มหาเศรษฐีหัวใจอาร์ต

เปิดหีบสมบัติประวัติศาสตร์ ‘รอล์ฟ วอน บูเรน’ มหาเศรษฐีหัวใจอาร์ต แห่ง Lotus Arts de Vivre

มหาเศรษฐีหัวใจอาร์ต
มหาเศรษฐีหัวใจอาร์ต

มหาเศรษฐีหัวใจอาร์ต กับสมบัติที่เห็นแล้วต้องร้องว้าว!!

มหาเศรษฐีหัวใจอาร์ตที่หลงใหลประวัติศาสตร์ ชอบอาร์ตวินเทจ บอกเลยว่าถ้าเห็นสมบัติคุณรอล์ฟ เจ้าของ Lotus Arts de Vivre ต้องมีซี๊ด เพราะถ้าถามราคาซื้อขายแต่ละชิ้น ณ จุดนี้เขาบอกผ่านๆ ว่า รวมแล้วหนีไม่พ้นเลขสิบหลัก…Oops! ไม่อาว…ไม่พูด

 

จากความประทับใจวัยเด็กที่ได้เห็นบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ในยุโรปมีห้องเก็บของแต่งบ้านจากเมืองจีน บางชิ้นเป็นงาน “ชินัวเซอรี” (Chinoiserie) เป็นดีไซน์จีนที่ปรับให้เข้ากับรสนิยมคนยุโรป ทำให้เขาเห็นของโบราณแปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม งาช้าง งานแกะสลักต่างๆ ฯลฯ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าชิ้นไหนสวยหรือหายาก เขาต้องศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อยอดมาเรื่อยๆ

 

คุณรอล์ฟในชุดมหาราชาของอินเดีย เคยใส่ในงานพิธีเสกสมรสของราชวงศ์อุไดเปอร์ เมืองชัยปุระของอินเดีย

“เคยถูกหลอกให้ซื้อของปลอม ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ดีทีเดียว หรือบางครั้งสะสมแล้วต้องนำออกมาขาย เพราะไม่มีเงินพอจะสะสมได้ครบทุกคอลเล็คชั่นเหมือนนักสะสมมืออาชีพ แล้วค่อยเริ่มซื้อของที่ราคาพอสมควร หรือของที่ไม่มีใครสนใจ แต่อีก 20 ปีข้างหน้าจะมีคุณค่า หายาก นักสะสมที่ดีต้องซื้อมาและขายไปด้วย เพราะเราไม่มีที่เก็บเพียงพอ จึงเก็บทุกอย่างไม่ได้”

 

คุณรอล์ฟสวมชุด “ชูบา” เครื่องแต่งกายทำจากผ้าไหม ปักรูปมังกร แสดงถึงสัญลักษณ์จักรพรรดิ ชุดนี้เป็นของเจ้านายราชวงศ์ทิเบต สำหรับใส่ในพิธีต่างๆ

ด้านหลังเป็นชุดเครื่องแบบคณะรัฐมนตรี ส่วนด้านขวาของภาพเป็นเครื่องแบบกัปตันทหารเรือ อายุกว่า 200 ปีของญี่ปุ่น ยุค The Last Samurai

คุณรอล์ฟเล่าว่า “ในอดีตญี่ปุ่นถูกปกครองโดยโชกุนและซามูไร ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมสวมชุดซามูไร กระทั่งสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงเห็นว่าควรปรับปรุงประเทศญี่ปุ่น เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากชาติตะวันตก จึงเปิดให้กองทัพเรืออเมริกันเข้ามา ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างซามูไรและทหารฝรั่ง ซึ่งหลายคนรู้จักดีในชื่อ ‘The Last Samurai’ อีก 5 ปีถัดมาจักรพรรดิจึงมีรับสั่งให้เปลี่ยนเครื่องแบบรัฐมนตรีที่ใส่ตอนประชุมครม.ตามแบบตะวันตก โดยปักรูปดอกเพาโลเนีย (Paulownia) ก่อนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เฉพาะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปัจจุบัน

