กว่า 3 ทศวรรษ “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” พระกรณียกิจบำรุงสุขของเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

Alternative Textaccount_circle

“ขอให้ชีวิตที่เหลือของหนูได้ทำประโยชน์ให้ประชาชน แค่นั้นหนูก็พอแล้ว และหนูขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทุกคน ให้ช่วยดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด” พระดำรัสตอนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่มีต่อคณะแพทย์และประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาท เมื่อครั้งเสด็จออกเยี่ยมหน่วยแพทย์ พอ.สว. จังหวัดหนองคาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีมานี้ที่พระองค์ทรงมีพระอาการประชวร ทำให้พระพลานามัยไม่แข็งแรงนัก แต่พระองค์ก็ทรงไม่ละเว้นจากการปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีกระทั่งวันนี้ (4 กรกฎาคม 2564) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 64 พรรษา พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจน้อยใหญ่นานับประการ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ โดยพระองค์ทรงมีผลงานโดดเด่นในด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ จนทรงได้รับการยกย่องเป็น “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ส่วนในระดับโลกนั้น พระองค์ทรงสร้างผลงานดีเด่นในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในพระกรณียกิจสำคัญ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี คือ “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” ที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษแล้ว ซึ่งสถาบันแห่งนี้ได้สร้างผลงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีประโยชน์ต่อประชาชนมากมาย

กว่า 3 ทศวรรษ “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” พระกรณียกิจบำรุงสุขของเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงตระหนักถึงปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนยามเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ทรงมีพระประสงค์ที่จะสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข จึงทรงก่อตั้งกองทุนจุฬาภรณ์ขึ้น ซึ่งต่อมาจดทะเบียนเป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์ จากนั้นทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 โดยพระองค์ทรงเป็นองค์ประธานของสถาบัน

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศด้วย

จากนั้นได้มีการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อให้การศึกษาและการฝึกอบรมดำเนินไปอย่างครบวงจร ประกอบกับแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมีพระประสงค์ให้ขยายภารกิจด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่มีความต้องการสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้นสำหรับผลงานสร้างชื่อและสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างมหาศาลของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ต้องยกให้กับการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งนี้ด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยถึงสาเหตุและกลไกการเกิดมะเร็งในระดับโมเลกุลมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น โดยพระองค์ทรงวิจัยเกี่ยวกับการเกิดมะเร็งจากสารเคมีอย่างต่อเนื่องในห้องปฏิบัติการ ซึ่งพระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการด้วยพระองค์เองกระทั่งในปี 2546 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งขึ้น ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี 2547 และที่สำคัญคือเพื่อเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยนำการวิจัยทั้งระดับพื้นฐานและระดับคลินิกมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อพัฒนาให้เป็นเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยโรคมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค

สุดท้ายเหนือสิ่งอื่นใด เป้าหมายของพระกรณียกิจทั้งหมดนี้ คือเพื่อให้เป็นไปตามพระปณิธานของพระองค์ ซึ่งทรงมุ่งหมายพระทัยที่จะทำประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน และดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด


ภาพ : เรารักสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี, lib.cri.or.th, komchadluek.net

Praew Recommend

keyboard_arrow_up