เรื่องราวของหญิงสามัญชนที่กามเทพชักนำให้ได้สวมรองเท้าแก้ว ยังคงเป็นเรื่องราวที่ตราตรึงใจและเกิดขึ้นจริงทุกยุคทุกสมัย วันนี้ แพรว จึงขอพาย้อนเวลากลับไปประทับใจกับเรื่องราวอันเป็นตำนานของเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก อดีตดาราฮอลลีวู้ดชื่อดังแห่งยุค 50s ที่ชีวิตพลิกผันดั่งซินเดอเรลล่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อุ๊ย! ไม่ใช่ค่ะ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1929 วันที่เด็กหญิงชาวอเมริกันผู้เพียบพร้อม เกรซ แพทริเซีย เคลลี หรือเรียกสั้นๆ ว่า เกรซ เคลลี ลืมตาขึ้นมาดูโลก เธอเกิดและเติบโตในครอบครัวมหาเศรษฐีที่มีอันจะกิน ในเมืองฟิลาเดเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา พ่อของเธอคือ จอห์น แบรนดอน แจ็ค เคลลี ฮีโร่โอลิมปิกเหรียญทอง 3 สมัย จากการแข่งเรือกรรเชียง และเจ้าของธุรกิจค้าอิฐที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา รวมถึงยังเคยลงเล่นการเมืองอีกด้วย แม่ของเธอคือ มากาเร็ต เคลลี โค้ชกีฬาผู้หญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งเกรซเป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 4 คนด้วยกัน
เกรซชื่นชอบและฉายแววการเป็นนักแสดงตั้งแต่เด็กๆ เธอมักเล่นละครที่โรงเรียนอยู่บ่อยๆ เธอโชว์ฝีมือการแสดงครั้งแรกด้วยวัยเพียง 12 ปีเท่านั้น แม้ในช่วงแรกครอบครัวจะไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับอาชีพเต้นกินรำกิน แต่หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลาย เกรซก็เดินหน้าทำตามความฝัน ด้วยการเรียนต่อด้านการแสดงที่สถาบันการแสดงชื่อดังในนิวยอร์ก เธอตั้งใจและขยันมาก แถมยังรับจ็อบเป็นนางแบบ เพื่อหาเงินจ่ายค่าเล่าเรียนเองอีกด้วย
เกรซเปิดฉากชีวิตในฐานะอาชีพนักแสดงอย่างจริงจังในปี ค.ศ. 1951 ด้วยบทบาทเล็กๆ ในภาพยนตร์เรื่องแรก Fourteen Hours หลังจากนั้นเธอก็สั่งสมประสบการณ์เรื่อยมา จนกระทั่งดังเป็นพลุแตกในปี ค.ศ. 1953 จากการรับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง Mogambo ฝีมือการแสดงของเกรซเตะตามากในเรื่องนี้ ทำให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกในสาขานักแสดงหญิงสมทบ แม้ครั้งนี้จะชวดรางวัลไป แต่ความมุ่งมั่นของเธอก็เห็นผลจนได้ในปี ค.ศ. 1954 ด้วยการได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง The Country Girl
ย้อนตำนานซินเดอเรลล่ายุค 50s จากดาราฮอลลีวู้ด สู่ ‘เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก’
จุดพลิกผันที่นำไปสู่การสวมรองเท้าแก้วของเกรซเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1955 ขณะที่เธอกำลังโด่งดังสุดๆ ทำให้ได้รับเชิญไปเดินพรมแดงงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่ฝรั่งเศส และความพีคคือได้รับเชิญให้ร่วมถ่ายภาพกับเจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 แห่งโมนาโก ที่พระราชวัง ซึ่งนั่นคือการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่
เจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 ทรงสนพระทัยซูเปอร์สตาร์สาวอย่างปฏิเสธไม่ได้ ด้วยเสน่ห์แห่งสตรีที่เพียบพร้อมในตัวเกรซ ช่างภาพผู้ลั่นชัตเตอร์ในวันนั้นเล่าว่า เธอทักทายเจ้าชายอย่างสุขุมและสุภาพในแบบอเมริกันชน เธอค้อมคำนับ งอเข่าเล็กน้อย และจับมือกัน แม้ตอนนั้นเกรซจะรู้สึกเฉยๆ เพราะกำลังคบกับนักแสดงฝรั่งเศสคนหนึ่งอยู่ แต่ก็แอบชื่นชมเจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 ให้เพื่อนนักแสดงด้วยกันฟังว่า “ท่านทรงเป็นผู้ชายที่มีเสน่ห์มาก”
