อกหัก

คนโสดที่มัก อกหัก ผิดหวังในความรักสายไหน เสี่ยงโรคหัวใจมากที่สุด

Alternative Textaccount_circle
อกหัก
อกหัก

อกหัก คือประสบการณ์ทางความรักที่ใครหลายคนอาจเคยผ่านมาในชีวิต เช่น อกหักเพราะแฟนหรือคู่ชีวิตทอดทิ้ง อกหักเพราะแอบรักเขาข้างเดียวและเขาก็มีแฟนอยู่แล้ว การอกหักเป็นความไม่สมหวัง ความผิดหวังส่งผลให้เกิดความเสียใจ แต่จะเสียใจนานแค่ไหนหรือมีพฤติกรรมหลังอกหักอย่างไร ขึ้นกับประสบการณ์ของแต่ละคน มาดูกันว่าอกหักสายไหนเสี่ยงโรคหัวใจ หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่ากัน

อกหักสายกิน (​แหลก)

สายนี้บรรเทาความเครียดหรือความผิดหวังด้วยการกิน ทั้งของที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ แม้อาการช่วงแรกที่มีผลมาจากความเครียดทำให้เราจะกินอะไรไม่ค่อยลง หลังจากนั้นไม่นาน เราจะเริ่มมีอาการอยากกิน จนกลายเป็นคนกินจุ และมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตามมาได้ นั่นเพราะเมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ระดับฮอร์โมนคอติซอลที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ระดับอินซูลินสูงขึ้นตาม ทำให้ร่างกายอยากของหวานมากขึ้น นอกจากนั้นในบางรายที่นอนดึก นอนไม่หลับ จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความหิวอย่างเกรลินออกมามากผิดปกติ ทำให้เราอยากทานน้ำตาล อาหารไขมันสูง หรืออาหารรสเค็ม มากเป็นพิเศษ หากไม่ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โรคอ้วนจะตามมาได้ และเมื่อมีภาวะอ้วน จะส่งผลให้เกิดการอักเสบซ่อนเร้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวานและ โรคหัวใจ ได้

อกหักสายเมา (มาย)

สายนี้ถ้าปล่อยให้ อกหัก มักจะรีบโทรหาเพื่อนเพื่อชวนดื่มแอลกอฮอล์​ ประหนึ่ง “วันนี้ต้องเมา วันนี้ต้องลืมเธอให้ได้”

แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม คือเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือเอทานอล (Ethanol) เป็นสารที่แปรรูปด้วยการกลั่นและหมักจากข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือผลไม้ โดยความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเบียร์ อยู่ที่ประมาณ 5% ไวน์ประมาณ 12% และสุรากลั่นประมาณ 40% แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นประสาทที่ควบคุมความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งหากดื่มเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้มีอาการง่วงซึม หรือขาดสติได้ แต่หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้สนุกสนานอารมณ์ดี

สายนี้หากดื่มแต่พองาม พบว่าแอลกอฮอล์ มีประโยชน์ต่อหัวใจอยู่บ้าง จากการวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (Harvard T.H. Chan School of Public Health) ให้ข้อมูลว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวัน ในปริมาณปานกลางเป็นประจำหรือประมาณ 2 แก้วในผู้ชายและ 1 แก้วในผู้หญิง จะมีอัตราการรอดชีวิตจากหัวโรคหัวใจมากกว่าผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ 25-40%

โดยนักวิจัยให้เหตุผลว่า การดื่มแบบปานกลางนี้ช่วยเพิ่มระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) หรือไขมันดี ได้ แต่ถ้ามากกว่านี้ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณ​สูงติดต่อกันนานๆ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดข้นเหนียวขึ้น จับตัวกันเป็นลิ่มและอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะที่หัวใจและสมอง

นอกจากนี้ คนที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงเป็นเวลานานจะทำให้ระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) หรือไขมันดีในเลือดลดต่ำลงด้วย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคตับอ่อนอักเสบได้ ใครจะเมาหัวราน้ำ ติดต่อกันในช่วงทำใจขอให้คิดด้วยความรอบคอบเพื่อสุขภาพหัวใจ

อกหักสายร้องไห้ (ฟูมฟาย)

