ความสุขฉบับผู้ให้ “พาย-ภาริอร วัชรศิริ” หญิงแกร่งผู้เติมเต็มชีวิตด้วยการแบ่งปันกำลังใจ

กำลังใจที่มีค่าที่สุดในแบบฉบับของคุณคืออะไร บางคนอาจมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว ในขณะที่บางคนอาจยังหาคำตอบไม่ได้ หรือกำลังค้นหาอยู่ แต่สำหรับผู้หญิงคนนี้ “พาย-ภาริอร วัชรศิริ” นักเขียนหญิงแกร่งผู้มุ่งมั่นกับการแบ่งปันกำลังใจ เพื่อเติมเต็มความสุขให้กับชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง 

เธอค้นพบคุณค่าของการส่งต่อกำลังใจ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองผ่านหนังสือ How I love MY MOTHER กับประสบการณ์ที่เธอต้องเปลี่ยนชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัวในวัยเพียง 16 ปี เพราะคุณแม่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ พลิกชีวิตจากวัยรุ่นที่ถูกตามใจมาตลอด กลายเป็นผู้ดูแลคุณแม่ที่ป่วยแบบเต็มตัว และปรับมุมมองเพื่อเก็บเกี่ยวความสุขจากปัญหาที่ต้องเผชิญ 

แม้ความสุขของเธอจะแตกต่างจากความสุขของคนทั่วไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า สิ่งที่เธอทำ ช่วยสร้างกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับเพื่อนมนุษย์อีกหลายๆ คนได้ แพรวดอทคอม จึงอยากพาทุกคนไปสัมผัสตัวตนและก้นบึ้งหัวใจของผู้หญิงคนนี้กัน

ตอนนั้นด้วยวัยเพียง 16 ปี พอรู้ว่าคุณแม่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ คุณพายรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร 

พายขอเล่าให้ฟังก่อนว่า การที่แม่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์เกิดจากการที่เขาล้ม จากนั้นพายจึงรีบพาแม่ไปโรงพยาบาลด้วยความตกใจ ซึ่งจากการล้มนั้น ทำให้แม่มีอาการชาครึ่งซีก ลิ้นแข็ง ร่างกายอ่อนแรง และเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัด หลังจากนั้นแม่ก็กลายเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 

ตอนนั้นพายอายุ 16 ปี เพิ่งเรียนอยู่ ม.ปลาย ซึ่งพายเป็นเด็กที่แม่สปอยล์มาทั้งชีวิต เพราะฉะนั้นการเจอเหตุการณ์แบบนี้จึงช็อคโลกพายมาก เหมือนทุกอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ พายปรับตัวไม่ทัน ช่วงแรกๆ ต้องใช้เวลาในการปรับตัวนานมาก เรียกว่าเป็นการปรับตัวก่อนปรับวิธีคิด ไลฟ์สไตล์ของพายเปลี่ยนไป จากที่เป็นคนรับและได้ทุกอย่างมาตลอด กลายเป็นคนที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และต้องทำให้แม่ด้วย ซึ่งในการปรับตัวนั้นค่อนข้างยาก มีความทุลักทุเลอยู่พักหนึ่งเลยทีเดียว เพราะพายเป็น Caregiver ที่เริ่มจากไม่มีความรู้อะไรเลย ต้องค่อยๆ ลองผิดลองถูก สักพักใหญ่ๆ เลยกว่าจะปรับตัวได้ พอปรับตัวได้ จึงค่อยๆ เริ่มปรับวิธีคิด เพราะการดูแลคนป่วยเป็นงานที่เจาะจงไม่ได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ต้องทำไปตลอด ต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่เหมือนกับการเรียนหนังสือหรือการทำงานบางอย่าง 

เคยรู้สึกน้อยใจบ้างไหม ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นเหมือนเพื่อนวัยเดียวกัน

