จากกรณีที่มีข่าวบุกทลายโรงงานผลิตครีมเถื่อน รวมถึงเครื่องสำอางที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิต และที่ผลิตเสร็จแล้ว อยู่ในกะละมังรอการบรรจุ หัวเชื้อหลายชนิด ปลอมฉลากเครื่องสำอางยี่ห้อดัง รวมทั้งเครื่องสำอางปลอมที่ผลิตเสร็จแล้วและบรรจุในกล่องหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ดังที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด
ซึ่ง แพรวดอทคอม อยากให้สาวๆ ตระหนักและระวังการซื้อผลิตภัณฑ์เถื่อนเหล่านี้ตามตลาดนัดหรือช็อปปิ้งออนไลน์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อลดความเสี่ยง โดยวันนี้ แพรวดอทคอม มีความรู้เรื่องสารอันตรายที่ไม่ควรปะปนหรือตกค้างในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางมาให้สาวๆ อ่าน เพื่อป้องกัน จะได้ไม่เสี่ยงหน้าพังเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมวิธีตรวจสอบสารอันตรายเหล่านี้ด้วยตัวเอง
เพื่อให้สาวๆ รู้เท่าทัน จะได้ป้องกันได้จาก 4 สารที่ควรเฝ้าระวัง และอาจก่อให้เกิดอันตราย หากใช้ในปริมาณที่เกินกำหนด (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ฉบับที่ 4 เล่มที่ 132 หน้า 16 ฉบับปรับปรุงปี 2559) มีตัวใดบ้าง อ่านตามนี้ได้เลย!!
1. โซเดียมลอริลซัลเฟต (SLS)
เป็นสารที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ช่วยให้สิ่งสกปรกและคราบไขมันหลุดออกได้ง่าย ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายชนิด เช่น สบู่ แชมพู ครีมล้างหน้า และยาสีฟัน จากการวิจัยพบว่า หากความเข้มข้นของสารที่ใส่ในผลิตภัณฑ์มีปริมาณมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่สัมผัส โดยการระคายเคืองจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของสารที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ยังมีรายงานในสัตว์ทดลอง พบว่า ความเข้มข้นของสาร SLS ในปริมาณที่สูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดสิว และถ้าล้างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร SLS ออกช้าหรือไม่ล้างออก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา จากที่มีการแชร์ข่าวทางโซเชียลมีเดียและอีเมลลูกโซ่ถึงภัยจากสาร SLS ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดๆ สรุปชัดเจนเรื่องสาร SLS และความเสี่ยง
ในการเกิดมะเร็ง คนในประเทศไทยยังคงให้ใช้สาร SLS ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ โดยต้องมีความเข้มข้นที่ใช้ได้ปลอดภัยในปริมาณที่กำหนด ผู้ที่มีประวัติแพ้สาร SLS ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารนี้ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้ว่า SLS-Free หรืออาจเลือกใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเป็น Sodium Laureth Sulfate หรือ SLES ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า SLS และยังไม่มีข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการเป็นสารก่อมะเร็ง
2. สารกลุ่มพาราเบนเป็นสารกันเสีย
มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้เครื่องสำอางเสียง่าย นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ แชมพู ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิวหน้า ครีมโกนหนวด น้ำยาดัดผมถาวร ยาสีฟัน และยาระงับกลิ่น เนื่องจากเคยมีรายงานผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมและตรวจพบพาราเบนในเซลล์มะเร็ง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพาราเบน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพาราเบนจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขยังรับรองให้ใช้สารในกลุ่มพาราเบนได้ 4 ชนิดในปริมาณที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากมีข้อถกเถียงกันถึงความปลอดภัยของพาราเบน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารชนิดอื่นซึ่งผลิตจากธรรมชาติเป็นสารกันเสียแทน โดยไม่มีส่วนผสมของพาราเบน หรือ Paraben-Free
3. เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) เป็นสารกันเสีย
มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ ในแชมพู ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ครีมอาบน้ำ เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับเด็ก MIT เป็นสารที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดการแพ้ได้ง่าย สำหรับประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขควบคุมให้ใช้ MIT ในความเข้มข้นที่กำหนด และให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น
4. ไตรโคลซาน
เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาสีฟัน เครื่องสำอาง มีฤทธิ์ช่วยลดหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย มีประสิทธิภาพในการป้องกันเหงือกอักเสบ แต่หากใช้ปริมาณที่เกินกำหนดจะทำให้เกิดพิษ มีรายงานในสัตว์ทดลองว่าทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ มีผลกับการทำงานของหัวใจ และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไตรโคลซานเป็นระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยา
ปัจจุบันสารเคมีเหล่านี้ยังคงถูกใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่จำหน่ายในเมืองไทย บางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้และมีสารระคายเคืองตกค้าง แต่การดูแลผิวหนังให้สะอาดและมีสุขภาพดีในทุกๆ วันเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้บางครั้งการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากความคุ้นเคย ราคา และโปรโมชั่น โดยไม่ได้อ่านฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ อาจทำให้ได้รับสารเคมีบางอย่างโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นควรอ่านฉลากทุกครั้ง เพื่อดูส่วนผสมของสารที่อาจเกิดอันตราย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควรมีค่าความเป็นกรด-ด่างใกล้เคียงผิวหนัง มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพและวันเดือนปีที่ผลิต รวมถึงวันหมดอายุที่ชัดเจน
วิธีทดสอบสารอันตรายในครีมด้วยตัวเอง
-
โซดาไฟหรือผงซักฟอก
ป้ายครีมลงบนกระดาษทิชชูสีขาว จากนั้นนำผงซักฟอกหรือโซดาไฟละลายน้ำให้มีปริมาณเท่ากับครีม แล้วราดบนครีมที่ป้ายอยู่บนกระดาษทิชชูสีขาว ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที หากพบว่ากลายเป็นสีน้ำตาล แสดงว่าในครีมนั้นมีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนผสมอยู่
-
ปลาสเตอร์ปิดแผล
ทาครีมบริเวณท้องแขนทิ้งไว้ จากนั้นให้นำปลาสเตอร์ปิดแผลปิดทับลงไป แล้วใช้ปลาสเตอร์ปิดแผลอีกชิ้นหนึ่งปิดไว้ใกล้ๆ กันในบริเวณที่ไม่ได้ทาครีมไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง หากพบว่าปลาสเตอร์ทั้งสองมีสีที่ซีดแตกต่างกันมาก อาจสรุปได้ว่าครีมมีส่วนผสมของปรอท
เรียบเรียง : PP_แพรวดอทคอม
ภาพ : Pixabay