ใต้ร่มฉัตร

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ นักเรียนวชิราวุธคนเก่ง (ตอนที่5)

ใต้ร่มฉัตร
ใต้ร่มฉัตร

ใต้ร่มฉัตร ตอนที่ 5 ว่าด้วยเรื่อง ‘นักเรียนวชิราวุธคนเก่ง’

ใต้ร่มฉัตร ดำเนินมาถึงตอนที่ชีวิตของหม่อมเจ้าการวิกได้เป็นมหาดเล็กเด็กในวัง แต่ความที่ทรงซุกซนจนก่อเรื่องให้ต้องทรงถูกลงโทษ โดยการย้ายออกมาเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนวชิราวุธ

การเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธฯ นั้น เป็นโรงเรียนประจำกินนอน ผมได้กลับเข้ามาในวังแค่ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไม่รู้สึกขมขื่นแต่อย่างใด เพียงแต่รู้สึกขาดทุนเล็กน้อยที่อดฟังนิทานพระราชทานจากพระโอษฐ์ ในตอนค่ำของวันธรรมดา

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพระอักษรที่วังไกลกังวล

ที่โรงเรียนวชิราวุธฯมีระบบในการรับเบี้ยเลี้ยงจากครูใหญ่เป็นรายสัปดาห์ และในแต่ละวันพอสี่โมงเช้าพักเรียนก็ไปกะหรี่ปั๊บหรือขนมอื่นที่มีประโยชน์มากิน สำหรับกิจกรรมแล้วที่นี่ส่งเสริมให้เด็กเล่นกีฬามีทีมฟุตบอลหลายรุ่น และมีฝีเท้าที่หนักของผมก็เป็นที่ยอมรับให้เป็นกัปตันทีมรุ่นเด็ก อีกทั้งผมยังเป็นนักมวยอย่างบังเอิญด้วย คือที่โรงเรียนมีกฎห้ามชกต่อยเหมือนเป็นเด็กริมถนน ใครไม่ชอบหน้ากันหรือมีเรื่องโกรธแค้นกัน จะต้องมาหาครูสอนยิมนาสติกขอนวมมาต่อยกันต่อหน้าคนอื่นๆ ในห้องยิมนาสติกนั่นเอง เมื่อเลิกชกกันแล้วต้องจับมือกัน

ในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณ๊ฯ เสด็จฯ หัวเมือง

สำหรับผมได้เป็นนักมวยบังเอิญ ไม่ใช่ว่าผมไปมีเรื่องทะเลาะกับใคร แต่เป็นเพราะวันหนึ่งครูบอกว่าจะสอนวิธีการชกมวยให้รู้ไว้เพื่อป้องกันถูกรังแก  ครูมีลูกศิษย์คนหนึ่งตัวผอมกะหร่อง หัวโต เขาเดินเข้ามาพร้อมมือสวมนวมเรียบร้อย ครูก็มองหานักเรียนที่อยู่ตรงหน้าที่จะมาเป็นคู่ซ้อม และสายตาครูก็มาหยุดที่ผม พร้อมบอกว่า

“รูปร่างท่าทางใหญ่ แข็งแรงดี คงจะได้” แล้วสั่งให้คนนำนวมมา ความเป็นเด็กบ้านนอกไม่เคยเห็นนวมมาก่อน เห็นไกลๆนึกว่า ลูกมะพร้าว เขาก็เอานวมมาใส่ให้ ครูก้บอกว่าต่อยกันเสร็จแล้ว ห้ามถือโทษโกรธกัน เพราะนี่เป็นกีฬา แต่ผมเคยเห็นแต่เด็กวัด เขาชกกันเหมือนควายขวิด ซึ่งผมคิดว่าเป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงทดลองวิทยุ

พอครูบอกเริ่ม เขาก็ก้มหน้าก้มตาเข้ามาต่อยตุ้บๆๆๆ  ผมพยายามหลบ แต่แล้วก็เห็นหนังลูกกลมๆลอยมาที่กกหู ตุ้บ! เสียงในหูดังวี้ดๆๆๆ แล้วเขาก็เต้นโยกตัวหาไม่เจอเลย มีแต่เสียงลมวืดๆๆ ผมจะต่อยก็ไม่โดน เป็นแบบควายขวิดทุกที  แล้วก็นึกได้ว่า ก่อนอื่นต้องหาว่าเท้าเขาอยู่ไหน ตัวเขาถึงจะอยู่ตรงนั้น พอผมจับจังหวะเท้าเขาได้ ผมก็ชกพั่บเข้าไป ไม่ทราบโดนตรงไหน แต่เขาล้มโครม ครูบอกให้พอ และจับมือกัน ครูพูดว่า

“ตานี่หมัดหนัก น่าจะพัฒนา”  หลังจากนั้น ผมก็ไม่ได้ต่อยมวยอีก จนได้ไปแสดงฝีหมัดอีกครั้งที่ต่างประเทศ ไว้ผมจะเล่าให้ฟังคราวต่อไป

พระองค์เจ้าเสรษฐวงศ์ฯ กับหม่อมเจ้าการวิก

ผมเรียนที่วชิราวุธฯราวปีหนึ่ง  ผลการสอบออกมาได้ที่ ๓ ครูบอกว่าเรียนเก่งเหมือนหมัดหนัก และต้องพยายามรักษาสองเรื่องนี้ต่อไปให้ได้ ต่อมา โปรดเกล้าฯให้ผมกลับมาเรียนที่โรงเรียนราชกุมารได้ วันที่กลับมา ก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ ซึ่งผมรู้สึกใจเต้นและกลัวว่าจะกริ้วอะไรอีกไหม แต่กลับยื่นพระหัตถ์พระราชทานเสมาพระปรมาภิไธยย่อป.ป.ร.แก่ผม  เป็นเครื่องหมายว่า พระราชทานอภัยโทษในการเนรเทศไปอยู่ที่วชิราวุธฯแล้ว