รู้สึกแน่นอน และมากๆ เลยค่ะ (หัวเราะ) โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่พายดูแลแม่ได้สักพักหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พายเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะพายได้เห็นเพื่อนๆ ทำกิจกรรมของคณะกัน ไปแฮงค์เอ้าท์กัน รวมถึงช่วงที่เรียนจบ เริ่มทำงาน มีเงินเดือน พายได้เห็นเพื่อนบางคนเก็บตังค์ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่พายแทบไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นเลย เพราะพายกลับบ้านดึกไม่ได้ อย่างเวลาไปเรียนก็ต้องรีบกลับบ้านมาดูแลแม่ พอเรียนจบ ทำงาน พายหาเงินได้เหมือนเพื่อนเลย แต่ไม่สามารถใช้เงินได้เหมือนเพื่อน เพราะพายต้องเอาเงินไปดูแลคนป่วย ซึ่งนั่นก็คือแม่ของพาย 

พายมีความน้อยใจ ความอึดอัดใจ ลามไปจนถึงความอิจฉานิดๆ แต่พายพยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิด โดยคิดเสมอว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร เราหรือใครที่จะได้อะไรจากสิ่งที่เราทำบ้าง อย่างการดูแลแม่ที่พายทำอยู่ พายทำเพื่อให้แม่มีความสุขที่สุด แม่จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เป็นที่รักของลูก ซึ่งนั่นทำให้แม่เป็นคนป่วยที่มีจิตใจแข็งแรง มีความสุข มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละที่ตอบแทนพายกลับมา ทำให้พายรู้สึกว่าสิ่งที่พายทำก็มีคุณค่าไม่ต่างจากสิ่งที่คนอื่นทำ และเป็นความสุขอย่างหนึ่งในแบบฉบับตัวเอง เพราะพายรู้ว่ากำลังทำบางอย่างเพื่อคนที่พายรักนั่นเอง

เคยรู้สึกเหนื่อยจนท้อบ้างไหม แล้วผ่านมาได้อย่างไร 

มีค่ะ พายถึงขั้นเคยรู้สึกอยากฆ่าตัวตายเลยนะ เพราะสำหรับเด็กอายุ 16 ปี กับการดูแลคนป่วย ในระยะเวลา 11 ปี มันหนักหนาสาหัส แม้จะบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข แต่ก็มีความเหนื่อยกายและเหนื่อยใจอยู่มาก โดยเฉพาะช่วงที่ใจไม่แข็งพอ ก็รู้สึกท้อได้เป็นธรรมดา ซึ่งถ้าเราดึงตัวเองขึ้นมาไม่ได้ ก็จะรู้สึกดิ่งดาวน์อยู่แบบนั้น 

จุดหนึ่งที่คนดูแลคนป่วยต้องระวังคือ พอเราดูแลคนป่วย ไลฟ์สไตล์ของเราจะป่วยตามเขาไปด้วย เพราะเราไม่มีเวลาเหมือนคนอื่น ไม่สามารถใช้เงินได้เหมือนคนอื่น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเรา เพราะฉะนั้นเวลาที่ท้อ ก็ต้องพยายามสร้างเสริมกำลังใจ ซึ่งกำลังใจที่ดีที่สุดสำหรับพายคือ การสร้างเสริมกำลังใจด้วยตัวเอง ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และรับกำลังใจจากคนรอบตัว บวกกับรับกำลังใจดีๆ จากแม่  เพราะพายรู้สึกว่าทุกครั้งที่พายดูแลแม่ แสดงความรักต่อแม่ แม่ก็จะทำสิ่งนั้นกลับมาให้พายเสมอ ทำให้พายรู้สึกได้กำลังใจกลับคืนมา รู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปไม่สูญเปล่า

อีกหนึ่งวิธีคิดในการให้กำลังใจตัวเองของพายคือ พายจะรู้สึกนับถือตัวเองมากๆ ที่ทำทุกอย่างได้ถึงขนาดนี้ ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่นอีก แต่พายก็เลือกที่จะอยู่ตรงนี้ เลือกที่จะดูแลแม่อย่างเต็มใจและเต็มที่ ซึ่งความภูมิใจและการนับถือตัวเองในวินาทีที่ท้อ ทำให้พายคิดได้ว่าจริงๆ แล้วฉันก็เป็นคนเก่งคนหนึ่งเหมือนกันนะ (หัวเราะ) ฉันทำไหว ฉันไปต่อได้

