุณทำงาน  คุณจะรู้สึกอย่างไร  ผมจึงต้องไปวิ่งเต้นเพื่อขอสอบใบประกอบโรคศิลปะ

ปัจจุบันผมต้องไปสอบใบประกอบโรคศิลปะกับทางกระทรวงสาธารณสุขทุก 2 ปี  เพื่อจะได้เป็นหมออย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ซึ่งในเมืองไทยมีแพทย์ไคโรฯ ที่ถูกกฎหมายแค่ 21 – 22 คนเท่านั้น  ที่เหลือ 60 – 70 คนยังไม่ถูกกฎหมาย  เพราะกฎบังคับว่าผู้ที่จะสอบใบประกอบโรคศิลปะได้ต้องเป็นคนไทยหรืออยู่ในเมืองไทยเกิน 3 ปี

คิดว่าสาเหตุที่ทำให้แพทย์ไคโรแพรคติกไม่ได้รับการยอมรับคืออะไรคะ

หลักๆ คือวงการแพทย์ไทยไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาแขนงนี้  ไม่รู้ว่าสอนอะไร  ทำอะไร  พอไม่เข้าใจแล้วไปฟังต่อๆ กันมาจึงกลายเป็นมองในแง่ลบ  อย่างครั้งหนึ่งมีคนไข้เด็กรายหนึ่งบอกผมว่า  หมอแขนงอื่น
บอกให้หยุดการรักษากับผม  เพราะจะทำให้เขาเตี้ยลง  ผมงง  เพราะเด็กคนนี้มีปัญหาส่วนสูงไม่เพิ่มขึ้น  แต่พอเข้ามารักษากับผม  เขาค่อยๆ สูงขึ้น 2-3 นิ้ว  เรื่องพวกนี้ผมฟังแล้วปล่อยผ่าน  หน้าที่ผมคืออธิบาย
ให้คนไข้เข้าใจ  แล้วให้เขาตัดสินใจเอง

เมื่อมองย้อนกลับไปดูชีวิตตัวเอง จากวัยเด็กที่เคยฝันอยากเป็นหมอ จนถึงวันนี้ที่เป็นหมอสมใจ รู้สึกอย่างไรคะ

โลดโผน  สนุก  ตื่นเต้นดี  และบางทีก็เศร้านิดๆ  แต่ประสบการณ์ทุกอย่างทำให้ผมมองโลกอย่างเข้าใจมากขึ้น  อย่างตอนนี้หลายคนถามผมว่าทำไมเก็บเงินค่ารักษาคนไข้ไม่เท่ากัน  บางคนจ่าย 100  บางคนจ่าย 400
ไปจนถึง 1,000 บาท  ประการแรกคือ  แล้วแต่อาการว่าคนไข้เป็นอะไร  ประการที่สองคือ  บางคนบอกผมตรงๆ ว่าไม่มีเงิน  แล้วจะให้ทำอย่างไร

ตอนผมอายุ 9 – 10 ขวบ  เคยเห็นแม่ปวดฟันแต่ไม่มีเงินรักษา  แม่ปวดมากจนต้องกระชากผมตัวเอง  กระแทกตัวกับกำแพงห้องน้ำแล้วลงไปดิ้นอยู่ที่พื้น  ภาพนั้นผมจำไม่ลืม  เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าถ้ามีเงินก็ดี  แต่ถ้าไม่มีแล้วเขาจะหาหมอไม่ได้หรือ (ถอนหายใจ)  ดังนั้นผมรับหมด  แล้วบอกว่าถ้ามีเงินค่อยมาจ่าย

ทุกวันนี้ผมจึงแฮ็ปปี้ที่ได้ช่วยเหลือคนจำนวนมาก  หรือถ้าช่วยไม่ได้  อย่างน้อยก็ยังแนะนำเขาได้ว่าอย่าไปทางนี้นะ  หรือไปทางอื่นดีกว่า  ทั้งหมดนี้เหมือนกับผมฝังใจภาพที่แม่เคยช่วยหายาจีนรักษาคนแถวบ้าน  พอถึงคราวที่ตัวเองได้ช่วยคนอื่นแบบที่แม่ทำจึงรู้สึกดี

 

เรื่อง : โทมาลิน

ภาพ : แพรว

Praew Recommend

keyboard_arrow_up