จากนั้นไม่นาน พระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่จังหวัดปัตตานี เมื่อราวพ.ศ.2472 และทรงเยี่ยมประชาชนทางปักษ์ใต้  อีกทั้งทรงถือเป็นโอกาสที่จะเสด็จประสานเกาะสมุยและเกาะพงัน  พร้อมกับทรงนำกล้องถ่ายภาพยนตร์ติดไปด้วย เพราะปกติแล้วโปรดบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆที่ทรงพบเห็น และในครั้งนั้นก็มีพระราชดำริที่จะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง แหวนวิเศษ บทภาพยนตร์นี้ พระราชนิพนธ์ขึ้นภายในเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เรืออ่างทอง)ชั่วเวลา 2 คืน ก่อนเสด็จฯขึ้นเกาะเท่านั้น

วงดนตรีไทยเล่นในฉลองศาลาเริง วังไกลกังวล

ก่อนจะเสด็จฯ ขึ้นเกาะพะงันเพื่อถ่ายภาพยนตร์ โปรดเกล้าฯให้ขึ้นไปเที่ยวที่เกาะสมุยก่อน ระหว่างที่เดินเที่ยวบนเกาะ มีอยู่ทางหนึ่งเป็นทางลาดเอียงใกล้กับทางน้ำตก และเป็นทางลัดที่จะขึ้นบนเขาได้  พวกเด็กๆ รวมทั้งผมก็วิ่งตัดทางลัดขึ้นไปล่วงหน้า มีผู้ใหญ่ตามหลัง 2 พระองค์คือ พระเจ้าอยู่หัวและเสด็จอากรมหมื่นอนุวัตรฯ และมีคณะตามเสด็จอีกจำนวนหนึ่ง พลันปรากฏว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงลื่นเพราะตะไคร่ขึ้นเขียว  เสด็จอาจึงพุ่งองค์ลงไปนอนขวางทางไว้ไม่ให้ทรงลื่นไถลลงไปข้างล่าง ซึ่งเป็นหน้าผมจนทรงปลอดภัย  ผมวิ่งรั้งท้ายของกลุ่มเด็กๆ หันมาเห็นเข้าพอดี จึงวิ่งย้อนลงมาหา บริเวณที่เป็นที่แห้ง และหาที่ยึดเหนี่ยวตัวไว้แล้วโหนตัวลงไปฉุดเสด็จอาขึ้นมาได้

เรื่องนี้ผมไม่ได้จดจำอะไร จนกระทั่งยายมาบอกทีหลัง ตอนผมลาจะไปเรียนต่อเมืองนอกว่า เสด็จอามาทรงเล่าให้ฟัง และกำชับว่าอย่าไปเที่ยวเล่าที่ไหน (เหตุการณ์ตอนนี้ ในคำไว้อาลัยของหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ประกอบด้วยหม่อมเจ้าการวิก ทรงดำริว่า มิบังควรที่องค์เองจะเป็นผู้ตรัสตามความเป็นจริงทั้งหมด -ผู้เรียบเรียง)

“เดี๋ยวเด็กนี่หัวโต กำเริบ…”                    

ในหลงงรัชกาลที่ 7 โปรดทรงกล้อง

การถ่ายภาพยนตร์เรื่องแหวนวิเศษ ใช้เวลาถ่ายทำบนเกาะพะงันแค่ 2-3 วัน ตัวแสดงก็เป็นเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จไปในคราวนั้น อาทิ เสด็จอากรมหมื่นอนุวัตรฯ หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร ท่านหญิงสีดาฯ พี่ต๊ะ-หม่อมเจ้าอัชฌา และผม

เรื่องย่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ มีพ่อเลี้ยงใจร้าย จะเอาพวกเด็กๆไปปล่อยเกาะ เพราะขี้เกียจเลี้ยง เมื่อไปถึงเกาะแล้วปรากฏว่า เด็กๆไปเจอนางเงือกให้แหวนวิเศษมาวงหนึ่ง  สามารถชี้อะไรก็ได้สิ่งนั้นตามประสงค์ ตัวพ่อเห็นแล้วเกิดความโลภอยากขโมยแหวน จึงถูกชี้ให้กลายเป็นสุนัข ตัวลูกสาวสงสารบอกให้ชี้กลับเป็นคนตามเดิม พ่อจึงสำนึกตัวและชวนกลับบ้าน แต่แหวนวิเศษเกิดตกน้ำ พ่อจึงบอกว่าคงเป็นเพราะเทวดามาเอาคืนแล้ว และชวนกันกลับบ้านอยู่อย่างมีความสุข

ในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงพระสำราญ

ฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกทิ้งไว้นานหลายสิบปี จนมีผู้มาพบเข้า และคุณโดม  สุขวงศ์ นำมาบูรณะใหม่เก็บไว้ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่อนำออกมาฉายตามโอกาสอันควร

นับเป็นหลักฐานสำคัญอันหนึ่งที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในศาสตร์นี้

ติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคมนี้ 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up