หลังจากเผชิญปัญหานี้ คิดว่านิสัยของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม 

เปลี่ยนไปเยอะมากๆ ค่ะ เรียกว่าในทุกๆ มิติเลย ทั้งนิสัย ตัวตน และความคิด รวมถึงมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งตอนที่ดูแลแม่ และตอนที่แม่เสียไปแล้ว โดยตอนที่ดูแลแม่ พายรู้สึกว่าพายสามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้น เพราะใน 24 ชั่วโมง พายไม่ได้ทำเพื่อตัวพายคนเดียว แต่พายต้องแบ่งเวลาในการดูแลแม่ ทั้งอาบน้ำ ป้อนข้าว 3 มื้อ พาแม่ไปโรงพยาบาล ซึ่งพอเวลา 24 ชั่วโมงของพายไม่เหมือนคนปกติ พายจึงจัดการเวลาและวางแผนล่วงหน้าในการทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นมาก อีกทั้งพายยังรู้จักใช้เงิน รู้จักเก็บเงิน เพราะพายต้องเก็บเงินไว้ดูแลแม่ 

นิสัยอีกอย่างที่เห็นชัดมาก คือจากคนที่โลกหมุนรอบตัวเอง เพราะแม่สปอยล์มาตลอด หลังจากเจอเหตุการณ์นี้พายกลายเป็นคนที่แคร์คนอื่น แคร์ความรู้สึก แคร์เรื่องราวของคนอื่นมากขึ้น รวมถึงชอบดูแลคนอื่นในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่แค่การรับฟังเท่านั้น และพายยังได้เรียนรู้ว่าเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าใครจะจากเราไปวันไหน ดังนั้นนิสัยแบบผัดวันประกันพรุ่ง หรือไม่ทุ่มเทอย่างเต็มที่กับอะไรสักอย่าง จะทำให้เรารู้สึกผิดและเสียดายไปตลอดชีวิต ถ้าวันหนึ่งเราต้องสูญเสียมันไป เพราะแบบนี้พายจึงดูแลแม่อย่างสุดตัวและสุดหัวใจ ซึ่งพอแม่เสียไป นิสัยหรือมุมองของพายก็เปลี่ยนไปอีก พายได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกโล่งใจ สบายใจ เพราะพายทำเต็มที่อย่างดีที่สุดในช่วงเวลาที่แม่ยังอยู่ 

มาถึงตอนนี้แล้ว เป้าหมายชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดกันตรงๆ คือเปลี่ยนไปค่ะ เพราะตอนที่ดูแลแม่ เป้าหมายหลักคือการทำให้แม่อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นคนป่วยที่อารมณ์ดีและมีอายุยืน แต่พอแม่เสียไป พายก็สูญเสียเป้าหมายนั้นไปด้วย ความรู้สึกเหมือนงานจบแล้ว ตอนนี้พายจึงเปลี่ยนเป้าหมายมาโฟกัสกับการทำงาน และพยายามแชร์ประสบการณ์ของตัวเองให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น เพราะพายรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับพายนั้น ทั้งการที่แม่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์และการที่เสียแม่ไป ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับพายแค่คนเดียว อีกทั้งพายไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่เจอเรื่องนี้แน่นอน ซึ่งคงจะดีมากๆ ถ้าพายได้ส่งต่อประสบการณ์ ความรู้ วิธีคิด หรืออารมณ์บางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งวันหนึ่งเขาอาจจะต้องเจอเรื่องนี้เหมือนพาย แต่เขาจะได้ประโยชน์และกำลังใจจากเรื่องราวของพาย ทำให้เขาไม่ต้องเป็น Caregiver ที่เริ่มต้นจากศูนย์เหมือนพาย

ทำไมถึงตัดสินใจถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองเป็นหนังสือ 