“ชุดที่ผมได้มาเป็นของเชื้อพระวงศ์นาม ‘อมารี’ ยังมีป้ายชื่อและของครบทุกชิ้น ตั้งแต่หมวก บั้ง ถุงมือ ถุงเท้า บุหรี่ อีกชุดเป็นเครื่องแบบทหารเรือ ผลิตหลังจากนั้น 10 ปี ซึ่งจากการหาข้อมูลทำให้รู้ว่าอมารีมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เชื่อว่าใครเห็นของเซตนี้ต้องซื้อ เพราะเท่ากับเราได้ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาเก็บสะสมด้วย”

 

“อานม้าใช้ในพิธีเฉลิมฉลองของทิเบต อายุกว่า 400 ปี ทำจากเมือง Derge หนึ่งในสามเมืองประวัติศาสตร์ทิเบตที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการหล่อและแกะสลักเหล็กให้ราชวงศ์ โดยการแกะสลักลายมังกรทองบนเหล็กด้วยมือ และผมตกแต่งเพิ่มด้วยเพชรทิเบตเกือบ 4 กะรัต ใช้ ‘ผ้าโบรเคท’ ทอจากเส้นไหมทองและเงิน ปักลวดลาย เป็นผ้าบุอานม้า เพิ่มความอบอุ่นด้วยพรมทอมือ ‘Khotan Carpet’ ของทิเบต ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคุณภาพพรมที่ผลิตในแถบนี้สวยงามและคงทน เป็นอานม้าสำหรับให้สมภารวัดขี่ไปประกอบพิธีที่เจดีย์ปีละ 2 ครั้ง สภาพจึงยังสมบูรณ์”

 

ส่าหรีปักทองคำ – ทับทิม – มุก อายุกว่าร้อยปี มีชิ้นเดียวในโลก เพราะเป็นส่าหรีจากเมืองลัคนาว (Lucknow) เมืองหลวงหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศ อินเดีย ปักด้วยทองคำและพลอยแท้ มรกต และมุก ยาว 7 เมตร หนัก 7 กิโลกรัม ทำเพื่อใช้ในพิธีแต่งงานของหญิงสูงศักดิ์ ซึ่งต้องพิถีพิถันในการเก็บรักษา โดยมีพลาสติกคลุมชั้นนอก และมีกระดาษรองซ้อนผ้าด้านในก่อนม้วนเก็บ เพื่อไม่ให้ทองคำและอัญมณีเกี่ยวกันจนเสียหาย รวมทั้งต้องมียาป้องกันมอดติดตู้ไว้ด้วย

 

“ภาพ Self-Portrait ของศิลปินบรมครู ‘ถวัลย์ ดัชนี’ เกือบทุกรูปที่เขาสเก็ตช์เป็นภาพเกี่ยวกับไฟและลม รวมถึงรูปพอร์เทรตตัวเขาเอง เวลานั้นเขาสเก็ตช์เล่นๆ จึงยกทั้งหมดให้ แต่ผมเลือกแค่สิบภาพเท่านั้น ทุกวันนี้ซื้อขายกันเป็นสิบล้าน เพราะเขาเป็นศิลปินยอดเยี่ยมที่ไม่มีใครทำได้เหมือนเขา ผมดีใจที่ได้เป็นเพื่อนเขามาตลอดชีวิต ต้องเรียกว่าผมโชคดีที่ได้เดินทางไปทิเบต เนปาล เยอรมนี บาหลี ฯลฯ พร้อมกับเขา ไปเดินทิเบตด้วยกัน ทุกคนค้อมตัวให้ พร้อมกับเอ่ยปากถามเขาว่า ‘Are you a monk?’ ถวัลย์ตอบว่า ‘I am a Monkey’ (หัวเราะ)

Praew Recommend

keyboard_arrow_up