พระธำมรงค์

เผยเหตุผลที่ ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’ ทรงเลือกพระธำมรงค์องค์เรียบง่ายเป็นของหมั้น

Alternative Textaccount_circle
พระธำมรงค์
พระธำมรงค์

วันนี้เมื่อ 71 ปีที่แล้ว (28 เมษายน 2493) นับเป็นวันมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เช้าวันนั้น เวลาพระฤกษ์ 09.30 น. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ไปยังวังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จากนั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงลงนามในสมุดทะเบียนสมรส ด้วยเหตุนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงนับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ไทยที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

ต่อมาเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสแบบเรียบง่าย โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นผู้พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ตามขนบธรรมเนียมประเพณี จากนั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีในศุภมงคลโอกาสนี้

เพื่อรำลึกถึงความรักอันงดงามของทั้งสองพระองค์ แพรวดอทคอม จึงขอพาไปยลโฉมและซาบซึ้งกับความเป็นมาของ ‘พระธำมรงค์หมั้น’ สัญลักษณ์แทนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระราชทานไว้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เผยความเป็นมาของ ‘พระธำมรงค์หมั้น’ องค์งามแห่งราชวงศ์ไทย สัญลักษณ์แทนความรักสุดซาบซึ้ง ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ตำนาน 'พระธำมรงค์หมั้น' แห่งรัก ตกทอดจากรัชกาลที่ 9 ถึงรัชกาลที่ 10

‘พระธำมรงค์หมั้น’ องค์ดังกล่าว เดิมทีเป็นพระธำมรงค์ที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสงขลานครินทร์ หรือต่อมาคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบรมราชชนกของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงใช้หมั้นกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ หรือต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2463 ในฐานะหม่อมสะใภ้หลวง

จากนั้นตกทอดสู่พระโอรสพระองค์รอง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงใช้หมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 โดยพระราชพิธีหมั้นจัดขึ้นอย่างเงียบๆ และเรียบง่าย ณ โรงแรมวินด์เซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยก่อนหน้านั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเป็นการส่วนพระองค์กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถึงการเลือกพระธำมรงค์ที่จะทรงใช้หมั้น โดยทรงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เลือกระหว่าง 2 องค์ คือ พระธำมรงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นทับทิมประดับเพชรงดงาม กับพระธำมรงค์องค์นี้ที่เป็นเพชรน้ำใสบริสุทธิ์ มีขนาดเล็ก ไม่ถึง 2 กะรัต เกาะไว้ด้วยหนามเตยรูปหัวใจ แต่มีความหมายมาก เพราะได้รับตกทอดมาจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี

สุดท้ายแล้ว หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร ก็ตัดสินพระทัยเลือกพระธำมรงค์หมั้นอันเปี่ยมไปด้วยความหมายแห่งความรักองค์นี้


ข้อมูลและภาพ : คลังประวัติศาสตร์ไทย, pantip.com, tnews.co.th

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ตามรอย “การสถาปนาสมเด็จพระราชินี” โบราณราชประเพณีที่เปี่ยมด้วยความหมาย

ตราตรึงใจยิ่งกว่านิยาย 3 รักนิรันดร์แห่งราชบัลลังก์ ราชวงศ์ไทย – ญี่ปุ่น – อังกฤษ

เส้นทางรักนิรันดร์ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 – เจ้าชายฟิลิป รักแท้ยาวนานที่สุดแห่งราชวงศ์อังกฤษ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up