พายเป็นคนชอบเขียน และคิดในใจเสมอว่าสักวันหนึ่งอยากมีหนังสือของตัวเอง แต่โอกาสนั้นก็ไม่ได้มาถึงง่ายๆ คือพายไม่ได้เริ่มจากการเขียนต้นฉบับ เพื่อส่งให้สำนักพิมพ์ตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่พายเริ่มจากการบันทึกเรื่องราวหรือบทสนทนาที่เกิดขึ้นตอนดูแลแม่ลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งพายทำมาเรื่อยๆ จนเห็นว่าหลายๆ คนรู้สึกดีกับสิ่งที่พายทำ พายได้รับกำลังใจจากตรงนั้น และอีกอย่างคือพายค้นพบว่ามีคนที่เจอปัญหานี้เหมือนพาย ทำให้สิ่งที่พายเขียนเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา เพราะพวกเขาสามารถนำเรื่องราวของพายไปปรับใช้กับตัวเองได้ ช่วยเปลี่ยนวิธีคิดหรือพฤติกรรมของพวกเขาได้ ทั้งหมดนี้ทำให้พายอยากออกเป็นหนังสือ สุดท้ายด้วยความโชคดีพายจึงมีหนังสือ How I love MY MOTHER ออกมา  

หนังสือของพายไม่ใช่หนังสือ How to ที่บอกว่ารักแม่สิจ๊ะ แล้วผลลัพธ์จะเท่ากับครอบครัวมีความสุขจังเลย แต่เป็นการแชร์ประสบการณ์ชีวิตของคนๆ หนึ่ง ซึ่งอยากให้อ่านแล้วนำไปตีความชีวิตด้วยวิธีคิดในแบบของตัวเอง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยสูตรเดียวกัน และพายเชื่อว่าถ้าเขาได้ตกตะกอนความคิดในแบบของตัวเองจะเกิดผลดีที่สุด

รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่หนังสือ How I love MY MOTHER ประสบความสำเร็จในการช่วยสร้างกำลังใจดีๆ ให้กับผู้อ่าน 

พายขอใช้คำว่า พายอบอุ่นใจกับมัน แทนที่จะตอบว่าดีใจ เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือ Best seller หรือตีพิมพ์ซ้ำหลายรอบ แต่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์แค่ครั้งเดียว แล้วก็ขายแค่ครั้งเดียว ซึ่งสิ่งที่พายได้กลับมาเยอะมากจากเสียงตอบรับของหนังสือเล่มนี้ คือการที่คนอ่านแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งอีเมล อินบ็อกซ์ และจดหมาย ว่าเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่อคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรักอย่างไรบ้าง จากการที่เขาอ่านหนังสือของพาย ซึ่งพายรู้สึกว่ามันเป็นรางวัลสูงสุดของชีวิตสำหรับนักเขียนหนังสืออย่างพาย ที่ช่วยทำให้คนๆ หนึ่งเปลี่ยนไป หรือใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ด้วยการส่งต่อกำลังใจให้แก่กันและกัน

อีกทั้งพายยังรู้สึกดีใจมากๆ ที่หนังสือ How I love MY MOTHER ของพายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการให้กำลังใจต่อกัน ตามแนวคิดของ “โครงการรณรงค์ส่งเสริมกำลังใจในสังคม” ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยเป้าหมายของโครงการกับความตั้งใจของพายมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน อย่างพายที่ไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องวิธีการต่างๆ เช่น การดูแล การรักษา การใช้ชีวิตประจำวันของคนป่วย และ Caregiver เท่านั้น แต่พายแคร์ไปถึงใจของคนเหล่านี้ด้วย เพราะพายเข้าใจดีว่าเรื่องยากต่างๆ ที่ต้องเผชิญ จะผ่านไปได้ง่ายขึ้นและดีขึ้น ด้วยการส่งต่อพลังใจ ส่งต่อความเข้าใจ และส่งต่อกำลังใจให้แก่กันและกัน ซึ่งในฐานะที่พายผ่านจุดนั้นมาแล้ว จึงยิ่งเชื่อในสิ่งนี้ และอยากส่งต่อกำลังใจที่เข้าใจแบบนี้ เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #กำลังใจที่เข้าใจ กับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยการส่งต่อกำลังใจถึงคนรอบข้างด้วยความเข้าใจ ผ่านทางเว็บไซต์ http://bit.ly/2oxAl86

Praew Recommend

keyboard_arrow_up