สายนี้เมื่อบอกโดนเลิกปุ๊บ จะมีอาการเสียใจอย่างรุนแรงจนร้องไห้หนักมาก  บางคนแทบเหมือนคนบ้า ร้องข้ามวันข้ามคืน  บางคนเสียใจไปหลายเดือน ใครที่เคยมีเพื่อนอยู่สายนี้จะเข้าใจเป็นอย่างดี สายฟูมฟายนี้ หากปล่อยไว้นานจนเกินไปจะเสี่ยงต่อการเกิด Broken​ Heart Syndrome​ หรือภาวะหัวใจสลาย มากกว่าสายอื่น เพราะเป็นสายที่ไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย

ภาวะหัวใจสลาย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Stress-induced Cardiomyopathy หรือ Takotsubo Cardiomyopathy หรือ Apical ballooning syndrome คือภาวะที่ความสามารถในบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน โดยสาเหตุของโรคยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่สูงขึ้นเฉียบพลันจากความเศร้าเสียใจหรือความเครียดอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

อาการของโรคหัวใจสลาย

ที่พบได้บ่อยคือ เจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหันคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด นานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก อาการของหัวใจสลาย จะไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) ซึ่งในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้น มีประมาณ 1% ที่เป็น Stress-induced Cardiomyopathy  จากการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง และ 80% เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ช่วงอายุที่พบบ่อย 58-77 ปี ใครที่อกหักแล้วรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ควรเศร้าหรือร้องไห้ฟูมฟายนาน เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคซึมเศร้าจนอาจคิดสั้นได้

อกหักสายไม่ (เคย) ว่าง

สายนี้แม้จะมีอาการเสียใจ แต่มักจะหาใครมาแทนที่ได้ทันที หัวบันไดจึงไม่เคยแห้ง เพราะสายนี้จะมีอาการเหงาหรือฟุ้งซ่านตลอดเวลา บางรายจะไปเที่ยวตามสถานบันเทิง หรือเล่นแอพหาคู่เพื่อหาเพื่อนคุยแก้เหงาหรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด จนกว่าจะทำใจได้หรือจนกว่าจะลืมคนๆ นั้นไปได้ สายนี้แม้จะไม่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ แต่หลายรายติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เนื่องจากไม่ได้ป้องกันและมีคู่นอนหลายคน จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย

อกหักสายชิล

สายนี้เสียใจหรือร้องไห้ได้ไม่นาน หลายคนใช้วิธีเข้าวัด ฟังธรรม หรือมีเพื่อนคอยเตือนสติจนมองปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่งและใช้สติตกผลึกปัญหาจนผ่านไปได้อย่างเข้มแข็ง  บางรายมีประสบการณ์อกหักมาหลายครั้ง สุดท้ายเมื่อตั้งสติและเรียนรู้จากอดีต จะค่อยๆ เห็นตัวเอง ปลอบใจตัวเอง ยอมรับความจริง ไม่โกรธ จนในที่สุดก็สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ เช่นกัน ซึ่งจัดว่าเป็นสายที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพใดๆ

อกหัก 1

การดูแลตนเองจากอาการอกหัก

หากอกหักจนมีความเครียดสะสมนานเกินไป นอกจากจะทำให้สุขภาพจิตไม่ดี ระยะยาวส่งผลให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ดังนั้นการลดความเครียดคือทางออกที่ดีที่สุด

  • พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เราเครียด และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น
  • ตัดใจ ปล่อยวาง อย่าจมปลักนาน และลุกขึ้นมาก้าวต่อไป
  • หมั่นออกกำลังกายบ่อยๆ ลดอาการฟุ้งซ่าน (ควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน)
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท
  • พบปะเพื่อนฝูงบ้าง เพื่อพูดคุย และระบายปัญหาต่างๆ (หากเพื่อนรับฟัง)
  • จัดการสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ เช่น จัดบ้าน หรือโต๊ะทำงานให้ผ่อนคลาย ปลูกต้นไม้เล็กๆ หรือแจกันดอกไม้สร้างความสดชื่น
  • ดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือตลกหรือสนุกสนาน
  • ไม่ปิดกั้นใจกับความรักครั้งใหม่ หากวันใดวันหนึ่งคุณได้เจอคนใหม่ที่อาจจะดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ. กฤษฎา วิไลวัฒนากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ สมิติเวช สุขุมวิท 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up