หลังจากวันนั้น เกรซบินกลับมาถ่ายหนังเรื่อง The Swan ที่สหรัฐอเมริกาตามปกติ แต่เจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 ไม่ทรงอาจปฏิเสธพระทัยของพระองค์เองได้ จึงทรงสานต่อความสัมพันธ์ครั้งนี้ ผ่านกามเทพอย่างบาทหลวงทัคเกอร์ ซึ่งคอยทำหน้าที่ส่งพระราชหัตถเลขาถึงเกรซ
และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 ทรงเดินหน้าเต็มที่ ด้วยการเสด็จมาสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงใช้เวลาช่วงเทศกาลคริสต์มาสกับเกรซและครอบครัวของเธอ หลังจากนั้นเพียง 3 วัน เจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 ก็ทรงขอเกรซแต่งงาน
พิธีเสกสมรสของเจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 แห่งโมนาโก กับนางสาวเกรซ เคลลี หญิงสามัญชน จัดขึ้นในวันที่ 17-19 เมษายน ค.ศ. 1956 อย่างยิ่งใหญ่อลังการ นับเป็นเวลา 3 วัน ของการเป็นทอล์คออฟเดอะเวิลด์ จนถูกยกให้เป็นงานวิวาห์ที่โด่งดังที่สุดในศตวรรษที่ 20
พิธีเสกสมรสในวันแรก จัดขึ้นเป็นการภายในที่มีเพียงครอบครัวและคนสนิทเท่านั้น ส่วนวันที่สองเป็นพิธีทางกฎหมาย และในวันสุดท้ายเป็นพิธีทางศาสนา ซึ่งเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก ทรงปรากฏพระองค์ในฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหมสีขาวงาช้าง และตกแต่งด้วยลูกไม้อย่างงดงาม ผลงานของเฮเลน โรส ดีไซเนอร์ชื่อดังแห่งยุคนั้น ซึ่งต่อมาฉลองพระองค์นี้ได้กลายเป็นชุดเจ้าสาวไอคอนิก ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับชุดเจ้าสาวในยุคต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากการเสกสมรส เจ้าหญิงเกรซทรงยุติบทบาทนักแสดงอย่างถาวร แม้จะทรงได้รับการทูลเชิญหลายครั้ง โดยพระองค์ทรงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุนผลงานในวงการภาพยนตร์และศิลปวัฒนธรรมแทน
เจ้าหญิงเกรซ และเจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 ทรงมีพระธิดาและพระโอรสด้วยกัน 3 พระองค์ คือ เจ้าหญิงคาโรลีน เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ซึ่งทรงเป็นพระประมุของค์ปัจจุบันของโมนาโก และเจ้าหญิงสเตฟานี
เจ้าหญิงเกรซทรงสิ้นพระชนม์ขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 52 พรรษา จากพระอาการประชวรกะทันหันของโรคหลอดเลือดสมองตีบฉับพลัน ขณะทรงกำลังขับรถยนต์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำตกจากที่สูง
พิธีพระศพจัดขึ้นในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1982 โดยพระศพของเจ้าหญิงเกรซทรงได้รับการฝังไว้ที่วิหารเซนต์นิโคลัส และในปี ค.ศ. 2005 พระศพของเจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 ก็ทรงได้รับการฝังให้อยู่เคียงคู่เจ้าหญิงเกรซไปตลอดกาล
ภาพ : usatoday.com, hellomonaco.com, Pinterest
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ตราตรึงใจยิ่งกว่านิยาย 3 รักนิรันดร์แห่งราชบัลลังก์ ราชวงศ์ไทย – ญี่ปุ่น – อังกฤษ
บทพิสูจน์รัก “จักรพรรดินีมิชิโกะ” ซินเดอเรลล่าญี่ปุ่น ชีวิตในวังที่โรยด้วยขวากหนาม
เผยเหตุผลที่ ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’ ทรงเลือกพระธำมรงค์องค์เรียบง่ายเป็นของหมั้น