ตุลามหาโศก ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึก พสกนิกรร่ำไห้ทั้งแผ่นดินหลายคราครั้งนัก

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 The King Rama IVพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงมีคุณูปการทั้งด้านศาสตร์และศิลป์มากล้น ทรงได้รับการขนานนามว่า ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ เพราะทรงเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์กระทั่งทรงคำนวณวิถีโคจรของดวงดาวได้อย่างเที่ยงตรงอย่างชนิดที่ต่างชาติยังต้องให้การยอมรับ ดังเช่นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่พระองค์ทรงประกาศผลการคำนวณไว้ล่วงหน้าก่อนหน้านั้น ๒ ปี โดยวันที่เกิดปรากฏการณ์ พระองค์ได้เสด็จฯไปหมู่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมคณะสำรวจจากฝรั่งเศส อังกฤษ และสิงคโปร์ เพื่อร่วมสังเกตการณ์ชมดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังมิดดวงอยู่นานถึง ๖ นาที ๔๖ วินาที

 The King Rama IV

และด้วยการเสด็จประพาสครั้งนั้น ทำให้พระองค์ทรงประชวรจากไข้มาลาเรีย ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ด้วยเคยทรงครองเพศบรรพชิตอยู่นานถึง ๒๗ ปี ซึ่งนานกว่าเวลาที่ทรงครองราชย์เสียอีก ทำให้พระองค์ทรงสามารถกำหนดจิตแลตรัสครั้งสุดท้ายเป็นภาษาบาลีว่า “อะตุรัสสะมิงปิ เม กาเย จิตตัง นะ เหสสะตาตุรัง เอวัง ปัสสามิ พุทธัสสะ สาสะนะคะติง กะรัง” แปลว่า “แม้ว่าร่างกายของข้าพเจ้าจะกระวนกระวายอยู่ด้วยทุกขเวทนา แต่จิตใจของข้าพเจ้าจะไม่กระวนกระวายไปตามกาย ข้าพเจ้าได้ศึกษาอบรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้”

พระองค์เสด็จสรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ ภายในพระบรมมหาราชวัง ด้วยพระชนมมายุ ๖๔ พรรษา

รวมเวลาที่ทรงครองราชสมบัติทั้งหมด ๑๖ ปี ๖ เดือน

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 The Queen of King Rama Vด้วยพระราชประวัติสุดงดงาม กล่าวคือทรงเป็นพระราชธิดาพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๔ เป็นพระอัครมเหสีพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ อีกทั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับอารยประเทศ ได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี(พระนามเดิม) ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การณ์ปรากฏว่าทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธย เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ” เป็นที่มาให้ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่าไทยมีสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกในยุคพระพุทธเจ้าหลวงนี้เอง

เมื่อรวมกับพระเกียรติคุณที่พระองค์ทรงทำต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะด้านการทหาร ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ทำให้ข้าราชบริพารประจักษ์ว่า แม้จะเป็นพระราชกรณียกิจเยี่ยงชาย ทั้งทรงช้าง ทรงม้า หรือประทับเกวียนไปในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ก็มิได้ทรงหวาดหวั่น ทำให้ทรงเป็นที่รักของปวงราชฎร์ไปทั่ว

 The Queen of King Rama V

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี และทรงมีพระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง” ทว่าความทุกข์จากการที่พระราชสวามีเสด็จสวรรคตนั้นก็มิทรงจางหาย ทำให้ทรงประชวรเรื้อรังหลายพระโรค

กระทั่งเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระยกนะ (ตับ) วาย เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ด้วยพระชนมายุ 55 พรรษา ณ พระตำหนักพระราชวังพญาไท

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี 

 The Queen of King Rama VI

พระราชประวัติของพระวรราชเทวีนั้น มิได้แผกไปจากเทพนิยายซินเดอเรลราเท่าใดนัก จากคุณพนักงาน ได้รับการสถาปนาเป็นพระวรราชเทวี เจ้านายในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ เหตุเพราะต้องพระราชประดิพัทธ์ในองค์พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดยมีละครพระราชนิพนธ์เรื่อง พระร่วง เป็นสื่อรัก

จากหญิงสามัญชนที่มีนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ บุตรีของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค ถูกส่งตัวเข้ารับการฝึกฝนดุริยางคศิลป์ไทยในพระราชสำนักจนได้รับเลือกเป็นต้นเสียง และได้แสดงละครที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗

 The Queen of King Rama VI

๑๐ สิงหาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาคุณพนักงานอันเป็นที่รักขึ้นเป็น เจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ถือเป็นสตรีท่านสุดท้ายที่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าจอมในราชวงศ์จักรี และเมื่อพระองค์ทรงตั้งพระครรภ์ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

น่าเสียดายนักว่าหลังมีพระประสูติการ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลได้เพียงหนึ่งวัน พระราชสวามีก็เสด็จสวรรคต พระองค์และพระธิดาจึงเสด็จไปประทับยังสหราชอาณาจักรกว่า ๒๐ ปี และเสด็จนิวัติประเทศไทยโดยพำนักในวังรื่นฤดี เป็นการถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒

กระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับพระปับผาสะอักเสบ รวมสิริพระชนมายุได้ 80 พรรษา

 

ที่มาข้อมูล : Wikipedia

ภาพ : ขอขอบคุณ ฉายานิทรรศน์ และทุกที่มาภาพ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up